วันพุธ, พฤษภาคม 18, 2559

คำต่อคำ 'สุรชาติ' วิพากษ์ 8 รอยช้ำ 2 ปีคสช.





Voice TV
by Nititorn Surabundith
17 พฤษภาคม 2559

สุรชาติ' ชู 8 ข้อล้มเหลว 2 ปีคสช. ระบุ ไร้ปฏิรูป-ปรองดองล้มเหลว-กระบวนการยุติธรรมตกต่ำ สัญญาณชัดสร้างรัฐทหาร การเมือง'ไฮบริด' อำนาจนิยมแฝงการเลือกตั้ง ทำการเมืองถอยสู่ปี 21 พร้อมกังวลไทยเปลี่ยนค่ายการเมืองโลก


"...ความน่ากลัวคือ ภาวะเก็บกดสะสมมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งอยู่ได้โดยทหารใช้มือปิดฝากาน้ำที่กำลังจะเดือด โดยคาดหวังว่าแรงกดดันจากการเดือดของไอน้ำ จะไม่กลายเป็นแรงระเบิด ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่น่ากลัว และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ วันนี้ทหารเชื่อเหมือนประธานเหมา ว่าปืนคุมสังคมไทยได้ แต่ต้องตระหนักว่า ปืนคุมความรู้สึกคน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยไม่ได้ นี่เป็นโจทย์อนาคต วันนี้คณะรัฐประหารจึงอยู่ในสถานการณ์พิเศษไม่ต่างกัน..."ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

นี่คือส่วนหนึ่งจากคำตอบของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ที่วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง พร้อมประเมินผลงาน หลังครบรอบ 2 ปีคสช.กระทำรัฐประหาร พร้อมระบุว่า การเมืองไทย 2 ปีที่ผ่านมา ทุลักทุเล คาดเดายาก และมีลักษณะที่น่าเป็นกังวล 8 ข้อ

1. การปฏิรูปล้มเหลว คำว่า 'ปฏิรูป' กลายเป็น 'วลี' โดยไม่เห็นเนื้อหา หรือสาระ
2. เศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนรายย่อยโดยตรง
3. ประชาคมโลกไม่ยอมรับ โดยเฉพาะโลกตะวันตก รัฐบาลทหารจึงแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ผ่าน จีน และรัสเซีย
4. เกียรติภูมิประเทศถูกทำลายโดยรัฐประหาร ไทยจึงเป็นฝ่ายตั้งรับจากต่างประเทศ ที่ไม่รับเงื่อนไขการเมืองของเรา
5. ไทยสูญสิ้นสถานะตัวแบบประเทศเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในภูมิภาค
6. สร้งสถานะอำนาจล้นฟ้าให้ทหาร ผ่านกฎหมาย และคำอธิบายว่าด้วยสถานการณ์ไม่ปกติ กองทัพจึงกลายเป็นตัวละครทางการเมืองใช้อำนาจโดยไม่มีขีดจำกัด ขณะที่อำนาจบริหาร และนิติบัญญัติในประวัติศาสตร์ไม่เคยทำได้
7. ความแตกแยกยังอยู่เหมือนเดิม เงื่อนไขความขัดแย้งไม่ถูกสมานแผล ไม่เห็นความปรองดอง และทิศทางการปรองดอง ดังนั้นการปรองดอง จึงเป็น 'ความฝัน' ที่อยู่ไกลๆ
8. กระบวนการยุติธรรมไม่สร้างความเชื่อมั่น มีลักษณะสองมาตรฐาน คาดหวังไม่ได้

"เงื่อนไขทั้ง 8 ไม่ใช่ผมมองเห็นแต่ด้านร้าย แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปี ไม่ต่างจากเดิมเลย 2 ปีนี้จึงกลายเป็นโอกาสที่หายไป เป็น lost of opportunity เราก็ไม่รู้อนาคต ยกเว้นคนที่เชื่อรัฐประหารเป็นเครื่องมือทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ผมเชื่อว่า รัฐประหารทำลายประเทศไทยมากกว่าจะเป็นผลได้ " ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

ศ.ดร.สุรชาติ ยังระบุว่า รัฐประหารปี 2557 ต่างจากอดีตที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถคุมเสียงประชาชนได้เหมือนเดิม ทหารจึงควรตระหนัก อย่างไรก็ตามกลับเห็นสัญญาณสืบทอดอำนาจมากขึ้น พร้อมเตือนเศรษฐกิจอาจเป็นชนวนวิกฤติสำคัญ

"...ทหารอาจเชื่อมั่นว่า ทุนใหญ่อยู่กับทหาร ชนชั้นกลางขวายังอนุรักษ์นิยมไม่ต่างจากเดิม นิสิตนักศึกษายังสนุกกับชีวิตมหา'ลัย เพราะฉะนั้น แรงเสียดทานที่เกิดขึ้น ทหารอาจจะประเมินว่าเกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ นักศึกษากลุ่มเล็ก ชนชั้นกลางที่ไม่พอใจบางส่วน แต่ที่น่าสนใจ คือ เศรษฐกิจ และใครที่บอกว่าเศรษฐกิจขาขึ้น หรือตัวเลขภาครัฐบอกไตรมาสแรกดีขึ้น ผมคิดว่าลองถามความจริงจากประชาชน ผมเรียนว่า ไม่ว่าตัวเลขภาครัฐจะดีเท่าไร แต่ถ้าสตางค์ในกระเป๋าชาวบ้านไม่มี ผมว่าการโฆษณาทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไร้ค่า..." ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

ศ.ดร.สุรชาติ ยังกังวลการดำเนินนโยบาย และท่าทีไทยต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะการประกาศจุดยืนแบบขวาจัด เพื่อต่อต้านตะวันตก พร้อมผูกมิตรกับมหาอำนาจรัสเซีย และจีนอย่างต่อเนื่อง หลังเห็นสัญญาณการเริ่มเปลี่ยนค่ายทางการเมืองในเวทีโลก ดังนั้นนักธุรกิจไทยต้องเตรียมตัว เนื่องจากความสัมพันธ์ในระดับต่างๆในอนาคตอาจต่ำลง

ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองก่อนประชามติ คาดว่าจะเห็นวิวาทะ และโต้แย้งของตัวละครทางการเมืองมากขึ้น แต่ส่วนตัวมองว่า การเลือกตั้งคงไม่สามารถเลื่อนได้อีก เนื่องจากเป็นสัญญาระหว่างประเทศ และแรงกดดันจะมากขึ้น หากผิดสัญญาดังกล่าว ดังนั้นคสช.จึงมุ่งหน้าสู่ประชามติ แต่อาจเตรียมรัฐธรรมนูญสำรองไว้ หากไม่ผ่าน อย่างไรก็ตาม กองทัพจะคงสถานะในโครงสร้างการเมือง ดังเห็นได้จากบทบัญญัติวุฒิสมาชิกในบทเฉพาะ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์

" ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับมีชัยจะผ่านไม่ผ่าน โครงสร้างพวกนี้ ผมเชื่อว่าไม่หายไปไหน หลังการเลือกตั้ง ผมสงสัยว่ามันไม่ใช่บันไดที่ทหารลง แต่เป็นบันไดให้ทหารเดินขึ้น ถ้าคสช.แพ้ในวันที่ 7 จะยุ่งอีกแบบหนึ่ง คสช.อาจมีรัฐธรรมนูญสำรองไว้ ซึ่งจุดนี้คงมีปัญหาทางการเมืองแน่ๆ ถ้าไม่แพ้ แล้วลากไป ก็จะมีข้อถกเถียงไม่ต่างกัน แต่แพ้ไม่แพ้ อำนาจทหารในสว. หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เขาไม่เปลี่ยน เท่ากับว่าอำนาจทหารจะคงอยู่ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่พวกเขาร่างขึ้น"

" การเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน แต่เป็นระบอบการปกครองแบบ Hybrid หรือพันธุ์ทาง ที่ผสมผสานระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง และคงโครงสร้างอำนาจนิยมไว้ได้ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 21 แต่คาดว่าครั้งนี้จะมีสัดส่วนอำนาจนิยมจะเข้มข้นขึ้น คำตอบที่ชัดคือ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ระยะเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทย " ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว