วันอังคาร, มกราคม 18, 2565

ยังจำกันได้มั๊ย ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเคยเผยผลวิจัยว่า วัยรุ่นแชร์ข่าวปลอมเยอะสุด ส่วนผู้สูงวัยแชร์น้อยสุด นักข่าว The MATTER ทำเรื่องขอดูรายงานฉบับเต็ม โป๊ะแตกเลย



“คนไทย 23 ล้านคนแชร์ข่าวปลอม”

“ผู้สื่อข่าวเผยแพร่ข่าวปลอมมากที่สุด”

“วัยรุ่นแชร์ข่าวปลอมเกินครึ่ง ผู้สูงวัยแชร์แค่ 0.1%”

เชื่อว่า ปลายปี 2564 หลายคนน่าจะได้เห็นข่าวจากสื่อมวลชนหลายสำนัก เกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ข่าวปลอมในประเทศไทย นับแต่ก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างเดือน พ.ย.2562 – เดือน ธ.ค.2564 ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนำมาเผยแพร่ในวันที่ 27 ธ.ค.2564 ที่มีสาระสำคัญข้างต้นไปบ้างแล้ว

ผู้สื่อข่าว The MATTER ได้เห็นข้อมูลดังกล่าวก็สนใจ จึงทักไปยังเพจของกระทรวงดิจิทัลฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในวันที่ 28 ธ.ค.2564 เพื่อขอ ‘รายงานฉบับเต็ม’ มาศึกษา แต่ต้องรอข้ามปีก่อนได้รับการตอบกลับจากเพจของกระทรวงดิจิทัลฯ ว่า ให้ทำหนังสือขอข้อมูลจากปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ หรือ ผอ.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ส่งมาทางไปรษณีย์ไปยังกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

พอเห็นข้อความนี้ตอนแรกเราก็แปลกใจว่าทำไมรายงานดังกล่าวถึงส่งให้กันทางออนไลน์ไม่ได้ (นี่กระทรวงดิจิทัลฯ นะ!) แต่ไหนๆ ได้คำแนะนำมาเช่นนี้ ก็เลยทำหนังสือไปตามช่องทางที่ว่า และได้รับการโทรศัพท์ตอบกลับมาค่อนข้างเร็วว่า กระทรวงดิจิทัลฯ จะส่งรายงานฉบับเต็ม “ที่มีราวสิบหน้ากระดาษ” มาให้ทางอีเมล ก่อนจะได้รับแจ้งมาอีกครั้งว่า ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะส่งข้อมูลมาให้เอง ที่ปรากฎว่าส่งมาให้เพียง 4 หน้ากระดาษเท่านั้น โดยส่งมาให้ในวันที่ 12 ม.ค.2565 หรือ 15 วัน นับแต่เราทักขอข้อมูลไปครั้งแรก

– ดูสไลด์ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมส่งมาให้เรา: https://drive.google.com/file/d/1bJ3cwIGRimhixGdEvpfx2SKETSRy6CFU/view?usp=sharing

ยังดีที่ให้หมายเลขโทรศัพท์ผู้เกี่ยวข้องมาด้วย เราจึงโทรศัพท์ไปหา ‘สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์’ รอง ผอ.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และได้รับคำตอบ ที่มาที่ไป และข้อมูลเกี่ยวกับหลายๆ ข้อสงสัยดังนี้
ข้อมูลที่บอกว่า คนไทย 23 ล้านคนแชร์ข่าวปลอม (เกือบครึ่งของผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทย 49 ล้านคน ตามข้อมูลจาก We Are Social https://datareportal.com/reports/digital-2021-thailand) เป็น ‘ยอดสะสม’ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นข้อมูลที่ออกมาจึงผิดพลาด เพราะในยอดสะสมนั้น เป็นไปได้ว่าอาจมีบางคนแชร์ข่าวปลอมซ้ำ
  • ข้อมูลที่บอกว่า ‘อาชีพที่เผยแพร่ข่าวปลอมมากที่สุด’ คือ กลุ่มผู้สื่อข่าว เป็นการเขียนที่ไม่ชัดเจน จนทำให้ต้องมีการปรับแก้ถ้อยคำในภาพหลัง โดยสื่อที่รายงานข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลฯ นี้แรกๆ เช่น ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/prachachat-hilight/news-830362 หรือฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/tech/508238 แต่ในเว็บไซต์ของกระทรวงดิจิทัลฯ มีการปรับแก้ถ้อยคำเป็น ‘อาชีพที่สนใจประเด็นข่าวปลอมมากที่สุด’ แทน https://www.mdes.go.th/news/detail/5095
  • วิธีการหาจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม/ผู้แชร์ข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลฯ นี้จะใช้การ track ย้อนหลัง คือดูว่าข่าวไหนที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระบุว่าเป็น ‘ข่าวปลอม’ (fake news) แล้วก็ใช้เครื่องมือ social monitoring tool ที่มีอยู่ track ย้อนกลับว่า มีผู้โพสต์กี่คน มีผู้แชร์กี่คน ก่อนสรุปออกมาเป็นจำนวน – แต่อย่างที่ The MATTER เคยรายงานไปครั้งหนึ่งว่า https://thematter.co/brief/150781/150781 การระบุว่า การทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีข้อจำกัด เพราะต้องให้หน่วยงานรัฐว่าข่าวใดๆ เป็นผู้ฟันธงว่าข่าวไหนเป็นข่าวปลอม ดังนั้น ข่าวปลอมที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ปล่อย จะไม่ปรากฎอยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
  • ข้อมูลเรื่องช่วงอายุที่เผยแพร่ข่าวปลอมมากที่สุด คือระหว่าง 18-24 ปี (วัยรุ่น) คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ขณะที่ระหว่าง 55-64 ปี (ผู้สูงวัย) มีพฤติกรรมแพร่กระจายข่าวปลอมต่ำสุด คิดเป็น 0.1% มีคำอธิบายว่า เป็นเพราะวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นประจำ มีข้อความที่โพสต์ต่างๆ มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ กระทั่งผู้สูงวัย ทำให้มีโอกาสโพสต์/แชร์ข่าวปลอมได้ง่ายกว่า – ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วเครื่องมือ social monitoring tool ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมใช้ มีข้อจำกัดเรื่องจะกวาดข้อมูลได้เฉพาะที่ตั้งค่าสาธารณะ (public) และเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้เฉพาะบางแพล็ตฟอร์มเท่านั้น
  • เมื่อเราขอดูตัวรายงานฉบับเต็ม ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถให้ดูได้ เนื่องจากอาจติดข้อมูลส่วนบุคคลไปด้วย จึงให้ดูได้เพียงเอกสาร 4 หน้ากระดาษที่ส่งให้ดูเท่านั้น
ทั้งนี้ เหตุผลที่เราต้องขอรายงานฉบับเต็มจากกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมกับสอบถามข้อมูลไปยังผู้เกี่ยวข้องในศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพราะอยากให้ศูนย์นี้ซึ่งใช้ทรัพยากรเป็นบุคลากรของรัฐและได้งบประมาณปีละกว่า 80 ล้านบาท ได้ปรับปรุงการทำงานเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ซึ่งจากข้อมูลต่างๆ ที่ The MATTER ไล่เรียงมาข้างต้น ก็เพื่อจะบอกว่า อย่าเชื่อข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ข่าวปลอมในประเทศไทยของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่เผยแพร่ออกมาในทันที เพราะข้อมูลหลายอย่างผิดพลาด ขาดคำอธิบาย ไม่รวมถึงข้อจำกัดในฐานะที่ผู้จัดทำเป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องทำงานอยู่ภายใต้ฝ่ายการเมืองอย่าง รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ

ที่มา The Matter