วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2567

เรื่องการเตือนภัย เราจะได้ยินคล้ายๆกันว่าเตือนแล้ว แต่ไม่มีใครไปไหน - หรือนี่ เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การกล่าวโทษผู้ประสบภัย


ศิรินันต์ สุวรรณโมลี
a day ago
·
การเตือนภัย - สี่เสาหลักที่หักไปแล้วสาม
วันอาทิตย์ที่แล้วไปเชียงรายมา ด้วยโจทย์ที่มีอยู่ว่า ไม่ว่าจะดูข่าว หรือจะคุยกับคนในพื้นที่ประสบภัย เราจะได้ยินคล้ายๆกันเรื่องการเตือนภัยว่าเตือนแล้ว แต่ไม่มีใครไปไหน
สิ่งที่พบคือ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า
#Victim_Blame_on_flood_victim = การกล่าวโทษผู้ประสบภัย
ถามผู้นำในหมู่บ้านว่า วันนั้นมีการเตือนภัยมั้ย คำตอบคือ มี
ถามผู้นำในหมู่บ้านว่า แผนเตรียมรับภัยมันมีมั้ย คำตอบคือ มี
แล้วอะไรที่ไม่ Go as plan = เป็นไปตามแผน
(อันนี้เฉพาะน้ำกก ตรงบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร)
1) น้ำมาตอนค่ำ - แผนเป็นตอนกลางวัน
2) ไฟดับก่อน - สื่อสารยังไง หอกระจายเสียงต้องใช้ไฟ
3) น้ำกกข้ามมาจากท่าตอน จ.เชียงใหม่ - ข้อมูลน้ำดูกันแยกจังหวัด
4) น้ำตรงโค้งน้ำตีวน - ชาวบ้านรู้จักน้ำหลากแบบปกติ
5) รู้ว่าจะมีภัย - แต่ไม่รู้มากี่โมง
6) มีแผนอพยพไปโบสถ์กับโรงเรียน - แต่ในแผนไม่ได้เขียนถึงว่าคนแก่ คนที่ไปเองไม่ได้ จะพากันไปยังไง โชคดีว่าที่ชุมชนตอนนั้น คนที่เป็นกลุ่มเปราะบางไม่อยู่บ้านหลังที่ยุบลงน้ำไป ซึ่งน้ำมาตอนมืด และขึ้นเร็วมาก โชคดีที่ลุงไม่อยู่บ้าน เวิ้งน้ำบ้านยุบไปเลยหลายหลัง
เอาง่ายๆแค่นี้ก่อนประเด็นของสี่เสา ในการกำกับดูแลการเตือนภัยที่ดีคือ
#เสาที่_1 ผู้คนรู้ความเสี่ยง รู้ความเปราะบาง รู้ความล่อแหลม (เช่น ตรงไหนที่จะโดนหนักเป็นพิเศษ ตรงไหนโดนแล้วเหตุการณ์แย่กว่าเดิมจะเกิดขึ้นตามมา)
#เสาที่_2 มีข้อมูลทางเทคนิคที่แม่นยำ ไว มีการจำลอง (simulation) ว่าจะเกิดอะไร
#เสาที่_3 มีการสื่อสารที่แปลผลจากเสาที่สองเป็นภาษาที่คนตรงพื้นที่เสี่ยงพื้นที่ประสบภัยเข้าใจ สื่อสารจากแหล่งที่เป็นทางการ คนเชื่อถือ สื่อสารด้วยช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเปราะบางด้วย ซึ่งถ้าแบบดีก็คือมีระบบ recheck ได้ว่า กลุ่มเปราะบางนั้นได้รับข้อมูลแล้ว
#เสาที่_4 รูู้คำเตือนแล้ว รู้ว่าต้องทำยังไง ว่าง่ายๆ คือ มีแผนที่มีแล้วทำตามได้ มีแผนแต่ละ scenario เช่น โดนกลางคืนทำยังไง โดนกลางวันทำยัไง ไฟดับทำอะไรแทน ที่อพยพที่รองรับ-ดูแลคนได้ดีพอเป็นยังไง
คำถามสำคัญ
สภาพของแต่ละเสาตอนนี้เป็นยังไง
คือผู้นำชุมชน จะเป็นพ่อหลวงบ้านหรือผู้นำศาสนาก็เถอะ ถ้าเขาได้ข้อมูลเป็นกราฟ เป็นตารางแบบที่เปิดเว็บเข้าไปดูอยู่ มีกี่บ้านที่ดูแล้ว แปลผลออกมาเป็นภาษาพูดเป็น ซูมเข้าไปอีก มีกี่บ้านที่จะเปิดเว็บเข้าไปดู ซูมเข้าไปอีกมีกี่บ้านที่เข้าถึง Simulation ได้ ถัดมามีกี่บ้านที่สื่อสารล่วงหน้าแล้วชาวบ้านลุกขึ้นมาทำตาม
โอเค เสาที่ 3 หัก
ซึ่งพูดถึง Simulation ถ้าถามนักเทคนิค ทุกที่ต้องตอบว่ามีแน่นอน แต่มีและแจก และทำทั่วถึงในระดับตำบลและหมู่บ้านทุกตำบลในพื้นที่เสี่ยง
โอเค เสาที่ 2 ลอย
ทำไมชาวบ้านได้ข้อมูลเตือนภัยแล้วไม่ทำอะไรกันล่ะ คำถามคือ มีกี่บ้านออกไปจากบ้านตัวเองได้อย่างสบายใจ สิ่งที่ทำให้ไม่รู้ว่าออกจากบ้านไปแล้วจะยังไงคือ ออกไปยังไง เพราะยังไงเราก็จะออกกันตอนน้ำมาถึงขีดสุด และถ้าจะออกไปก่อน เราก็ลังเลว่าจะออกดีมั้ย ไม่มีใครออกกัน เอาแค่ออกกับไม่ออก ออกไปยังไง ต่อให้มีแผนไปช่วยเอาคนออก แต่ถ้าไม่เคยซ้อม คนในพื้นที่ประสบภัยก็จะไม่รู้ระดับความเสี่ยงของบ้านตัวเอง และถึงเคยซ้อม ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจความเสี่ยงที่มีด้วยวิธีที่เชื่อมโยงกับชีวิตและประสบการณ์ให้เขาเข้าใจ คำตอบมันก็เหมือนเดิม
โอเค เสาที่ 1 หัก / เสาที่ 4 หัก
เพราะแผนและการรับรู้ความเสี่ยงมันไปด้วยกันเป็นวงจร
#กลไกป้องกันตัว
แน่นอนว่ามันเป็นหนึ่งใน Blame Game ตามกลไกป้องกันตัวว่า "เรา" แต่ละส่วนทำตามหน้าที่ของตัวเองเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น เสาที่ 2 คนทำข้อมูลอุตุและข้อมูลอุทก อันนี้ทำจริงไม่เถียง แต่เสามันลอยไปไม่ถึงดินที่มีคนอยู่ เสาที่ 1 และ 4 ท้องถิ่นก็เคลมว่าเรามีแผนและมีการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว เสาที่ 3 ก็คือ คนในพื้นที่ประสบภัยจึงถูกกล่าวโทษโยนบาป (Blame) ที่ไม่ลุก ไม่ไป ไม่ทำอะไร แต่ไม่มีใครที่จะสร้างคานไปเชื่อมว่าโครงสร้างอะไรที่ขาดไป
โครงสร้างที่ขาดไปที่ว่าอันหนึ่งก็คือ ความสามารถในการสื่อสารความเสี่ยงและภาวะวิกฤต (Risk and crisis communication) ที่จะเลือกใช้ช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เลือกที่จะย่อยข้อมูลให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจสิ่งที่สื่อสารได้ จนทำให้เกิดการลงมือทำเพื่อหลีกเลี่ยงจากภัยและเหตุการณ์ที่จะตามมาได้
สรุป
เสาที่ 1,3,4 หัก / เสาที่ 2 ลอย
Victim Blame จึงตกอยู่ที่ผู้ประสบภัย
จะแก้ยังไงคะ
เราเชื่อว่าทุกเสาทำตามฟังก์ชั่นของตัวเองเป๊ะค่ะ ไม่ได้เบลม
และเราก็เชื่อว่าทุกองค์กรเคลมตัวเองว่า เราทำตามหน้าที่ครบถ้วน
เพียงแต่ว่า บ้านที่สร้างแล้วเสามันทรุด เสามันลอย เสามันหักเนี่ย มันคือบ้านที่เอียงนะคะ ยิ่งอยู่ริมน้ำนี่ ยิ่งไปง่าย
บ้านที่มีเสาเดียว มันคือ ศาลพระภูมิใช่มั้ย
จะทำให้กลับมาอยู่เป็นบ้านคนได้ สิ่งที่ต้องกลับมาทำก็คือ เติมเสาที่มันทรุดให้เท่ากันค่ะ
ถ้าใครจะเคลมว่า เราฝึกอบรมมิสเตอร์เตือนภัยไปแล้ว ชาวบ้านผิดเอง ก็ให้เขาเคลมไปค่ะ สิ่งที่เราจะทำต่อคือ สะท้อนขีดความสามารถที่เป็นอยู่จากเหตการณ์ที่ผ่านมา แล้วสะท้อนว่าระดับความผุกร่อนของแต่ละเสา เป็นอย่างไร
บทความนี้ ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว https://www.facebook.com/share/p/WTLnbpExRZe6vrdz/ ที่เล่าให้ฟังเรื่องการกำกับดูแลที่ดีในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ