วันศุกร์, ตุลาคม 14, 2565

หนังสือ “วาดหวัง” ชุด “ตุลาประชาชน” 8 เล่ม เค้าว่าเนื้อหาหนัก น้องๆคงต้องหาคนช่วยเพื่อให้เข้าใจ


Puangthong Pawakapan
9h

เพิ่งมีเวลาเปิดดูหนังสือ “วาดหวัง” ชุด “ตุลาประชาชน” 8 เล่ม - ชุดนี้เศร้า สะเทือนใจ และหนักกว่าชุดแรกมาก หนังสือ 8 เล่ม มีเรื่องความตายและการจากลาด้วยความตายถึง 6 เล่ม เป็นความตายเกี่ยวกับ 6 ตุลา 3 เล่ม คือ
“พี่หนูอยู่ไหน” “ดาวเก้าอี้” (เป็นเรื่องวิชิตชัย อมรกุล) “ยายลี มีหมา แมว มด ลิง และขุนทอง”
1 เล่มเป็นเรื่องความตายของอากง อำพล ตั้งนพกุล
1 เล่มเป็นเรื่องความตายของน้องวาฤทธิ์ สมน้อย ที่หน้า สน.ดินแดง
1 เล่ม “แล้วพบกันใหม่” เพื่อจะบอกเด็กๆ ว่าความตายเป็นธรรมดาของชีวิต
ทุกเล่มมีภาพประกอบ 10 ภาพ (20 หน้า) แต่ละหน้ามีบทกลอนหรือถ้อยคำสั้นๆ ประกอบภาพวาดที่สวยงาม ดูเหมือนหนังสือเด็กที่อ่านแป๊บเดียวก็จบเล่ม แต่เราคิดว่าแต่ละเล่มต้องใช้เวลาอ่านนานทีเดียว และน่าจะอ่านได้หลายครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป เด็กโตขึ้น ความเข้าใจต่อเนื้อหาในหนังสือก็อาจจะต่างไป ก็กลับมาอ่านได้อีก
จริงๆ เราไม่แน่ใจว่าหนังสือ “วาดหวัง” ออกแบบมาให้กับเด็กวัยใดกันแน่ เพราะถ้าดูเฉพาะลักษณะภายนอก นี่เป็นหนังสือภาพที่มีถ้อยคำสั้นๆ ประกอบ มันควรเป็นหนังสือสำหรับเด็กเล็กที่เพิ่งเริ่มหัดอ่าน (อนุบาล-ประถม 2) แต่เนื้อหาของหนังสือยากเกินกว่าเด็กวัยนี้จะเข้าใจได้ หรือต่อให้เป็นเด็กโตกว่านี้ (ประถม 3-6 ที่ปกติจะชอบอ่านนิทานที่มีเนื้อเรื่องมากขึ้น) ก็อาจจะไม่เข้าใจเนื้อหาของบางเล่มอยู่ดี พูดง่ายๆ นี่เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ในบ้านควรอ่านคู่ไปกับเด็ก ช่วยอธิบายภูมิหลังของเรื่อง-ชวนคุย-ชวนคิด ซึ่งในระหว่างที่อ่าน ผู้ใหญ่อาจเป็นฝ่ายได้เรียนรู้แง่คิดของเด็กในเรื่องต่างๆ ด้วย ได้ทำความเข้าใจว่าเด็กคิดถึงเรื่องต่างๆ อย่างไร
ขออนุญาตกล่าวถึงบางเล่มเท่านั้น
“A Life ชีวิตเล็กๆ เด็กชายวาฤทธิ์ สมน้อย” ด้วยความที่เราติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและเป็นคนเขียนรายงานค้นหาข้อเท็จจริงกรณีนี้ให้กับ กมธ.พัฒนาการเมืองฯที่นำโดยพรรคก้าวไกล เรื่องนี้จึงเศร้ามาก จริงๆ หนังสือไม่ได้เน้นไปที่เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดกับน้องวาฤทธิ์ มีเพียง 3 ภาพสุดท้ายที่พูดถึงเหตุการณ์ที่ถูกยิง อยู่ในอาการโคม่า และเสียชีวิต ขณะที่ 7 ภาพแรกบอกเล่าชีวิตของน้องวาฤทธิ์ในฐานะลูกของพ่อแม่ พี่ชายที่แสนดีของน้องๆ ความซุกซน ช่างกินระดับกวาดตู้เย็น รักหมา ชอบเตะบอล – และสิ่งเหล่านี้แหละที่คุณหมอน สองเขา ได้ทำให้ผู้คนเห็นว่าการจากไปของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนนี้ได้ที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อคนในครอบครัวของเขา น้องวาฤทธิ์ไม่ใช่แค่ตัวเลขความตาย หรือ “เหยื่อ” ในรายงานข่าวที่ปราศจากตัวตน
เราชอบวิธีผูกเรื่องและการตั้งคำถามให้คนอ่านได้คิดไปทีละเรื่องๆ ใน “ยายลี มีหมา แมว มด ลิง และขุนทอง” ของ “ตง” ที่เริ่มเล่าเรื่องการทะเลาะวิวาทของแมว หมา ลิง มด และยายลี ว่าตั้งคำถามว่าเรื่องนี้ใครถูกใครผิดกันแน่ เราตัดสินถูก-ผิดได้จริงหรือ ถ้าเรามองจากมุมของแมว หมาย่อมผิด แต่เรามองจากมุมของหมาได้ไหม มันมีแง่มุมอื่นอีกไหมที่เราไม่รู้ แล้วเราควรจะด่วนตัดสินคนอื่นหรือไม่ – เราอดจินตนาการไม่ได้ว่าถ้าเราอ่านเล่มนี้กับลูก กว่าจะผ่านแต่ละหน้า คงได้คุยได้เถียงกันยาวแน่ๆ
ได้เถียงกันยาวๆ ก่อนจะมาสู่ 3 ภาพสุดท้ายที่พูดถึง “เจ้าขุนทอง” สัญลักษณ์ของนิสิตนักศึกษาที่ไม่กลับมาเมื่อฟ้าสาง หลังวันที่ 6 ตุลาเจ้าขุนทองบางคนถูกสังหาร หลายคนมุ่งหน้าสู่นาคร และหลายคนไม่ได้กลับมา -- รัฐบอกว่าเจ้าขุนทองทำผิดกฎหมาย ส่วนยายลีก็เฝ้ารอ รอแล้ว รอเล่า เจ้าขุนทองก็ยังไม่กลับมา การเฝ้ารอกลายเป็นความโกรธ แล้ว “ใครผิด?”
เล่มที่น่าจะยากที่สุดในวาดหวังชุดนี้คือ “H is for Hope: The ABC for Democracy” ดูจากชื่อหนังสือนึกว่าเป็นพวกหนังสือสอนคำศัพท์ให้เด็กเล็ก ประเภท A for ant, B for boy, C for cat …. แต่ศัพท์แต่ละคำในเล่มนี้ยากเหลือเกิน เช่น Ability, Budge, Democracy, Freedom, Equality, Justice, People, Revolution, October ฯลฯ แต่ละคำมีภาพประกอบที่เป็นเสมือนไกด์ว่ามีเหตุการณ์อะไรในสังคมนี้บ้างที่เกี่ยวข้องกับคำเหล่านี้ จริงๆ แต่ละคำนี่เอาไปสอน ป.ตรีได้เลยค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรคุยกับเด็กเล็กในเรื่องพวกนี้ เราคิดว่าควรคุยอย่างยิ่ง แต่ต้องไม่ใช่ด้วยการพูดถึงทฤษฎี หรือตัวอย่างยากๆ เราสามารถอธิบายคำเหล่านี้ด้วยการปฏิบัติที่เป็นจริงในชีวิตประจำวันก็ได้ เช่น Democracy ในบ้าน ในโรงเรียน ในร้านอาหาร ในพื้นที่สาธารณะ ในสถานการณ์ต่างๆ ควรเป็นอย่างไร
H is for Hope เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ต้องใช้เวลาอ่านไปด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน (เช่นเรียนรู้จากลูกว่าพ่อกับแม่ไม่เห็นเป็นประชาธิปไตยในบ้านเลย 5555) ที่จริงน่าจะมี Public reading หนังสือชุดนี้ ชวนเด็กมาอ่าน มาคุย มาแลกเปลี่ยนกันว่าเขาคิดกับเรื่องต่างๆ อย่างไร ขอบคุณสำนักพิมพ์วาดหวังที่พยายามสร้างสรรค์ทางเลือกในการอ่านให้กับเยาวชนไทยค่ะ
Srisamorn Soffer Ronnakorn Rotrattanadumrong



Sinsawat Yodbangtoey
ชอบความตั้งใจทำ​ แต่บางเล่มเนื้อหาหนักหน่วงมาก​ อธิบายให้ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับรู้ความเป็นมายังต้องใช้เวลา... กับเด็กๆ​ คงต้องใช้เวลาอธิบายมากยิ่งขึ้น... ชื่นชมมากนะครับที่ทำออกมาเผยแพร่สาธารณะ...

Srisamorn Soffer
ขอบคุณมากๆ ค่ะ ที่เขียนถึง ดีใจที่ได้ยินเสียงจากคนอ่านค่ะ วาดหวังหนังสืออยากเป็นสื่อเล็กๆ ที่อาจช่วยเปิดพื้นที่พูดคุยกันถึงเดือนตุลาและเรื่อง "ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย" ในบ้านเมืองเราได้บ้าง
ตอนทำชุดนี้ เศร้า และหน่วงมาก เราเริ่มจาก "ดาวเก้าอี้" (นึกถึงตุลา ก็เห็นภาพนี้) และเรื่องอื่นๆ ค่อยๆ ตามมา ได้(เขียน)คุยกับแม่ของเรื่องน้องวาฤทธิ์ ฮือ. . . อึงอลจนทำอะไรไม่ได้ไปทั้งวัน ต้องเขียนและทำเล่มนี้ล่ะ ยาก ลำบากความรู้สึกมาก เรื่องยังใหม่ สด คดีไม่ไปถึงไหน ใกล้ สน.ขนาดนั้น และน้องยังเด็กมาก ทั้งไม่ได้ทำอะไรผิด เล่ม H is for Hope (เราเรียกกันสั้นๆ ว่าเล่มโฮป) ต้องมี เพื่อเป็นบันทึกภาพโดยรวมของยุคนี้ และช่วยให้มีความหวัง เติมพลังให้กันได้บ้าง ขอบคุณความทุ่มเทของคนเขียน คนวาด ทีมงาน และทุกคนค่ะ
ชอบและขอบคุณมากค่ะ ที่แนะให้มี Public reading ถ้าทำได้ อยากให้ช่วยกันพูดคุย เผยแพร่ในหลายๆ ทาง ใครจะเอาอ่านลง youtube, tik tok, ทวี้ตฯ หรือทางอื่นใด ได้เลย ยินดียิ่งค่ะ อยากให้ได้เห็น ได้อ่านกันค่ะ

Srisamorn Soffer
ขออนุญาตนะคะ
ซื้อนิทานวาดหวังได้หลายแห่ง ตามนี้เลยค่ะ ขอบคุณค่ะ
https://www.facebook.com/photo/?fbid=201601432212687&set=a.201601442212686