โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ภาพประกอบ พิรุฬพร นามมูลน้อย
17 Sep 2024
101 World
แม้จะเป็นที่รับรู้และยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเสรีภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญของความก้าวหน้าทางความรู้ และเป็นปัจจัยที่จะนำมนุษยชาติไปสู่ความเจริญที่เพิ่มมากขึ้น การพลิกผันหรือการต่อยอดของความรู้ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น การยอมรับเสรีภาพในการแสวงหาความรู้จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถาบันการศึกษาก็ยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่ต้องได้รับการยอมรับสำหรับการดำรงอยู่ของสถาบันการศึกษา
แต่ดูราวกับว่าเสรีภาพดังกล่าวกลับมีสภาพที่ถดถอยเป็นอย่างมากในสถาบันการศึกษาระดับสูงของสังคมไทย
การกล่าวเช่นนี้เป็นความจริงที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ดังในหลายกรณีจะพบว่ามีความพยายามจากผู้มีอำนาจในอันที่จะควบคุม จำกัด หรือห้ามต่อเสรีภาพการสร้างความรู้ในรูปแบบต่างๆ เราได้เห็นการคุกคามต่อการแสดงความคิดเห็นดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดเวทีวิชาการ การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้เขียน หรือการสั่งห้ามไม่ให้จำหน่ายจ่ายแจกหนังสือที่เห็นว่าเป็นปัญหา เป็นต้น
หลายครั้งก็เป็นเรื่องที่ชวนให้สังเวชเป็นอย่างมาก เช่น เมื่อวิทยานิพนธ์ฉบับหนึ่งได้รับรางวัลในฐานะงานวิจัยซึ่งมีคุณภาพสูง แต่เมื่อทางสำนักพิมพ์เอกชนต้องการจัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะ ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยแห่งนั้นเองได้กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการจัดพิมพ์
คำถามก็คือเพราะเหตุใด สถาบันการศึกษาระดับสูงเฉกเช่นมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ควรจะเป็นหัวใจสำคัญในการดำรงอยู่ของตนเอง
ควรกล่าวไว้เบื้องต้นว่าเอาเข้าจริงแล้ว มหาวิทยาลัยจำนวนมากให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัยความรู้ใหม่ๆ (หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘นวัตกรรม’) หลายแห่งก็สถาปนาตนเองว่าเป็น ‘มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย’ ถ้อยคำดังกล่าวสร้างความกระหยิ่มยิ้มย่องให้กับผู้บริหารระดับสูงไม่น้อย แต่นั่นแหละ พึงตระหนักว่าเสรีภาพในการวิจัยของมหาวิทยาลัยเหล่านี้จำกัดไว้เพียงการค้นคว้าอะไรก็ตามที่สามารถนำไปสู่การขายให้กับตลาด หรือสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น เช่น หากสามารถผลิตปลาร้าให้เป็นผงสำหรับนำไปชงดื่ม หรือการทำทุเรียนแบบแคปซูล ก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ และควรได้รับการส่งเสริมให้สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อจำหน่ายในท้องตลาดได้มากยิ่งขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีงานวิจัย (โดยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์) จำนวนไม่น้อยซึ่งไม่ได้สร้างผลงานที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเชิงตัวเลขให้เห็นอย่างชัดเจน แต่เป็นงานที่พยายามทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ต่างๆ หรือเป็นงานที่เปิดเผยให้เห็นสภาพปัญหาความยุ่งยากที่ดำรงอยู่ในสังคมด้วยคำอธิบายที่แตกต่างออกไป
งานเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างหรือเพิ่มความรู้ให้กับสังคม รวมถึงอาจส่งผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมถึงการกำหนดนโยบาย การบัญญัติกฎหมาย การสร้างข้อเสนอ งานเช่นนี้บางส่วนก็อาจได้รับการสนับสนุนให้ทำการศึกษาวิจัย และหากกล่าวให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่ใช่งานวิจัยทางสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ทุกชนิดที่จะต้องเผชิญกับการคุกคาม งานศึกษาเรื่องความหมายอันลึกซึ้งของการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ แนวคิดในประเพณีไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ฯลฯ ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีข้อกังขา
งานวิจัยที่ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอย่างมากในห้วงเวลาที่ผ่านมา คืองานที่ตั้งคำถามหรือนำเสนอความหมายต่อสถาบันสำคัญทางสังคมในแบบที่แตกต่างออกไป เป็นผลให้การศึกษาวิจัยที่มีสถาบันสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทหาร ก็ล้วนแต่ถูกพิจารณาว่าเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนหรือเป็นงานที่ไม่ควรกระทำ หากจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญเหล่านี้ก็จะต้องดำเนินไปในทางที่ยกย่องเพียงด้านเดียว
แน่นอนว่างานวิจัยที่เสนอภาพที่แปลกหรือต่างออกไป อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือมีความบกพร่องในตัวงานดังกล่าว ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับงานทุกชิ้น ยากที่จะหางานชิ้นใดที่ไม่มีข้อบกพร่องอยู่ แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาคือว่าท่ามกลางการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสวงหาความรู้นั้น มหาวิทยาลัยได้ทำอะไรบ้างในการปกป้องหรือคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว
แบะ แบะ แบะ
มากกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ในฐานะที่ทำงานอยู่ในสถาบันอุดมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ผมยังไม่เคยได้ยินการประกาศอย่างแข็งขันว่ามหาวิทยาลัยจะปกป้องเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ผ่านเข้ามาในรูหูเลย
ไม่ใช่เพียงการนิ่งเฉย เลวร้ายไปกว่านั้น ในหลายครั้งมหาวิทยาลัยก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการควบคุมเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ ปล่อยให้บุคลากรของตนแต่ละคนไปเผชิญหน้ากับการคุกคามตามลำพัง หรือบ่อยครั้งก็มีการชี้เป้าให้กับหน่วยงานรัฐในการเข้าตรวจสอบ สำหรับนักวิชาการที่ยังไม่ ‘แก่/กล้า’ ย่อมหวาดหวั่นไม่น้อยกับเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้
พึงตระหนักว่าการปกป้องเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ ไม่ใช่การเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยืนยันความถูกต้องของงานนั้นๆ ข้อค้นพบจากการศึกษาจะถูกต้องหรือไม่ก็ได้ ซึ่งย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้วิจัยเอง แต่การยืนยันว่าการแสวงหาความรู้และการแสดงออกเป็นเสรีภาพต่างหากที่จะรับรองว่าจะเส้นทางการสร้างความงอกงามด้วยปัญญาสามารถเป็นไปได้
ทำไมผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงไม่ตระหนักต่อเสรีภาพในการแสวงหาความรู้และปล่อยให้มีการคุกคามได้อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทั้งที่ควรเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ควรจะต้องปกป้องอย่างสุดใจขาดดิ้น
หลายคนอาจอธิบายถึงสาเหตุเรื่องอุดมการณ์ ทรรศนะคติทางการเมือง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงแล้วเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งท่ามกลางหลายเรื่องก็คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำนวนมากในสังคมไทย ‘เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – งอกงาม’ ด้วยการผนวกตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำ โดยไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์อะไรแม้แต่น้อยกับผู้คนภายในสถาบันหรือความงอกงามทางความรู้เลย
ในหลายมหาวิทยาลัย ผู้คนที่อยู่ภายในสถาบันเหล่านั้นสามารถคาดเดาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนถัดไปได้อย่างแม่นยำ ไม่ใช่เพราะว่าบุคคลนั้นมีความสามารถอันโดดเด่นเหนือกว่าผู้สมัครตำแหน่งคนอื่น แต่เป็นเพราะว่าเขาสามารถแปรสภาพไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำได้อย่างแนบแน่นมากกว่า
เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ หน้าที่ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะดำเนินการใดๆ ก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่ออุดมการณ์ดั้งเดิมของชนชั้นนำที่เกื้อหนุนให้ตนเองมีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาได้ รวมถึงลาภยศสรรเสริญที่จะมีต่อไปในภายหน้า แม้จะเกษียณอายุจากงานในมหาวิทยาลัยก็อาจไปนั่งในหน้าที่อื่นๆ ที่มีรองรับอย่างดาษดื่น ใกล้มือมากที่สุดก็อยู่ในสภามหาวิทยาลัย ไกลออกไปก็อาจกลายเป็นที่ปรึกษาหรือดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ประเหมาะเคราะห์ดีก็อาจมีโอกาสในการร่างรัฐธรรมนูญสักฉบับให้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป แต่ทั้งหมดนี้เครือข่ายที่เหนียวแน่นสำคัญกว่าความรู้ของเจ้าตัวแทบทั้งสิ้น
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้บริหารจะเข้มงวดและเอาจริงเอาจังกับการรักษาอุดมการณ์ดั้งเดิม และพยายามควบคุมความเห็นที่เป็นไปในด้านตรงกันข้าม
สุภาษิตของฝรั่งกล่าวว่าหากต้องการมองไปในอนาคต มันจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการขึ้นไปยืนบนบ่าของยักษ์ (standing on the shoulders of the giants) แต่สำหรับสังคมไทยแล้ว แม้แต่บ่ายักษ์ที่จะขึ้นไปยืนก็ดูจะมีอยู่ไม่มากนัก และในหลายครั้ง มหาวิทยาลัยก็เป็นผู้ที่ล้มยักษ์ลงด้วยน้ำมือของตนเอง
101 World
แม้จะเป็นที่รับรู้และยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเสรีภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญของความก้าวหน้าทางความรู้ และเป็นปัจจัยที่จะนำมนุษยชาติไปสู่ความเจริญที่เพิ่มมากขึ้น การพลิกผันหรือการต่อยอดของความรู้ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น การยอมรับเสรีภาพในการแสวงหาความรู้จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถาบันการศึกษาก็ยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่ต้องได้รับการยอมรับสำหรับการดำรงอยู่ของสถาบันการศึกษา
แต่ดูราวกับว่าเสรีภาพดังกล่าวกลับมีสภาพที่ถดถอยเป็นอย่างมากในสถาบันการศึกษาระดับสูงของสังคมไทย
การกล่าวเช่นนี้เป็นความจริงที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ดังในหลายกรณีจะพบว่ามีความพยายามจากผู้มีอำนาจในอันที่จะควบคุม จำกัด หรือห้ามต่อเสรีภาพการสร้างความรู้ในรูปแบบต่างๆ เราได้เห็นการคุกคามต่อการแสดงความคิดเห็นดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดเวทีวิชาการ การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้เขียน หรือการสั่งห้ามไม่ให้จำหน่ายจ่ายแจกหนังสือที่เห็นว่าเป็นปัญหา เป็นต้น
หลายครั้งก็เป็นเรื่องที่ชวนให้สังเวชเป็นอย่างมาก เช่น เมื่อวิทยานิพนธ์ฉบับหนึ่งได้รับรางวัลในฐานะงานวิจัยซึ่งมีคุณภาพสูง แต่เมื่อทางสำนักพิมพ์เอกชนต้องการจัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะ ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยแห่งนั้นเองได้กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการจัดพิมพ์
คำถามก็คือเพราะเหตุใด สถาบันการศึกษาระดับสูงเฉกเช่นมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ควรจะเป็นหัวใจสำคัญในการดำรงอยู่ของตนเอง
ควรกล่าวไว้เบื้องต้นว่าเอาเข้าจริงแล้ว มหาวิทยาลัยจำนวนมากให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัยความรู้ใหม่ๆ (หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘นวัตกรรม’) หลายแห่งก็สถาปนาตนเองว่าเป็น ‘มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย’ ถ้อยคำดังกล่าวสร้างความกระหยิ่มยิ้มย่องให้กับผู้บริหารระดับสูงไม่น้อย แต่นั่นแหละ พึงตระหนักว่าเสรีภาพในการวิจัยของมหาวิทยาลัยเหล่านี้จำกัดไว้เพียงการค้นคว้าอะไรก็ตามที่สามารถนำไปสู่การขายให้กับตลาด หรือสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น เช่น หากสามารถผลิตปลาร้าให้เป็นผงสำหรับนำไปชงดื่ม หรือการทำทุเรียนแบบแคปซูล ก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ และควรได้รับการส่งเสริมให้สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อจำหน่ายในท้องตลาดได้มากยิ่งขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีงานวิจัย (โดยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์) จำนวนไม่น้อยซึ่งไม่ได้สร้างผลงานที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเชิงตัวเลขให้เห็นอย่างชัดเจน แต่เป็นงานที่พยายามทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ต่างๆ หรือเป็นงานที่เปิดเผยให้เห็นสภาพปัญหาความยุ่งยากที่ดำรงอยู่ในสังคมด้วยคำอธิบายที่แตกต่างออกไป
งานเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างหรือเพิ่มความรู้ให้กับสังคม รวมถึงอาจส่งผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมถึงการกำหนดนโยบาย การบัญญัติกฎหมาย การสร้างข้อเสนอ งานเช่นนี้บางส่วนก็อาจได้รับการสนับสนุนให้ทำการศึกษาวิจัย และหากกล่าวให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่ใช่งานวิจัยทางสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ทุกชนิดที่จะต้องเผชิญกับการคุกคาม งานศึกษาเรื่องความหมายอันลึกซึ้งของการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ แนวคิดในประเพณีไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ฯลฯ ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีข้อกังขา
งานวิจัยที่ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอย่างมากในห้วงเวลาที่ผ่านมา คืองานที่ตั้งคำถามหรือนำเสนอความหมายต่อสถาบันสำคัญทางสังคมในแบบที่แตกต่างออกไป เป็นผลให้การศึกษาวิจัยที่มีสถาบันสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทหาร ก็ล้วนแต่ถูกพิจารณาว่าเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนหรือเป็นงานที่ไม่ควรกระทำ หากจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญเหล่านี้ก็จะต้องดำเนินไปในทางที่ยกย่องเพียงด้านเดียว
แน่นอนว่างานวิจัยที่เสนอภาพที่แปลกหรือต่างออกไป อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือมีความบกพร่องในตัวงานดังกล่าว ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับงานทุกชิ้น ยากที่จะหางานชิ้นใดที่ไม่มีข้อบกพร่องอยู่ แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาคือว่าท่ามกลางการคุกคามต่อเสรีภาพในการแสวงหาความรู้นั้น มหาวิทยาลัยได้ทำอะไรบ้างในการปกป้องหรือคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว
แบะ แบะ แบะ
มากกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ในฐานะที่ทำงานอยู่ในสถาบันอุดมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ผมยังไม่เคยได้ยินการประกาศอย่างแข็งขันว่ามหาวิทยาลัยจะปกป้องเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ผ่านเข้ามาในรูหูเลย
ไม่ใช่เพียงการนิ่งเฉย เลวร้ายไปกว่านั้น ในหลายครั้งมหาวิทยาลัยก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการควบคุมเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ ปล่อยให้บุคลากรของตนแต่ละคนไปเผชิญหน้ากับการคุกคามตามลำพัง หรือบ่อยครั้งก็มีการชี้เป้าให้กับหน่วยงานรัฐในการเข้าตรวจสอบ สำหรับนักวิชาการที่ยังไม่ ‘แก่/กล้า’ ย่อมหวาดหวั่นไม่น้อยกับเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้
พึงตระหนักว่าการปกป้องเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ ไม่ใช่การเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยืนยันความถูกต้องของงานนั้นๆ ข้อค้นพบจากการศึกษาจะถูกต้องหรือไม่ก็ได้ ซึ่งย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้วิจัยเอง แต่การยืนยันว่าการแสวงหาความรู้และการแสดงออกเป็นเสรีภาพต่างหากที่จะรับรองว่าจะเส้นทางการสร้างความงอกงามด้วยปัญญาสามารถเป็นไปได้
ทำไมผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงไม่ตระหนักต่อเสรีภาพในการแสวงหาความรู้และปล่อยให้มีการคุกคามได้อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทั้งที่ควรเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ควรจะต้องปกป้องอย่างสุดใจขาดดิ้น
หลายคนอาจอธิบายถึงสาเหตุเรื่องอุดมการณ์ ทรรศนะคติทางการเมือง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงแล้วเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งท่ามกลางหลายเรื่องก็คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำนวนมากในสังคมไทย ‘เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – งอกงาม’ ด้วยการผนวกตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำ โดยไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์อะไรแม้แต่น้อยกับผู้คนภายในสถาบันหรือความงอกงามทางความรู้เลย
ในหลายมหาวิทยาลัย ผู้คนที่อยู่ภายในสถาบันเหล่านั้นสามารถคาดเดาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนถัดไปได้อย่างแม่นยำ ไม่ใช่เพราะว่าบุคคลนั้นมีความสามารถอันโดดเด่นเหนือกว่าผู้สมัครตำแหน่งคนอื่น แต่เป็นเพราะว่าเขาสามารถแปรสภาพไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำได้อย่างแนบแน่นมากกว่า
เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ หน้าที่ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะดำเนินการใดๆ ก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่ออุดมการณ์ดั้งเดิมของชนชั้นนำที่เกื้อหนุนให้ตนเองมีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาได้ รวมถึงลาภยศสรรเสริญที่จะมีต่อไปในภายหน้า แม้จะเกษียณอายุจากงานในมหาวิทยาลัยก็อาจไปนั่งในหน้าที่อื่นๆ ที่มีรองรับอย่างดาษดื่น ใกล้มือมากที่สุดก็อยู่ในสภามหาวิทยาลัย ไกลออกไปก็อาจกลายเป็นที่ปรึกษาหรือดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ประเหมาะเคราะห์ดีก็อาจมีโอกาสในการร่างรัฐธรรมนูญสักฉบับให้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป แต่ทั้งหมดนี้เครือข่ายที่เหนียวแน่นสำคัญกว่าความรู้ของเจ้าตัวแทบทั้งสิ้น
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้บริหารจะเข้มงวดและเอาจริงเอาจังกับการรักษาอุดมการณ์ดั้งเดิม และพยายามควบคุมความเห็นที่เป็นไปในด้านตรงกันข้าม
สุภาษิตของฝรั่งกล่าวว่าหากต้องการมองไปในอนาคต มันจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการขึ้นไปยืนบนบ่าของยักษ์ (standing on the shoulders of the giants) แต่สำหรับสังคมไทยแล้ว แม้แต่บ่ายักษ์ที่จะขึ้นไปยืนก็ดูจะมีอยู่ไม่มากนัก และในหลายครั้ง มหาวิทยาลัยก็เป็นผู้ที่ล้มยักษ์ลงด้วยน้ำมือของตนเอง