LOCALRY
January 13 at 6:00 AM ·
รู้ไหม ‘ขนมปังแพง’ คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำคนฝรั่งเศสลุกขึ้นปฏิวัติ
.
แม้วาทะ ‘let them eat cake’ หรือ ‘ไม่มีขนมปังก็กินเค้กสิ’ ของ มารี อองตัวแนตต์ จะเป็นเรื่อง ‘หลอก’ แต่เรื่องที่ชนชั้นกรรมาชีพฝรั่งเศสเคยพบเจอกับราคาขนมปังแพงแสนแพง อยู่อย่างหิวโหย โกรธแค้นชนชั้นนำ จนกลายเป็นหนึ่งในแรงผลักให้การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่อง ‘จริง’
.
#ผลักภาระให้ประชาชน
.
ปัญหาท้องพระคลังถังแตกของฝรั่งเศสนั้นเริ่มฉายชัดตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Louis XV) ปกครอง ผู้นำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คนนี้ถึงขนาดมีฉายาว่า ‘กษัตริย์ผู้เผาผลาญ’ (le Roi Soleil) เพราะเขาใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขต พาฝรั่งเศสเข้าสู่สงครามที่ไม่จำเป็น และผลาญทรัพย์เป็นว่าเล่น
.
เมื่อเงินท้องพระคลังเริ่มร่อยหรอ วิธีแก้ปัญหากลับเป็นการขูดรีดภาษีกับประชาชน โดยที่ขุนนาง ข้าราชการ และศาสนจักร ยังอิ่มหมีพีมันได้ต่อไป ระบบที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์นี้ดำเนินต่อไปจนถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชื้อไฟการปฏิวัติโหมรุนแรงที่สุด
.
#วิกฤติขนมปังแพง
.
ในครอบครัวกรรมาชีพฝรั่งเศส ‘ขนมปัง’ ถือเป็นรายจ่ายในบัญชีกว่า 60 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ การขึ้นราคาแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจสร้างความลำบากมหาศาลให้ประชาราษฎร์ กระทั่ง ‘ตูร์โก’ (Turgo) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ของหลุยส์ที่ 16 ยังเคยบอกกับองค์เหนือหัวของเขาว่า “Ne vous mêlez pas du pain” หรือ “อย่าไปแทรกแซงเรื่องขนมปัง”
.
แม้จะได้รับคำเตือนเช่นนั้น แต่รัฐก็ไม่วายพยายามแก้ปัญหาพระคลังถังแตกด้วยการขึ้นภาษีเกลือและขนมปัง อาหารยาไส้ขั้นพื้นฐานกลายเป็นของหายาก แถมแพงหูฉี่ ราคาพุ่งสูงเป็นสัดส่วน 88 เปอร์เซ็นต์ของรายได้
.
ปลายเดือนเมษาไปจนถึงพฤษภา ปี 1775 ความอดอยากทำให้ประชาชนลุกฮือตามหมู่บ้านแถบ Paris Basin เกิดการจลาจลและการปล้นเมล็ดพืชกว่า 300 ครั้งภายในเวลาแค่สามสัปดาห์ กระแสการประท้วงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องรู้จักกันในชื่อ สงครามแป้งสาลี (La Guerre des Farines)
.
อาเธอร์ ยัง (Arthur Young) เกษตรกรชาวอังกฤษผู้นี้ได้เดินทางไปยังฝรั่งเศสในช่วงที่ใกล้เกิดการปฏิวัติ เขาบันทึกว่า ผู้คนดิ้นรนหาขนมปังมาประทังท้องกันอย่างยากเย็นแสนสาหัส และมีรายงานตลอดเวลาถึงการจ่อจลาจล ความไม่สงบในเขตต่างๆ และมีการขอกำลังทหารมารักษาความสงบในตลาดบ่อยครั้ง
.
ทั้งหมดเป็นเหมือนดั่งกระแสลมแรงก่อนพายุจริงจะเข้าถล่ม
.
#ปฏิวัติเพื่อปากท้อง
.
ปี 1789 มาเยือน ความอดอยากต่อขนมปังถึงขนาดถูกใช้เป็นเครื่องมือในแผนปลุกระดมกบฏที่เกิดขึ้นในเขตปาสซี (Passy) มีการกล่าวในแผนว่า จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้วิกฤติขาดแคลนขนมปังเกิดขึ้นโดยทั่ว เพื่อบีบให้เหล่ากรรมาชีพจับอาวุธลุกขึ้นสู้
.
ต่อมา คุกบัสตีย์ก็โดนถล่มในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789
.
หลังคุกบัสตีย์แตก ยังมีการลุกฮือขึ้นประท้วงในหัวเมืองต่างๆ อยู่เรื่อยๆ หนึ่งในการประท้วงที่สำคัญคือ ‘ขบวนแห่ไปแวร์ซาย’ (La Marche des Femmes sur Versailles)
.
ขบวนประท้วงเดินเท้าไปแวร์ซายที่มีคนเข้าร่วมกว่าเจ็ดพันคนนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยความคับแค้นต่อราคา ‘ขนมปัง’ กับความกลัวต่อข่าวลือว่าราชสำนักมีแผนจะทำประชาชนอดตายเพื่อลดประชากรประเทศ
.
พวกเขาเดินทางไปถึงรั้ววัง และแสดงเจตจำนงว่าหลุยส์ที่ 16 กับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ต้องละทิ้งพระราชวังหรูหราที่ชานเมืองนี้ แล้วออกไปเห็นความจริงของความทุกข์ยากที่อยู่กลางกรุงปารีสเสียที และเป็นปฐมบทของการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ครั้งแรกของฝรั่งเศส
.
ท้ายที่สุด บทลงโทษฐานมืดบอดต่อความทุกข์ร้อนของราษฎร ข้อหาทรยศชาติและประชาชน คือการขึ้นรับกรรมบนแท่นประหารกิโยตินในปี 1793
.
อ้างอิง: History. How Bread Shortage Helped Ignite the French Revolution. https://bit.ly/3K4j9fr
SARAKADEE LITE. การขึ้นภาษีขนมปัง และ พลังสตรีสามัญ เบื้องหลังปฏิวัติฝรั่งเศส. https://bit.ly/3zT7OtW
ER Services. The March on Versailles. https://bit.ly/3HY38WD
Ekelund and R. F. Herbert. A history of Economic Theory and method. New York: McGraw-Hill Publishing Company, 1990.
.
#รากเหง้าเล่าอนาคต
...
Nithiwat Wannasiri
16h ·
บทเพลง Un pain d'quatr'livres
บรรยายถึงความแร้นแค้นที่ในหมู่บ้านมีขนมปังเหลือเพียง4ก้อน จนทำให้ต้องเรียกผู้หญิงและเด็กมาแบ่งกันกินให้พออิ่มท้อง