เดือดทะลักจุดแตก
1d
แล้วจะเหลืออะไร?
อดีตสวยงาม เพราะมันมิอาจหวนคืน …
ผมตกใจมากเหลือเกิน เมื่อได้เห็นข่าวนี้ ไม่คิดไม่ฝัน
ฮ่องกง (ภาษาที่นั่นเรียกว่า “แฮ้งก๋อง”) ที่ไร้ฉากหลากแสงสีในยามวิกาล จะยังเรียกว่าเป็นฮ่องกงได้อีกหรือ
ต่อให้มิเคยย่ำราตรีในเกาะแห่งนี้ เชื่อว่าคุณคงต้องเคยติดตาตรึงใจกับภาพในหนัง
ไฟนีออนจากสารพัดร้านรวงริมถนนประชันแย่ง แข่งกันเจิดจ้า จับสายตาผู้คน … ทุกสีสันในเฉดรุ้ง ล้วนพบได้ละลานตา ในดินแดนที่เกินกว่านิยามด้วยคำว่าคึกคัก หากแต่เป็นอึกทึกวุ่นวาย
ควันบุหรี่โขมง ลอยคลุ้ง … คนขวักไขว่ คลาคล่ำเบียดเสียด เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ร้อนรน เสียงเอะอะมะเทิ่ง โหวกเหวก
หากคุณเห็นใครเดินเอ้อระเหย แสดงว่าคงไม่ใช่คนที่นั่น หากทว่าเป็นนักท่องเที่ยวจากถิ่นอื่น!
(สมัยสักยี่สิบสามสิบปีก่อน อย่าว่าแต่ต่อราคาเลย แค่หยิบจับหน่อย มองมากหน่อย ก็โดนพ่อค้าแม่ค้าด่าเปิงแล้ว!)
.
คำ cultural landscape (แปลอย่างทางการ ก็ “ภูมิทัศน์วัฒนธรรม”) --- มันหมายความว่าอะไรดีล่ะ?
เป็น “อัตลักษณ์”/“ตัวตน” หรือ … ?
คิดง่ายๆ ถ้ากรุงเทพมหานคร ไม่ให้รถเข็นขายของกินริมฟุตปาธ แล้วจะเหลืออะไร
ความระเกะระกะ ความไร้ระเบียบ ใช่เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของมันหรือไม่ --- หากขจัดส่วนนี้ทิ้ง ตัดแต่งใหม่ให้สะอ้าน แล้วจะมี “เสน่ห์” ใดดึงดูดใจนักท่องเที่ยว … ยิ่งกว่านั้น ไม่ต้องสนคนอื่นไกลหรอก มันใช่ขโมย “วิถีชีวิต” ของคนที่อาศัยอยู่ ณ ที่นั้นเองไปซึ่งๆ หน้าหรือไม่
ไอ้คำ “สตรีท ฟู้ด” ที่โหมประโคมเชิญชวนต่างชาติ --- มันอร่อยมิใช่ด้วยการกิน แต่ด้วยบรรยากาศที่ได้เสพ
หากไม่เข้าใจจุดนี้ ก็อันตราย …
คุณกำลังทำลายมัน
.
(ผมมองไม่เห็นว่า “มิชลิน” กี่สิบร้อยพันดาวที่แจกกันอย่างทรงเกียรติ จะมีคุณค่าใดกับชีวิตผมเท่าการซื้อหมูปิ้งกินข้างทาง กล้วยแขกกับเต้าฮวยด้วยก็ดีนะ --- ถามว่าอร่อยมั้ย เลิศรส กำซาบซ่านมั้ย … ก็ไม่เคยคิดถามคิดตอบ รู้แต่มันคือวิถีชีวิตที่ “พึงใจ”)
โปรดอย่าปล้นมันไป
นี่คงคือ cultural landscape กระมัง … ประมาณนี้
(เหตุผลสำคัญที่ผมไม่นิยมสิงคโปร์ และพยายามเลี่ยงไปเยือน เว้นแต่มีงานจำเป็นจริงๆ ก็เพราะผมคิดว่าที่นั่นไม่มี cultural landscape)
.
โลกาภิวัตน์กลืนสรรพสิ่ง นี่ไม่อาจปฏิเสธ
ร้านรวงที่ตกทอดมาแต่โบราณในฮ่องกง ก็เปลี่ยนผันไปเยอะ เยอะเหลือเกินจริงๆ
ป้ายนีออน แน่นอนว่ามันดูล้าสมัย “ตกยุค” และที่สำคัญ เอาเข้าจริง ประสิทธิภาพมันก็มิอาจทัดเทียม LED ได้เลย ส่องสว่างผิดแผกกันโข … LED ชัดแจ๋วแม้ในยามฝนลงหนัก มิหนำซ้ำ LED กินไฟน้อยกว่า ประหยัดอีก
อย่าว่าแต่ความดูทันสมัย
แต่ประเด็นหลักทั้งหมด อยู่ที่รัฐบาล … รัฐบาลฮ่องกงสั่งการให้รื้อออก --- มาลุยโละหนักเอา ส.ค.-ก.ย. นี้
ผมก็ไม่เข้าใจ เหตุผลกลใด ไยจึงคิดเช่นนั้น (อ้างว่าความปลอดภัย?)
.
ไม่น่าเชื่อยิ่งกว่า กลายเป็นมีกลุ่มอนุรักษ์ พยายามตระเวนรวบรวมป้ายนีออนที่ถูกถอด … เก็บไว้โชว์ในนิทรรศการ
ไปถึงขั้นนั้น!
ชวนทอดถอนใจ … จุดจบเป็นเช่นนี้แล้ว
ไม่เหมือนกันนะครับ คนละเรื่องเลย --- จินตนาการสิ จะน่าเศร้าเพียงใด ถ้าเด็กรุ่นหลัง จะรู้จักรถเข็นหมูปิ้ง จากการเดินชมทัศนาในพิพิธภัณฑ์
ป้ายที่เปิดในอาคารพิพิธภัณฑ์โอ่อ่า ป้ายที่จัดวางอย่างประณีต ไม่มีทางเฉิดฉายได้เท่ากับอยู่ใน “ที่ของมัน” … ที่ริมถนนในย่านพลุกพล่าน … ที่ที่รกรุงรัง แออัดด้วยป้ายร้านอะไรต่อมิอะไรก็ไม่รู้ ยัดทะนานอย่างมั่วซั่ว
นั่นแหละ ความงดงามในแบบฉบับของมัน
สิ่งเหล่านี้ หายแล้วหายเลยนะครับ
มีแต่ละลายแล้วสลายไป ไม่มีทางฟื้นกลับ
ถ้าจะมี ก็ย่านรำลึกความหลังแบบ “ปลอมๆ” ซึ่งจัดสร้างมาใหม่ … แต่ยังไงก็ไม่เหมือนเดิม
เพราะมันไม่มี “ชีวิต” อยู่ในนั้น
เดือดทะลักจุดแตก
https://www.bloomberg.com/.../hong-kong-s-neon-signs-are...
....
Pansak Vinyaratn
อ่าน แล้วเข้าใจมัน อย่ากระแดะจนทำลายตัวเอง