วันศุกร์, ตุลาคม 14, 2565

เบื้องหลังการทำงานของ กองทุนราษฎรประสงค์ "จับหนึ่ง พร้อมจ่ายแสน : ราษฎรระดมพลัง ประชาชนพ้นห้องขัง"


จับหนึ่ง พร้อมจ่ายแสน : ราษฎรระดมพลัง ประชาชนพ้นห้องขัง

เรื่อง ธีรนัย จารุวัสตร์
ภาพ ลูค ดักเกิลบี
hardstories.org
ตุลาคม 7, 2022

ทำความรู้จักกับทีมงานเบื้องหลัง “กองทุนราษฎรประสงค์” ผู้สร้างปรากฏการณ์ระดมเงินบริจาคนับล้านบาทจากประชาชนทั่วทุกสารทิศ เพื่อนำมาเป็นกองทุนประกันตัวให้ประชาชนที่โดนตั้งข้อหาจากการใช้เสรีภาพชุมนุม-แสดงความคิดเห็นทางการเมือง

ไพศาล จันปาน มีอาชีพหลักเป็นคนขับแท็กซี่ แต่ชีวิตอีกด้านหนึ่งของเขาในวัย 49 ปี คือการเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ไพศาลภูมิใจบทบาทอันโลดโผนของตัวเองมาก ไพศาลเล่าว่าเขาเคยขับแท็กซี่พาแกนนำหนีจากตำรวจ เคยมานอนค้างในม็อบหลายคืนต่อกันจนไม่ทำงานทำการ และเมื่อเกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม “ทะลุฟ้า” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อคืนวันที่ 3 ส.ค. 2564 เขาก็ไม่พลาดที่จะอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

“จริงๆ วันนั้นผมเดินหนีก็ได้นะ แต่หมั่นไส้มัน เลยตะโกนบอกไปว่า ถ้าแน่จริงมึงจับดิ ปรากฏว่ามันจับเราจริงเว้ย” ไพศาลเล่าไปขำไป

แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขำด้วย ไพศาลกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ รวมทั้งหมด 31 คนถูกจับกุมและแจ้งข้อหาหนัก “ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานฯ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย” มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี ขณะที่ศาลตีหลักทรัพย์ประกันตัวของไพศาลและพวกรวมกันสูงถึง 3.1 ล้านบาท หรือคนละ 100,000 บาท ซึ่งไพศาลระบุว่าเป็นจำนวนเงินที่ทำให้คนขับแท็กซี่หาเช้ากินค่ำอย่างเขาคิดหนักเลยทีเดียว

ไพศาลยอมรับว่า ตัวเขาคงอาจจะต้องติดคุกไปแล้ว ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินประกันตัวจาก “กองทุนราษฎรประสงค์” กองทุนที่ระดมเงินบริจาคจากสาธารณชนเพื่อนำมาประกันตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นผู้มีรายได้น้อย



“ต้องขอบคุณกองทุนเค้ามากๆ” ไพศาลกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง ก่อนจะพูดติดตลก “ถ้าไม่มีกองทุนนี้ ก็คงติดคุกไปแล้ว (หัวเราะ) ป่านนี้คงต้องไปอ้อนวอนใครต่อใคร ผมอยากขอบคุณคนที่เค้าทำกองทุนตรงนี้ ขอบคุณประชาชนทุกคนที่ช่วยกันบริจาคเงิน”

นับตั้งแต่ต้นปีนี้ “กองทุนราษฎรประสงค์” ใช้เงินไปแล้วเกือบ 30 ล้านบาทในการประกันให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากการร่วมชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นต่อต้านฝ่ายอำนาจรัฐ ทั้งหมดรวมกันกว่า 1,000 คดี

ภารกิจอันใหญ่หลวงเหล่านี้ของ “กองทุนราษฎรประสงค์” มีจุดเริ่มต้นมาจากผู้หญิง 4 คนที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิการประกันตัวออกมาสู้คดีของผู้ที่คิดต่างทางการเมือง คนหนึ่งเป็นนักแปลและนักเขียน อีกคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย อีกคนเป็นโปรแกรมเมอร์ที่คอยติดตามข้อมูลกองทุน และอีกคนหนึ่งเป็นแม่ของนักกิจกรรมชื่อดัง ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเรียกร้องสิทธิการประกัน

ถึงแม้เส้นทางของ “กองทุนราษฎรประสงค์” จะไม่ได้ราบรื่น ไม่ว่าจะทั้งการข่มขู่ ถูกเพ่งเล็ง ถูกรังควาน และเสี่ยงที่จะถูกมองเป็นคู่ตรงข้ามกับอำนาจตุลาการ แต่ทั้ง 4 คนยืนยันว่าจะเดินหน้าภารกิจของตนต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของประชาชนคนธรรมดา

“เราโพสต์รายละเอียด ทุกบาท ทุกสตางค์ในเพจ ให้ประชาชนเค้าเห็นเลย ให้เค้าไว้ใจเรา” ไอดา อรุณวงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “กองทุนราษฎรประสงค์” กล่าวให้สัมภาษณ์ “ประชาชนเค้าก็รู้สึกว่าเป็นเงินของเค้า เค้าเป็นเจ้าของเงินที่กำลังมาช่วยเหลือคน และคนที่บริจาคเองเค้าก็รู้ว่า ถ้าเค้าถูกจับขึ้นมาสักวันนึง เค้าก็พึ่งกองทุนตรงนี้ที่เค้าบริจาคได้เหมือนกัน”

ไอดากล่าวต่อ “แล้วก็มีหลายคนที่อยากต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เค้าเห็น แต่เค้าไปชุมนุมไม่ได้ เค้าก็เอาเงินมาให้เราแทน เพราะเค้ารู้ว่าเงินของเค้ามีผลมากกว่า”



เงินบริจาคจากประชาชน เพื่อประชาชน

ไอดาเล่าว่าที่มาของ “กองทุนราษฎรประสงค์” ผูกพันกับเหตุการณ์คณะรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจในปี 2557 ก่อนจะออกคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมือง และมอบอำนาจให้ศาลทหารไต่สวนพลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งของคณะรัฐประหาร

เมื่อความไม่พอใจต่อรัฐบาลของคณะรัฐประหารเพิ่มสูงขึ้น คดีความและการจับกุมก็สูงขึ้นตามมาเช่นกัน พร้อมๆ กับจำนวนเงินที่ต้องวางประกันให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีเหล่านั้นเพื่อแลกกับอิสรภาพ ดังเช่นกรณีที่ผู้ชุมนุมหลายสิบคนถูกล้อมจับและตั้งข้อหาในปี 2559 จากการรวมตัวกันเรียกร้องการเลือกตั้ง

“ตอนที่เกิดม็อบคนอยากเลือกตั้งตอนนั้น เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เราเห็นประชาชนจำนวนมากเค้าถูกดำเนินคดี แล้วหลายๆ คนเป็นชาวบ้านธรรมดาด้วย ก่อนหน้านั้นเค้าจับเฉพาะแกนนำ” ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนราษฎรประสงค์ กล่าวถึงความหลัง

ชลิตาและไอดารู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน และเมื่อทั้งสองร่วมมือกันดูแลกองทุนราษฎรประสงค์ ก็ได้เลือกใช้วิธิขอรับบริจาคจากประชาชนเข้ากองทุน เริ่มจากการเปิดบัญชีธนาคารสำหรับกองทุน ตามด้วยการโพสต์ระดมทุนในโซเชียลมีเดีย ก่อนจะได้รับแรงสนับสนุนอย่างล้นหลาม หลายๆ ครั้งมีคนแห่บริจาคกันถึงหลักล้านในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่ผู้ดูแลกองทุนทั้งสองคน ต้องหันมาทุ่มเทเวลาเกือบทั้งวันกับการเดินเอกสารต่างๆ โดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามยอดบริจาค เบิกเงิน และทำเรื่องประกันตัวที่ศาล

ระบบของ “กองทุนราษฎรประสงค์” ไม่มีอะไรซับซ้อน กล่าวคือเมื่อมีบุคคลถูกจับหรือแจ้งข้อหาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและไม่มีเงินประกันตัว ทนายจะโทรศัพท์แจ้งรายละเอียดกับไอดา เพื่อให้ไอดานำเอาเงินมาวางประกันให้บุคคลนั้นๆ ทั้งนี้ “กองทุนราษฎรประสงค์” ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” เครือข่ายของทนายและนักกฎหมายที่คอยให้ความช่วยเหลือต่อบุคคลต่างๆ ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทางการเมือง

“เมื่อก่อนยังไม่มี internet banking เราก็ต้องเป็นคนไปถอนเงินที่ธนาคารก่อน แล้วหิ้วเงินสดเป็นแสนๆ ไปที่ศาลเองด้วย กลัวโดนดักตีหัวมาก (หัวเราะ)” ไอดาเล่า “ศาลทหารไม่มีเครื่องนับเงินด้วย ต้องนับเอง อย่างคดีแม่ของจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) ใช้เงินประกัน 500,000 บาท เราก็ต้องไปยืนดูเค้านับตรงนั้นเลย”



“เราก็ยืนยันสิทธิต่อไป เราพยายามเอากระจกมาส่องหน้าเค้า ให้เค้าดูเองแล้วกันว่าตัวเองทำอะไรอยู่”

ถึงแม้ไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งพลเอกประยุทธ์เป็นฝ่ายชนะ แต่การปราบปรามทางการเมืองก็ยังมีให้เห็น โดยเฉพาะหลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคในปี 2563 ทำให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่จำนวนมากออกมาชุมนุมตามท้องถนนในกรุงเทพมหานคร ก่อนจะยกระดับขบวนการ ด้วยการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นับเป็นปรากฏการณ์ “ทะลุเพดาน” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบหลายสิบปี

ภาครัฐตอบโต้กระแสปฏิรูปดังกล่าว ด้วยการระดมดำเนินคดีกับผู้ประท้วงและนักกิจกรรมหลายร้อยชีวิต ขณะที่จำนวนเงินประกันตัวก็พุ่งสูงขึ้นตามมาด้วย กรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก คือเมื่อครั้งที่สองนักกิจกรรมชื่อดัง “อานนท์ นำภา” และ “เพนกวิ้น-พริษฐ์ ชิวารักษ์” ถูกตีหลักประกันเป็นเงินถึง 2,070,000 บาท หลังทั้งสองถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดีมาหลายสัปดาห์

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังกองทุนราษฎรประสงค์ประกาศระดมเงินเพื่อช่วยประกันตัวอานนท์และพริษฐ์ เงินบริจาคหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว จนเกินจำนวนที่ตั้งเป้าไว้

“เราเซอไพรต์ที่มีคนบริจาคให้กองทุนตลอด ไม่คาดคิดเลยว่าจะได้เงินเยอะแบบนี้” ชลิตาเปิดใจ “คือ จริงๆ เราก็เข้าใจความรู้สึกคนนะ เค้าก็ไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร เค้าก็ใช้ช่องทางกองทุนเนี่ยแหละ เป็นวิธีแสดงออกการต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับระบบที่เป็นอยู่”

บทบาทของชลิตาและไอดาในการช่วยประกันตัวนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” มาพร้อมกับการเพ่งเล็งจากภาครัฐและผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แกนนำฝ่ายนิยมสถาบันฯ บางส่วน กล่าวหาว่ากองทุนราษฎรประสงค์ เป็นการให้ท้ายขบวนการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ บางส่วนถึงกับยื่นเรื่องให้ตำรวจตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุน ขณะที่ตัวชลิตาเองก็ตกเป็นเป้าโจมตีจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย ที่ป้ายสีว่าเธอเป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนไอดาก็ถึงกับมีแผนจะเปลี่ยนนามสกุล เพราะครอบครัวของเธอกำลังแบกรับแรงกระแทกตามไปด้วย

แต่ทั้งสองยืนยันว่าจะเดินหน้าภารกิจตรงนี้ต่อไป

“เราก็ยืนยันสิทธิต่อไป เราพยายามเอากระจกมาส่องหน้าเค้า ให้เค้าดูเองแล้วกันว่าตัวเองทำอะไรอยู่” ไอดากล่าว



‘นี่แหละคือการเอาคืน’

ไอดาและชลิตาให้สัมภาษณ์ HaRDstories จากบ้านพักในซอยแห่งหนึ่งของย่านฝั่งธนบุรี บ้านหลังนี้เป็นทั้งสำนักงานของกองทุนราษฎรประสงค์และเป็นที่พักพิงของไอดา เธอเพิ่งต้องย้ายออกจากอพาร์ทเมนต์ในย่านใจกลางเมือง เพราะมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาคอยจับตาความเคลื่อนไหวตลอดเวลา

เหตุการณ์ที่ทำให้ไอดาตัดสินใจย้ายออกจากบ้านตนเอง คือเมื่อเจ้าหน้าที่ของอพาร์ทเมนต์แจ้งให้เธอทราบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอดูภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามว่าไอดาออกจากบ้าน กลับบ้านเมื่อใดบ้าง แถมยัง “ขอความร่วมมือ” เจ้าหน้าที่อพาร์ทเมนต์ให้บันทึกข้อมูลบัตรประชาชนของคนที่มาหาไอดาที่บ้านด้วย

“เราไม่ชอบที่ว่า เค้าไม่เคยมาคุยกับเราเลย เค้ามาคุยกับสตาฟตลอด เราก็ระแวง เพราะเราไม่รู้ว่าเค้าบอกอะไรไปบ้าง เราถูกจับตารึเปล่า ดักฟังรึเปล่า เลยคิดว่า เรามาอยู่คนเดียวดีกว่า เพราะอยากให้เค้ามาหาเรา มาคุยกับเรา ถ้าเค้ามาตอนเราไม่อยู่ ก็ไม่เจอใคร ต้องเจอเราคนเดียวเลย” ไอดากล่าว “ตอนย้ายบ้านเราก็เซ็งนะ แต่เราก็ไม่อยากเสียความรู้สึก ไม่ไว้ใจกับคนที่อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน”

ห้องนอนของไอดาอยู่บนชั้นสองของบ้าน ขณะที่ห้องนั่งเล่นที่ชั้นล่างแปรสภาพเป็นออฟฟิศของกองทุน มีเอกสารต่างๆ กระจัดกระจายเต็มโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นใบถอนเงินจากธนาคาร เอกสารการประกันตัว และสลิปเงินบริจาค มีเจ้าหน้าที่อาสา 2 คนของกองทุน คอยจัดการข้อมูลเหล่านี้ให้เรียบร้อย เช่น ติดตามยอดเงินประกันที่วางไว้กับศาล และคอยดูว่าถึงกำหนดต่อประกันของจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดบ้าง

“มันซับซ้อนมาก มั่วมาก” ไอดาเล่าถึงกระบวนการ “เรามีเคสที่ต้องตามทีนึงเป็นร้อยๆ เคส เราถึงต้องหาระบบให้ช่วยผู้ต้องหาและทนาย เราจะไม่ยอมให้มีใครตกหล่น เรากลัวว่าเดี๋ยวจะมีคนติดคุกฟรีเพราะขาดประกัน”

หน้าที่ส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่อาสา 2 คน ประกอบด้วย “น้ำฝน” โปรแกรมเมอร์สาวอายุ 25 ปี และ สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ อดีตเจ้าหน้าที่บัญชีและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีจากบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ตอนนี้หันมาอุทิศเวลาให้กับกองทุนราษฎรประสงค์อย่างเต็มตัว

สาเหตุที่สุรีรัตน์หันเหชีวิตมาเช่นนี้ เป็นเพราะเธอเคยต้องเห็นลูกชายของเธอ “เพนกวิ้น-พริษฐ์ ชิวารักษ์” ติดคุกยาวนานหลายสัปดาห์ ซึ่งกองทุนราษฎรประสงค์ก็เป็นผู้ที่ช่วยระดมทุนบริจาคและหาเงินประกันตัวมาให้ลูกชายของเธอนั่นเอง

“เราเห็นว่าไอดาเสียสละให้เรามากแล้ว ทั้งที่ไม่ใช่ลูกเค้า ไม่ได้เป็นเลือดเนื้อของเค้า” สุรีรัตน์กล่าว “เราเลยมาทำตรงนี้ เอาความรู้เรื่องภาษีมาช่วยมูลนิธิเค้า พี่เชื่อว่าถ้าเรารู้กฎหมาย ใครหน้าไหนก็จะแอ้มเราไม่ได้”

ด้านไอดามองเรื่องนี้ว่าเป็นเสมือนการ “เอาคืน” ต่อผู้มีอำนาจที่เจ็บแสบมาก

“การที่เรามีแม่ผู้ต้องหามาช่วยงานนี้ มาช่วยให้ผู้ต้องหาคนอื่นๆ ได้เสรีภาพด้วย นี่แหละคือการเอาคืนที่ดีที่สุด” ไอดากล่าว “แล้วระบบก็ดันเป็นคนที่ผลักให้คนที่มีความถนัดที่สุดมาช่วยทำงานกับเรา ตอนนี้เราก็รู้สึกกันว่า เหมือนเรามีแม่อีกคนมาช่วยพวกเรา”

ด้วยประสบการณ์ของสุรีรัตน์ กองทุนราษฎรประสงค์ได้จดทะเบียนตั้งเป็น “มูลนิธิสิทธิอิสรา” เพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามกฎหมาย และเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสของกองทุน อีกทั้งยังเป็นการวางระบบถาวรในการทำงาน เพื่อที่ว่าอาสาสมัครรุ่นต่อๆ ไปจะได้เข้ามาทำงานแทนที่ได้อย่างไร้อุปสรรค

“เรามาทำเป็นมูลนิธิ เพราะจะไม่ให้เค้ามาเอาภาษีเราสักบาทเดียว ถ้าสรรพากรจะมาตรวจสอบ ก็มาเลย เพราะเรารัดกุมเรื่องบัญชีของเรามาก จะไม่ให้สักบาทเดียวคอยดู” สุรีรัตน์กล่าว “เราจะทำให้มูลนิธิอยู่ไปนานๆ หลังเราไปเป็นนางฟ้าแล้ว”



สิทธิที่มี แต่ก็เหมือนไม่มี?

ข้อมูลจากไอดาระบุว่า ตลอดปี 2564 กองทุนใช้เงินไปประมาณ 46 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินประกัน 45 ล้าน และเงินค่าปรับ ค่าเสียหาย ค่าวางศาล ฯลฯ อีกราว 1 ล้านกว่าบาท ขณะที่ในปีนี้ (นับถึงเดือนสิงหาคม) แค่ค่าประกันตัวอย่างเดียว กองทุนก็ใช้เงินไปถึง 29 ล้านบาทแล้ว

ตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงปัจจุบัน กองทุนได้วางประกันประชาชนในคดีการเมืองต่างๆ ไปทั้งหมด 1,077 คดี (ไอดากล่าวว่าจำนวนจำเลยอาจจะซ้ำกันบ้างเล็กน้อย เพราะบางคนเป็นจำเลยในหลายคดี)

ถึงแม้ผู้ดูแลกองทุนราษฎรประสงค์จะเล่าถึงผลงานของกองทุนด้วยความภาคภูมิใจ แต่ทั้งหมดล้วนยืนยันว่าประชาชนควรได้รับสิทธิในการประกันตัว เพื่อออกมาต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง โดยที่ไม่ต้องมาพึ่งพากองทุนแต่แรกด้วยซ้ำ

“เราก็หวังว่าสักวันนึงจะไม่ต้องมีกองทุนนี้ตั้งแต่แรก” ชลิตากล่าว “ประชาชนควรมีช่องทางเข้าถึงการประกันตัวง่ายๆ ควรเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ตาม ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวยังอยู่ห่างไกลเกินเอื้อมสำหรับหลายคน ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะบัญญัติหลักการ “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” ไว้ก็ตาม

ปริญญาระบุว่ามีผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 60,000 คนที่ถูกคุมขังในขณะที่คดียังไม่สิ้นสุดและยังไม่มีคำตัดสินเด็ดขาดว่าผิดจริง หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของประชากรในเรือนจำทั้งหมดเลยทีเดียว

ปริญญาอธิบายด้วยว่า ในจำนวน 60,000 คนดังกล่าว หลายคนเป็นผู้ต้องขังที่มาจากครอบครัวและภูมิหลังที่ค่อนข้างยากจน ไม่สามารถหาเงินหรือหลักทรัพย์มาประกันตัวได้ จึงต้องถูกขังในคุกต่อไป กลายเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่หลายคนพูดกันติดปากว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”

“คนจนต้องไม่ถูกติดคุกเพียงเพราะว่าเขาจนครับ” ปริญญากล่าว

ถึงแม้ประเทศไทยจะมี “กองทุนยุติธรรม” ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม โดยมีจุดประสงค์ช่วยเหลือด้านเงินประกันตัวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าประชาชนทุกคนเข้าถึงได้

สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะกองทุนยุติธรรมมีเงื่อนไขที่ระบุไว้ว่า ในการที่กองทุนจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้จำเลยหรือผู้ต้องหาคนหนึ่งๆ เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจด้วยว่าบุคคลนั้นๆ จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยาน หรือก่อเหตุอันตรายประการใดหรือไม่ อีกทั้งกองทุนยุติธรรมยังมีทรัพยากรที่จำกัด ปริญญาประเมินว่าน่าจะครอบคลุมได้เพียงแค่ร้อยละ 1 ของคดีอาญาทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ประมาณ 600,000 คดีต่อปี

สถิติที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกองทุนยุติธรรม ก็ชี้ว่ากองทุนได้ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาและจำเลยในหลักพันเท่านั้น ข้อมูลระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงกันยายน 2565 มีประชาชน 1,800 คนทั่วประเทศได้รับความช่วยเหลือด้านการประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม

เทียบกับห้วงเวลาเดียวกัน กองทุนราษฎรประสงค์ได้ช่วยเหลือด้านการประกันตัวให้แก่จำเลยในกว่า 1,000 คดี ทั้งที่มีทีมงานเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น



ส่งไม้ต่อ

เมื่อกองทุนได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิอย่างเป็นทางการแล้ว ไอดาระบุว่าภารกิจของเธอและทีมงานจะไม่ยุติเพียงแค่ประกันตัวในคดีการเมืองเท่านั้น แต่จะมีโครงการอื่นๆ ด้วย เช่น กองทุนสนับสนุนค่าเดินทางสำหรับจำเลยในคดีต่างๆ ที่ต้องสละเงินและเวลาของตนเองเพื่อเดินทางมาศาล และกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ต้องขังในคดีการเมือง เป็นต้น

อีกโปรเจกต์หนึ่งที่ไอดาพยายามผลักดัน คือการทำหอจดหมายเหตุบันทึกเรื่องราวของการต่อสู้ของประชาชน เพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตย

“เราคิดว่ายอดโอนเงินที่เราได้รับก็เป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้แบบนึงนะ” ไอดากล่าว “การที่ประชาชนหลากหลายพื้นเพเค้าระดมเงินกันเพื่อช่วยประกันตัวคนต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเค้า ก็คือการต่อสู้ของประชาชนเหมือนกัน มันสมควรได้รับการบันทึกไว้”

ไพศาล คนขับแท็กซี่ที่ประกันตัวออกมาได้ด้วยเงินบริจาคของกองทุน ก็ใช้บทบาทของตนเพื่อยืนยันสิทธิการประกันตัวเช่นกัน

หลังจากที่ไพศาลเห็นนักกิจกรรมและแกนนำหลายคนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ เขาได้เข้าร่วมกับกลุ่ม “ยืนหยุดขัง” ซึ่งนัดรวมตัวกันยืนหน้าศาลเป็นประจำเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษคดีการเมืองทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

“ตอนแรกผมก็ไม่อยากอยู่ในแสง อยากอยู่ในมุมมืดมากกว่า” ไพศาลกล่าว “แต่พักหลัง ไม่มีใครเล่น เพราะโดนจับโดนคดีกันไปหมดแล้ว ผมเลยต้องออกมาเล่น … เพราะเราอยากเรียกร้องสิทธิให้คนที่โดนจับไปขัง”

“นี่ผมก็โดนคดีแล้วตั้ง 5 คดีเพราะมาเคลื่อนไหวตรงนี้ … แต่ก็ไม่ได้กังวลไร เราก็ทราบอยู่แล้วว่า จะมีกองทุนนี้มาช่วยเหลือเราแน่ๆ”

ไพศาลกล่าวปิดท้าย “เราก็ต้องอยู่ไปอย่างนี้ ตราบใดที่เรายังไม่ตาย เราก็ยังไม่แพ้หรอก”