วันอังคาร, พฤศจิกายน 09, 2564

จากรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ถึงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 : ความพยายามในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
9h ·

[ จากรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ถึงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 : ความพยายามในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง ]
.
วันนี้ เมื่อ 74 ปีที่แล้ว ผิน ชุณหะวัณ, เผ่า ศรียานนท์, กาจ กาจสงคราม, ก้าน จำนงภูมิเวท และทหารทั้งนอกและในราชการอีกหลายคน ได้ชักชวนให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าผู้ก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยและทันสมัยมากในยุคนั้น
.
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากคณะหนึ่งไปเป็นอีกคณะหนึ่ง ไม่ใช่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากคนหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนรูปลักษณะของระบอบการปกครองด้วย รัฐประหารครั้งนี้ได้ปิดฉากคณะราษฎรสายพลเรือน ตัดตอนอำนาจของปรีดี พนมยงค์ และพวก ฟื้นฟูพระราชอำนาจกษัตริย์กลับมาใหม่ เริ่มต้น “วงจรอุบาทว์” ทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ต้องมี “รัฐประหาร” ก็คือ กรณีสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล
.
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 คือ รัฐประหารที่มีความริเริ่มหรือ original อยู่หลายอย่าง
.
คือ จุดเริ่มต้นของรัฐประหารแล้วต้อง “ฉีก” รัฐธรรมนูญ
คือ จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการใช้กำลังทหารยึดอำนาจ
คือ จุดเริ่มต้นของรัฐประหารแล้วต้องอาศัยบารมีความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ นำรัฐธรรมนูญใหม่ที่พวกตนทำขึ้นให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม
คือ จุดเริ่มต้นของการเขียนรัฐธรรมนูญฟื้นฟูพระราชอำนาจ
.
ภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมายต่างๆ ในธรรมเนียมปฏิบัติ จนทำให้ลักษณะของระบอบการปกครองเปลี่ยนรูปไป ไม่ใช่ระบอบ constitutional monarchy ตามแบบที่คณะราษฎรสร้างไว้ตั้งแต่ 2475 ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน 2475 ด้วย
.
ในทางลายลักษณ์อักษร รูปลักษณ์ภายนอก กษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดแบบก่อน 2475
.
ในทางลายลักษณ์อักษร รูปลักษณ์ภายนอก มีสภา มีรัฐบาล เป็นผู้ใช้อำนาจและรับผิดชอบ
.
แต่ในทางเนื้อหา ทางปฏิบัติ ทางความเป็นจริง กษัตริย์ยังคงสงวนอำนาจทางการเมืองอยู่หลายประการ
.
รัฐธรรมนูญ 2490/2492 นำอภิรัฐมนตรี/องคมนตรี กลับมา
ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์
ให้วุฒิสภามีอำนาจมากกว่าสภาผู้แทนราษฎร
.
นอกจากนั้น มีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2491 ซึ่งเพิ่มพระราชอำนาจกษัตริย์ในการจัดการทรัพย์สิน
.
มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในปี 2499 ย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากหมวดประทุษร้ายกษัตริย์ ให้มาอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และให้เลขมาตรา 112
.
แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม “เปลี่ยนใจ” เลิกเป็นพันธมิตรกับสถาบันกษัตริย์ ก่อรัฐประหาร 2494 เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2492 และนำ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้ใหม่ก็ตาม แต่ในท้ายที่สุด จอมพล ป. ก็ “ชะตาขาด” ในทางการเมือง ถูกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร 2500 ต้องลี้ภัยไปอยู่ญี่ปุ่นและเสียชีวิตที่นั่น
.
การปกครองระบอบเผด็จการแบบสฤษดิ์ในยุคต่อมา กลายเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูพระราชอำนาจทั้งในทางตัวบทกฎหมาย ในทางปฏิบัติ ในทางประเพณีวัฒนธรรม ในทางอุดมการณ์ความคิด
...
67 ปีต่อมา ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ในชื่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ทิ้ง พวกเขาตั้งตนเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ออกรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศ คำสั่งต่างๆจำนวนมาก เพื่อประกันให้พวกเขาได้ครองอำนาจและสืบทอดอำนาจจนถึงปัจจุบัน
.
รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ได้เป็นเพียงการใช้กำลังทหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นรัฐประหารที่เข้ามาประกันในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยด้วย
.
นับตั้งแต่ประยุทธ์ครองอำนาจ เขาและพวกได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมาย ตลอดจนแนวทางปฏิบัติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ระบอบการปกครองมีแนวโน้มหันเหออกจากระบอบ constitutional monarchy กลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงมากขึ้น
.
ตัวอย่างเช่น
.
แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้ว ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดยอ้างว่าดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560
ตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 / พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561
ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 / พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561
ตราพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562
ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยไม่พูดคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
เป็นต้น
.
ความพยายามในการสร้าง “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” รอบใหม่นี้อยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างไปจากรอบก่อน
.
ข้อแรก การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ในช่วงปี 2490-2500 นั้น การเมืองผูกขาดไว้อยู่กับชนชั้นนำทางการเมืองไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม เป็นการต่อสู้ระหว่าง นักการเมืองฝ่ายพลเรือน กองทัพ สถาบันกษัตริย์และฝ่ายกษัตริย์นิยม โดยที่ไม่มี “ประชาชน” อยู่ในสมการ
.
แต่ในยุคปัจจุบันนี้ การเมืองได้พัฒนาไปไกลจนเป็น “การเมืองแบบมวลชน” มากกว่าเดิม แต่ละฝักฝ่ายมีมวลชนสนับสนุน และมวลชนก็เลือกที่จะสนับสนุนฝักฝ่ายต่างๆแบบมีพลวัต มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนอย่างสุดจิตสุดใจ มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนเฉพาะกาลเฉพาะกิจตามยุทธวิธีการต่อสู้ และพร้อมจะยุติการสนับสนุนหากมีกลุ่มการเมืองฝ่ายใหม่ๆขึ้นมา มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆเพื่อใช้เป็น “พาหนะ” ในการทำตามความคิดอุดมการณ์ของตน
.
ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ทำให้นักการเมืองที่เป็นชนชั้นนำทางการเมืองแบบเดิมๆ ไม่อาจเจรจาต่อรองหรือ “เกี๊ยะเซียะ” กันได้เองอีกต่อไป ประชาชนมิใช่ “ของตาย” ของใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พร้อมเป็นพลังกดดันให้ฝักฝ่ายทางการเมืองเดินหน้า
.
ข้อสอง ในช่วงรัฐประหาร 2490 และหลังจากนั้น มีปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยมที่สนับสนุนมากมาย พวกเขาช่วยกันผลิตคำอธิบาย สร้างงานทางปัญญาและวัฒนธรรม ช่วยออกแบบโครงการทางการเมือง นำเสนอและตอบโต้ได้อย่างเป็นระบบและดูมีปัญญาความรู้ เช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัต, กรมขุนชัยนาทนเรนทร, เสนีย์ ปราโมช, คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ เป็นต้น
.
ในขณะที่ยุคสมัยปัจจุบัน เราไม่พบเห็นปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยม/อนุรักษ์นิยม ที่ผลิตงานและอธิบายได้มีคุณภาพและมาตรฐานเหมือนก่อน
.
ข้อสาม เยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันมีความคิดจิตสำนึกในทางประชาธิปไตย พวกเขาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยตามแบบระบอบ constitutional monarchy พลังและขบวนของพวกเขานี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยันและต่อต้านไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงแบบถาวร
.
ในขณะที่ยุค 2490-2500 ไม่มีพลังเหล่านี้
.
ข้อสี่ ในยุคปัจจุบันนี้ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าแบบเต็มรูปหรือซ่อนรูป ไม่ว่าแบบเปิดเผยหรือจำแลง ล้วนแล้วแต่ล้าสมัย ไม่เหมาะสม ทั้งกาละ และเทศะ สังคมไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก ความรวดเร็วของเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง
.
อำนาจไม่อาจปกครองและครอบงำบุคคลได้ด้วยการใช้กำลังบังคับแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการยินยอมพร้อมใจผสมผสานด้วย ทุกวันนี้ มีแต่การใช้กลไกรัฐเข้าบังคับกดขี่ ผ่านกฎหมาย ศาล ทหาร คุก ตำรวจ ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีคนไม่ยินยอมและพร้อมต่อสู้อีกมาก สภาพการณ์เช่นนี้ ไม่มีทางที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงจะก่อตัวได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ถาวรได้
.
ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรระหว่าง...
“ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” ที่มีกองทัพ ระบบราชการ และทุนผูกขาด ค้ำจุน
หรือ
“ระบอบประชาธิปไตย” ที่ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด และมีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ประชาชนชาวสยามผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ผู้เป็น “เจ้าของ” ประเทศนี้ แผ่นดินนี้ร่วมกัน คือ ผู้ตัดสิน
ทำให้ความพยายามครั้งนี้มิใช่ความพยายามครั้งใหม่ มิใช่ความสำเร็จอีกครั้ง
แต่เป็นความพยายามครั้งสุดท้าย และเป็นความล้มเหลวไปตลอดกาล
#สมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง #ประชาธิปไตย #กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ