วันศุกร์, กันยายน 13, 2567

น้ำท่วมแม่สายเกิดจากอะไร และเหตุไดการเตือนภัยล่วงหน้า ยังไม่เกิดขึ้น



นักวิชาการเปิด 4 เหตุผลน้ำท่วมแม่สาย ชี้ท่วม “ถี่เป็นประวัติการณ์” และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

11 กันยายน 2024
บีบีซีไทย

สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังจากระดับน้ำแม่สายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้นตลิ่งเข้าท่วมตลาดสายลมจอย จุดขายสินค้าชายแดนไทย-เมียนมา ขึ้นชื่อของชายแดนแม่สาย

เหตุอุทกภัยดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากเผชิญกับอิทธิพลพายุยางิ ซึ่งลดระดับจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นเป็นพายุดีเปรสชัน ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทยเมื่อระหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกหนักมาก และทำให้ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เกิดเหตุน้ำท่วมขึ้น

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ว่า นอกจากพื้นที่ตลาดสายลมจอยที่เกิดเหตุน้ำท่วมแล้ว ยังมีชุมชนแม่สาย หัวฝาย เหมืองแดง ไม้ลุงขน เกาะทราย ที่ได้รับผลกระทบด้วย

“น้ำที่ไหลลงมาตามลำน้ำสายมีขอนไม้ เศษไม้ สิ่งปฏิกูล ไหลลงมาด้วย คาดว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำในประเทศเมียนมาฝนคงตกหนัก” นายพุฒิพงศ์ กล่าว

ด้านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อ.แม่สาย ปลดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่ประสบเหตุน้ำท่วมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สาย แจ้งว่าไม่สามารถเข้าพื้นที่สถานีสูบน้ำได้ จึงยังไม่สามารถจ่ายน้ำประปาได้ตามปกติ

ตลอดคืนที่ผ่านมาประชาชนในแม่สายที่กลายเป็นผู้ประสบภัยต่างโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อขอความช่วยเหลือให้อพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและไหลเชี่ยวกราก โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ อ.แม่สาย ระบุว่า มวลน้ำที่ไหลเชี่ยวแรงทำให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนในเขตเทศบาลตำบลแม่สายได้ และต้องการเรือยางจำนวนมากเพื่ออพยพผู้ประสบภัย

ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย จัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบอุทกภัย 2 จุด ได้แก่ เทศบาลตำบลแม่สาย และวัดพรหมวิหาร



สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.เชียงราย รายงานวันนี้ (11 ก.ย.) ว่าเบื้องต้นทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเข้าพักในศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้ง 2 แห่งแล้ว 71 คน (ข้อมูล ณ เวลา 01.00 น. ของวันที่ 11 ก.ย.)

ขณะที่คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รายงานว่า สถานีตรวจวัดน้ำฝน ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย มีปริมาณฝน 24 ชั่วโมงย้อนหลังสูงสุดในประเทศที่ 235.8 มิลลิเมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ก.ย. เมื่อเวลา 13.00 น.)

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ภายใน 1-2 วันนี้ ฝนทางภาคเหนือจะซาลง เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบนได้เคลื่อนตัวไปปกคลุมประเทศเมียนมาแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ในภาคเหนือ

บีบีซีไทยพูดคุยกับ ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute – SEI) หนึ่งในผู้ศึกษาเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อวิเคราะห์ว่าเหตุอุทกภัยในพื้นที่ชายแดนแม่สายเกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุใดเขาจึงมองว่า พื้นที่นี้มีแต่จะท่วมถี่มากขึ้น รุนแรงมากขึ้น หากไม่สามารถผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนได้

เปิด 4 ปัจจัย เหตุน้ำท่วมแม่สายครั้งนี้

นักวิชาการอาวุโสจาก SEI บอกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่าในปีนี้แม่สาย “น้ำท่วมถี่เป็นประวัติการณ์” จากปกติที่เคยเกิดอุทกภัยประมาณ 2-3 ครั้งต่อปีเท่านั้น แต่ในปี 2567 พบว่าแม่สายน้ำท่วมไปแล้ว 7 ครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงครั้งล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้น โดยเขาแจกแจงออกเป็น 4 ปัจจัย ดังนี้

ฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติ

ดร.ธนพล ชี้ว่าเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลพายุยางิเท่านั้น แต่ปัจจัยหลักเป็นเพราะฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ค.- ส.ค. ซึ่งพบว่ามีปริมาณฝนมากกว่าปกติถึง 50-60% ทำให้ดินไม่มีความสามารถอุ้มน้ำไว้ได้เลย

“หมายความว่าฝนที่ตกลงมาทุกเม็ดในตอนนี้ จะกลายเป็นน้ำหลากเพียงอย่างเดียว” เขาบอก

นอกจากนี้เขายังมองว่า ฤดูฝนของไทยยังต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงกลางเดือน พ.ย. ดังนั้น แม่สายก็อาจเผชิญกับเหตุน้ำท่วมครั้งที่ 8 ในเร็ว ๆ นี้ก็เป็นได้

พื้นที่ต้นน้ำเปลี่ยนสภาพ

แม่น้ำสายมีต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมาถึง 80% และมีเพียง 20% เท่านั้นที่ทอดยาวอยู่ในพื้นที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก จากการที่เขาลงพื้นที่ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในช่วงปี 2562-2564 พบว่าสาเหตุที่ทำให้แม่สายเกิดน้ำท่วมเร็วและแรงนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณต้นน้ำซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา โดยปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเหมืองแร่จำนวนหลายจุดด้วยกัน ทำให้ศักยภาพการชะลอน้ำน้อยลดลง

นอกจากนี้ยังพบว่า บริเวณแม่สาย-ท่าขี้เหล็กนั้นเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ทำให้น้ำที่หลากลงมาจากต้นน้ำมีความเชี่ยวและแรงโดยธรรมชาติ ต่างจากน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่ค่อย ๆ เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบ



ระดับแม่น้ำโขง

เขากล่าวต่อว่าเงื่อนไขท้ายน้ำของแม่น้ำสายอยู่ที่สบรวกหรือจุดบรรจบของแม่น้ำรวกและแม่น้ำโขง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีระดับสูงขึ้นมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อันเป็นผลจากระดับน้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้การระบายน้ำของแม่น้ำสายเป็นไปได้ช้า

การขยายเมืองทั้งในฝั่งแม่สายและท่าขี้เหล็ก

ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา เขาพบว่าตัวเมืองแม่สายของไทยและท่าขี้เหล็กของเมียนมา ต่างขยายตัวเป็นเมืองขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง และหลายจุดที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำหรือพื้นที่ระบายน้ำเดิมก็ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่อยู่อาศัย

“หากพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม” เขาบอก และอธิบายต่อว่าในอดีตแม่น้ำสายเคยมีความกว้าง 130-150 เมตร แต่ปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างประชิดแนวลำน้ำเข้าไปกว่าเดิม ส่งผลให้แม่น้ำสายมีความกว้างประมาณ 20-50 เมตรเท่านั้นในช่วงพื้นที่เมือง

“พอเราบีบพื้นที่แม่น้ำให้เป็นคอคอด มันก็ทำให้การระบายน้ำสู่แม่น้ำโขงตอนล่างมีความยากลำบากมากขึ้น”

แก้น้ำท่วมแม่สาย ต้องใช้กลไกระหว่างประเทศ

“องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) บอกว่า ถ้าเรามีระบบเตือนภัยที่ดีจะช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมได้ 20-30%” ดร.ธนพล บอก

“อย่างที่เรียนให้ทราบว่าน้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ภายใน 2 เดือนแล้ว ดังนั้นไม่ใช่ชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าพื้นที่นี้มันเกิดน้ำท่วม เขารู้ และเขาก็พยายามป้องกันอย่างเต็มที่ในศักยภาพที่พวกเขาทำได้”

นักวิชาการจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอร์กโฮล์มเล่าต่อว่า เทศบาลตำบลแม่สายพยายามสร้างกำแพงกั้นน้ำตามแนวแม่น้ำสาย ความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงพยายามอุดรอยรั่วของกำแพงมาโดยตลอด แต่เนื่องจากน้ำที่มีปริมาณมากในครั้งนี้ ซึ่งประเมินว่าอยู่ที่ 2-3 เมตร ขึ้นไปทำให้เกินศักยภาพการป้องกันของกำแพงที่สร้างขึ้น

เขาเสนอว่า ในระยะยาว ตัวเมืองแม่สายต้องวางแผนและออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยทุกครั้งที่วางผังเมืองต้องคิดเรื่องการจัดการน้ำควบคู่กันไปด้วย ส่วนบ้านเรือนที่อยู่แนวแม่น้ำสาย หากไม่ย้ายออกก็ต้องสร้างใหม่ให้สอดคล้องกับเหตุอุทกภัยที่มีแนวโน้มถี่มากขึ้น ท่วมมากขึ้น และแรงมากขึ้น

“บ้านชั้นเดียวอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป อาจต้องขยับเป็นบ้านสองชั้น” เขากล่าว



ในมุมมองของนักบริหารจัดการน้ำเช่นเขา เห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่แม่สายไม่สามารถพึ่งพาทรัพยากรในระดับเทศบาลและจังหวัดได้ แต่มันต้องการแผนการจัดการน้ำข้ามพรมแดนระหว่างไทย เมียนมา และ จีน

เขาเสนอว่า รัฐบาล, กระทรวงการต่างประเทศของไทย, สทนช. และทางการเมียนมา จะต้องประสานงานกันเพื่อติดตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำสายซึ่งอยู่ในเขตแดนประเทศเมียนมาให้ได้

“เพื่อนำข้อมูลน้ำฝนมาประเมินเป็นปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำสาย เพราะตอนนี้เราไม่มีข้อมูลปริมาณน้ำฝนบริเวณต้นน้ำเลย เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นน้ำท่วมที่เร็ว แรง มาในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จึงต้องการข้อมูลโทรมาตรที่อัปเดตในระยะเวลาทุก ๆ 5-10 นาที เพื่อประเมินปริมาณน้ำฝนที่จะกลายเป็นน้ำหลากได้”

เขาบอกว่าปัจจุบันสถานีตรวจวัดที่ใกล้ที่แม่น้ำสายมากที่สุดอยู่ที่อยู่บริเวณจุดตลาดสายลมจอย ซึ่งช่วยให้ทำแบบจำลองการพยากรณ์และเตือนภัยล่วงหน้าได้เพียง 1-3 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ถ้าหากมีสถานีตรวจวัดบริเวณต้นน้ำในประเทศเมียนมา จะช่วยให้ทำแบบจำลองการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้มากถึง 1-3 วัน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากเหตุอุทกภัยได้



อีกวิธีหนึ่งที่อาจช่วยให้น้ำในแม่น้ำสายไหลได้ดีขึ้น คือการขุดลอกลำน้ำ แต่เนื่องจากแม่น้ำแม่สายทอดยาวระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้งานดังกล่าวต้องเผชิญกับความท้าทายด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง เนื่องจากในปัจจุบันการปักหมุดเขตแดนระหว่างไทยและเมียนมายังคงดำเนินการอยู่

“เขตแดนระหว่างประเทศยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด คำถามที่หลายฝ่ายกังวลคือ หากเราทำการขุดลอกอะไรต่าง ๆ บริเวณลำน้ำในบริเวณนั้น ก็อาจทำให้พื้นที่ตลิ่งหรือเขตแดนระหว่างประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย” ดร.ธนพล อธิบาย

“ดังนั้นกลไกการบริหารจัดการแม่น้ำสายข้ามพรมแดนต้องมีความชัดเจน ไทยและเมียนมาต้องหาทางทำงานร่วมกันให้ได้ ซึ่งจะไม่ได้ส่งผลดีแค่พื้นที่แม่สาย แต่รวมถึงท่าขี้เหล็กของเมียนมาด้วย”

นอกจากนี้ ทางการไทย และ สทนช. ต้องประสานขอความร่วมมือกับจีน เพื่อจัดการระดับน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกันให้ได้ ซึ่งจะช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำสายให้ไหลลงแม่น้ำโขงตอนล่างให้ได้ไวที่สุด

“ข้อเสนอทั้งหมดนี้ต้องเป็นความร่วมมือระดับประเทศ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแม่สายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และมีความซับซ้อน” นักวิชาการจาก SEI ระบุ

“ดังนั้นการจัดการบริหารน้ำข้ามพรมแดนต้องเกิดขึ้น อุทกภัยมันไม่ได้เลือกหรอกว่าจะเกิดในไทยหรือเมียนมา เพราะน้ำมีหน้าที่ไหลจากที่สูงไปสู่ที่ราบตามกฎธรรมชาติ ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนตั้งแต่การวางผังเมืองไปจนถึงแผนยุทธศาสตร์เมืองแม่สาย ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเกิดเหตุเช่นนี้ต่อไปอีก” ดร.ธนพลกล่าวทิ้งท้าย