วันเสาร์, มิถุนายน 04, 2565

กองทัพบก หาเรื่องเสียงบประมาณกับเครื่องลวงโลก ไม้ล้างป่าช้า GT200 อีกแล้ว เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แกทำให้ฟรี ไลฟ์เฟสบุ๊คสดให้ด้วย 😀😀


สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
Yesterday

ไม่แน่ใจว่า ตอบในสภาหรือยังครับ …
สส.ก้าวไกล เปิดข้อมูล กลาโหมจัดงบขันน็อต แงะตรวจ GT200 เครื่องละหมื่น 757 เครื่อง 7.5 ล้าน
เวลา 20.50 น. วันที่ 2 มิย.65 ระหว่างพิจารณา พรบ.งบประมาณฯ วาระแรก วันสุดท้าย นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายว่า การใช้งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท
“ถ้ายังจำกันได้ มันคือไม้ล้างป่าช้าลวงโลก ที่พอแงะดูข้างในมันว่างเปล่า สุดท้ายแค่กล่องพลาสติกเปล่าสีดำมีหนวดกุ้งชี้ไปชี้มา ไม่สามารถนำใช้ตรวจจับอะไรได้ จนถึงวันนี้คดีความก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เมื่อพยายามขอข้อมูลรายละเอียดสัญญาการจ้างตรวจสอบ GT200 จากกองทัพบก และสวทช. ก็ได้คำตอบว่าเป็นความลับ ผมสงสัยว่ากระทรวงกลาโหมเอาเงินภาษีไปช่วยนายพลไม่กี่คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง GT200 เมื่อ 14 ปีที่แล้วให้รอดพ้นคดีหรือไม่ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ป.ป.ช.ก็มีมติว่าไม่สามารถชี้มูลความผิดได้” นายจิรัฏฐ์ กล่าว
นายจิรัฏฐ์ อภิปรายว่า ตนมีประเด็นเดียวที่อยากให้รัฐมนตรีว่ากากระทรวงกลาโหมชี้แจง คือ กลาโหมเอาเงินภาษี 7,570,000 บาท ไปจ้างตรวจสอบกล่องพลาสติกเปล่าสีดำ ในราคาชิ้นละ 1 หมื่นบาท ทั้งหมด 757 ชิ้น เพื่ออะไร ทั้งโลกเขารู้กันว่าข้างในไม่มีอะไร กระทรวงกลาโหมใช้งบได้ไร้สติสตางค์ขนาดนี้เลยหรือ ค่าแงะกล่องพลาสติกขันน็อตตัวเล็กๆ 14 ตัว 1 หมื่นบาท
“ขอให้ชี้แจงด้วย ชาวบ้านรอฟังอยู่ ถ้าผมไม่อ่านเอกสารงบประมาณฯ อย่างละเอียด ก็คงไม่สังเกตเห็นว่างบประมาณนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณปีที่แล้วเลย กลัวว่าปีนี้จะแอบเอางบไปใช้แบบลับๆ ล่อๆ อีก อยากแนะนำนายกฯ อ่านเอกสารงบประมาณที่ตัวเองเป็นคนอนุมัติบ้าง จะได้คุยกับเขารู้เรื่อง จะไปอ่านทำไมนิตยสารแต่งบ้านจัดสวน ก็ในเมื่อตัวเองอยู่บ้านพักหลวงในค่ายทหาร” นายจิรัฏฐ์กล่าว
.....
Jessada Denduangboripant
21h
นอกจากหงุดหงิดกองทัพบก ที่โดนหลอกไปครั้งแล้วไม่จำ ยังมาหาเรื่องเสียงบประมาณกับเครื่องลวงโลก ไม้ล้างป่าช้า อย่าง GT200 แล้ว
ยังแปลกใจปนเสียใจว่า องค์กรที่มี ดร. อยู่เป็นพันคนอย่าง สวทช. ไปร่วมหัวจมท้าย ไปรับแกะเครื่องกับเค้าได้ยังไง
รู้ทั้งรู้ ว่าทุกเครื่องมันก็เป็นกระป๋องพลาสติกเปล่าๆ แกะดู ข้างในก็ไม่มีอะไร จะไปเสียเวลาตรวจทีละเครื่องทำไม นอกเสียจากว่าจะรับเศษเงินไม่กี่ล้าน แลกกับชื่อเสียงขององค์กร และวงการวิทยาศาสตร์ไทย
ฝาก พี่สุกิต ท่าน(ว่าที่)ผู้อำนวยการ สวทช. ตามดูเรื่องนี้ด้วยครับ สวทช. และวงการวิทยาศาสตร์ จะเสียชื่อได้นะครับ ถ้าร่วมหัวจมท้ายกับ GT200 เนี่ย
ปล. GT200 นี่มันมหัศจรรย์ดีนะ ผลาญเงินหลวงกันได้ตลอดเวลา ขนาดเก็บเข้ากรุมานาน 14 ปี ยังงัดขึ้นมาผลาญเงินได้เลย เครื่องมือทำกินชัดๆ
ปล.2 เครื่อง GT200 นี่ เวลาแงะไม่ต้องใช้ไขควงด้วยซ้ำครับ เพราะมันไม่ได้ขันน๊อตสกรูอะไร แค่พลาสติกสองชิ้น ประกบเสาอากาศกับบานพับเอง



Jessada Denduangboripant
9h · CH3+ ·

ล่าสุด มีคำอธิบายจากกองทัพแล้วครับ ว่าที่จ่าย 7.5 ล้านไปตรวจ GT200 ทั้ง 757 เครื่อง ก็คือ (สั้นๆ เลย) อัยการสูงสุด แนะนำมา หึๆๆๆ
ปล. นี่แสดงว่ากลัวว่าจะมีเครื่องไหนใน 757 เครื่องนี้ มันเฮี้ยนขึ้นมา หาระเบิดเจอเหรอครับ เลยต้องตรวจทั้งหมด
ปล. ถ้าอย่างนี้เจอปัญหาเอกชนขายลูกกระสุนปืนด้าน ไม่มีมาตรฐาน ให้กองทัพ ก็ต้องเอากระสุนเป็นหมื่นๆ แสนๆ ลูก มาตรวจทั้งหมดเหรอครับ
ปล. ที่อังกฤษนี่ เขาแค่แงะออกมาดู ไม่เจออะไรข้างใน เขาก็ฟ้องศาลกัน จนจำคุกคนขายไป 8 ปีอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเข้าห้องแลปอะไรขนาดนี้นะครับ
--------------
(รายงานข่าว) โฆษกกลาโหม แจงทบ.ตั้งงบ 7.5 ล้านจ้างสวทช. ผ่า GT200 เป็นไปตามคำแนะนำอัยการสูงสุด
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 65 พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงภายหลังที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายงบกลาโหม ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคม 65 ที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท ว่า ทราบเรื่องจากกองทัพบก ที่ตั้งงบประมาณไว้ เนื่องจาก เป็นไปตามคดีอาญา ที่กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย กับพวก รวม 5 คน ต่อศาล ฐานร่วมโกง และศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่าจำเลยมีความผิด
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่ขณะเดียวกันคดีในทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย โดยศาลปกครองกลางได้สั่งให้ต้องชำระหนี้กับกองทัพบก เป็นเงินกว่า 683,000,000 บาท แต่เมื่อต่อมา ทางบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เป็นสาระสำคัญของคดี จึงมีความจำเป็นให้กองทัพบกตรวจสอบทุกเครื่องว่าใช้งานได้หรือไม่
ทั้งนี้ให้ตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ ทั้งการวัดวัตถุไฟฟ้าสถิต การแพร่คืนแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง การวิเคราะห์ผลรวมถึงการผ่าพิสูจน์ตัวเครื่อง กองทัพบกจึงได้ดำเนินการจ้างไปที่ สวทช. ตามที่เสนอราคามาโดยในปี 2564 ใช้งบประมาณประมาณ 3.2 ล้านบาท และในปี 2565 อีก 4.37 ล้านบาท ก็ได้ทยอยตรวจสอบ
โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ทั้งหมดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ ไม่ให้เสียหายในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนที่ฝ่ายการเมือง มองว่าไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเพราะไม่มีประโยชน์ โฆษกกระทรวงกลาโหมย้ำว่า เรื่องนี้หากเราจะต้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นเช่นนี้ เราก็ต้องดำเนินการเพราะสาระสำคัญของคดี คือต้องตรวจเครื่องว่าไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ดังนั้นการที่เราจะได้เงินค่าเสียหาย เราจึงต้องทำตามขั้นตอนตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ