วันเสาร์, กันยายน 21, 2567

ความสำคัญของ “ภารดรภาพ” ในความเห็นของ อานนท์ นำภา



จดหมายฉบับลงวันที่ 20 ก.ย. 2567

“ถ้าหากคุณสามารถรู้สึกตัวสั่นด้วยความไม่พอใจทุกครั้งที่เห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในโลก เราก็เป็นเพื่อนกันได้” ถ้อยคำของ “เช กูวารา” ที่กล่าวไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนยังคงกินใจและเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่เสมอทั้งในไทยและทั่วโลก ทำให้พ่อนึกถึงคำขวัญการปฎิวัติในโลกตะวันตกที่มีคำว่า “ภารดรภาพ” หรือความรู้สึกเป็นมิตรสหาย เป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นพี่เป็นน้องกัน ความรู้สึกเช่นว่านี้ไม่มีกำแพงเชื้อชาติ ศาสนาหรือ ชนชั้นวรรณะ การต่อสู้ของพวกเราเมื่อปี 2563 ก็เช่นกัน พวกเราได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากมิตรสหายประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆอีกมากมาย แม้แต่ตอนนี้ที่มีเพื่อนของพ่อหลายคนต้องลี้ภัยการเมืองก็ได้รับการช่วยเหลือจากมิตรสหายทั่วโลก
.
การช่วยเหลือกันในยามตกทุกข์ได้ยาก เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการจะเปลี่ยนแปลงโลกร่วมกัน เป็นเพราะว่าในทุกพื้นที่ทั่วโลก อำนาจเผด็จการหรืออำนาจไม่เป็นธรรมยังคงทำงานเพื่อเหนี่ยวรั้งสังคม ปกป้องสังคมเก่า มิยอมให้สังคมใหม่ได้ก่อเกิด คนที่ตื่นแล้วจากมายาสังคมเก่าย่อมมิอาจทนได้ เมื่อเห็นความไม่ยุติธรรม มายาคติเช่นว่านั้นอาจอยู่ในรูปแบบชาตินิยม ศาสนา สีผิว กระทั่งเพศสภาพ ก็ถูกสังคมเก่านำมาแบ่งแยก กดขี่และทำร้ายทำลายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
.
การต่อสู้ของคนรุ่นพ่อในปี 2563 ได้ทำลายเพดานและกำแพงเช่นว่านั้น พวกเราตระหนักถึงการเป็นพลเมืองโลก ตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เสรีภาพ และ ภารดรภาพ จึงไม่แปลกที่สังคมเก่าจะหยิบยกเรื่องชาตินิยมมาเป็นข้ออ้างในการสกัดกั้นภารดรภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง จึงไม่แปลกที่สังคมเก่าไม่อยากเห็นความเสมอภาค เท่าเทียมในทุกมิติ
.
“ชาก้นแก้ว” เราจะเห็นตะกอน ไม่มีผู้ใดดื่มกินตะกอน เราจักเอาตะกอนนั้นทิ้งไป
.
รักและคิดถึงลูกทั้งสองคน
อานนท์ นำภา
20 ก.ย. 2567