เปิดบันทึกไต่สวนถอนประกัน “อานนท์”: ยืนยันออกมาพูด เพราะสังคมไทยไม่ควรเป็นผักชีโรยหน้าในการแก้ไขปัญหา
05/11/2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 914 มีนัดไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการในการขอเพิกถอนประกัน 4 แกนนำ จากคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ได้แก่ อานนท์ นำภา, ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ‘แอมมี่’ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกถอนประกันไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 โดยไม่มีการไต่สวน
บรรยากาศบริเวณศาลอาญา มีการตั้งจุดคัดกรอง เฉพาะผู้ที่จะเข้าห้องพิจารณา คดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จะต้องลงทะเบียนและได้รับบัตรอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณา โดยมีญาติของจำเลยทั้ง 4 คน และผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก อาทิ กลุ่ม Octdem หรือคนเดือนตุลา ซึ่งเดินทางมาร่วมประกันตัวประชาชนและแกนนำกลุ่มราษฎร เช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี, พนัส ทัศนียานนท์, จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นต้น ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล, ตัวแทนจากแอมเนสตี้ไทยแลนด์, เพื่อนนักศึกษาและคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ตัวแทนจากสหภาพยุโรป สถานทูตลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และอังกฤษ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่รออยู่ในบริเวณ และสลับกันเข้ามาให้กำลังใจผู้ถูกคุมขังในห้องพิจารณา
ในวันนี้ไม่มีการตั้งโต๊ะเก็บโทรศัพท์ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาเหมือนทุกนัดที่ผ่านมา แต่ตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่ศาลมาดูแลความสงบเรียบร้อยในหน้าพิจารณาจำนวน 6-8 นาย
ก่อนเริ่มการพิจารณาศาลได้สั่งไม่ให้มีการจดบันทึก เนื่องจากเกรงว่าจะมีการเผยแพร่ที่ไม่ถูกต้องและเกิดความเสียหายขึ้นได้ แต่ ส.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ได้ลุกขึ้นขออนุญาตแถลงต่อศาล ว่าการให้จำเอาข้อความไป อาจทำให้เกิดความเสียหายและคลาดเคลื่อนมากกว่าได้ โดยผู้ที่นำข้อความไปเผยแพร่แต่ละคน ย่อมทราบและต้องรับผลที่จะเกิดขึ้น หากมีการเผยแพร่ข้อความที่บิดเบือน โดยตนคิดว่าเป็นเสรีภาพที่จะจดบันทึกได้หากมีการพิจารณาอย่างเปิดเผย ทนายความของไมค์ ภาณุพงศ์ ยังได้แถลงว่าหากศาลจะไม่ให้จดบันทึก ขอให้ศาลสั่งลงในกระบวนพิจารณา
เนื่องจากห้องพิจารณา 914 เป็นห้องพิจารณาที่จุผู้เข้าฟังการพิจารณาได้ราว 30 คน ทนายความของรุ้ง ปนัสยา จึงแถลงขอเลื่อนการพิจารณาคดี จนกว่าศาลจะจัดเตรียมสถานที่และอนุญาตให้มีการเปิดห้องพิจารณาเพื่อวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์การไต่สวนให้ประชาชนได้ฟังอย่างทั่วถึงตามหลักการพิจารณาโดยเปิดเผย
ทนายความได้แถลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการห้ามจดบันทึกว่า เคยมีคดีที่ตนเป็นทนายความ ตำรวจ สน.พหลโยธิน ได้มาขอกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาของศาลไปเพื่อแจ้งความในคดีหมิ่นกษัตริย์กับลูกความคนหนึ่งของตนเอง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นที่น่าสงสัยว่าศาลอนุญาตให้นำกล้องวงจรปิดไปได้อย่างไร หากตำรวจทำเช่นนั้นได้ ลำพังแค่อนุญาตให้ประชาชนชนจดบันทึกก็น่าจะทำได้เช่นกัน
ศาลได้พักการพิจารณาไปครู่หนึ่งเพื่อเตรียมห้องพิจารณาตามที่พวกจำเลยร้องขอ โดยมีการเปิดห้องพิจารณา 804 เพิ่มเติม ทำให้ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาบางส่วนได้ย้ายไปนั่งในห้องที่เปิดไว้ ส่วนห้อง 914 ซึ่งเป็นห้องพิจารณาหลักมีการเปิดประตูเพื่อระบายอากาศ
ในส่วนของการอนุญาตให้จดบันทึก ศาลได้อนุญาตในท้ายที่สุดแต่กล่าวย้ำว่าอย่าทำให้เสียหาย อย่างไรก็ตามในรายงานกระบวนพิจารณาคดี ยังระบุเรื่องการห้ามบันทึกหรือเผยแพร่คำพูดของศาล คำเบิกความของคู่ความ
วันนี้อัยการโจทก์ผู้ยื่นคำร้องถอนประกันตัวแกนนำราษฎรทั้ง 4 คน ได้แถลงว่ามีพยานโจทก์ 4 ปาก โดย 2 คนแรก เป็นพยานโจทก์ที่จะมาเบิกความในคำร้องขอถอนประกันของอานนท์ นำภา ซึ่งมีคำร้องขอถอนประกัน 2 คำร้อง โดยศาลต้องการไต่สวนคำร้องขอถอนประกันให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ เนื่องจากการพิจารณาล่าช้าไปมากแล้วโดยเลื่อนมาจากช่วงเดือนกันยายน 2564
>> คดี #19กันยา: เลื่อนไต่สวนถอนประกัน 4 แกนนำราษฎร ไปต้น พ.ย. เหตุยังไม่เห็นคำร้อง พร้อมเลื่อนสืบพยานไปต้น ธ.ค. ใช้เวลาสืบนานนับปี!
>> อัยการยื่นร้องขอถอนประกัน “อานนท์ นำภา” เหตุร่วมคาร์ม็อบ-โพสต์ถึงสถาบันกษัตริย์ ศาลนัดไต่สวน 7 ก.ย.
ภาพจาก Banrasdr Photo
.
ตลอดทั้งวันไต่สวนพยานโจทก์ได้เพียงปากเดียว
เวลา 11.00 น. ศาลแจ้งว่าจะเริ่มการไต่สวนการพิจารณา โดยมี พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู เบิกความเป็นพยานโจทก์ปากแรก พยานเป็นสารวัตรสืบสวน ผู้จัดทำรายงานการสืบสวนของ สน.ปทุมวัน โดยจัดทำรายละเอียดการสืบสวนในวันที่ 3 ส.ค. 2564
พ.ต.ท.ธนพล เบิกความว่ารับข้อมูลจากสื่อโซเชียล ว่าจะมีการจัดกิจกรรมในวันที่ 3 ส.ค. 2564 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 16.00 น. ตนกับทีมงานชุดสืบสวนได้ไปตรวจสอบพบกลุ่มผู้จัดกิจกรรม มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน นำรถเครื่องเสียงมาสลับกันปราศรัย โดยมีผู้ปราศรัย 10 กว่าคน โจมตีรัฐบาลเรื่องการบริหารจัดการโควิด-19 และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ปรากฏตามเอกสารที่ส่งต่อศาล มีคำพูด เช่น วัคซีนเป็นของสถาบัน ซึ่งมีความหมายคล้ายกับต้องรอวัคซีนจากสถาบัน
การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาต และแม้การจราจรยังเคลื่อนไหวตัวได้ แต่ก็ติดขัด ซ้ำยังไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง แจกแมสก์, เจลแอลกอฮอลล์ หรือตรวจ ATK ตนเห็นว่าการร่วมชุมนุมของอานนท์นั้น ผิดเงื่อนไขการประกันตัว เพราะทำให้เกิดความไม่สงบและไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ตนไม่มั่นใจว่าไปยุ่งเกี่ยวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่
11.20 น. ทนายของอานนท์ ถามค้านพยานโจทก์ โดย พ.ต.ท.ธนพล ตอบทนายจำเลยว่า ตนนำกำลังไปยังหอศิลป์ฯ ประมาณ 6 คน มี รองผู้กำกับ สน.ปทุมวัน เป็นหัวหน้าชุด ตนได้รับมอบหมายให้อยู่บนสกายวอล์คตรงข้ามหอศิลป์ มีหน้าที่รวบรวมหลักฐาน ตรวจดูจุดคัดกรอง โดยตนไม่ได้อยู่กับที่แต่เดินไปมา
รัศมีของสกายวอล์คเปิดโล่งไม่แออัด โดยมีผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน อยู่ที่ลานหอศิลป์ จุดที่หอศิลป์นั้นแยกได้ยากว่าใครเป็นผู้ชุมนุม เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าและในวันเกิดเหตุ หน้าหอศิลป์มีตำรวจจราจรมาอำนวยความสะดวก ในส่วนของการทำเอกสาร พยานได้ดูไลฟ์การปราศรัยของอานนท์แล้วจึงทำเอกสาร ในเอกสารที่พยานจัดทำ ไม่มีการเสนอข้อกฎหมายว่าการชุมนุมนี้มีความผิดตามมาตรา 112 โดยผู้จัดทำเอกสารถอดเทปคือตัวพยานเอง คลิปที่นำมาถอดเทปไม่ใช่คลิปที่พยานบันทึกเอง แต่นำมาจากการไลฟ์สด
พ.ต.ท.ธนพล ระบุทราบว่าอานนท์มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะแสดงความคิดเห็น โดยรับว่าในการปราศรัยจะปราศรัยทีละ 1 คน ประเด็นที่อานนท์พูด พยานได้ฟังอยู่ตลอด แต่พยานติดใจประเด็นที่ปราศรัยเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ แต่พยานไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จำเลยปราศรัย การปราศรัยของอานนท์ในวันนั้น ไม่ได้มีการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
ทนายจำเลยได้นำข้อความปราศรัยคดีครบรอบ 1 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ที่ถูกถอดและแนบมาในคำร้องขอถอนประกันตัวมาถามทีละข้อความ
.
ข้อความที่ 1 “เราเปลี่ยนวิธีคิดของกษัตริย์จากเดิมเป็นเจ้าชีวิต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เราก็เปลี่ยนความคิดกลายเป็นคนเท่ากัน มึงกูเท่ากัน … หนึ่งปีหลังจากนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้มีการตอบโต้พวกเราอย่างรุนแรงเช่นกัน …. เราเรียกร้องให้ในหลวงเสด็จกลับมาอยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องไปอยู่เยอรมัน สุดท้ายท่านก็กลับมา“
ทนายจำเลยถามว่า คำว่าเปลี่ยนความคิดให้คนเท่ากัน ไม่ใช่สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรืออย่างไร พยานคิดว่าคนควรเท่ากันหรือไม่ พ.ต.ท.ธนพล ตอบว่าเห็นด้วยว่าคนควรเท่ากัน ทนายถามอีกว่า เป็นเรื่องปกติหรือไม่ที่คนจะต้องเท่าเทียมกัน พยานตอบว่าเป็นเรื่องปกติ
จากประโยคดังกล่าว พ.ต.ท.ธนพล ยังตอบทนายจำเลยว่าการเรียกร้องให้ในหลวงเสด็จกลับประเทศไทย ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย พยานยังทราบด้วยว่าในหลวงประทับที่เยอรมันในปี 2563 และมีประชาชนเรียกร้องให้พระองค์กลับมาเป็นมิ่งขวัญกำลังใจ
.
ข้อความที่ 2 “..การชุมนุมของพวกเราได้ถูกตีแผ่ออกไปทั่วโลกถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ …. เราพูดถึงการที่กษัตริย์โอนเอาทรัพย์สินของหลวงไปเป็นของตัวเอง ทําให้พวกเราโดนคดีหลายคน สถาบันก็ยังอยู่เหมือนเดิม คือ ยังไม่ยอมปรับตัว”
ทนายจำเลยถามว่าการพูดเรื่องงบประมาณเกี่ยวข้องกับการผิดเงื่อนไขของจำเลยอย่างไร พยานเบิกความตอบว่า พยานไม่ได้เป็นผู้สรุปรายงานหรือความเห็นว่าการปราศรัยของอานนท์ผิดเงื่อนไขเรื่องสถาบันฯ อัยการโจทก์เพียงนำเอกสารฉบับนี้มาประกอบคำร้องถอนประกัน แต่ภายหลังพยานได้เบิกความใหม่ว่า พยานติดใจการปราศรัยของอานนท์ในเรื่องการพูดถึงสถาบันกษัตริย์
พ.ต.ท.ธนพล ยังรับกับทนายจำเลยว่า ที่จำเลยปราศรัยว่าเพราะพูดเรื่องโอนงบประมาณโดนคดีกันไปหลายคน ไม่ได้เป็นการให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ เป็นเพียงการพูดถึงเรื่องที่ตนถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ทนายพยายามจะเปิดเอกสารหลักฐานเรื่องการโอนงบประมาณ แต่ศาลบอกว่าไม่ต้องเบิกความส่วนนี้ก็ได้ เพราะศาลสามารถรู้ได้เองอยู่แล้ว
.
ข้อความที่ 3 “คุณจุลเจิมจะกล้าพิพากษาไหมว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่เคยโอนเอาทรัพย์สินของสาธารณะไป เป็นของตัวเอง หุ้นไทยพาณิชย์ เป็นต้น…”
พ.ต.ท.ธนพล ตอบทนายจำเลยว่าภายหลังจากถอดเทปคำปราศรัยแล้ว ไม่เคยมีการตรวจสอบเรื่องโพสต์ของคุณจุลเจิมว่าจะมีข้อเท็จจริงอย่างไรและรับว่าการปราศรัยเรื่องจุลเจิมของอานนท์ ไม่ได้เป็นการข่มขู่ศาลหรือสถาบันฯ และไม่ได้เป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ทนายจำเลยต้องการจะไล่เรียงทีละประโยคที่ถูกหยิบยกขึ้นมาประกอบเอกสารคำร้องขอถอนประกัน แต่ศาลขอให้ทนายถามรวบรัดและให้พยานชี้ข้อความที่เข้าข่ายสร้างความเสื่อมเสียให้สถาบันฯ ไปเลยโดยที่ไม่ต้องมานั่งไล่ทีละประโยค เพื่อกระชับเวลาในการไต่สวน
อานนท์จึงลุกขึ้นแถลงว่า นี่คือปัญหาการพิจารณาคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 เพราะศาลมักไม่อยากให้เบิกความด้วยซ้ำ ตนขอแค่ถ้าพยานไม่รู้ ก็ตอบไม่รู้ แต่ไม่ใช่ไม่ให้ถาม ทนายความแถลงว่า อันที่จริงการถามค้านนี้สามารถจบได้ตั้งแต่พยานกล่าวว่าพยานไม่ได้ให้ความเห็นว่าการปราศรัยเกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบันฯ แต่เมื่อพยานเปลี่ยนคำเบิกความว่าติดใจในส่วนนี้ ทนายจำเลยจึงต้องถามโดยละเอียด
.
ข้อความที่ 4 “ในหลวงท่านยังไม่ได้มีท่าทีที่จะหยุดพฤติการณ์ที่เราเรียกร้องให้ท่านหยุด ยังมีการถ่ายโอนทรัพย์สินเดิมเป็นของพวกเราที่ใช้ร่วมกันไปอยู่ในการครอบครองของตัวเอง … ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ลานพระบรมรูปทรงม้า หลายคนที่รักศรัทธาก็ไปกราบไหว้ ไปทํากิจกรรม ไปชุมนุม ตอนนี้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ล้อมรั้วเป็นของตัวเองแล้ว … ไม่รวมถึงรัฐสภาเดิม สวนสัตว์ หรือแม้แต่สนามม้านางเลิ้ง ตอนนี้ก็มีการปรับปรุงไปเป็นของตัวเอง…”
ทนายจำเลยถามว่าพยานทราบหรือไม่หุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์เคยเป็นของสถาบันฯ และโอนไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ พยานตอบว่าทราบ โดยรับว่าการโอนลักษณะเช่นนี้ทุกคนสามารถตรวจสอบได้
.
ข้อความที่ 5 “มีคนโดนจับเพราะใส่เสื้อครอปท็อป มีคนโดนจับเพราะใส่ชุดไทยไปเดินแฟชั่น ด้วยมาตรา 112 นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น”
ทนายถามว่าพยานทราบหรือไม่ ว่ามีคนใส่ชุดไทยและครอปท็อปและถูกดำเนินคดี พยานตอบว่าทราบ
ในขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงแล้ว ทนายจึงขอให้เลื่อนการพิจารณาไปในช่วงบ่าย
.
ศาลสั่งให้มีการแยกไต่สวนใน 4 ห้องพิจารณาเพื่อความรวดเร็ว แต่ทนายจำเลยคัดค้าน
เวลา 13.40 น. ผู้พิพากษามุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ เข้ามาพูดคุยในห้องพิจารณา ว่าทางผู้บริหารศาลอาญาอยากให้มีการแยกบัลลังก์พิจารณาออกเป็นอีก 3 บัลลังก์ เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดี เนื่องจากคำร้องขอถอนประกันของจำเลยแต่ละคนมีเนื้อหาแตกต่างกันอยู่แล้ว และเพื่อให้การพิจารณาสามารถแล้วเสร็จได้ภายในวันนี้
ทนายความคัดค้าน โดยแถลงต่อศาลว่าเหตุที่แยกห้องพิจารณาไม่ได้ เนื่องจากเนื้อหาการไต่สวนของแต่ละคดีจะนำไปสู่การฟ้องจำเลยแต่ละคนในคดีอาญาเพิ่ม โดยการตัดสินของศาลจะผูกพันไปสู่ผลของคดีที่จะตามมา และหากคดีไต่สวนนี้ล่าช้าออกไป แม้จำเลยถูกขังอยู่ หากจะมีอะไรเสียหาย ผู้เสียหายก็คือผู้ที่ถูกขังอยู่ อีกทั้งพยานโจทก์มีแค่ 4 ปาก โดยพยาน 2 ปากหลังสุด เป็นพยานโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับไมค์ รุ้ง แอมมี่ ซึ่งมีคดีอยู่ในคำร้องเดียวกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องแยกห้องพิจารณาแต่อย่างใด
ศาลแจ้งว่า ศาลจะพิจารณาว่าจำเลยได้ผิดเงื่อนไขต้องถูกถอนประกันหรือไม่แค่นั้น และกำลังคิดว่าศาลจะใช้อำนาจบังคับพิจารณาคดีแยกหรือไม่ เพราะศาลมีอำนาจจะแยกคดีแม้สำนวนส่งมารวมกัน อธิบดีก็มีอำนาจจ่ายสำนวนได้ โดยอำนาจการจ่ายแยกสำนวนมีตามอำนาจพระธรรมนูญศาล ด้วยความเห็นชอบของรองอธิบดีคนที่ 1 และอธิบดีศาล
ทนายความแถลงว่า มันจะเกิดข้อกังขาว่าทำไมจู่ๆ จะมาแยกหรือเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์กับโจทก์จึงมีการแยกคดี พูดในนามเด็กเยาวชน หากติดปัญหาเรื่องเงื่อนเวลา ทนายเห็นว่า ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ ศาลรับปากว่าจะนำคำแถลงไปวินิจฉัย โดยระบุว่าการแยกพิจารณาไม่มีเจตนาให้ผลการตัดสินเป็นอื่น การแยกพิจารณาจะเป็นคุณมากกว่า
14.35 น. ทนายจำเลยปรึกษาหารือว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อการแยกบัลลังก์ อานนท์ขออนุญาตศาลปรึกษาจำเลยอีก 3 คน
14.40 น. ยังมีการปรึกษาหารือกันอยู่เรื่องการถอนประกันระหว่างจำเลยทั้ง 4 และทนายความของ
อานนท์เข้าพูดคุยกับผู้พิพากษาบริเวณหน้าบัลลังก์ ว่าอธิบดีสั่งมาให้แยกบัลลังก์เป็นสี่ห้องแล้วยังมีการเตรียมพนักงานอัยการมาเพิ่ม หากรูปแบบของการพิจารณาในวันนี้ยังยืนยันแบบนี้ จะไต่สวนพร้อมกันให้ได้ ก็ต้องมีการคัดค้าน ทนายและจำเลยขอคัดค้านกระบวนการพิจารณานี้ และยืนยันให้พิจารณาคำร้องรวมกัน รวมถึงยืนยันให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไต่สวนเท่านั้น ศาลจึงขอปรึกษากันอีกครั้งและพักการพิจารณา
15.30 น. ศาลแจ้งว่าจะรวมการพิจารณากลับเข้ามาในสำนวนเดียวกันเหมือนเดิม โดยย้ำว่าไม่มีเจตนาจะให้เป็นอื่น โดยรวมการไต่สวนกลับมาเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
15.40 น. ทนายเริ่มการถามค้านต่อจากช่วงเช้า
ข้อความที่ 6 “ศาลของไทย มีใครสั่งการอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ศาลจะต้องตอบคำถามนี้ แม้แต่ประธานศาลฎีกาเอง ซึ่งเป็นประมุขสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาพวกเรา ยังไปก้มกราบเท้าในหลวงรัชกาลที่ 10”
พยานรับว่าถ้อยคำส่วนนี้ไม่ได้ยุยงปลุกปั่น โดยเป็นการพูดถึงพฤติกรรมส่วนบุคคลของประธานศาลฎีกา ไม่ได้พูดถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรงและไม่เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการประกันตัว
.
ข้อความที่ 7 “ในวันที่มันสาบานตนเข้ารับหน้าที่ สาบานไม่ครบ ก็มีการชูรูปชูข้อความของในหลวงรัชกาลที่ 10 บอกว่ากูมีแบ็ก….”
ทนายความถามพยานว่าเป็นการกล่าวถึงการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ และเป็นการวิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์เรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ โดยพยานพอทราบเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบอยู่บ้าง
.
ข้อความที่ 8 “ถามกันตามตรง ถ้าบริษัทสยามไบโอไซน์ ไม่ใช่คนที่ถือหุ้นใหญ่ชื่อ วชิราลงการณ์ ประยุทธ์ จันทรโอชา จะเอาเงินภาษีเรา ไปอุดหนุนบริษัทไหม ซึ่งมีแต่ขาดทุนไม่ได้มีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนเลย ทำไมรัฐบาลถึงเอาเงินไปสนับสนุนถึงหกร้อยล้านบาท…ประยุทธ์ไม่นำวัคซีนดีดีมาฉีดให้พวกเราทุกคน เหตุผลเดียวก็คือมันกลัววัคซีนของกษัตริย์ขายไม่ได้ เรื่องมันมีอยู่แค่นั้น”
ทนายจำเลยถามพยานว่าทราบหรือไม่ รัชกาลที่ 10 ถือหุ้นบริษัทสยามไบโอไซน์ พยานตอบว่าพอทราบ และยังรับว่าทราบ ว่าประยุทธ์อนุมัติเงิน 600 ล้าน ให้สยามไบโอไซน์และถูกตั้งคำถามจากสังคม โดยตนคิดว่าการปราศรัยส่วนนี้เป็นการด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ ทนายยังได้ให้พยานอ่านเอกสารรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท แต่พยานบอกว่าขออนุญาตไม่อ่านเอกสารนี้
พยานรับว่าทนายอานนท์ในฐานะประชาชนพูดถึงปัญหาอุดหนุนวัคซีนของสยามไบโอไซน์ได้ แต่ไม่ทราบว่าสยามไบโอไซน์มีหน้าที่ผลิตวัคซีนและต้องส่งมอบรัฐบาลไทย และไม่ทราบข่าวการเลื่อนส่งมอบวัคซีน แต่ ทราบว่าช่วงที่จำเลยมีการปราศรัย มีคนตายเยอะ ตายข้างถนนหรือรอวัคซีนจนตายก็มี พยานยังทราบตามข่าวว่ามีการเรียกร้องวัคซีนยี่ห้ออื่นนอกจากซิโนแวคและซิโนฟาร์ม
ส่วนการปราศรัยเนื้อหาตรงนี้จะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องหรือไม่ ก็แล้วแต่คนฟัง ส่วนตัวพยานฟังแล้วอยากจะออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องวัคซีน
.
ข้อความที่ 9 “หมอบางคน บางตัว ที่พยายามจะมาผสมสูตรของพวกนี้ไปบวกกับ sinovac ให้ไปบวกกับ astrazenaca วัคซีนดีๆ เอาเข้ามา มึงไปผสมทำไม เด็กยังรู้ว่าผสมเพราะว่ามันจะต้องใช้ส่วนผสมของวัคซีนกษัตริย์เรื่องมันมีแค่นี้ ”
พยานรับว่า ภาพรวมของการปราศรัยส่วนนี้ จำเลยพูดถึงการบริหารวัคซีนของรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์สยามไบโอไซน์ แต่ไม่แน่ใจเจตนาของจำเลย โดยมีการพูดถึงวัคซีนกษัตริย์อยู่ด้วย ปราศรัยคล้ายกับว่าวัคซีนของกษัตริย์ที่นำมาผสม เป็นวัคซีนที่ไม่ดี
ทนายถามว่า ข้อความข้างต้น เขาพูดถึงคนผสมวัคซีนหรือพูดถึงตัววัคซีนไม่ดี พยานตอบว่าฟังแล้วนึกถึงว่าวัคซีนไม่ดี ทนายจึงถามต่อว่าหากโควิดระบาดแล้วมีวัคซีนห่วย อานนท์จะสามารถทักท้วงได้หรือไม่ พยานตอบว่าแล้วแต่คน
ศาลขอให้ทนายถามโดยรวมอย่าถามไปทีละประโยคของการปราศรัย เพราะการไต่สวนจะยืดยาวออกไปเกินจำเป็น
.
ข้อความที่ 10 “เส้นแบ่งของสันติวิธีคือการไม่ทำร้ายใครต่างหาก นั่นคือสันติวิธีถ้าจะพูดกันตรงตรงพี่น้องอาชีวะที่อยู่ตรงนี้มันมีของทั้งนั้นแหละครับแต่เขาไม่เอามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเขาเชื่อมั่นในสันติวิธี อย่าไปยั่วยุ อย่าไปบังคับคนให้โกรธ จลาจลอย่าหาทำ…ต่อยมากูต่อยคืน กูคิดอย่างนั้นแต่ที่เขายังอดทนอดกลั้นเพราะเขาเชื่อในสันติวิธี”
พยานยอมรับว่าอานนท์ปราศรัยเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีในการต่อสู้
.
ข้อความที่ 11 “ในปีนี้เราจะสู้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เราจะสู้อย่างมีแนวทางการต่อสู้ในเชิงยุทธวิธีนอกจากการชุมนุมปราศรัยกัน ในขบวนการกดดันต่างๆนานา เราจะเสนอกฎหมายเข้าสภาด้วยเพราะประเทศนี้ปกครองด้วยนิติรัฐ ปกครองด้วยกฎหมาย เราต้องเชื่อมั่นในการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เราจะเสนอการยกเลิกมาตรา 112 ….ทรัพย์สินที่ในหลวงโอนไปเป็นของตัวเองเราจะออกกฎหมายทวงคืนมาให้หมดไม่ให้เหลือแม้แต่สตางค์เดียว รัฐธรรมนูญที่มีการร่างให้อำนาจสถาบันกษัตริย์ไปสร้างองค์กร หน่วยงานในพระองค์ เราจะแก้ไขให้หมด…”
ทนายให้พยานอ่านคำปราศรัยข้างต้น พยานรับว่าการที่จำเลยเสนอแก้มาตรา 112 ผ่านสภา เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ นอกจากนี้ประเด็นการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลับคืนมาหรือประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขอำนาจในการตั้งหน่วยงานในพระองค์ ก็เป็นไปในลักษณะการเสนอกฎหมาย
พยานรับว่าโดยสรุปนั้นคำปราศรัยของอานนท์ พูดถึงการต้องไม่ใช้กำลัง ไม่ได้เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง บรรยากาศโดยรวมของวันที่ 3 ส.ค. 64 ไม่มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ การชุมนุม เริ่มต้นและสิ้นสุดตามระยะเวลา ไม่มีค้างคืน ไม่มีการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว แต่เท่าที่พยานฟังมาทั้งหมด พยานฟังแล้วรู้สึกอยากออกมาร่วมด้วยชุมนุมและรู้สึกไม่ดีในบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน
พยานยังตอบโจทก์ถามติงว่าการถอดเทปจากไลฟ์สดนั้น ตอนฟังรู้สึกว่าเนื้อหารุนแรงกว่านี้ แต่ยังยืนยันว่าเนื้อหาการถอดเทปว่ามีข้อความตรงกับเหตุการณ์จริง และการโอนทรัพย์สินของรัชกาลที่ 10 เป็นการโอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เนื่องจากในวันนี้เวลาล่วงเลยไปมากแล้ว คู่ความจึงปรึกษาหารือกันและขอเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 4 พ.ย. 2564 เวลา 10.00 น.
.
ภาพการปราศรัยของอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 (แฟ้มภาพ)
.
ไต่สวนคำร้องถอนประกันต่ออีกวัน หลังพิจารณาไปได้เพียงปากเดียว
วันที่ 4 พ.ย. 64 เวลา 10.00 น. เริ่มการพิจารณาคดี โดยมีอานนท์และไมค์ ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำ ส่วนรุ้ง ไม่สามารถมาร่วมได้เนื่องจากติดเรียน และแอมมี่ ได้ขออนุญาตศาลมารายงานตัวในช่วงเช้า ก่อนจะขอตัวไปทำธุระในช่วงบ่าย
ในส่วนของทนายจำเลย มีเพียงทนายของอานนท์ นำภา ที่มาศาล เนื่องจากทนายของจำเลยอื่นๆ ติดว่าความในศาลที่มีนัดไว้ก่อนแล้ว
วันนี้ยังคงมีครอบครัวของทั้งอานนท์ ไมค์ และแอมมี่มาศาล โดยยังคงมีมวลชนมาให้กำลังใจประมาณ 20 คน ศาลได้เปิดห้องคอนเฟอร์เรนซ์ที่บัลลังก์ 804 เช่นเดิม ขณะที่บริเวณศาลยังคงมีการตั้งด่านตรวจและลงทะเบียนรายละเอียด ชื่อ เลขบัตรประชาชน ผู้ที่จะเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี
10.10 น. เริ่มเบิกความพยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.อ.เทอดไท สุขไทย ตำรวจกองกำกับการ 6 กองบังคับการสันติบาล 1 ตำแหน่งผู้กำกับ ซึ่งมีหน้าที่ติดตามข่าวเรื่องความมั่นคงในกรุงเทพฯ
พ.ต.อ.เทอดไท เบิกความว่าตนมีหน้าที่ในการสืบสวนผู้เข้าร่วมการชุมนุม ช่วงเวลาดังกล่าวผู้บังคับการสันติบาล 1 ให้ตนสืบสวนและรายงานพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องการผิดเงื่อนไขการประกัน ตนทราบว่าอานนท์มีเงื่อนไขประกันตัวซึ่งวางไว้ 4 ข้อ โดยอานนท์สมัครใจจะปฎิบัติตามเงื่อนไข
อย่างไรก็ตามหลังได้รับการปล่อยตัว มีการประกาศร่วมกิจกรรมทางการเมืองคาร์ม็อบครั้งที่ 2 ของสมบัติ บุญงามอนงค์ วันที่ 10 ก.ค. 2564 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,500 คน วันดังกล่าวพบ “เป้าหมาย” ซึ่งหมายถึงอานนท์อยู่ในรถ โดยเจ้าหน้าที่สันติบาลได้รายงานมาทางออนไลน์
ต่อมา 18 ก.ค. 2564 มีการนัดชุมนุมรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนที่ไปยังทำเนียบ มีประชาชนเข้าร่วมราว 800 คน มีการเลิกชุมนุมในเวลา 18.00 น. กิจกรรมดังกล่าวมีจำเลยอยู่ด้วย โดยมีภาพประกอบการชุมนุมทั้ง 2 วัน ตนทราบว่าการชุมนุมทั้งสองวันไม่มีการขออนุญาตชุมนุม การใช้รถขับเป็นขบวนทำให้รถติด ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรค แต่ไม่มีการป้องกัน
นอกจากนี้หลังตรวจสอบการเข้าชุมนุมแล้ว ยังมีการติดตามโพสต์ของจำเลยในสื่อออนไลน์ทุกโพสต์ โดยโพสต์หนึ่งคือโพสต์การเข้าร่วมชุมนุมวันที่ 10 ก.ค. 64 ซึ่งตรงกับที่ตนได้รับรายงาน
อัยการยังได้ให้พยานดูโพสต์เฟซบุ๊กของอานนท์ทั้ง 47 โพสต์ ซึ่งพยานเป็นผู้จัดทำว่า โพสต์ใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการผิดเงื่อนไขในเรื่องสร้างความเสื่อมเสียให้สถาบันกษัตริย์ พยานตอบว่าหลายโพสต์ โดยได้เลือกโพสต์ไว้ แล้วส่งเอกสารภาพโพสต์นั้นๆ ให้ศาลบันทึกรายละเอียดอีกครั้ง
ในช่วงทนายจำเลยถามติง พยานตอบทนายจำเลยว่า การชุมนุมมีเวลาเริ่มและเลิก โดยเลิกตรงเวลา ประชาชนที่มาชุมนุมคาร์ม็อบนั่งอยู่ในรถยนต์ ไม่ได้อยู่ภายนอก และไม่มีรายงานว่า อานนท์เดินทางไปยัง พรรคการเมือง 3 จุด ในกิจกรรมคาร์ม็อบ เจ้าหน้าที่ได้พบอานนท์บริเวณแยกราชประสงค์ โดยจำเลยอยู่ในรถแท็กซี่ กับนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ซึ่งในภาพถ่ายมีการใส่หน้ากากทั้ง 2 คน ตามภาพในกิจกรรมแยกราชประสงค์ ไม่มีการตั้งเวทีปราศรัย และไม่ปรากฎว่าอานนท์ออกมาพูดคุยกับคนอื่น โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องของคาร์ม็อบนี้ คือให้ประยุทธ์ลาออก เนื่องจากการบริหารวัคซีนที่ล้มเหลว
สำหรับเหตุการณ์วันที่ 18 ก.ค. 2564 เวลาที่ถูกระบุในรายงานซึ่งนำมาประกอบเอกสารขอถอนประกัน เป็นเวลาที่อานนท์พูดในโซเชียล ผ่านแอพพลิเคชั่น Club House เวลาต่างๆ ที่ถูกระบุ ลูกน้องไม่ได้รายงานว่าได้พบจำเลยในที่นั้นๆ และลูกน้องไม่ได้บันทึกเสียงไว้ เพราะบันทึกไม่ได้ แต่จะใช้อุปกรณ์อื่นบันทึกไว้หรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่ไม่ได้มีไฟล์เสียงอ้างส่งมาประกอบ ส่วนประโยคให้ไปรวมตัวที่สะพานชมัยมรุเชฐเพื่อปะทะ คฝ. ตนทราบจากการบันทึกในกระดานสถานการณ์
รายงานที่บอกว่า อานนท์จะไปแยกยมราช ตนไม่ทราบว่า เดินมาจากไหน พยานเบิกความเพิ่มเติมว่า วันดังกล่าว มีการปะทะที่สะพานชมัยมรุเชฐ เหตุที่ต้องป้องกันพื้นที่ตรงนั้น เนื่องจากเป็นระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งห้ามมวลชนเข้าใกล้พื้นที่พระราชฐาน ในระยะ 400 เมตร – 100 เมตร ก่อนประกาศยุติกิจกรรมวันที่ 18 ก.ค. มีการปะทะกัน หลังยุติกิจกรรมก็ยังมีมีกลุ่มวัยรุ่นและการ์ดปะทะกับตำรวจ โดยที่กิจกรรมทั้ง 2 วัน อยู่ในที่เปิดโล่ง ไม่แออัด
ในรายงานของตำรวจ ระบุว่าพยานมีความเห็น ว่าอานนท์ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องจะไม่ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง นอกจากนี้ยังเสนอให้ดำเนินคดีมาตรา 116 และ 215 โดยเหตุผลที่ทำรายงานฉบับนี้ ไม่ได้มุ่งหมายจะดำเนินคดีมาตรา 112 แต่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้รายงานเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ของอานนท์
.
อานนท์ย้ำเบิกความด้วยความสัตย์จริง การเข้าร่วมปราศรัยมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจเลี่ยงได้
เวลา 14.00 น. อานนท์ สาบานตน และขออนุญาตแถลงต่อศาล ว่าหากการเบิกความตามความจริงของตนทำให้ตนต้องถูกถอนประกัน ก็อยากให้ศาลทราบว่าตนได้ตั้งใจเบิกต่อศาลด้วยความสัตย์จริงทุกประการ
อานนท์เบิกความว่าตนเข้าใจเงื่อนไขการประกันตัวเป็นอย่างดี เงื่อนไขดังกล่าวได้แก่ 1. ห้ามเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง 2. ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์
ขอบเขตเงื่อนไขในข้อ 1 ตนเห็นว่าคนเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมได้ และศาลคงไม่ได้ห้าม แต่หากการชุมนุมใดเล็งเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ตนก็ตั้งใจจะไม่ไปชุมนุมอยู่แล้วโดยเคร่งครัด สำหรับขอบเขตในข้อ 2 ตนคิดว่าศาลไม่ได้ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต
สำหรับที่มาที่ไปของการไปชุมนุมวันที่ 10 ก.ค. 2564 เมื่อได้รับการประกันตัวออกมา ตนตั้งใจจะเดินสายให้การคดีที่ถูกแจ้งข้อหาตามต่างจังหวัด และเดินสายเสนอเรื่องการแก้ไขกฎหมาย แต่ช่วงที่ได้รับการปล่อยตัวนั้นมีเรื่องการจัดการโควิดที่ล้มเหลวของรัฐบาลเข้ามา ตนจึงเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวเนื่องจากเชื่อมั่นในผู้จัดการชุมนุม คือ สมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวสันติวิธี และมีวิธีการจัดการชุมนุมซึ่งคิดมาอย่างรอบคอบ โดยถึงแม้ว่าตนจะอยู่กันสองคนในรถ ก็ยังสวมหน้ากากอนามัยตามภาพที่ปรากฏ
ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการเลือกเข้าร่วมการชุมนุม คือการออกแบบกิจกรรมที่ปลอดภัยและวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม ก็เพื่อให้ประยุทธ์ลาออกและให้คนที่มีประสิทธิภาพเข้ามาบริหารจัดการแทน ระยะเวลานั้น ประชาชนทำงานที่บ้าน รถไม่ได้เยอะมาก การชุมนุมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมจอดรถขวางถนน แต่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ
การบริหารโควิดรัฐบาลล้มเหลวอย่างไร รัฐบาลจัดหาวัคซีนโควิดไม่เพียงพอและสถานพยาบาลไม่เพียงพอ มีคนไร้บ้าน คนจนตายข้างถนน เกิดความเหลื่อมล้ำในการได้รับวัคซีน ชาวบ้านได้รับวัคซีนช้า ต้องรอวัคซีน ข้าราชการได้รับก่อน โดยทนายจำเลยได้อ้างส่งข่าวการตายข้างถนนของชาวบ้าน
กิจกรรมวันดังกล่าวไม่มีการรวมกลุ่มกันนอกรถยนต์ การปราศรัยทำผ่าน Club House ซึ่งปลอดภัย คนฟังสามารถฟังในรถ คนปราศรัยก็พูดในรถ คนที่อยู่บ้านก็ฟังได้ ตนมั่นใจว่ากิจกรรมไม่ผิดกฎหมายและปลอดภัย กิจกรรมเริ่มต้น-สิ้นสุด ตามเวลาและสถานที่ มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ คือ การบีบแตร เช่น บีบหน้าพรรคการเมือง แต่หากผ่านโรงพยาบาลจะบอกกันว่าอย่าบีบแตร
ทางด้านกิจกรรมวันที่ 18 ก.ค. 2564 เป็นกิจกรรมที่จัดโดยนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่หลายกลุ่ม นิสิต นักศึกษา หลายมหาลัย มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ประยุทธ์ลาออก 2. ปรับลดงบสถาบันและกองทัพ เพื่อแก้โควิด 3. เรียกร้องให้นำเข้า mRNA โดยขณะนั้นมีการนำเข้าวัคซีนซึ่งเป็นของหลานเจ้าสัว CP ซึ่งตนเห็นว่าเป็นวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพ ส่วนวัคซีนอื่นก็ถูกเลื่อนการจัดส่งออกไป
ข้อเรียกร้องของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ในข้อที่ 1 เหมือนข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร ข้อที่ 2 เป็นข้อเรียกร้องส่วนหนึ่งของกลุ่มราษฎรเช่นกัน คือการโยกย้ายงบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นเงินที่ให้สถาบันโดยตรง แต่รวมถึงงบการทำซุ้ม หรือเดินทาง มาใช้กับงานสาธารณสุขในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะหากนำเงินทั้ง 2 ส่วนมาใช้ก่อน รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน ถึงกู้ก็อาจกู้ได้น้อยลง ส่วนข้อเรียกร้องข้อ 3 นั้นตรงไปตรงมาว่า ซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพ พวกตนอยากได้วัคซีนชนิดอื่น ตนไม่คิดว่าการจัดกิจกรรมทั้งหมดขัดกฎหมาย
วันที่ 18 ก.ค. ตนโดยสารรถนายพันธ์ศักดิ์ มาในช่วงบ่าย เริ่มต้นที่ถนนราชดำเนิน กิจกรรมดังกล่าวมีการทำศพจำลองโดยตั้งใจไปวางที่ทำเนียบแล้วกลับ ให้สื่อถ่ายรูป
ทนายเปิดเอกสารตำรวจให้อานนท์ดู โดยมีการระบุเวลาอย่างละเอียด ซึ่งตนยืนยันว่าอยู่ในรถตลอด มีเพียงเหตุการณ์เดียวที่เกี่ยวข้องกับตนนอกรถ คือ ตอนรถอยู่สะพานผ่านฟ้า มีกลุ่มประชาชนที่เห็นเหตุการณ์การสลายการชุมนุม นำรถบรรทุกมาช่วยบังกระสุนยาง รถฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตา เหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน ตนยอมรับว่าวันดังกล่าวมีผู้พยายามเผารูปที่ซุ้ม แต่ผู้ชุมนุมมาช่วยกันดับ โดยเรื่องนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วด้วย
นอกจากนี้ตนยืนยันประโยคที่บอกให้คนไปรวมตัวเพื่อเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ ในเอกสารของเจ้าหน้าที่ที่รวบรวมมานั้น ตนเชื่อว่าตนไม่ได้พูด เพราะในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมเข้าปะทะไม่ได้ด้วยซ้ำ เนื่องจากมีการใช้แก๊สน้ำตายิงระยะไกลมาจากแนวรั้วลวดหนาว โดยปกติตนเป็นคนโพสต์เกี่ยวกับแนวทางต่อสู้สันติวิธีมาตลอด และหากจะมีการโพสต์เรื่องอุปกรณ์ไปชุมนุมก็มีเพียงอุปกรณ์กันแก๊สน้ำตา
เหตุที่ตนต้องพยายามเน้นสันติวิธี เนื่องจากแม้อาวุธไม่ได้หายาก แต่หากเราเริ่มใช้ก่อนอาจทำให้เราเสียชีวิตจากการถูกตอบโต้ได้ การชุมนุมโดยตลอด ก่อนตนถูกจับกุมไม่เคยมีการใช้ความรุนแรงจากผู้ชุมนุม
ช่วง 18.00 น. ที่ตำรวจระดมยิงแก๊สน้ำตา ตนจำต้องลงจากรถเพื่อไปบอกให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน เนื่องจากผู้ชุมนุมจำหน้าตนเองได้ว่าตนคือแกนนำ ตนกลัวว่าหากอยู่จนมืดจะอันตราย ยังปรากฎภาพกลุ่มการ์ด WeVo ยังคล้องแขนกันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ซึ่งตนได้ถ่ายภาพไว้และโพสต์ในเฟซบุ๊ก
เหตุการณ์วันดังกล่าวจบเพียงแค่นั้น ตนทราบดีว่าหากลงจากรถจะถูกถ่ายรูป แต่จำเป็นต้องลงเพื่อพูดคุยกับผู้ชุมนุม แม้สุ่มเสี่ยงที่จะเข้าเงื่อนไขการเข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่ตนคิดว่าจำเป็นต้องทำ สำหรับกิจกรรม 10 และ 18 ก.ค. ตนยังไม่ได้รับหมายเรียกหรือถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด
สำหรับข้อความตามโพสต์เฟซบุ๊ก 47 โพสต์ ที่ฝ่ายผู้ร้องกล่าวอ้างประกอบคำร้องขอถอนประกันตัว ทนายความได้ไล่เรียงโพสต์เฟซบุ๊ก โดยอานนท์อธิบายไปทีละโพสต์ อย่างไรก็ตามศาลขอให้มีการสรุปโดยรวม เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา
.
รัฐบริหารวัคซีนผิดพลาดจนมีคนตายข้างถนน ทำให้ตนต้องออกมาเรียกร้องการบริหารวัคซีนคุณภาพ
ส่วนในการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 อานนท์เบิกความว่าช่วงเวลาที่มีการจัดชุมนุมนั้น รัฐบาลเจตนาทำให้การบริหารวัคซีนผิดพลาด ตนไม่ตั้งใจจะขึ้นปราศรัย แต่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องพูด เป็นเรื่องวัคซีน โดยใช้ธีมเดิม เนื่องจากการชุมนุมแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ในปีที่แล้ว เป็นการเริ่มต้นเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
สำหรับเรื่องความปลอดภัยจากโควิด-19 ตนคิดว่าวันดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำเพราะทุกคนทราบดีว่ากำลังอยู่ในช่วงของการระบาด จากภาพจะเห็นได้ว่าตนใส่แมสก์ปราศรัยตลอด และเป็นที่โล่งแจ้ง ในงานก็มีการแจกเจลแอลกอฮอล์
เนื้อหาของการปราศรัยต้องท้าวความการต่อสู้ 1 ปีที่ผ่านมาของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเรียกร้องเรื่องความเสมอภาค คนรุ่นใหม่พูดเรื่องความเท่าเทียมกันด้านเพศสภาพ เสรีภาพการแข่งขันทางธุรกิจ เสรีภาพการศึกษา การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ตนปราศรัยว่าเมื่อมีการพูดเรื่องเหล่านี้ พบว่าคนรุ่นเก่ากับเรามีแว่นที่ต่างกัน คนรุ่นใหม่มองว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ วิจารณ์ได้ อยู่เหนือการเมือง แต่อีกกลุ่มมองกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่วิจารณ์ไม่ได้
ข้อเรียกร้องตามที่ตนปราศรัยโดยสรุป คือ ประเด็นที่ 1 สถาบันกษัตริย์ขยายพระราชอำนาจไปไกลกว่าที่ระบอบประชาธิปไตยอนุญาตให้ทำ หากพูดอ้อมๆ จะไม่มีการแก้ปัญหา การจัดชุมนุมแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ทั้งครั้งที่ 1 และ 2 เป็นการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา คือ 1. การแก้รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 10 ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เช่น การแก้ให้สถาบันฯ ตั้งหน่วยงานเองโดยตรงได้ และการแก้ให้ไม่ต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การแก้เช่นนี้ทำให้ รัชกาลที่ 10 ไปอยู่เยอรมันได้เป็นเวลานาน ซึ่งกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น ทำให้กฎหมายบางฉบับล่าช้ากว่าที่ควรเป็น หรือจะเป็นเรื่องการสั่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนุญ รัฐธรรมนูญที่มีการแก้นั้น ซึ่งอันจริงรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้ว จะแก้อีกทีหลังไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย
ประเด็นที่ 2 การโอนหน่วยทหารกองกำลังราบ 1 และราบ 11 ไปอยู่ในหน่วยงานในพระองค์ การปล่อยให้กษัตริย์มีกองทัพของตนเองจะกระทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ 3 คือการตรากฎหมายรวมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับส่วนพระองค์เข้าด้วยกัน และกำหนดให้การโอนเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยการออกกฎหมายดังกล่าวสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนมือได้ ยกตัวอย่างเช่น การโอนหุ้น SCB และอื่นๆ
ตนไม่เห็นด้วยที่มีการโอนทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ไปเป็นของตนเอง เช่น เขาดิน, รัฐสภาเก่า, ลานพระบรมรูปทรงม้า ตนปราศรัยไปถึงเรื่องการตอบโต้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยการนำทหารไปอบรมประวัติศาสตร์เด็กมัธยม แต่เด็กต่อต้าน มีการชู 3 นิ้ว, ผูกริบบิ้นสีขาว
นอกจากนี้ ตนยังพูดถึงคุณจุลเจิม ยุคล โดยเปรียบเทียบว่ามีผู้ถูกแจ้งมาตรา 112 หลายคน ทั้งที่เป็นการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ตนรู้สึกว่าอย่าเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมาปิดปากคน และเอาเผือกร้อนมาโยนใส่ศาล
ตนปราศรัยว่าจริงอยู่มีการพูดปราศรัยที่แสดงความไม่เคารพไม่เหมาะสม แต่ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงกระพี้ไม่ใช่แก่น และปราศรัยเรื่องการกล่าวปฏิญาณตนไม่ครบของประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ปฏิญาณว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ โดยเรื่องนี้ก็มีการตั้งกระทู้ในสภา เมื่อคนตั้งคำถามเยอะขึ้น แทนที่จะถวายสัตย์ใหม่ กลับนำคำให้กำลังใจของสถาบันกษัตริย์มาอ้าง ตนจึงปราศรัยว่า ประยุทธ์มีพระดี จึงไม่ลาออก
ประเด็นสำคัญคือ การวิพากษ์การบริหารวัคซีนที่เอื้อประโยชน์ เพราะเมื่อโควิดเริ่มระบาด แทนที่รัฐจะแสวงหาวัคซีนหลายยี่ห้อที่มีคุณภาพ รัฐกลับล็อคสเปคสยามไบโอไซน์ให้ผลิตวัคซีนให้ไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่ในหลวงถือหุ้นเกือบ 100% ตนเห็นว่าในประเทศประชาธิปไตยจะทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะปกติต้องผ่านการประมูล
รัฐยังสนับสนุนเงินภาษีของประชาชนแก่บริษัท และมีความพยายามบอกว่าวัคซีนนี้เป็นวัคซีนพระราชทาน มีการลงข่าวถึงขนาดว่าไทยจะได้วัคซีนอันดับต้นๆ ของโลก
ปัญหาที่นำไปสู่การปราศรัย คือสยามไบโอไซน์ผลิตวัคซีนไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด และรัฐก็ไม่ยอมไปจัดหาวัคซีนอื่น ตนจึงตั้งคำถามว่า รัฐบาลเกรงใจจึงต้องรอวัคซีนพระราชทานใช่หรือไม่
ในช่วง ก.ค.- ส.ค. รัฐบาลกีดกันการนำเข้าของเอกชน สร้างเงื่อนไขให้การนำเข้ายุ่งยาก ตนเชื่อโดยสุจริตใจว่า หากพวกตนไม่เรียกร้องจะไม่มีการนำเข้าวัคซีนอื่นๆ อย่างเช่นในปัจจุบัน
ตนทราบว่าจะมีคนไปร้องขอให้ถอนการประกันตัวจากการขึ้นปราศรัย แต่หากไม่พูด คนจะไม่เห็นปัญหาและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา ถ้ารัฐบาลนำเข้าวัคซีนตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 อาจมีคนตายน้อยกว่านี้ สังคมไทยไม่ควรเป็นสังคมผักชีโรยหน้าในการแก้ไขปัญหา ส่วนประเด็นที่ว่าการพูดของตนอาจไปสอดคล้องกับการผิดเงื่อนไขการประกันตัว ตนสงสัยว่าห้ามตนพูด เพราะการที่ตนพูดจะเสื่อมเสีย หรือห้ามเพราะมันเป็นสิ่งที่เสื่อมอยู่แล้วกันแน่
ท้ายที่สุด อานนท์ยืนยันว่าการร่วมชุมนุมในวันที่ 10, 18 ก.ค. และ 3 ส.ค. 2564 ตนเข้าร่วมด้วยความจำเป็นที่จะต้องพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ทนายได้ขอส่งเอกสารหลักฐานซึ่งเป็นการยืนยันถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่อานนท์ได้ปราศรัยว่าไม่มีส่วนใดเป็นเท็จ จำนวน 106 รายการ
ทางด้านอัยการถามค้านโดยถามว่า หากเลือกวิธีการอื่น เช่น ปราศรัยออนไลน์จะทำได้หรือไม่ อานนท์ตอบว่าการใช้โซเชียลมีเดีย สามารถทำได้ แต่ไม่มีประสิทธิภาพ และตนเห็นว่าการชุมนุมปราศรัยยังเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ
การไต่สวนอานนท์ นำภา เสร็จสิ้นในเวลา 15.40 น. และศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 5 พ.ย. 64 เวลา 13.30 น.
ในส่วนการไต่สวน ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ‘แอมมี่’ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ศาลอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวออกไปเป็นวันที่ 18 พ.ย. 64 เวลา 9.00 น.