วันศุกร์, พฤศจิกายน 05, 2564

อ่านบันทึกเยี่ยมเบนจา หลังคำพิพากษา “ไม่มีใครทำลายสถาบันตุลาการได้ เท่ากับที่เขาทำลายตัวเอง”



2 พฤศจิกายน 2564 หนึ่งวันถัดจากวันที่ศาลอาญาสั่งลงโทษ เบนจา อะปัญ ฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเวลาหกเดือน จากการร่วมชุมนุมต่อเนื่องที่ด้านหน้าของศาลอาญาเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เบนจามีคำถามทางหลายเรื่อง และขณะนี้เธอถูกขังในสามคดีคือ คดีชุมนุมหน้าบริษัทซิโนไทย คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี และคดีละเมิดอำนาจศาล

“นี่เป็นครั้งแรกที่หนูอยู่ในเรือนจำ ด้วยเหตุผลที่ศาลตัดสินแล้ว” เบนจาบอกเล่าถึงความเครียดในค่ำคืนที่ผ่านมา เรารีบชี้แจงว่าคำสั่งดังกล่าวยังเป็นเพียงคำตัดสินของศาลชั้นต้น คดียังไม่ถึงที่สุด เบนจายังถือเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาเช่นเดียวกับสองคดีแรก ยังสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวได้ ซึ่งหากได้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 แล้ว คดีละเมิดอำนาจศาลก็สามารถยื่นประกันตัวได้ด้วยเช่นเดียวกัน เบนจาคลายกังวลลงและควักกระดาษออกมาฝากทนายสื่อสารถึงสิ่งที่เธอคิด นักศึกษาวิศวกรรม ที่ตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรม

.
เราสามารถตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมประเทศนี้ได้จริงเหรอ

“หนูสงสัยว่าเราสามารถตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมประเทศนี้ได้จริงเหรอ

แท้จริงกฎหมายเป็นของใคร เป็นของประชาชน เป็นของผู้ปกครอง หรือเป็นของใคร

ผู้พิพากษาที่ได้นั่งอยู่บนบัลลังก์นี้มาจากไหน

ใครอนุญาตให้เขามีสิทธิในการชี้ชะตาชีวิตของมนุษย์

ใครให้สิทธินั้นแก่เขา และเขาตัดสินสิ่งเหล่านั้น

ในนามของประชาชน ในนามของตนเอง ในนามของผู้ปกครอง

หรือในนามของใครบางคนที่ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก”

เป็นถ้อยคำที่เบนจาจดมาเตรียมให้ทนายช่วยสื่อสารความรู้สึกของเธอ หลังศาลอาญาลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล เต็มอัตราโทษ

หลังจากนั้นเบนจาก็เริ่มบรรยายความรู้สึก “เขาสั่งให้ฝากขังเพื่อนเราด้วยมาตรา 112 ที่โคตรจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพและไม่เป็นธรรมมากๆ เพื่อนเราถูกขังด้วยมาตรา 112 เรามาเรียกร้องให้เพื่อนเราโดนดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลไปด้วย ถ้าผู้พิพากษาตัดสินผิด เราเรียกร้องอะไรได้ไหม ถ้าผู้พิพากษาเป็นแบบนี้เราเรียกร้องอะไรได้”

“หนูโกรธคือคำตัดสินที่ว่า ที่เราเรียกร้องว่าเพื่อนเรากำลังจะกำลังจะตาย แต่กลับ กปปส. ไม่ดำเนินคดี ฯลฯ นั้น ‘เป็นความรู้สึกส่วนตัวของหนูทั้งนั้น’ หนูอยากได้คำตัดสินมาอ่านมาก อยากถามว่าที่ท่านตัดสินขังเพื่อนหนูไม่ใช่ความรู้สึกส่วนตัวหรือ”

เบนจายังรู้สึกโกรธที่คำพิพากษานั้นระบุว่าการกระทำของเธอนั้นคือความรู้สึกส่วนตัว ทั้งที่เธอกำลังตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม นอกจากนี้การใช้สิทธิต่อสู้คดีของเบนจา ศาลยังอ้างว่าเป็นการไม่สำนึกในการกระทำความผิด

.
ถ้าคุณคิดว่าคุณมีกฎหมาย แล้วเอากฎหมายมาลิดรอนสิทธิ ฉันก็จะใช้สิทธิเท่าที่ฉันมี คือการไม่เดิน

ก่อนถูกนำตัวมาฝากขังและศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเบนจาในคดีชุมนุมหน้าซิโนไทยนั้น สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้ไปขอออกหมายจับเบนจา และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวเบนจาหลังเข้ารายงานตัวในอีกคดีหนึ่งที่ สน.ลุมพินี ทำให้วันที่ถูกควบคุมตัวเบนจาไม่ยอมเดินจากหน้า สน.ลุมพินี

เช่นเดียวกัน หลังศาลอาญาตัดสินให้เบนจามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เบนจาไม่ยอมเดินจากห้องพิจารณาลงไปด้านล่าง เราถามถึงเหตุจูงใจของเบนจาในการไม่ยินยอมเดิน

“ที่หนูไม่ยอมเดิน เพราะตั้งแต่เขาออกหมายจับเรา ตั้งแต่เขาตัดสินเรา ตั้งแต่เขาใช้กฎหมายมาควบคุมสิทธิของเรา หมายความว่าเราแทบไม่เหลือสิทธิอะไร เรามีสิทธิน้อยลงทุกที การไม่เดินคือการใช้สิทธิที่หนูพึงกระทำได้อย่างหนึ่ง และหนูเห็นว่าการไม่เดินไม่ได้เป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่ การไม่เดินเป็นการประท้วงอย่างสันติวิธีแทบจะที่สุดแล้ว ไม่ได้ไปกระทบกระเทือนใคร นั่นคือสิ่งที่หนูจะทำได้มากที่สุดในฐานะบุคคลหนึ่งที่ถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างในชีวิต

“การไม่เดินเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง เขาไม่มีสิทธิมาบังคับให้หนูเดินได้ เขาไม่มีสิทธิแม้กระทั่งบังคับให้เราลืมตา หรือว่าพูดด้วยซ้ำ ก็มันคือสิทธิของฉัน ถ้าคุณคิดว่าคุณมีกฎหมาย แล้วเอากฎหมายมาลิดรอนสิทธิขนาดนี้ ฉันก็จะใช้สิทธิของฉัน เท่าที่ฉันมี เท่าที่ฉันเหลืออยู่อย่างเต็มที่”

เราถามเบนจาว่าเบนจาได้เคยคิดถึงวิธีการนี้มาก่อนหรือไม่เวลาที่ตัดสินใจไม่ยอมเดิน

“การยืนหรือไม่ยอมจำนนเป็นวิธีที่มีอยู่แล้ว แต่ที่หน้าห้องพิจารณาเมื่อวาน (1 พ.ย.) หนูไม่ได้คิดมาก่อน ตอนนั้นหนูแค่คิดว่าทำไมเราต้องเดินด้วย พอฟังคำตัดสินแล้วเจ้าหน้าที่ก็เร่งให้ออกมา ‘เบนจารีบเดิน’ ‘เบนจารีบเดิน’ เราได้คุยกับทนายความนิดเดียว เพื่อนที่มารออยู่ด้านหน้าก็ไม่สามารถคุยด้วยได้ เลยรู้สึกว่าทำไมเราต้องเดิน เราไม่ต้องเดินก็ได้ การไม่เดินไม่ผิดอะไร หรือว่าเขาจะมาแจ้งละเมิดอำนาจศาลอีกไหมถ้าไม่เดิน ก็ตลกดี”

.
ไม่มีใครทำลายสถาบันตุลาการได้ เท่ากับที่เขาทำลายตัวเอง

เราถามถึงเหตุการณ์หลังจากนั้นที่เบนจานั่งรถเข็นไปเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า เบนจาบอกว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดูแลเธออย่างดี ทำให้เธอเย็นลงได้บ้าง แต่เบนจายังติดใจในคำตัดสินและกระบวนการพิจารณาที่ไม่ต่างจากการพิจารณาคดีโดยลับในความเห็นเบนจา

“หนูไม่ได้ชอบอยู่ในคุกหรอก แต่ต้องอยู่มันก็อยู่ได้ แต่ที่หนูโกรธเมื่อวาน คือ สิ่งที่เขาตัดสินเรา คำพูดที่เขาตัดสินเรา กล่าวหาว่าเราทำให้เขาเสื่อมเสียเกียรติ ถามจริงๆ ว่าไม่มีเราสักคน ถ้าเราไม่ทำแบบนั้นเกียรติภูมิของผู้พิพากษายังเหลือจริงๆ หรือ ไม่มีใครทำลายเขา (สถาบันตุลาการ) ได้ เท่ากับที่เขาทำลายตัวเอง แล้วมันไม่ใช่ความคิดเราคนเดียว หนูอยากเอาคำเบิกความที่สืบในห้องพิจารณาออกมาให้สังคมรับรู้ ว่าสังคมคิดอย่างไร ไม่ใช่เขานั่งคิดเองเออเองบนบัลลังก์

“การพิจารณาก็แทบจะเป็นการพิจารณาลับ เวลาหนูทำอะไร หนูไม่เคยทำในที่ลับ หนูทำในที่แจ้งให้สังคมรับรู้ตลอด แต่ในห้องพิจารณาศาลสั่งห้ามจดและจำกัดคนเข้า โดยอ้างว่าจะทำให้เสียหาย การไม่ให้จดไม่ต่างจากการพิจารณาลับเลย”
.

ทัณฑสถานหญิงกลาง
2 พฤศจิกายน 2564