วันพุธ, ตุลาคม 05, 2565

เชิญชวนให้บุคคลลงชื่อในเว็บไซต์ให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ผิด116 "ยุยงปลุกปั่น" ได้งัย ?


Saiseema Phutikarn
12h

กรณีศาลลำปางตัดสินว่าการเสนอให้จัดทำประชามติเลือกระบอบการปกครองผิด ม.116 เมื่ออ่านที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปมาแล้วรู้สึกว่าเหตุผลของศาลอ่อนมาก เพราะ
1. กรณีนี้ทิวากรไม่ได้รณรงค์ให้มีการล้มเลิกระบอบกษัตริย์ เขารณรงค์แค่ให้มีการทำประชามติให้ประชาชนเลือกว่าจะเอาระบอบการปกครองแบบไหน ซึ่งมันไม่เหมือนกัน
2. ศาลอ้างเพียงพยานโจทย์ที่เป็น อ.นิติ มธ. (ไม่รู้ว่าใครแต่เดาว่าคือ ผศ.ก. คนที่เคยไปยื่นศาล รธน ให้เลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ) ที่เห็นว่าข้อความสื่อถึงระบอบสาธารณรัฐ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และ กระทบกระเทือนจิตใจประชาชนที่รักสถาบันกษัตริย์ แต่แค่การก่อให้เกิดความขัดแย้งและกระเทือนจิตใจฯนี่มันไม่ได้ผิด ม.116 จะผิด ม.116 ได้มันต้องเป็นการจงใจให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร
3. แม้อ้างความเห็นพยานโจทย์แล้วก็ยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ม.116 เรื่องจงใจให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบฯ สุดท้ายศาลเลยใช้มุขเดิมที่ศาล รธน ชอบใช้บ่อยๆคือเติมคำว่า "อาจ" เข้ามาซะเฉยๆ โดยศาลสรุปว่า ผิด 116 เพราะเป็นข้อความที่***อาจ***ก่อให้เกิดความไม่สงบฯ ซึ่งการเติมคำว่า "อาจ"ที่ไม่ได้มีในตัวบท ม.116 เป็นการขยายความให้ความผิดจากเดิมแค่ระดับอ่าวไทย ให้กลายเป็นมหาสมุทรแปซิฟิคทันที
ปล. แม้จะควรรออ่านคำพิพากษาฉบับเต็มก่อนค่อยวิจารณ์ แต่สำหรับคนทั่วไปโอกาสจะเข้าถึงคำพิพากษาฉบับเต็มโดยเฉพาะในระดับศาลชั้นต้นแทบไม่มี เลยขอวิจารณ์ตามที่ข่าวสรุปมาก่อนเลย ถ้าคำพิพากษาต่างกับที่ข่าวสรุปมาก็พร้อมขออภัย
https://tlhr2014.com/archives/49191
.....

Arnon Mamout
9h

การผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖ หรือที่เรียกว่า "ยุยงปลุกปั่น" ควรจะต้องพิจารณาตีความอย่างระมัดระวัง ชั่งน้ำหนักของคุณค่าที่ปะทะกันให้รอบคอบ และตีความโดยเคร่งครัดเพราะเป็นกฎหมายอาญา

การที่คนหนึ่งเสนอให้มีการทำประชามติว่า สมควรคงไว้หรือยกเลิกระบอบพระมหากษัตริย์ ผมเห็นว่า เป็นเพียงการเสนอแนวความคิดและตั้งคำถามต่อสังคมถึงคุณค่าของสถาบันดังกล่าว

แน่นอนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ในขณะเดียวกันคำถามดังกล่าวก็มาจากเสรีภาพทางความคิดที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองด้วยเช่นกัน

การตีความองค์ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖ ที่ว่า "มิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ" จึงเป็นพื้นที่ปะทะกันระหว่างคุณค่าทั้ง ๒ ดังที่ได้กล่าวไป

ประเด็นสำคัญคือการประสานคุณค่าทั้งสองเข้าด้วยกัน
คำถามคือกระบวนการยุติธรรมไทยใจกว้างพอที่จะประสานคุณค่าดังกล่าวให้อยู่ร่วมกันได้หรือไม่
โดยคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ไม่ให้ถูกล่วงละเมิดให้เกิดภยันตราย ในขณะเดียวกัน ก็คุ้มครองเสรีภาพทางความคิด ที่ให้บุคคลสามารถตั้งคำถามถึงการชอบ ไม่ชอบ ศรัทธา หรือไม่ศรัทธาต่อสถาบันดังกล่าวได้

หรือที่ผ่านมาไม่เคยมีการคิดถึงเรื่องการประสานคุณค่าทั้งสองประการให้ไปด้วยกันได้ในสังคมไทย?

ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เก่าแก่กว่าไทย มีข้อเท็จจริงดังนี้
-อดีตผู้นำฝ่ายค้านแสดงออกให้เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า เป็นผู้นิยมระบอบสาธารณรัฐ
-นายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบัน ในอดีตมีท่าทีที่ทราบกันว่า เป็นพวกสาธารณรัฐนิยม
-นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มสาธารณรัฐนิยมซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่เปิดเผยและแสดงจุดยืนอย่างแข็งขันต่อการไม่เอาระบอบกษัตริย์ในประเทศอังกฤษ

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการแสดงออกดังกล่าวเป็นเสรีภาพในมโนสำนึก ที่จะเลือกตั้งคำถามหรือยอมรับคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ
เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้
มุมนี้เอง จึงให้ฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ก็ต้องปรับตัว ว่าจะเป็นที่ยอมรับให้มากขึ้นก็แต่โดยทำความเข้าใจ อยู่กับความจริง หาแนวร่วม และแก้ไขข้อผิดพลาดที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงดังที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์

ที่สำคัญที่สุดคือ ความเห็นที่แสดงออกมานั้นตั้งอยู่บนฐาน "สันติวิธี"
ซึ่งไม่แน่ใจว่า กระบวนการยุติธรรมไทยเข้าใจเรื่องนี้มากน้องเพียงใดในกรณีเกิดการปะทะกันระหว่างคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์กับคุณค่าทางความคิดที่แสดงออกโดย "สันติวิธี"

แต่สำหรับประเทศอังกฤษ ไม่เคยมีการดำเนินคดีใด ๆ กับอดีตผู้นำฝ่ายค้าน นายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบัน กลุ่มสาธารณรัฐนิยม หรือบุคคลใด ๆ ที่จะตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเลือกที่จะเสนอแนวคิดจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐแทนที่

อนึ่ง สำนึกเรื่องศรัทธาหรือไม่ศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงได้
วันหนึ่งศรัทธา ต่อมาอาจไม่ศรัทธาหรือเฉยๆ
วันหนึ่งไม่ศรัทธาหรือเฉย ๆ ต่อมาอาจศรัทธา
ดูอย่างนายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบันของอังกฤษ เมื่อสมัยอายุ ๑๙ เธอเคยลุกขึ้นแสดงความคิดต่อสาธารณะอย่างร้อนแรง แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าเธอมีทีท่าเช่นเดิมแต่อย่างใด และเธอเองคือนายกคนสุดท้ายในรัชสมัยของควีนอลิซาเบธที่ ๒

ที่กล่าวมา เพราะว่าวันนี้เห็นคำตัดสินคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖ ที่ตัดสินว่า จำเลยมีความผิดจากการเชิญชวนให้บุคคลลงชื่อในเว็บไซต์ให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ครับ