เรื่องราวของสุภาพรรณจึงเป็นครั้งที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ตัวของนักโทษทางการเมืองเท่านั้นที่ต้องสูญเสียอิสรภาพจากการถูกจับกุมคุมขังด้วยคดีการเมือง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังสะเทือนหนักไปถึงสมาชิกครอบครัวของพวกเขาด้วย
‘ปอย สุภาพรรณ’: ความหวังและชีวิตต้องสู้ของคนเป็น ‘แม่’ และ ‘ภรรยานักโทษทางการเมือง’
ในสายตาของรัฐ ผู้ที่ลุกขึ้นมาแสดงออกหรือทำกิจกรรมทางการเมืองในแง่การวิพากษ์วิจารณ์หรือท้าทายผู้ที่ถืออำนาจรัฐอยู่นั้นคือคน “ผิด” ที่สมควรถูกจับกุม ดำเนินคดี หรือคุมขัง แต่สำหรับสมาชิกครอบครัวแล้ว พวกเขาคือคนสำคัญที่ร่วมแบ่งปันความสุข ทุกข์ ความฝัน และความรับผิดชอบในการสร้างชีวิตร่วมกัน การที่สมาชิกถูกพรากไปจากครอบครัวเพราะถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง ย่อมหมายถึงคนที่เหลืออยู่จะต้องแบกรับความรับผิดชอบหนักขึ้นในการประคับคองครอบครัวให้เดินหน้าต่อไป หรืออย่างน้อยก็ต้อง “อยู่รอด” ในวันที่ยังต้องสู้ต่อ
‘ปอย-สุภาพรรณ’ คือคนที่เผชิญกับสถานการณ์นั้น เมื่อต้องกลายมาเป็นเสาหลักหนึ่งเดียวของครอบครัว แบกรับค่าใช้จ่ายทุกอย่างในการดูแลลูกน้อยทั้ง 2 คน หลังเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2566 ‘บาส ประวิตร’ สามีของเธอซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวถูกตัดสินจำคุกรวม 12 ปี 8 เดือน ก่อนลดเหลือ 6 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันวางเพลิงเผาโรงเรือนในคดีเผาป้อมจราจรระหว่างการชุมนุมที่ดินแดนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564
สุภาพรรณบอกว่าด้วยรายได้ที่เธอมีเดือนละ 10,000 กว่าบาท จากการทำงานเป็นลูกจ้างรายวันของโรงงานแห่งหนึ่ง เมื่อหักค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถจักรยานยนต์ และค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการเลี้ยงดูลูกก็แทบไม่เหลืออะไร นี่เป็นความรับผิดชอบหนักอึ้งบนบ่าของเธอผู้เป็นทั้งภรรยานักโทษการเมืองและแม่ของลูกเล็กๆ 2 คน ที่ต้องกลายเป็นเสาหลักหนึ่งเดียวของครอบครัวในวันนี้
เศรษฐกิจแย่-เหตุผลการร่วมชุมนุม
สุภาพรรณเล่าว่าเหตุผลที่ทำให้เธอและประวิตรไปร่วมการชุมนุมช่วงปี 2564 เป็นเพราะมองว่าปัญหาเศรษฐกิจในตอนนั้นเป็นเรื่องสาหัส ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นและค่าแรงก็ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ทำให้เธอและสามีคิดว่ารัฐบาลในขณะนั้นไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน โดยสุภาพรรณบอกว่าเธอและประวิตรไปร่วมการชุมนุมพร้อมเพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกัน และมีความคิดเห็นต่อรัฐบาลในเวลานั้นเหมือนกัน
“ช่วงนั้นไปชุมนุมบ่อย วันเว้นวัน ตอนนั้นมีลูกคนโตแล้ว ลูกอยู่กับแม่บาส เศรษฐกิจช่วงนั้นมันแย่มาก มันไปต่อไม่ได้แล้ว ไปทำงานที่ไหนค่าแรงก็น้อยกว่าค่าใช้จ่าย พวกหนูก็เลยอยากไปกัน คือนายกไม่ได้เรื่อง ก็เลยไปกัน”
สุภาพรรณบอกว่าบาส ประวิตร ถูกจับกุมที่บ้านพักเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2564 และได้รับการประกันตัวในวันถัดมา แต่ก็ทำให้เขาถูกใส่กำไล EM ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการให้ประกันตัว นี่ส่งผลให้สามีของเธอเจอกับความยากลำบากในการหางานทำ ต่อมาเธอตั้งท้องลูกคนเล็ก การตั้งครรภ์และต้องดูแลลูกทั้ง 2 คนทำให้เธอต้องหยุดทำงาน สถานการณ์ในครอบครัวก็ยิ่งยากเพราะประวิตรกลายเป็นคนเดียวที่หารายได้มาดูแลครอบครัว
“ตอนหลังบาสก็ไปหางานไปนั่งฉีกกระดาษในโรงงาน เขาเห็นบาสใส่ EM เขาเลยไล่บาสออกจากงาน หนูก็เลยต้องทำงานคนเดียว ทีนี้หนูก็ท้อง (ลูกคนเล็ก) แม่บาสก็เลยไปคุยกับโรงงานที่แม่บาสทำงานอยู่ว่า ฝากบาสเข้าทำงานได้มั้ย เพราะเมียก็กำลังท้องอยู่ ไม่มีเงินกันเลย เขาก็รับเข้าทำงาน”
แม่ผู้กลายเป็นเสาหลักของครอบครัว
สุภาพรรณเริ่มกลับมาหางานอีกครั้งหลังสามีถูกศาลตัดสินจำคุกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 โดยเธอทำงานเป็นลูกจ้างรายวันของโรงงานผลิตน้ำมันเครื่องแห่งหนึ่งที่ต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และกลายเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวเพียงคนเดียว
การต้องเป็นเสาหลักคนเดียวในการหาเลี้ยง 3 ปากท้องในครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สุภาพรรณบอกว่าแต่ละเดือนเธอต้องใช้จ่ายแบบ “ถูๆ ไถๆ” เพราะเพียงแค่ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าจ้างเลี้ยงลูกคนเล็กวัย 1 ขวบ 4 เดือน เพื่อให้เธอสามารถออกไปทำงานได้ รวมถึงค่าผ่อนรถจักรยานยนต์ที่จำเป็นสำหรับการเดินทางไปทำงานไกลจากบ้าน 9 กิโลเมตร ก็แทบจะไม่เหลือเงินไว้ใช้จ่ายในแต่ละวันแล้ว แม้ว่ามีเงินประกันสังคมสงเคราะห์บุตรเข้ามาช่วยได้บ้างก็ตาม
“ปัจจุบันทำงานอยู่โรงงานผลิตน้ำมันเครื่อง ได้เงินวันละ 363 บาท เป็นรายวัน ไม่ใช่พนักงานบรรจุ แต่ได้วันหยุด 1 วัน วันอาทิตย์ วิกนึง (15 วัน) หนูได้ 5,400 หักประกันสังคมเหลือ 5,200 หนูต้องจ่ายค่าเลี้ยงลูกคนเล็ก 4,500 แต่เขาลดให้ เพราะหนูไม่มีจริงๆ เขาลดให้เหลือ 4,000 และมีจ่ายค่าบ้าน ค่าบ้าน 1,500 เขาก็ลดให้เหลือ 1,000 ได้เงินประกันสังคมสงเคราะห์บุตร 2 คน คนละ 800 รวมกัน 1,600 ก็พอได้เอาไปผ่อนค่างวดรถบ้าง”
“ที่ทำงานกับบ้านอยู่ห่างกัน 9 กิโล ตอนเช้าๆ ก็ขับรถซ้อน 3 กันไป คนโตอยู่เนอสเซอรี อนุบาล 2 ค่าเรียนเดือนละ 300 ไม่มีปิดเทอม เหมือนเอามาฝากเลี้ยงไว้ แต่เป็นโรงเรียน อยู่แถวๆ ที่ทำงานหนู หนูต้องเอาน้องคนเล็กไปฝากเลี้ยงที่ฝั่งพลูเจ้า จริงๆ ใต้ตึกเคยมียายคนหนึ่งที่เราฝากเลี้ยงได้ แต่เขากลับไปอยู่ต่างจังหวัด แถวนี้เคยเอาไปให้คนแถวซอยเลี้ยง แต่เขาตีน้องเป็นแนวเลยค่ะ สงสารน้องเลยไม่ไว้ใจใคร เลยเอาไปฝากฝั่งโน้นที่เขาเคยเลี้ยงหนูมาตอนเด็กๆ
“ชีวิตประจำวันหนูเข้างาน 7 โมง 20 ต้องออกจากบ้าน 6 โมง 20 ขับรถไปส่งคนเล็กก่อน แล้วก็มาส่งคนโต แล้วก็เข้างาน ที่ที่เราไปฝากคนเล็กต้องข้ามเรือ เราไปจอดมอเตอร์ไซค์ไว้ เอาเด็กๆ ขึ้นเรือไปส่ง และเอาลูกคนโตกลับมา ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปส่งไว้ที่โรงเรียน”
ด้วยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่เหลืออยู่ไม่มากทำให้แต่ละวันสุภาพรรณต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัด บางวันเธอต้องอดข้าวเช้า แต่เธอบอกว่าจะอดข้าวเย็นด้วยก็ไม่ได้เนื่องจากต้องซื้อมากินกับลูก เธอพยายามไม่ใช้เงินเกินวันละ 100 บาท เพราะหากเกินขึ้นมาเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ไม่มีเงินพอส่งค่างวดรถจักรยานยนต์ แต่หากจะหยุดผ่อนรถก็มองว่าจะทำให้ลำบากยิ่งขึ้นเพราะเธอต้องใช้รถจักรยานยนต์ไปทำงานที่อยู่ไกลออกไปจากบ้าน
ขณะเดียวกัน การเจ็บป่วยของลูกทั้ง 2 คน ซึ่งยังเป็นเด็กเล็กทั้งคู่ก็เกิดขึ้นบ่อย ทำให้มีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่เพิ่มขึ้นมา สุภาพรรณบอกว่าบางครั้งเธอต้องตัดสินใจพาลูกเข้าคลินิกหลังรักษาที่โรงพยาบาลด้วยสิทธิ์การรักษาของรัฐแล้วยังไม่หาย เธอบอกว่าเธอไม่ได้ “ หัวสูง” แต่ทนเห็นลูกทรมานไม่ไหว
“บางทีลูกหนูไม่สบาย จะเป็นทั้งสองคนเลย คือเรื่องการขับถ่าย พวกเขาจะต้องหาหมอตลอด สิทธิ์ 30 บาทก็เคยไป เขาพูดคำเดียวว่าต้องปล่อยให้น้องถ่ายเอง แต่ถ้าไปคลินิกเขามียาช่วย หนูไม่ได้หัวสูงนะคะพี่ แต่น้องไม่ถ่ายมา 3 วัน ถ่ายทีเป็นเลือดเลยค่ะวันนั้น 3 วันที่น้องไม่ได้ถ่าย หนูไปหาคลินิก 300 เขาก็ให้ยามา น้องก็ได้ถ่าย เป็นตั้งแต่คนแรกเลย ช่วงที่ผ่านมา เดือนที่แล้วไปหาหมอ 3 รอบเลยค่ะ ลูกคนโตเป็นโควิด รอบแรกค่ะ แล้วรอบ 2 ก็เป็นไข้ติดมาจากโรงเรียน”
สุภาพรรณบอกว่าเธอแทบจะเรียกว่าตัวคนเดียวเพราะเติบโตมากับยายทวดที่เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนแม่ของเธอก็ไม่อยู่ในสถานะที่ให้ความช่วยเหลือได้ เธอไม่ได้ติดต่อกับพ่อของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าแม่ของสามีจะช่วยนำลูกคนโตวัย 4 ขวบกว่าไปดูแลให้ในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่การต้องเป็นแรงเดียวในการหารายได้เลี้ยงลูกทั้ง 2 คนที่ยังอยู่ในวัยเด็กมากก็เป็นความรับผิดชอบหนักหน่วง เมื่อสามีซึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญในการหาเลี้ยงปากท้องต้องถูกคุมขังจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง
นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เธอต้องแบกรับเพียงคนเดียวแล้ว สุภาพรรณบอกว่าอีกเรื่องที่เธอกังวลเมื่อสามีไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ก็คือเรื่องความปลอดภัย เพราะเธอและลูกต้องอาศัยอยู่กันตามลำพังในห้องเช่าที่ไม่อาจเรียกได้ว่ามีสภาพแวดล้อมชวนอุ่นใจนักสำหรับผู้หญิงคนเดียวที่มีลูกเล็กๆ เช่นเธอ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ประวิตรก็กังวลตั้งแต่ก่อนเขาจะถูกคุมขังแล้ว
“ห้องเช่าที่เราอยู่ตอนนี้ 2 ทุ่มปิดบ้านนอน กลางคืนไม่กล้าออกไปไหน เพราะทั้งตึกนี้มีเราเป็นคนไทยคนเดียว กลางคืนคนงานก่อสร้างเมาก็ตีกัน หนูก็ต้องล็อกกลอนให้สนิท ช่วงที่บาสอยู่ เคยมีมาเคาะประตู บาสก็บอกว่าถ้าบาสไม่อยู่จะเป็นยังไง แต่พม่าผู้หญิงตรงข้ามห้องก็มีน้ำใจ เขาทำอะไรก็เอามาแบ่งให้กินตลอด ในตึกไม่ได้มีแค่ผู้ชาย มีผู้หญิงด้วย ส่วนมากเขาจะอยู่เป็นคู่ผัวเมีย พม่าผู้ชายมีแค่ไม่กี่ห้อง ห้องที่มีเด็กๆจะอยู่ชั้นล่าง”
ในวันนี้ที่เธอต้องต่อสู้กับความรับผิดชอบในชีวิตเพียงลำพังในฐานะของแม่ผู้เป็นเสาหลักของลูกทั้งสองเพียงคนเดียว สุภาพรรณหวังว่าเมื่อหมดภาระการผ่อนรถจักรยานยนต์ที่เหลืออยู่อีก 1 ปี และเมื่อลูกคนเล็กอายุครบ 2 ขวบ ซึ่งเธอจะสามารถส่งไปเข้าศูนย์เด็กเล็กเช่นเดียวกับพี่คนโต และทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจ้างเลี้ยง ก็น่าจะทำให้เธอและครอบครัวมีสภาพการเงินที่คล่องตัวขึ้นมาบ้างเล็กน้อย
ขณะที่การได้เห็นประวิตรกลับมาอยู่กับครอบครัวโดยเร็ว ก็เป็นความหวังสูงสุดที่เธอยังคงรอคอย
( https://freedombridge.network/poy-the-hope-and-struggles.../ )
.....
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
a day ago
·
จับตา #คดีสำคัญ ประจำเดือน กันยายน 2567
.
ตลอดทั้งเดือนกันยายน 2567 มีนัดหมายคดีดังนี้
สืบพยานในคดี #ม112 จำนวน 7 คดี
นัดฟังคำพิพากษา #ม112 จำนวน 7 คดี
คดีจากการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมข้อหาอื่น ๆ มีนัดสืบพยานและฟังคำพิพากษาอย่างน้อย 10 คดี
.
.
ดูตารางนัดหมายคดีทางการเมืองตลอดเดือน ก.ย. 2567 https://tlhr2014.com/archives/69495