วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2567

ไอติม ปลุกรบ.ฝ่ากับดักนิติสงคราม ยกเคสเศรษฐา ชี้พวกท่านคือภัยคุกคามเก่า วันที่จัดการภัยคุกคามใหม่ อย่าง พรรคประชาชนได้ ถึงเวลาก็จะถูกเขี่ยทิ้ง

14 กันยายน 2567
มติชนออนไลน์

“พริษฐ์” เย้ยเป็นการแถลงแผนงาน รบ.เดิม ตอกนโยบาย “แพทองธาร” คิดไม่ครบ คิดไม่ออก คิดไม่ซื่อ จี้ให้ สส.คดีตากใบมารายงานตัว สับเป็น รบ.ตัวประกันอำนาจเก่าใช้โค่นล้มภัยคุกคามใหม่ ชี้ยืนบนทางสองแพร่ง ปลุกร่วมมือ ปชน.เชื่อฝ่าฟันกับดักและนิติสงครามของอำนาจเก่าได้แน่

ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ โดยทันทีที่สมาชิกอภิปรายครบ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นขอบคุณ จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งปิดการประชุม ในเวลา 01.10 น.ของวันที่ 14 กันยายน 2567 นั้น

ช่วงหนึ่งในเวลา 23.42 น. ก่อนปิดประชุม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า วาระที่เราพิจารณากันอยู่ 2 วันนี้ ไม่ใช่วาระการแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่เข้ามารวมตัวกันทำงานหลังจากการเลือกตั้ง แต่เป็นวาระของการแถลงความคืบหน้า และแผนงานของรัฐบาลเดิมที่ได้ทำงานมาแล้ว 1 ปีเต็ม ถึงแม้จะเปลี่ยนคน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนพรรค ถึงแม้รัฐมนตรีบางกระทรวงอาจจะเปลี่ยนชื่อ แต่หลายคนก็ไม่ได้เปลี่ยนนามสกุล ขณะที่องค์ประกอบโดยรวมของรัฐบาลยังคงเป็นเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนอะไหล่เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ

ทั้งนี้ จะขอประเมิน 5 นโยบายระยะสั้นของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน คือ 1.เรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ไม่สามารถจุดชนวนได้ มีเพียงผู้ค้าที่ต้องจุดธูปอธิษฐานว่า เมื่อไหร่ตลาดจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง สมัยก่อนบอกว่า ไม่ต้องกู้เงินสักบาท แต่วันนี้ต้องกู้เต็มเพดาน จนถึงวันนี้ก็ไม่สามารถแจกเงินได้เพียงแม้แต่บาทเดียว ที่บอกว่า แจกทุกคนไม่ต้องลงทะเบียน แต่สุดท้ายแล้วคนที่ลงทะเบียนก็ไม่รู้ว่าจะได้เงินหรือไม่

นายพริษฐ์อภิปรายว่า 2.ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ผ่านไปหนึ่งปีรัฐบาลนายเศรษฐาก็วนเวียนอยู่กับมาตรการเดิมๆ เพิ่มเติมคืออีเวนต์ 3.เรื่องพลังงานที่บอกว่าจะลดค่าใช้จ่ายในระยะสั้น แต่หนึ่งปีที่ผ่านมาที่สุดแล้วว่าคำว่าระยะสั้นในความหมายของรัฐบาลนายเศรษฐา มันสั้นมากจริงๆ เพราะค่าไฟที่เคยลดราคาจาก 4.35 เหลือ 3.99 บาท ตอนนี้กลับมาอยู่ที่ 4.88 บาทต่อหน่วย น้ำมันดีเซลที่เคยลดราคาจาก 32 บาทต่อลิตรเหลือ 30 บาทต่อลิตร ตอนนี้เด้งกลับมาที่ 33 บาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 4.เรื่องการท่องเที่ยว นายกฯ เศรษฐาขยันผิดจุด จากข้อมูลของยูเอ็นทัวริซึม การท่องเที่ยวฟื้นฟูช้ากว่าค่าเฉลี่ยของโลก และสะท้อนว่ารายได้กระจุกอยู่ที่ห้าจังหวัดต้นๆ เหมือนเดิม สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ประสบความสำเร็จของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งนายกฯคนปัจจุบันขับเคลื่อน

และ 5.เรื่องรัฐธรรมนูญที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลปัจจุบัน โดยรัฐบาลนายเศรษฐาประกาศว่าจะผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 1 ปีผ่านไปประชามติรอบแรกที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติประชามติยังคงค้างอยู่ที่ชั้นวุฒิสภา ทั้งนี้ ผลงานที่ผ่านมา 1 ปีของรัฐบาลนายเศรษฐาเปรียบเสมือนพาประเทศไทยเดินขึ้นรถไฟเหาะ แต่กลับตีลังกาไปตีลังกามา และสุดท้ายก็นำประเทศไทยกลับมาอยู่ที่จุดเดิม

“รัฐบาลไม่ขยันเสนอกฎหมายของตัวเอง แต่ขยันชะลอหรือขัดขวางกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายค้าน

ดังนั้น 1 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่า รัฐบาลนายเศรษฐาไม่สามารถทำได้ตามคำพูดที่สวยหรู และอะไรคือหลักประกันว่าอีก 3 ปีข้างหน้ารัฐบาล น.ส.แพทองธาร จะทำตามคำพูดสวยหรูที่พูดไว้กับรัฐสภาตลอดสองวันที่ผ่านมา” นายพริษฐ์ระบุ

นายพริษฐ์อภิปรายต่อว่า นโยบายหลายด้านของรัฐบาล น.ส.แพทองธารคือคิดมาไม่ครบตั้งแต่ต้น ทำให้ต้องตัดออก ตัดไปตัดมาบางเรื่องต้องยอมถอย เช่น เรื่องของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต สมัยรัฐบาลนายเศรษฐาเขียนชัดเจนว่าจะเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต แต่พอเป็นรัฐบาล น.ส.แพทองธารมีการปรับข้อความว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรกและผลักดันโครงการ และคำว่า 1 หมื่นบาทหายไป ขณะที่ รมว.คลังประกาศว่าในส่วนกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ที่จะจ่ายเงินสด 1 หมื่นบาทในวันที่ 25 กันยายน ก็จะเรียกว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ เพราะให้เป็นเงินสด หรือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เคยโฆษณาตอนหาเสียงที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทในปี 2570 แต่ตอนนี้เหลือเพียงคำว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม เมื่อมาถึงนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร คำว่าค่าแรงขั้นต่ำหายสาบสูญไปเลย ถือเป็นคำสารภาพว่าภายใต้รัฐบาลชุดนี้เศรษฐกิจจะโตเฉลี่ยไม่ถึง 5% ต่อปี

นายพริษฐ์อภิปรายว่า หลายนโยบายก็คิดไม่ออกว่าจะทำอะไร เลยต้องเขียนนโยบายกว้างๆ ไว้ก่อนเช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัย นอกจากนี้หลายนโยบายคิดไม่ซื่อ แต่เอาประชาชนมาบังหน้า เช่น นโยบายสถานบันเทิงครบวงจรหรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หากเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เราคงจะได้เห็นรัฐบาลยืนยันไปแล้วว่าจะเลือกตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือกาสิโน ในจังหวัดเมืองรอง เพื่อใช้โอกาสนี้ในการสร้างเมืองใหม่และกระจายนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ กระจายไปถึงทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แต่รัฐบาลมีแนวโน้มจัดตั้งในจังหวัดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งคนที่ดีใจที่สุดคือกลุ่มทุนใหญ่ที่ลือกันว่ากำลังแย่งชิงสัมปทานกันอยู่ รวมถึงเรื่องของรัฐธรรมนูญ อยากให้นายกฯลุกขึ้นมายืนยันกับสภาแห่งนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะถูกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ และขอให้ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะเปิดให้ประชาชนออกแบบเนื้อหาได้เต็มที่ตามหลักการประชาธิปไตย

“หรือนโยบายที่รัฐบาลจะฟื้นฟูหลักนิติธรรม แต่จำเป็นต้องถามนายกฯ และในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ท่านจะทำอย่างไรกับ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นจำเลยในคดีตากใบ ล่าสุดมีรายงานข่าวว่ารักษาตัวอยู่ที่ต่างประเทศ อยากรู้ว่าท่านจะสัญญาว่าจะกำชับให้ ส.ส.คนดังกล่าวไปรายงานตัวที่ศาลตามหมายนัด โดยไม่ปล่อยให้คดีดังกล่าวหมดอายุความ” นายพริษฐ์ระบุ

นายพริษฐ์อภิปรายว่า ขณะที่องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหมือนเป็นการสานต่อนโยบายหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ มาเป็นหนึ่งครอบครัว หนึ่งที่นั่งรัฐมนตรี ซึ่งตนไม่คิดว่าเป็นปัญหาหลัก เพราะท้ายสุดไม่ว่ารัฐมนตรีแต่ละท่านจะเป็นลูกใคร ญาติใคร จนมีความเชื่อว่าท้ายสุดประชาชนจะประเมินท่านจากผลงานและความสามารถของท่าน

อย่างไรก็ตาม ตนมีความกังวลเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี 3 ข้อ ที่จะกลายเป็นอุปสรรคของรัฐบาลในการผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน คือ 1.ครม.ชุดนี้เสี่ยงเป็น ครม.ต่างคนต่างอยู่ ไม่สามารถผลักดันนโยบายที่ต้องอาศัยการประสานงานข้ามกระทรวงได้ มีบางเรื่องที่เราแทบจะไม่ได้ยินจากอดีตนายกฯที่แสดงวิสัยทัศน์ ทั้งเรื่องการศึกษา แรงงานและสวัสดิการ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงที่รัฐมนตรีมาจากคนละพรรคกับลูกสาวของอดีตท่านนายกฯ เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นอาการของคณะรัฐมนตรีที่ไม่สามารถครอบครองได้ทั้งหมด ก็เลยต้องเลือกใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ต่างพรรคต่างทำงานในกระทรวงที่ตัวเองรับผิดชอบ โดยไม่ขัดแข้งขัดขาหรือขัดผลประโยชน์ของกันและกัน

“หรือหากประเทศเผชิญวิกฤตที่ต้องการการตัดสินใจอันรวดเร็ว เด็ดขาด และเฉียบคมเหมือนกับวิกฤตน้ำท่วมในภาคเหนือตอนนี้ซึ่งกระทบประชาชนนับหมื่นนับแสนคน ต้องถามต่อว่าเราจะสามารถฝากความหวังไว้กับนายกฯได้หรือไม่ ว่าท่านจะสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำในจังหวะชี้เป็นชี้ตาย เพื่อปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน” นายพริษฐ์ระบุ

นายพริษฐ์อภิปรายต่อว่า นอกจากนี้ ครม.ชุดนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็น ครม.ตัวประกันที่จะเป็นอุปสรรคในการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เมื่อท่านนำพาตัวเองเข้าสู่ในสภาวะเป็นตัวประกันในอุ้งมือของเครือข่ายอำนาจเก่า อำนาจรัฐที่ท่านได้มาด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ท่านก็ไม่สามารถใช้มันเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองได้สำเร็จเพียงเรื่องเดียว เช่น เรื่องการปฏิรูปกองทัพที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก รัฐธรรมนูญที่ท่านบอกว่าเป็นต้นตอของระบบการเมืองที่ไม่ปกติ ก็ยังไม่ถูกแก้สักมาตรา ประชาชนทุกเฉดสีที่เป็นนักโทษคดีทางการเมืองที่เฝ้ารอกระบวนการนิรโทษกรรม ปัจจุบันก็ยังถูกขังคุกต่อไปโดยไม่มีกำหนด ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาท่านได้ทิ้งวาระทางการเมืองที่สัญญาไว้กับประชาชน เพื่อพยายามเอาใจพวกอำนาจเก่าจนท่านต้องสูญเสียความศรัทธา ความนิยมจากประชาชนประชาชนที่สะสมมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายก็หนีไม่พ้นระบบและสถาบันทางการเมืองที่ถูกออกแบบโดยเครือข่ายอำนาจเก่าอย่างประณีต หันกลับมาทิ่มแทงท่านจนนายกฯคนก่อนก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง และนายกฯคนใหม่ของท่านก็ถูกล้อมรอบด้วยนิติสงครามอันวิกฤตจากทั่วทุกทิศ

นายพริษฐ์อภิปรายว่า มาถึงวันนี้รัฐบาลและนายกฯ กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง หากท่านยังเลือกวิ่งเข้าหาเครือข่ายอำนาจเดิม โดยเอาอนาคตของประชาชนทุกคนไปแลกกับการรักษาอำนาจของตัวเอง หรือประโยชน์ของคนไม่กี่คนท่านอย่าหวังว่า จะได้รับความเห็นใจจากประชาชน และแม้เครือข่ายอำนาจเก่าอาจจะยังปราณีท่านไว้ชั่วคราว หวังใช้ท่านมาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างภัยคุกคามใหม่อย่างพวกผม แต่ท้ายสุดแล้วหากเขาทำสำเร็จ ผมเชื่อว่า เขาก็อาจจะไม่เก็บภัยคุกคามเก่าอย่างพวกท่านไว้เช่นกัน อำนาจเลือกตั้งที่มาจากประชาชนก็จะถูกโค่นล้มซ้ำแล้วซ้ำเล่า การเมืองเราก็จะขาดเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจก็จะหดหาย ประเทศชาติและประชาชนมีแต่เสียกับเสีย

นายพริษฐ์อภิปรายอีกว่า แต่หากวันนี้ท่านพร้อม หันหลังให้กับอำนาจเก่าและวิ่งเข้าหาพี่น้องประชาชน มาร่วมมือกับพรรคประชาชนในบางโอกาส บางวาระ เพื่อร่วมกันปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยแบบปกติ ให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจที่มาจากการแต่งตั้ง ผมเชื่อว่า พวกเราทุกฝ่ายแม้เห็นต่างหลายหลายเรื่อง ก็จะสามารถฝ่าฟันกับดักและนิติสงครามของอำนาจเก่าไปได้อย่างแน่นอน เมื่อถึงวันนั้นพวกเราก็จะมีสมาธิอย่างเต็มที่ในการเดินหน้าทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรที่มาจากเสียงประชาชน ทุกคนเดินหน้าตรวจสอบถ่วงดุลกันในสภา แห่งนี้เดินหน้าต่อสู้แข่งขันกันในคูหาเลือกตั้ง ผลัดกันเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เป็นคู่แข่ง ที่แข่งกันชนะใจประชาชน ไม่ได้เป็นศัตรูที่ฉวยโอกาสใช้อำนาจนอกระบบมาทำลายล้างกัน ถึงวันนั้นการเมืองก็จะมีเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของเราก็จะฟื้นฟูกลับมา ประเทศไทยจะมีที่ยืนในเวทีโลกประเทศชาติและประชาชนก็จะมีแต่ได้กับได้

“เวลาในการตัดสินใจของท่านนายกฯ มีเหลือไม่มาก ความอดทนของพี่น้องประชาชนมีขีดจำกัด เชื่อว่า 3 ปีหลังจากนี้ท่านจะต้องเผชิญกับหลายสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจแทนพวกเรา ท่านจะทำให้อนาคตข้างหน้าเป็นอนาคตที่อำนาจลงตัวและประชาชนลงเหว หรือเป็นอนาคตที่อำนาจเปลี่ยนผ่านและประเทศชาติเปลี่ยนแปลง หวังว่าการตัดสินใจของท่าน จะไม่ปล่อยให้ประโยชน์ส่วนตัวของใครมาอยู่เหนือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนทุกคน” นายพริษฐ์ระบุ

https://www.matichon.co.th/politics/news_4790266