Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
15h ·
[ วิธีตอบคำถาม สยบทุกข้อโต้แย้ง ยกเลิกมาตรา 112 ]
วันนี้ เวลา 16.00 น. กลุ่ม “ราษฎร” นัดประชาชนพร้อมกันที่แยกราษฏ์ประสงค์ เพื่อผลักดันให้เกิดการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปี 2563 เป็นต้นมา มาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมถูกนำกลับมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างกว้างขวางอีกครั้ง
การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงเวลาหนึ่งอาจเป็นยาแรงที่ทำให้คนไม่กล้าแสดงออก ทำให้คนกลัว แต่เมื่อยุคสมัยและสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป เมื่อประชาชนมีความคิดเห็นก้าวหน้ามากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ คนก็เริ่มไม่กลัว
จนเป็นที่ประจักษ์ว่ายิ่งใช้มาตรา 112 แล้วคนไม่กลัว กฎหมายนี้ก็จะยิ่งเสื่อมไป พูดกันตรงไปตรงมายิ่งมาตรา 112 ถูกใช้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้ง เพราะประเทศไทยโฆษณาไปทั่วโลกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ แต่ทำไมมีประชาชนโดนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการนำมาตรา 112 มาใช้มากๆ ก็ยิ่งอันตรายและกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
ผมเห็นว่ามาตรา 112 มีปัญหาในทุกมิติ ทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมาย ความไม่ได้สัดส่วนของอัตราโทษ การนำมาใช้ การตีความ อุดมการณ์ที่กำกับอยู่เบื้องหลัง
การนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีทีท่าจะแรงต่อเนื่องไปอีก ผู้ที่ถูกตัดสินให้มีความผิดมักได้รับโทษสูงจนนับช่วงชีวิตอายุของคนคนหนึ่งอาจยังไม่พอ หลายครั้งการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ก็ได้รับโทษอยู่ดี ระหว่างการพิจารณาคดีก็ถูกปฏิเสธสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว
การขยับของกลุ่มราษฎรทำให้ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112 กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง ผมจึงถือโอกาสนำวิธีโต้แย้งกับคนที่ต่อต้านการยกเลิกมาตรา 112 มาเผยแพร่ให้อ่านกันอีกครั้ง โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่การพูดคุยหาทางออกของระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคมที่มีความคิดเห็นต่อมาตรา 112 แตกต่างกัน
ผู้ที่ต่อต้านการยกเลิกมาตรา 112 มักจะมีข้อโต้แย้งเหมือนๆ กันอยู่ไม่กี่ข้อ
มาดูวิธีตอบข้อโต้แย้ง 7 ข้อที่ถูกใช้เป็นประจำ จะได้ช่วยกันนำไปอธิบายให้คนที่มักใช้เหตุผลเหล่านี้เข้าใจ : https://progressivemovement.in.th/article/5792/
ข้อโต้แย้ง : มาตรา 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”
ตอบ : มาตรา 112 คือความผิดทางอาญา เป็นคนละเรื่องกับมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
มาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญเป็นการรับรองสถานะของกษัตริย์ในทางหลักการว่า “เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” รัฐธรรมนูญพูดถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันต่างๆ มิใช่การลงโทษทางอาญา
การจะทำให้พระมหากษัตริย์ “เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” กษัตริย์ต้องดำรงสถานะเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช้อำนาจบริหารโดยแท้ แต่มีรัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจเป็นคนรับผิดชอบแทน
ข้อโต้แย้ง : ประเทศไหนๆ ก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse-majesté)
ตอบ : แน่นอนว่าหลายประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐ แม้แต่ในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุขก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ บางประเทศไม่มีเลย หรือมีแต่ไม่ได้ใช้เลย
สำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ จริงๆ แล้วมีประเทศที่ไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น
ส่วนสหราชอาณาจักรใช้กฎหมายหมิ่นประมาทแบบบุคคลธรรมดาและมีโทษปรับ บางประเทศมีกฎหมาย แต่ไม่ได้นำมาใช้ หรือหากใช้มีโทษเบา หรือใช้เพียงโทษปรับ เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ส่วนในประเทศไทยมีอัตราโทษสูงและนำมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพ
ข้อโต้แย้ง : คนธรรมดายังมีโทษหมิ่นประมาท กษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐยิ่งต้องมี
ตอบ : หากจะอธิบายแบบนี้ว่าในเมื่อบุคคลธรรมกามีกฎหมายหมิ่นประมาท ดังนั้นก็โต้แย้งได้ว่าการคุ้มครองความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ก็ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนบุคคลธรรมดาก็ได้
ส่วนถ้าหากเห็นความสำคัญของตำแหน่งประมุขของรัฐก็อาจเขียนเป็นบทเพิ่มโทษได้ อย่างไรก็ตาม การให้โทษของประมุขของรัฐแตกต่างจากบุคคลธรรมดาก็ต้องไม่แตกต่างจนมากเกินไป
ข้อโต้แย้ง : ขนาดมาตรา 112 มีโทษแรง ยังมีคนละเมิดกฎหมายขนาดนี้ ถ้าไม่มีจะขนาดไหน?
ตอบ : การนำคนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทไปดำเนินคดี ให้ศาลพิพากษาติดคุก ไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนความคิด แต่การพูดคุยถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างเปิดเผยและปลอดภัยต่างหากคือทางออก
ยกตัวอย่างกรณีบุคคลธรรมดา หากมีใครมาด่าว่าเรา เราก็ไปฟ้องหมิ่นประมาท ให้ศาลลงโทษ หากเขาติดคุก เขาก็ไม่ได้รักเรามากกว่าเดิม ต่อให้เขามาขอขมาให้หยุดดำเนินคดี แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นจะชอบหรือชื่นชอบเรา เพียงแต่กฎหมายบังคับให้เขาต้องสยบยอมเท่านั้น
แทนที่จะคิดว่า “โทษแรงยังขนาดนี้ ถ้าไม่มีจะขนาดไหน?” ต้องเปลี่ยนใหม่เป็นการยกเลิกมาตรานี้แล้วทำให้คนแต่ละรุ่นเข้าใจกัน ที่ทุกอย่างรุนแรงมากขึ้น เพราะมีการนำคดีไปยัดใส่กัน
เสรีภาพในการแสดงออกให้คนได้พูดคุยดีเบตถกเถียงกันด้วยเหตุผลในพื้นที่ปลอดภัยต่างหากคือทางออกให้คนในสังคมเข้าใจกันมากขึ้น
ข้อโต้แย้ง : ถ้าไม่ทำผิด ไม่เห็นต้องกลัว ถ้าไม่อยากติดคุก ก็ไม่ต้องทำผิดกฎหมาย
ตอบ : คนที่เป็นเหยื่อของมาตรา 112 จำนวนมาก หลายเรื่องไม่ผิดกฎหมายเลย แต่ก็ถูกดำเนินคดี จนเสียเงิน เสียทอง เสียเวลา เสียโอกาสในชีวิตไปมหาศาล
ดังนั้นเหตุผลนี้ใช้ไม่ได้ เพราะแม้ไม่ได้ทำผิด ก็โดนมาตรา 112 อยู่ดี
เช่น การวิจารณ์การจัดหาวัคซีน, กรณีพูดถึงสุนัขทรงเลี้ยง, คุณแม่ของจ่านิวพิมพ์คำว่า “จ้า“, การวิจารณ์อย่างสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ, พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรหรือรัชกาลที่ 4
แม้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดก็ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี เนื่องจากมาตรา 112 ถูกใช้เกินขอบเขตไปมาก จนหาบรรทัดฐานไม่เจอ ประชาชนที่อยู่ภายใต้กฎหมายมาตรานี้ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าอะไรผิดหรือไม่ผิด
ข้อโต้แย้ง : บ้านเมืองกำลังลำบากจะมายกเลิกมาตรา 112 ทำไม แก้ปัญหาปากท้องได้หรือ?
ตอบ : ปัญหาของประเทศ สังคม ประชาชนมีหลายเรื่อง สามารถทำทุกเรื่องพร้อมกันหมดได้ ไม่มีความจำเป็นต้องเจาะจงทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น
การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้ทำเรื่องอื่นๆ ทั้งแก้ปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจ ปากท้อง สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ทำพร้อมกันหมดได้
ข้อโต้แย้ง : การยกเลิก-แก้ 112 = ล้มเจ้า
ตอบ : มาตรา 112 เป็นกฎหมายมาตราหนึ่ง ดังนั้นขึ้นชื่อว่ากฎหมายก็แก้ไข ปรับปรุง ยกเลิกได้เสมอ
คนที่เคยเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 มีเยอะแยะ รวมทั้งรอยัลลิสต์ด้วย
มาตรา 112 ไม่ได้เท่ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นยกเลิกมาตรา 112 ไม่เท่ากับล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ตรงกันข้ามการยกเลิกมาตรา 112 จะช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์ด้วย