ต่อการที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายสำหรับการเลือกตั้งที่หวังว่าจะมาในกลางปีหน้า นอกจากการปฏิรูปกิจการทหารบางอย่างแล้ว ยังมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ด้วยการแก้ไขกฎหมายห้ามดูหมิ่นกษัตริย์ หรือที่เรียกกันจนชื่อดังว่า ‘ม.๑๑๒’
เมื่อพรรคก้าวไกลหาญกล้าขนาดนี้ ท่ามกลางบรรยากาศในหมู่คนรุ่นใหม่ ดังคำเปรยของ พรรณิการ์ วานิช แห่งคณะก้าวหน้า ที่ว่าข้อเสนอแก้ไข ออกจะตามไม่ทันกระแสความคิดของคนรุ่นนี้เสียแล้ว เมื่อข้อเรียกร้องล่าสุดอยู่ที่ ‘ยกเลิก’
บรรดาพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์เรียงหน้ากันออกมาแสดงตนเป็นจรเข้ขวางคลองเป็นแถว นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยแล้ว ก็มีพรรคชาติไทยพัฒนากับพรรคไทยศรีวิไลย์ ผสมโรงด้วย น่าจะมีอีกหลายพรรค ‘ปัดเศษ’ ตามแห่อีกแน่ๆ
ยังกับเป็นการสร้างบรรยากาศการเมืองพ่นพิษใส่การเลือกตั้ง ที่จนบัดนี้ ทั้งที่ กกต.เตือนพรรคการเมืองให้ระมัดระวังการหาเสียง ในระยะ ๑๘๐ วันกันแล้ว แต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่ออกมา ค้างเติ่งอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
เนื่องเพราะ มี ส.ส.และ ส.ว. ๑๐๕ ยื่นคำร้องต่อศาลให้วินิจฉัยว่าร่าง พรป.เลือกตั้งนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหตุที่เนื้อหาส่วนหนึ่งทำให้พรรคปลาซิวปลาสร้อย ที่หมายใจได้รับการปัดเศษอีกครั้ง ไม่ถูกใจกับเกณฑ์คัด ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ดังที่ผู้ติดตามการอภิปรายร่างฯ นี้ในสภาทราบกันแล้วว่า เรื่องสูตร ‘หารร้อย’ ซึ่งกรรมาธิการเห็นชอบ นั้นถูกยับยั้งด้วยการสงวนคำอภิปรายคัดค้านของพรรคพลังธรรมใหม่ แต่เจอแท็คติกของพรรคใหญ่สองพรรค โดดประชุมกันหลายครั้งจนหมดอายุความ
คราวนี้จึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้เป็นชี้ตาย เอาอย่างไรขอให้ผู้มีพระคุณบอกมา ถ้าสถานการณ์การเมืองราบรื่นดี เข้าทำนองคลองผดุง แล้วเลยไปเข้าคลองโอ่งอ่างละก็ เดี๋ยวก็โบกผ่านฉลุย แต่ถ้าพรรคฝ่ายค้านก่อหวอดมากนักอาจมีสะดุดหัวขะมำ
ไม่ว่า ‘ไอลอว์’ จะเสนอทางออกให้มีการเลือกตั้งดังกำหนดการอันควร ๓ ข้อด้วยกัน ดูแล้วเข้าท่าเพียงใดก็ตาม โดยเฉพาะให้อำนาจ ครม.จัดการแก้ปม ด้วยการเสนอร่างเดิมเป็นร่างใหม่ แล้วยื่นให้รัฐสภารับลูกเอาไปอนุมัติทันทีละก็
ต้องดูใจสมาชิกรัฐสภาว่าอยากทำการเมืองในระบบรัฐสภาผ่านการเลือกตั้งต่อไปแค่ไหน สภาพิเศษจำนวนครึ่งหนึ่งของสภาเลือกตั้ง ดูออกจะพึงใจกับการได้รับแต่งตั้งไปกินเงินเดือนหลายแสน แล้วไปทำงานเพียงไม่กี่วันกันอีกดีกว่า
ส่วนพวกที่ยังอยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะถึงอย่างไรยังมีโอกาสมากกว่าระบบกินรวบ ได้อ้างความชอบธรรมทางประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ด้วย) คิดทางออกกันไว้แล้ว ไม่ต้องแปลกใจ ไอเดียไปโผล่ที่ ‘ไทยโพสต์’
อ้าง “นักวิชาการชื่อดังด้านกฎหมายมหาชนและรัฐธรรมนูญ” ลูบหลังพรรคก้าวไกลเสียก่อนว่า การเสนอแก้ไข ม.๑๑๒ ทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะเป็นกฎหมายปกติ ไม่ใช่หมวด ๑ ของรัฐธรรมนูญ เรื่องความผิดเกี่ยวกับกษัตริย์
แต่ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม ตบหัวภายหลัง โดยบอกว่าการแก้ไขกฎหมายห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ จะไปผิด พรบ.พรรคการเมือง ในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง (อันมี...) ในมาตรา ๙๒ “เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้” ด็อกเต้อคนนี้ถ้าเกิดไม่มีเลือกตั้งละก็ ได้ดังแน่
(https://prachatai.com/journal/2022/10/101076 และ https://ilaw.or.th/node/6292)