วันศุกร์, กันยายน 13, 2567

แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯผนึกองค์กรนิสิตนักศึกษา ตีระฆังร้องทุกข์สภา ทวงถามนายกฯ นิรโทษกรรม​คดีการเมือง​ตั้งแต่ปี 49 รวม 112 คืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม


ยูดีดีนิวส์ - UDD news11 hours ago
11 hours ago
·
แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯผนึกองค์กรนิสิตนักศึกษา ตีระฆังร้องทุกข์สภา ทวงถามนายกฯ นิรโทษกรรม​คดีการเมือง​ตั้งแต่ปี 49 รวม 112 คืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม
.
วันนี้ (12 ก.ย. 67) เวลา 13.00 น. ที่ลานตีระฆัง รับเรื่องราวร้องทุกข์ อาคารรัฐสภา แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับเครือข่ายองค์กรนิสิต-นักศึกษา ประกอบด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ท่าพระจันทร์, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พรรคธรรมด้วยกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พรรคคนกันเอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พรรคธรรมดา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พรรคโดมสามัญชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมสากลและประชาธิปไตย, องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พรรคจุฬาสามัญชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พรรคเมฆา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, พรรคเกษตรชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล, สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, สโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และสังคมนิยมแรงงาน
.
ตีระฆังร้องทุกข์ และยื่นจดหมายเปิดผนึกทวงถามแนวทางนโยบายรัฐบาล ต่อการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง และการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้คนที่ถูกปราบปรามโดยรัฐ เนื่องในวันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยมี นายวรวงศ์​ วรปัญญา​ สส.​ ลพบุรี​ พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนรับหนังสือ
.
สำหรับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกมีใจความระบุถึงความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกสังคมต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยขบวนการพันธมิตรฯ ขบวนการนปช. ขบวนการกปปส. และการเคลื่อนไหวของเครือข่ายคณะราษฏร 2563-2565
.
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความขัดแย้งที่ควรหาทางออกได้อย่างสันติด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย แต่กลับปรากฏกรณีจำนวนมากที่มีผู้คนแสดงออก เรียกร้อง หรือมีจุดยืนที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของรัฐ ถูกกดขี่ปราบปรามด้วยกำลังอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ตลอดจนการกดขี่ปราบปรามด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้มีผู้คนต้องสูญเสียอิสระภาพและสิทธิทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันยังคงมีผู้คนถูกคุมขัง มีคดีความและได้รับผลกระทบจากการกดขี่ปราบปรามเป็นจำนวนมาก
.
ปัญหานักโทษทางการเมือง และคดีความทางการเมืองเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี
เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่นำโดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร นั้น ปราศจากการพูดถึงประเด็นนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งรวมไปถึงคดีอาญามาตรา 112 และประเด็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติของผู้สูญเสียจากความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐ รวมถึงจุดยืนในการแก้ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ซึ่งอัตราโทษของข้อกล่าวหาสูงเกินจริงเป็นอย่างมาก และกฏหมายมาตราเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามผู้เห็นต่างแทบทุกยุคทุกสมัย
.
ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คุณ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ AIM HOUR ของช่อง Workpoint Today เอาไว้ว่า
.
“กฎหมายต้องแก้ในสภา ถ้าเรามาดูกันว่า 112 ในปัจจุบัน ตั้งแต่ 8 ปีที่ผ่านมา เคส (จำนวนที่ถูกฟ้อง) ของ 112 (เพิ่ม) ขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ (เพิ่ม) ขึ้นหลักร้อย ซึ่งสมัยก่อนมันไม่เป็น มันเพิ่งมาเป็นตอนนี้ และถ้าเราไม่ถกกันในสภา มันก็จะไม่จบ”
.
“แล้วเราควรกำหนดว่าใครควรจะมีสิทธิฟ้องได้บ้าง ไม่อย่างนั้น 112 จะกลายเป็นเกมของการเมือง กลายเป็นเกมของคนที่ต้องการสาดสีกัน ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น พูดเลยว่าคนที่จะออกมาฟ้องได้ ต้องเป็นสำนักพระราชวังไหมที่มีสิทธิฟ้อง ถ้าทุกคนฟ้องได้ มันเหมือนกับใช้กฏข้อนี้ที่มันฟ้องง่ายเหลือเกิน เอามาแกล้งกัน ซึ่งมันก็ไม่แฟร์กับคนที่มีความคิดที่อาจจะแตกต่างเล็กน้อย เพราะโทษมันโหดร้าย”
.
เช่นเดียวกัน นายอันเจลโลว์ ศตายุ สาธร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า ตั้งแต่วันเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้สัญญาว่า จะยุติการกลั่นแกล้งคดีทางการเมืองคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดง แต่เรากลับไม่เห็นสิ่งพวกนี้ปรากฏ วันนี้องค์กรนิสิตนักศึกษาจึงมายื่นหนังสือเพื่อทวงนโยบายกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมี 3 ข้อเรียกร้องคือ
.
1.ให้มีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองตั้งแต่ปี49 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
.
2. ให้มีการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้บาดเจ็บ หรือผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ การสลายการชุมนุม และความรุนแรง ในทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการสืบหาความจริง ค้นหาความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงการเยียวยา ต่อผู้บาดเจ็บ และญาติผู้เสียหาย
.
3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยให้มีเสถียรภาพและยังยืนต่อไป
.
นายอันเจลโลว์ ได้ทิ้งท้ายว่า เราหวังว่าจะได้รับคำตอบภายในวันนี้ แต่หากไม่ได้คำตอบเราจะนับถอยหลัง 20 วัน ให้รัฐบาลพิจารณาและให้คำตอบกับเราถึงข้อเรียกร้อง หากยังไม่ได้คำตอบเราจะไปทวงคำตอบที่ทำเนียบรัฐบาลโดยตรง
.
ด้านนายวรวงศ์​ กล่าวว่า จะนำเรื่องที่ได้รับ รวมถึงข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ไปเรียนนายกฯ และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เพื่อพิจารณาจามขั้นตอนต่อไป แต่เรื่องการแก้ไขกฎหมายต้องผ่านกลไลสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งใช้เวลา​มากกว่า​ 20 วัน​ เพราะมีขั้นตอนการร่าง​และการประชุมวาระ​ ซึ่งภายใน 20 วันคงทำไม่ได้
.
โดยนายวรวงศ์ เน้นย้ำว่าจะนำข้อเสนอของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้าไปเรียนกับผู้บริหาร​ พร้อมกับย้ำอีกว่าต้องใช้เวลา​ และขอให้เป็นการร่วมกันทำงานดีกว่า​
.
ภายหลังจากการยื่นหนังสือแล้วเสร็จ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมพร้อมเครือข่าย ได้ตีระฆังเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์การร้องทุกข์ พร้อมกล่าวว่า "นิรโทษกรรมให้คนเป็น คืนความยุติธรรมให้คนตาย" พร้อมกัน ก่อนแยกย้าย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน #รวม112 #คืนความยุติธรรมให้คนตาย #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม