วันจันทร์, กันยายน 16, 2567

คางดำพิศวง 11 ความลี้ลับ ที่ซุกซ่อนมานานนับ 10 ปี - The MOMENTUM ตั้ง 11 คำถาม ที่ชวนพิศวง


คางดำพิศวง 11 ความลี้ลับ ที่ซุกซ่อนมานานนับ 10 ปี

Sep 13, 2024
The MOMENTUM

79 อำเภอใน 19 จังหวัด เป็นจำนวนพื้นที่ล่าสุดที่มีการรายงานว่า พบปลาหมอคางดำระบาดอยู่ในแหล่งน้ำ จากเดิมระบาดใน 4 จังหวัด นอกจากนี้ยังลุกลามไปยังพื้นที่ข้างเคียง กระทั่งยึดครองแหล่งน้ำบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย

เวลาล่วงเลยมากกว่า 10 ปีแล้ว ที่หน่วยงานภาครัฐของไทยไม่สามารถให้ความกระจ่างชัดกับประชาชนได้ว่า เหตุใด ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ จากทวีปแอฟริกา ดินแดนที่ห่างจากประเทศไทยกว่า 7 พันกิโลเมตร ถึงปรากฏตัวแหวกว่ายอยู่ในคลองแถวจังหวัดสมุทรสงคราม กับอีกหลายข้อสงสัยว่า เหตุใดวิกฤตครั้งนี้ยังไม่คลี่คลาย แม้จะสร้างความเสียหายในวงกว้าง และยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพกับการรับมือวิกฤต จวบจนไร้ความสามารถกับการตามหาต้นตอวิกฤตมารับผิด ไปจนถึงข้อครหาที่หลายคนมองว่า รัฐไม่อยากให้ ‘ต้นเหตุ’ เดือดร้อน

หากหายนะปลาหมอคางดำระบาดยังไม่มีใครรับผิด ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ใครต้องรับผิดชอบ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ผู้รับเคราะห์อย่างชาวประมงที่ต้องทิ้งวิถีที่สืบทอดมาหลายร้อยปี บ้างเปลี่ยนอาชีพ บ้างสิ้นเนื้อประดาตัวจากการขาดรายได้

เพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องรับผิดชอบในหายนะที่พวกเขาไม่ได้ก่อ The Momentum ขอสะกิดเตือนความจำว่า วิกฤตครั้งนี้ยังมีอะไรที่ยังค้างคาและไร้คำตอบอยู่บ้าง?
 
จับมือใครดมไม่ได้ แม้มีบริษัทเดียวนำเข้า

ตามข้อมูลรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุไว้ว่า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ (CPF) เป็นเอกชนเพียงรายเดียวที่นำเข้าปลาหมอคางดำเมื่อปี 2553 เพื่อทำการวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ภายในศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของซีพีเอฟที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ที่ตั้งของศูนย์วิจัยฯ ของซีพีเอฟแห่งนี้มีคลองน้ำธรรมชาติล้อมไหลผ่าน 3 แห่งคือ คลองดอนจั่น คลองบางยาว และคลองบางหลวง ทั้ง 3 คลองนี้เป็นจุดที่พบปลาหมอคางดำระบาดครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อปี 2555 ก่อนจะขยายตัวไประบาดยังพื้นที่อื่นๆ

แม้จะเป็นเอกชนเพียงรายแรกและรายเดียวที่มีการนำเข้าปลาหมอคางดำ แต่ซีพีเอฟยืนยันว่า บริษัทไม่ได้เป็นต้นตอของการระบาด โดยให้เหตุผลว่า ปลาหมอคางดำนำเข้าประเทศไทยก่อนหน้านี้ตายทั้งหมด และได้ทำลายซากปลาเรียบร้อยแล้ว

เป็นปลาพันธุ์ถึก แต่ทดลองอะไร ทำไมถึงตายเกลี้ยง

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ปลาหมอคางดำมีคุณสมบัติทนเค็ม มักอาศัยอยู่ในสภาพน้ำกร่อย แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งสภาพน้ำจืดและน้ำเค็ม ปลาเพศเมียสามารถออกไข่ได้ 50-300 ฟองโดยเฉลี่ยต่อ 1 ครั้งขึ้นอยู่กับขนาดตัวของปลา และไข่ปลามีโอกาสรอดตายสูงถึงร้อยละ 90-95 เนื่องจากปลาตัวผู้จะอมไข่ไว้ในปาก กระทั่งลูกปลาฟักจากไข่ ซึ่งเป็นวัยที่โตพอจะหาอาหารเองได้

ด้าน ดร.สรณัฏฐ์ ศิริสวย อาจารย์ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวไทยรัฐว่า หากจะกำจัดปลาหมอคางดำด้วยวิธีธรรมชาติ ต้องปล่อยปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าไปกินลูกของปลาหมอคางดำ เช่น ปลาเก๋า แต่การกำจัดอาจไม่ทั่วถึงทุกสภาพน้ำ เพราะปลาเก๋าไม่อาศัยในสภาพน้ำที่เน่าเสีย ในขณะที่ปลาหมอคางดำสามารถอาศัยอยู่ได้

เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารวิชาการของกระทรวงเกษตร ปี 2565 พบว่า ปลาหมอคางดำที่ระบาดในพื้นที่ 7 จังหวัดของไทย มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ไม่แตกต่างกับพันธุกรรมของปลาหมอคางดำในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีการนำเข้าโดยบริษัทเอกชนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ปลาหมอคางดำจากประเทศกานา ที่ทางซีพีเอฟนำเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 2,000 ตัว กลับมีสภาพไม่แข็งแรงและตายหมดทั้งบ่อภายใน 3 สัปดาห์ ตามคำชี้แจงของซีพีเอฟ
 
กรมประมงแจงไม่พบซากปลา แต่ก่อนหน้าแจ้งว่าได้รับหลักฐานแล้ว

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า หลังจากที่ซีพีเอฟ

วิจัยปลาหมอคางดำที่นำเข้าเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2554 กรมประมงได้ตรวจสอบจากหนังสือรับแจ้งระหว่างปี 2553-2554 ยังไม่พบรายงานการนำตัวอย่างปลาหมอคางดำ 50 ตัว มาส่งให้กับกรมประมง และยังไม่มีโหลดองปลาหมอคางดำตามที่ซีพีเอฟกล่าวอ้าง แต่ 10 กว่าปีที่แล้ว กรมประมงเคยชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ว่าทางกรมประมงได้รับมอบปลาตัวอย่างที่ถูกดอง 50 ตัวแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 มติคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) เห็นชอบให้ซีพีเอฟนำเข้าปลาหมอคางดำ โดยมีเงื่อนไขว่า ซีพีเอฟต้องเก็บครีบและตัวอย่างส่งให้กับกรมประมง และเมื่อการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว ต้องแจ้งผลการวิจัยให้กรมประมงรับทราบ และต้องระมัดระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดของปลานำเข้าลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

แม้ว่าการวิจัยนั้นจะไม่สำเร็จ แต่ก็ต้องรายงานและเก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงเช่นกัน ซึ่งหลังจากซีพีเอฟตัดสินใจยุติการวิจัยปลาหมอคางดำที่ศูนย์วิจัยฯ กรมประมงชี้แจงว่า ซีพีเอฟแจ้งทางโทรศัพท์ แต่ไม่ส่งเอกสารแจ้งอย่างเป็นทางการตามเงื่อนไข

กสม.มองว่า การที่ซีพีเอฟไม่ได้รายงานผลการทดลองและการตายของปลาหมอคางดำแก่กรมประมงแบบเป็นลายลักษณ์อักษร ถือว่า ‘ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำนำเข้าต่างถิ่น’ ทั้งนี้ไม่ได้มีระบุเพิ่มเติมว่า ผู้กระทำผิดเงื่อนไขต้องรับผิดชอบอย่างไร

ด้านบริษัทซีพีเอฟแถลงการณ์ว่า หลังปลาทยอยตายอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเดือนมกราคม 2554 จึงตัดสินใจยุติการวิจัยและทำลายลูกปลาหมอคางดำ โดยใช้คลอรีนใส่ลงในบ่อเลี้ยงซีเมนต์เพื่อฆ่าเชื้อ ก่อนจะเก็บลูกปลาแช่ฟอร์มาลีนเข้มข้น 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาฝังกลบพร้อมโรยปูนขาว ขณะที่มีการเสริมข้อมูลภายหลังว่า เหนือจุดฝังกลบปลาหมอคางดำมีการสร้างอาคารทับจุดไปแล้ว

The Momentum สอบถาม ประยงค์ ดอกลําใย ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมกับ กสม.ในการตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยสัตว์น้ำจืดของซีพีเอฟระหว่างปี 2559-2560 กล่าวว่า เมื่อคณะทำงานของ กสม.เดินทางเข้าไปยังศูนย์วิจัยฯ เจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟได้จัดสถานที่เป็นห้องภายในอาคารหลังหนึ่ง และทำการบรรยายผ่านสไลด์เกี่ยวกับการทำลายซากปลา

ซีพีเอฟแจ้งต่อคณะตรวจเยี่ยมว่า ฟาร์มเพาะเลี้ยงถูกอาคารสร้างทับไปเรียบร้อยแล้ว จึงทำได้เพียงรับชมสไลด์ที่ซีพีเอฟจัดเตรียมอยู่ภายในอาคาร ไม่ได้เดินทางไปยังส่วนอื่นของศูนย์วิจัยฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซีพีเอฟจะชี้แจงกับ กสม.แล้วว่า ได้ทำลายซากปลาที่ตายทั้งหมดแล้วและมีการสร้างอาคารทับจุดฝังกลบ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถยืนยันข้อเท็จจริงนี้หรือมีข้อมูลว่า อาคารดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อใด สร้างก่อนหรือหลังกำจัดซากปลา และตั้งอยู่เหนือจุดฝังกลบจริงหรือไม่

บริษัทเอกชนแถลงปลาตายยกบ่อตั้งแต่ปี 2554 แต่กรมประมงตรวจพบปลาหมอคางดำปี 2560

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของซีพีเอฟ ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยรายละเอียดส่วนหนึ่งระบุว่า หลังจากเปิดกล่องโฟมบรรจุลูกปลาหมอคางดำ ณ ด่านกักกัน สนามบินสุวรรณภูมิพร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมประมงแล้วพบว่า มีลูกปลาหมอคางดำตายเป็นจำนวนมาก และเมื่อนำมาตรวจคัดแยกที่ฟาร์มภายในศูนย์วิจัยมีลูกปลารอดเหลืออยู่เพียง 600 ตัว ในสภาพที่ไม่แข็งแรง และทยอยตายจนเหลือเพียง 50 ตัว ภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยทั้งหมดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2554

แต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงร่วม 9 คน พบปลาหมอคางดำจากการหว่านแหสุ่มตรวจบ่อ ภายในบ่อพักน้ำ R2 ของศูนย์วิจัยฯ ซีพีเอฟ จำนวน 10 ตัว ขนาด 7 เซนติเมตร ซึ่งนับว่าเป็นปลาขนาดโตแล้ว

ด้านซีพีเอฟชี้แจงว่า บ่อพักน้ำ R2 ไม่ได้เป็นบ่อสำหรับเพาะเลี้ยงปลา แต่เป็นบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับคลองธรรมชาติ ต้องรอการบำบัดฆ่าเชื้อก่อนนำไปใช้ภายในศูนย์วิจัยฯ จึงไม่สามารถระบุได้ว่า ปลาหมอคางดำที่พบในบ่อดังกล่าว เป็นปลาที่หลุดออกจากศูนย์วิจัยฯ

สื่อฯ ร่วมใจลงข่าว การนำเข้าปลาหมอคางดำเป็นปลา ‘สวยงาม’ แม้ไร้ชื่อผู้เขียนและที่มา

22 กุมภาพันธ์ 2561 ไฟล์ปริศนาจำนวน 4 หน้ากระดาษ ถูกเผยแพร่บนเซิร์ฟเวอร์ของกรมประมง ใช้ชื่อว่า ปลาหมอสีคางดำ มีข้อมูลเกี่ยวกับปลาหมอคางดำแบบพื้นฐาน เช่น ถิ่นกำเนิดและลักษณะทางชีววิทยา ประกอบกับข้อมูลสำคัญที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือ รายการนำเข้า-ส่งออกปลาหมอคางดำ ที่อ้างว่า เป็นข้อมูลจากกองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต ซึ่งอยู่ในกำกับของกรมประมง

ไฟล์ปริศนาชี้ว่า มีการส่งออกปลาหมอคางดำจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ 15 ประเทศ ระหว่างปี 2556-2559 ส่งออกตั้งแต่ 5 หมื่นตัวสูงสุดเกือบ 6 แสนตัว

ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนมากกว่า 5 สำนักว่าเป็นข้อมูลที่ชี้ว่า อาจมีการเลี้ยงปลาหมอคางดำเพื่อส่งออกเป็นปลาสวยงามไปยังต่างประเทศเพื่อการค้า อันขัดกับความเข้าใจของประชาชนในช่วงแรกที่มองว่า ซีพีเอฟเป็นเพียงเจ้าเดียวที่เคยมีปลาหมอคางดำไว้ครอบครองเพื่อการวิจัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ในงานเสวนาออนไลน์เรื่อง ‘แนวคิด แนวทางและเครื่องมือประเมินมูลค่า เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ กรณีปลาหมอคางดำ’ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักธรรมชาติวิทยา ระบุว่า ถ้าจะบอกว่าการระบาดเกิดจากปลาสายงาม เขาขอปฏิเสธในฐานะคนเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะปลาหมอคางดำไม่เคยมีในระบบปลาสวยงามของไทย

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ตั้งข้อสังเกตผ่านบทความ ถ้าหากข้าพเจ้าเป็นประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.ซีพีเอฟ ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Momentum ว่า ไฟล์นิรนามที่ปรากฏอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของกรมประมง ถูกนำเข้าระบบก่อนหน้าการออกรายงานตรวจสอบกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำโดยของ กสม.เพียง 2 เดือนเท่านั้น

ด้านมูลนิธิชีววิถีมองว่า ไฟล์ดังกล่าวมีความผิดปกติ เนื่องจากไร้ชื่อผู้เขียน มีความจงใจใส่ข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำมาอย่างดื้อๆ ทั้งยังมีเจตนาใช้ชื่อบทความว่า ปลาหมอสีคางดำ จงใจเลือกภาพปลาที่มีสีสันตั้งเป็นหน้าปก นอกจากนี้ สำนักข่าวที่ใช้ข้อมูลจากไฟล์นี้ในการอ้างอิง มักระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลจากกรมประมง ทั้งที่ผู้เขียนและผู้อัปโหลดไฟล์เป็นบุคคลนิรนาม
 
วิจัยชี้ปลาหมอคางดำมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน

รายงานของกรมประมงระบุถึงการศึกษาการระบาดของปลาหมอคางดำ บริเวณลำน้ำติดชายฝั่งทางตะวันออกของอ่าวไทย เมื่อปี 2562 มีความกังวลการกระจายตัวของปลาหมอคางดำ เนื่องจากปี 2560-2561 พบการกระจายตัวของปลาหมอคางดำอยู่เพียง 3 จังหวัดคือ จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี แต่ผ่านไปเพียง 1 ปี กลับพบการกระจายเพิ่มขึ้นมากถึง 10 จังหวัด

กรมประมงตรวจสอบเอกสารวิชาการของกระทรวงเกษตรปี 2565 ใน 7 จังหวัดของไทย และตั้งข้อสังเกตว่า หากเริ่มจากจุดที่พบปลาหมอคางดำครั้งแรกคือ ตำบลยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม ลากไปยังจุดแพร่ระบาดสำคัญอื่นๆ เช่น ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เหตุใดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจึงเดินทางไปไกลขนาดนั้น ในขณะที่ค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมปลาหมอคางดำในประเทศไทย ไม่แตกต่างจากปลาหมอคางดำที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกาใต้ ซึ่งมีการนำเข้าโดยเอกชนรายหนึ่งก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ปลาหมอคางดำที่พบในจังหวัดระยองและประจวบคีรีขันธ์ กลับมีความคล้ายคลึงกันมากที่สุด ทั้งที่ระยะทางทางภูมิศาสตร์อยู่ไกลกัน นักวิจัยจึงมองว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอาจเป็นการแพร่ระบาดโดยมนุษย์ ที่นำปลาหมอคางดำไปเพาะเลี้ยงมากกว่าการแพร่พันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ที่สำคัญคือ ปลาหมอคางดำเหล่านี้น่าจะมีที่มาร่วมกัน

ขณะที่ระหว่างเส้นทางการระบาดตั้งแต่นครศรีธรรมราชจนถึงสงขลา มีแหล่งประมงของชาวบ้านและเอกชนอยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งบ่อกุ้งและบ่อปลาในพื้นที่นี้

ปลาหมอคางดำระบาดทั่วประเทศแต่กลับไม่มีสาเหตุ

ข้อมูลจากผู้สื่อข่าวสื่อสาธารณะไทยพีบีเอสระบุว่า มีรายงานจากผู้สื่อข่าวท้องถิ่น กรณีผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตำบลท่าพญา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อ้างถึง ‘จุดแรก’ ที่เคยพบปลาไม่ทราบชนิดพันธุ์ในปี 2560 ซึ่งขณะนั้นเข้าใจว่า เป็นปลาหมอเทศ บริเวณคลองธรรมชาติไหลผ่านหลังฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งของซีพีเอฟ

ต่อมาในปี 2565 ชาวบ้านระบุว่า พบปลาชนิดนี้อยู่รวมกันหนาแน่นในบ่อบำบัดน้ำเค็มของโครงการชลประทานน้ำเค็ม ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นกรมประมงเข้ามาตรวจสอบและระบุว่า เป็นปลาหมอคางดำ

จากการสำรวจภาพกว้างการระบาดของปลาหมอคางดำ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่การระบาดขยายวงอย่างรวดเร็วจากระบาดเพียง 3 จังหวัดในปี 2560-2562 เพิ่มเป็น 10 จังหวัดในปี 2562 ใช้ระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น และหากเริ่มจากจุดแรกที่พบการระบาดที่ตำบลยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม ลากไปยังลำน้ำประแสจังหวัดระยอง ซึ่งห่างกันเกือบ 300 กิโลเมตร เหตุใดปลาชนิดนี้จึงเดินทางไปได้ไกลขนาดนั้น ในขณะที่พันธุกรรมและความหลากหลายของปลาหมอคางดำมีความแตกต่างกันไม่มาก และมีผลสรุปว่ามีที่มาจากแหล่งเดียวกัน
 
ระบาดหนัก 10 กว่าปี แต่ไม่ประกาศพื้นที่ประสบภัย

ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เริ่มมีการระบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสงคราม พบว่า มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ จากการระบาดของศัตรูพืชต้นมะพร้าวอย่าง แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ ด้วงแรด และด้วงงวง ในพื้นที่ 7 อำเภอ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำงบประมาณฉุกเฉินมาแก้ปัญหาระงับยับยั้งการแพร่ระบาด และเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่สมุทรสงครามเป็นจุดที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ครั้งแรก จากการลดจำนวนของสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลา และหอย ทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีรายได้ลดน้อยลงไป บ้างก็ปรับเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นแทนการทำประมง

แม้ว่าทั้งสุราษฎร์ธานีและสมุทรสงคราม จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของสัตว์ และสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจในจังหวัดเหมือนกัน แต่ในกรณีของสมุทรสงคราม กลับไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อขจัดปัญหา รวมทั้งเพื่อนำงบประมาณฉุกเฉินมาเยียวยาคนในพื้นอย่างเร่งด่วน จนถึงปัจจุบันที่ยังมีการระบาดของปลาหมอคางดำก็ยังไม่มีวี่แววว่า จะมีการประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดนี้และอีกกว่า 19 จังหวัดริมทะเลฝั่งอ่าวไทย ที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับการประกาศเขตภัยพิบัติจะขึ้นอยู่กับนิยามของคำว่า ‘สาธารณภัย’ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ที่หมายความถึงอัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่นๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย

แถลงซื้อ 15 บาทต่อกิโลกรัม ขายจริง 12 บาทต่อกิโลกรัม

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ประกาศผ่านสื่อรับซื้อปลาหมอคางดำ การันตีราคากิโลกรัมละ 15 บาท โดยมีซีพีเอฟเข้าร่วมมาตรการรับซื้อนี้ด้วยเช่นกัน

The Momentum ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านที่นำปลาหมอคางดำ ไปขายให้กรมประมงและเอกชนรับซื้อ พบว่า มีการปรับเปลี่ยนราคารับซื้อ จากกิโลกรัมละ 15 บาทตามที่ประกาศผ่านสื่อเป็น 12 บาท โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี

กรณีแรก ชาวบ้านระบุว่า หากซื้อขายกับหน่วยงานภาครัฐ จะมีการจ่ายเงินอยู่ 2 รูปแบบคือ เงินเชื่อ (เงินจากการซื้อ-ขายที่ไม่ได้รับทันที) หรือจ่ายเงินสด ซึ่งในรูปแบบหลังนี้จะได้รับเงินเพียง 12 บาทเท่านั้น

กรณีที่ 2 คือ การรับซื้อของเอกชนที่ประการรับความร่วมมือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ และประกาศรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาทเช่นเดียวกัน แต่ได้รับจริงเพียงกิโลกรัมละ 12 บาทเท่านั้น อ้างว่าเป็นค่าบริหารจัดการ
 
ไม่มีการเยียวยา

ปัจจุบันนี้มีการระบาดกินพื้นที่ความเสียหายไปแล้วใน 79 อำเภอ ในพื้นที่ 19 จังหวัดแล้ว และยังไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลและภาคเอกชน จะสามารถคลี่คลายวิกฤตการระบาดของปลาหมอคางดำได้ เห็นได้จากคำบอกเล่าของ ปัญญา โตกทอง เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิด ตำบลแพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่ระบุว่า ปลาหมอคางดำออกลูกจำนวนมากและปลาที่รับซื้อกันอยู่ก็เป็นปลาที่อยู่ในบ่อ ยังมีปลาหมอคางดำอยู่ในคลองธรรมชาติอีกจำนวนมาก ขณะที่รัฐลงพื้นที่เดือนละ 1-2 ครั้ง จึงตั้งคำถามว่า เมื่อไรมันจะหมด

สิ่งสำคัญที่รับรู้โดยทั่วกันคือ ตั้งแต่พบการระบาดในจังหวัดสมุทรสงครามตั้งแต่ปี 2555 และระบาดหนักตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐไม่เคยมีการประกาศให้พื้นที่การระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยเลยสักครั้ง ทั้งที่ปลาหมอคางดำสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ เช่น ห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากมีการแย่งอาหารของสัตว์น้ำชนิดอื่นในคลองธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จนทำให้สัตว์น้ำชนิดอื่นไม่มีอาหารกิน มีสภาพไม่แข็งแรง และตายไปในที่สุด หรือกระทบกับผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากปลาหมอคางดำมีการปรับสภาพการกินตามสิ่งแวดล้อม จึงสามารถกินสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อยู่ในประเทศไทยได้ รายได้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงจึงลดลง บางคนขาดรายได้จากการไม่มีสัตว์น้ำขาย เมื่อซื้อลูกของสัตว์น้ำมาลงในบ่อใหม่ก็ขาดทุนเพราะถูกกิน สร้างความเสียหายจำนวนมาก จนบางรายถึงกับต้องเปลี่ยนอาชีพ

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลประกาศให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และระเบียบการคลังในสถานการณ์นี้สามารถใช้งบประมาณ เพื่อเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ประกาศภัยพิบัติได้ แต่นับตั้งแต่ปี 2555-2567 ก็ตกอยู่ในสภาพที่สร้างความเสียหายทุกปี โดยไม่มีการเยียวยาอย่างไรจากภาครัฐเลย

ความพิศวงทุกข้อที่กล่าวมา เป็นเพียงความคลุมเครือ หาคำตอบไม่ได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้ ยังมีหลายสิ่งยังซ่อนอยู่ใต้พรมรอคอยการเปิดเผย

เพราะไม่ว่าหายนะอะไรจะเกิดขึ้น ผู้รับผลกระทบหลักไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แต่คือประชาชนอย่างพวกเรา

ที่มา

https://www.thaipbs.or.th/news/content/343263

https://www.facebook.com/joey.kanis/posts/pfbid02HwYri4D4hUWxkBcb8BtZUAsyxYwzjhcDggpD4fKumRB2nDppaaixrUQJukdWCCFol

https://themomentum.co/feature-talipiagovernance/

https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20221018152857_1_file.pdf

https://www.nhrc.or.th/th/Examination-reports/8049

https://www4.fisheries.go.th/local/pic_activities/201802221729471_pic.pdf

https://www.facebook.com/watch/?v=1248674656475941

Tags: ปลาหมอคางดำ, Feature, ปลาหมอ, แม่น้ำแม่กลอง, อัมพวา, ประมง, แพรกหนามแดง, ประมงพื้นบ้าน, ยี่สาร, อ่าวไทย, ปลา, นายทุน, ปลาสลิด, กุ้ง, สมุทรสงคราม, เอเลี่ยนสปีชีส์

(https://themomentum.co/feature-sarotherodon-melanotheron-wonder/)