วันศุกร์, มกราคม 21, 2565

บันทึกโควิดในเรือนจำ: พบ 30 ผู้ต้องขังคดีการเมืองติดเชื้อท่ามกลางการรักษาอันยากลำบาก โดยเกือบทั้งหมดยังเป็น #ผู้บริสุทธิ์ ซึ่งถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี



บันทึกโควิดในเรือนจำ: พบ 30 ผู้ต้องขังคดีการเมืองติดเชื้อท่ามกลางการรักษาอันยากลำบาก

19/01/2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะอยู่ในการระบาดระลอกที่ห้า ที่มาพร้อมกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่แม้แต่วัคซีนป้องกันสองเข็มยังเอาไม่อยู่

ท่ามกลางการระบาดที่ยังไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดลงในเร็ววัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งความเป็นอยู่ การรักษาที่โรงพยาบาลสนามในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผ่านคำบอกเล่าของผู้ต้องขังทางการเมือง รวมไปถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังทางการเมืองต้องเผชิญตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา

30 ผู้ต้องขังทางการเมืองติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำระหว่างถูกคุมขัง

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ พบว่า หลังข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่เรือนจำเข้มข้นขึ้นตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 30 ราย ติดโควิดขณะถูกคุมขังในเรือนจำ โดยเกือบทั้งหมดยังเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ซึ่งถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี

ในจำนวนนี้ มีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว แต่ตรวจพบว่าติดโควิดจากเรือนจำและต้องรักษาอาการด้านนอก 7 ราย ได้แก่ พรชัย (สงวนนามสกุล), “พอร์ท ไฟเย็น” ปริญญา ชีวินกุลปฐม, “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ปูน” ธนพัฒน์ นักกิจกรรมเยาวชน, 2 สมาชิก ทะลุฟ้า ได้แก่ “ไดโน่” นวพล ต้นงาม และ “ปีก” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์

รวมถึงยังพบกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันผู้ต้องขัง ทำให้ติดโควิดในเรือนจำถึง 2 รอบ จากการถูกคุมขัง 2 ครั้ง ได้แก่ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และแซม สาแมท

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของ “เฮียซ้ง” ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี ผู้ต้องขังในคดีถูกกล่าวหาว่าได้ทุบรถควบคุมตัวไมค์-เพนกวิน อีก 1 ราย ที่กว่าศาลจะให้ประกะันตัว ก็ทำให้มีอาการติดเชื้อลงปอด และมีอาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว จนต้องรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยขั้นวิกฤต (ICU) ที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำ

ต่อไปนี้ เป็นประมวลสรุปสถานการณ์ติดเชื้อโควิดของผู้ต้องขังทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้ง 29 ราย

—————————–

วันที่ 24 เม.ย. 64
“จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ติดเชื้อระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้านครอบครัวได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวถึง 6 ครั้ง โดย 2 ครั้งล่าสุด แม้จะยื่นประกันหลังทราบข่าวว่าเขาติดเชื้อโควิด-19 แล้ว พร้อมระบุเหตุผลหลักในการนำตัวไปรักษาอาการที่มีประสิทธิภาพเหมาะสม แต่ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกัน รวมทั้งปฏิเสธที่จะไต่สวนคำร้องผ่านคอนเฟอเรนซ์ จนกระทั่งชูเกียรติได้รับการรักษาจนหายแล้ว จึงได้ยื่นประกันอีกครั้ง ก่อนศาลให้ประกันพร้อมเงื่อนไข หลังถูกคุมขังรวม 70 วัน

ในวันเดียวกันนี้ พรชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ระหว่างถูกคุมขังในชั้นสอบสวนนานกว่า 44 วัน เขาทราบผลตรวจโควิด-19 พบว่าตนเองติดเชื้อจากในเรือนจำ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามในจังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้อ จึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ

วันที่ 5 พ.ค. 64
อานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำราษฎรผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ถูกรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อนถูกส่งไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา แม้ปัจจุบันเขาจะหายจากการติดเชื้อในครั้งนั้นแล้ว แต่ยังคงมีอาการ Long COVID (อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19) ปัจจุบันเขายังคงอยู่ในเรือนจำและต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีกครั้ง เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน

วันที่ 11 พ.ค. 64

“พอร์ท ไฟเย็น” ปริญญา ชีวินปฐมกุล ผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ติดเชื้อโควิดระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างไต่สวนคำร้องขอประกัน เขาเบิกความถึงสถานการณ์โควิดต่อศาลว่า ทั้งแดน 6 ที่เขาถูกคุมขังอยู่นั้น มีผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิดแล้วมากกว่าครึ่ง และการควบคุมโรคโควิดของเรือนจำมีปัญหาอย่างมาก หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพร้อมเงื่อนไข หลังถูกคุมขัง 67 วัน

4 ใน 5 ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าได้ทุบรถควบคุมตัวไมค์-เพนกวิน ได้แก่ ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระหว่างไต่สวนคำร้องขอประกัน ศักดิ์ชัย หรือ เฮียซ้ง มีอาการทรุดลงจากการติดเชื้อจนไม่สามารถขึ้นเบิกความได้ ก่อนศาลให้ประกันพร้อมเงื่อนไข หลังพวกเขาถูกคุมขัง 78 วัน โดยเฮียซ้งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและต้องออกมารักษาอาการป่วยอยู่หลายเดือน กว่าจะมีอาการดีขึ้น

ขณะที่ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้ หลังได้รับการประกันตัวออกมา ก็ตรวจพบว่าติดโควิดเช่นกัน ทำให้ผู้ต้องขังในคดีนี้ทั้ง 5 คน ติดโควิดจากการถูกคุมขังทั้งหมด

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำราษฎรผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ได้โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งข่าวว่า เธอติดเชื้อโควิดจากทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากได้รับการปล่อยตัวมาตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. อีกทั้ง 4 วันถัดมา เธอได้แจ้งว่าพ่อและแม่ของเธอก็ติดเชื้อโควิดด้วยเช่นกัน เธอถูกคุมขังรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 59 วัน

วันที่ 13 พ.ค. 64
“ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก หนึ่งในแกนนำราษฎร ผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ติดเชื้อโควิดระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนถูกนำตัวมารักษาอาการที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

ต่อมาในเดือนสิงหาคม เขาถูกคุมขังอีกครั้งในคดีชุมนุม #ม็อบ2สิงหา64 จากนั้นตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิดครั้งที่ 2 ในเรือนจำ ปัจจุบันเขายังคงอยู่ในเรือนจำและต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะเชื้ออีกครั้ง เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันเช่นเดียวกันกับอานนท์

ในวันเดียวกันนี้ “ประพันธ์” หรือ “ป้าเปีย” วัย 60 ปี อดีตผู้ต้องขังในคดีสวมเสื้อดำที่มีสัญลักษณ์ ‘สหพันธรัฐไท’ พบว่าติดเชื้อโควิดระหว่างรับโทษในทัณฑสถานหญิงกลาง เธอได้รับการรักษาจนหาย ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำพร้อมใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าหายจากโควิดแล้ว แต่หลังจากเธอได้รับการตรวจซ้ำจากพยาบาลอาสากลับพบว่าเธอยังคงมีเชื้อโควิดอยู่ ทำให้เธอต้องกักตัวต่ออีก 14 วัน

วันที่ 26 พ.ค. 64
“แซม สาแมท” ชายไร้สัญชาติที่ถูกคุมขังจากคดีชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด ก่อนถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เหตุมีอาการอาเจียนเป็นเลือด

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ถูกตรวจพบว่าแซมได้ติดเชื้อครั้งที่ 2 ในเรือนจำอีกครั้งระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำชั่วคราวรังสิต หลังไม่ได้รับการประกันตัวในคดี #ม็อบ2สิงหา และปัจจุบันแซมยังคงอยู่ในเรือนจำและไม่ได้รับวัคซีนป้องกันเช่นเดียวอานนท์กับภาณุพงศ์

วันที่ 14-16 ส.ค. 64
“ปูน” ธนพัฒน์ นักกิจกรรมเยาวชน ติดเชื้อระหว่างถูกคุมขังในสถานกักขัง จากกรณีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1

หลังจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมอยู่ในห้องเดียวกันกับธนพัฒน์ ได้รับการตรวจหาเชื้อ และพบว่า 2 สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้แก่ สิริชัย นาถึง และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ รวมไปถึง “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี จากกลุ่มราษฎรมูเตลู ติดเชื้อโควิด ก่อนทั้งหมดถูกส่งตัวไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

วันที่ 25 ส.ค. 2564
“บอย” ธัชพงศ์ แกดำ และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ติดโควิดขณะถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต หลังศาลไม่ให้ประกันในคดีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1

โดยก่อนหน้า จตุภัทร์แจ้งทางทนายความขณะเข้าเยี่ยมว่า ตรวจไม่พบเชื้อ แต่เพื่อนร่วมห้องขังทั้งหมด 9 ใน 12 คน รวมถึงคนที่นอนข้างๆ ติดเชื้อและทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว มีเพียงเขาที่ยังคงกักตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางเช่นเดิม ก่อนต่อมาไม่นานจตุภัทร์ตรวจพบว่าติดเชื้อเหมือนรายอื่นๆ

พฤศจิกายน – ธันวาคม 2564

หลังจากเดือนมิถุนายน ผู้ต้องขังทางการเมืองซึ่งถูกขังระหว่างพิจารณคดีหรือถูกคุมขังในชั้นสอบสวนทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระลอกแรก

แต่ในเดือนสิงหาคม การคุมขังระหว่างพิจารณาเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยหลังจากนั้นตลอดช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2564 ศูนย์ทนายฯ ได้รับรายงานอย่างต่อเนื่องว่า มีผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างน้อย 11 ราย ติดเชื้อระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ ได้แก่
  1. ทวี เที่ยงวิเศษ หรือ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า”
  2. นวพล ต้นงาม หรือ “ไดโน่ ทะลุฟ้า”
  3. นายวชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ หรือ “ปีก ทะลุฟ้า”
  4. ไพฑูรย์ ผู้ต้องหาคดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขว้างระเบิดใส่ คฝ.ที่ดินแดง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 64
  5. สุขสันต์ ผู้ต้องหาคดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขว้างระเบิดใส่ คฝ.ที่ดินแดง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 64
  6. คเชนทร์ ผู้ต้องหาคดีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันปาระเบิดเพลิงใส่ป้อมจราจรพญาไท ใน #ม็อบ30กันยา64
  7. จิตรกร ผู้ถูกล่าวหาในคดีครอบครองวัตถุคล้ายระเบิด เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64
  8. จักรี ผู้ถูกกล่าวหาในคดีครอบครองวัตถุคล้ายระเบิดปิงปอง เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 64
  9. ป๋าเจมส์ (นามสมมติ) ผู้ต้องหาจากกลุ่มทะลุแก๊ส
  10. ยุรนันท์ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีร่วมปาวัตถุคล้ายระเบิดบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 64
  11. ธีรเมธ ผู้ถูกกล่าวหาร่วมวางเพลิงเผารถกระบะของตำรวจ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64

อนึ่ง ปัจจุบันยังมีผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 15 ราย และในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 9 ราย ที่ติดโควิดในเรือนจำและได้รับการรักษาให้หายแล้ว อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะติดโควิดซ้ำอีกได้ทุกเมื่อ

บันทึกความเป็นอยู่และการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบสนาม

“โควิดมีเข้ามาในเรือนจำตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม แต่ระบาดเยอะช่วงเมษายน พอเดือนพฤษภาคมก็ยิ่งหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก เพราะข้างในนั้นแทบจะติดกันหมดทุกคนอยู่แล้ว”หนึ่งในคำบอกเล่าของป้าประพันธ์ อดีตผู้ต้องขังในคดี “สหพันธรัฐ” ที่ติดเชื้อระหว่างถูกคุมขัง

ผู้ต้องขังหลายรายพูดเป็นทำนองเดียวกันว่าโควิดในเรือนจำนั้นระบาดค่อนข้างรุนแรง นักโทษและผู้ต้องขังในเรือนจำติดโควิดเกือบทั้งหมด ประพันธ์บรรยายถึงความรุนแรงว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องมาทำกับข้าวให้นักโทษกินด้วยตัวเอง เนื่องจากผู้ต้องขังที่ทำงานครัวต่างติดโควิดหมด โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมมีผู้ติดเชื้อกันเยอะ แทบจะเป็นกันหมดทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในขณะนั้นว่ามีติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังติดเชื้อแล้วไม่น้อยกว่า 28,833 คน

ด้านผู้ต้องขังอีก 4 ราย ที่ได้รับการรักษาจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วอย่าง “นิว” สิริชัย, แซม สาแมท, “ฟ้า” พรหมศร และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ได้เคยสะท้อนถึงปัญหาความเป็นอยู่ สุขอนามัย รวมไปถึงความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการรักษาไว้ดังนี้

บันทึกความเป็นอยู่: เกมเอาชีวิตรอดใน รพ.สนาม

ในช่วงเวลานั้น ภายในโรงพยาบาลสนามในทัณฑสถานเป็นเพียงห้องกว้างโล่ง ซึ่งอัดแน่นไปด้วยผู้ป่วยนอนเรียงกัน บนแผ่นรองพื้นบางๆ พร้อมผ้าห่มคนละผืน นอนบนพื้นเรียงกันเป็นแถวอย่างน้อย 40-50 คน

“ที่นี่ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลยพี่” – ฟ้า พรหมศร

พรหมศรบรรยายถึงสุขลักษณะที่แย่และของใช้ในห้องมีอย่างจำกัด โดยระบุว่าในห้องขังมีสบู่เพียง 7 ก้อน แต่ห้องขังมีคนอยู่ 60 คน ทำให้ผู้ต้องขังต้องแย่งกันใช้ ผู้ต้องขังบางรายต้องใช้ผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจานมาใช้อาบน้ำแทน ทั้งที่ผู้ป่วยโรคโควิดควรต้องแยกของใช้ส่วนตัวกัน

ด้านแซมเล่าว่า คืนแรกที่เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม เขาต้องไปคุ้ยขยะเพื่อหาแกลลอนมาใส่น้ำดื่ม เพราะในห้องมีเพียงที่กรองน้ำ แต่กลับไม่มีภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่ม

“พี่ช่วยเอาข้าวมาแจกทุกคนที่นี่ได้ไหม สักมื้อก็ยังดี อยากให้เค้าได้กินอาหารดีๆ บ้าง ไม่งั้นมันจะหายป่วยได้ยังไง” – “นิว” สิริชัย นาถึง พูดกับทนายความก่อนได้รับการปล่อยตัว

นอกจากเรื่องความเป็นอยู่แล้ว พวกเขายังสะท้อนถึงปัญหาด้านโภชนาการที่แย่ไม่แพ้กันว่า อาหารที่นี่คุณภาพแย่มาก แม้จะมีอาหารให้ครบทั้งสามมื้อ แต่เวลาไม่แน่นอน อย่างมื้อเช้าจะได้รับอาหารเวลา 08.00 – 09.00 น. ได้รับข้าวต้มหรือกับข้าว มื้อเที่ยงจะได้รับอาหารเวลา 11.00 – 14.00 น. มักได้รับข้าวต้ม และมื้อเย็นจะได้รับอาหารเวลา 15.00 – 16.00 น. ได้รับกับข้าวถุง ซึ่งทุกคนใช้ช้อนส่วนตัว แต่หลังจากกินอาหารเสร็จแล้ว ก็ไม่ได้มีการจัดหาน้ำยาล้างจานให้

บันทึกการรักษา: ในวันที่ฉันป่วยและถูกกักขังไม่ต่างจากสัตว์

“ที่นี่ทุกคนรู้วันเข้า แต่ไม่รู้วันกลับ ไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ถึงเมื่อไหร่ เหมือนเอาสัตว์มาขังไว้เฉยๆ โดยให้เหตุผลว่าโควิด” – ฟ้า พรหมศร

จากคำบอกเล่าเกี่ยวการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดหลังกำแพงเรือนจำของผู้ต้องขังหลายคนสอดคล้องกันว่า ภายในเรือนจำมีแดนแยกสำหรับกักโรค และมีการตรวจ SWAB (การตรวจหาเชื้ออย่างเร็วผ่านการเก็บสารคัดหลั่งในโพรงจมูก) ทุกๆ 14 วัน หากมีผู้ติดเชื้อจะเปลี่ยนเป็นตรวจทุกๆ 7 วัน สำหรับผู้ติดเชื้อจะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือคนที่มีโรคประจำตัวเท่านั้นถึงจะได้เข้าไปรักษาในตึก เพื่อให้แพทย์ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด

ส่วนผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่อาการไม่หนักมากจะถูกนำไปรักษาตามอาการที่โรงพยาบาลสนาม โดยทุกรายจะได้รับยาพาราเซตามอล 5 เม็ด ยาแก้ไอ 5 เม็ด และยาแก้แพ้อีก 5 เม็ด หลังจากนั้นจะถูกปล่อยให้รักษาอาการต่อประมาณ 10-14 วัน ก่อนส่งกลับไปยังเรือนจำและกักตัวอีกครั้งก่อนถูกแยกแดน

“ที่โรงพยาบาลไม่มีศักยภาพในการดูแล ไม่มีศักยภาพในการจัดการโรคเลย ถ้าไม่มีใครอาการหนักไม่เป็นอะไรก็จะไม่มีใครมาดูแล” – ฟ้า พรหมศร

พรหมศรได้เล่าถึงความกังวลและไม่มั่นใจในกระบวนการรักษาพยาบาลกับทนายความขณะเข้าเยี่ยม โดยระบุว่า ในโรงพยาบาลสนามมีการขังผู้ต้องขังที่ป่วยไว้ด้วยกัน ทั้งยังผู้ป่วยใหม่ก็เข้ามาเรื่อยๆ ทุกวัน โดยไม่มีการแยกรอบ รวมไปถึงการที่หมอไม่เคยมาดูแล มีเพียงพยาบาลวิชาชีพที่มา

พร้อมทั้งยังเล่าถึงระบบการแจกจ่ายยาว่า หากใครมีอาการให้มาขอยาในช่วงเช้า พยาบาลจะเตรียมไว้ให้ แต่ไม่ได้เป็นการรักษาแต่อย่างใด รวมทั้งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่จะรักษากันเอง ในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะมีที่วัดไข้, ที่วัดความดัด และที่วัดออกซิเจนทิ้งไว้ ผู้ป่วยต่างใช้มันวัดด้วยกันเอง

นอกจากนี้ แซมยังเล่ากว่า ในห้องขังผู้ป่วยอื่นๆ ไม่ได้รับการตรวจเอกซเรย์แบบพวกเขา แต่เหมือนเอามาขังให้ครบ 14 วันแค่นั้นเอง พร้อมทั้งระบุว่า หลังมีการร้องเรียนไปทางเรือนจำจำนวนมาก ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องสบู่ และเรื่องการดูแลรักษา ทำให้ช่วงหลังหมอ (พยาบาล) มาบ่อยขึ้น

ขณะที่พริษฐ์เป็นเพียงผู้ป่วยรายเดียวที่ถูกนำไปรักษาบนตึกต่างจากคนอื่นๆ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรคประจำตัว ได้แก โรคหอบหืด ต้องให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด

“พึ่งฟ้าพึ่งฝนไม่ได้ ต้องพึ่งคนไข้ด้วยกัน” – พริษฐ์

พริษฐ์เล่าว่า ในห้องที่เขาอยู่เป็นห้องรวม ทุกคนติดโควิดและมีโรคประจำตัว โดยหมอจะมาตรวจช่วงเช้าเพียงครั้งเดียว ส่วนพยาบาลจะมาดูแลแค่ช่วงเช้าและช่วงค่ำ ด้านข้างเขารายล้อมไปด้วยผู้ป่วยที่อาการหนัก ซึ่งตั้งแต่ที่ถูกย้ายมารักษาตัวที่นี่มีผู้ป่วยรอบตัวเสียชีวิตไปแล้ว 2-3 คน

ทั้งยังระบุอีกว่า “บางคนเสียชีวิตกลางคืนไม่มีคนมาดู เช้ามาก็เก็บศพ ขนาดมีเครื่องอะไรสักอย่างของผู้ป่วยดังปิ๊บๆ เขาก็ปล่อยให้ดังทั้งคืน ไม่มีใครมาดูต้องรอถึงเช้า”

ย้อนอ่านเรื่องราวการรักษาผู้ต้องขังทางการเมืองที่ติดโควิดในเรือนจำ

‘คนในโรงพยาบาลสนามทุกข์ยาก…เหมือนเอาสัตว์มาขังไว้เฉยๆ’: เสียงสะท้อนจากฟ้า พรหมศร

“ที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาล ที่นี่มันคือคุก”: บันทึกเยี่ยมนิว แซม ฟ้า และเพนกวิน

เสียงสะท้อนจากนักกิจกรรมผู้ถูกคุมขังและติดโควิด: “โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพในการดูแล-จัดการโรค”

1 ปี สถานการณ์ฉุกเฉินรับมือโควิด: ผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุม

บันทึกผลกระทบจากมาตรการโควิดของรัฐต่อประชาชน

รัฐอ้างมาตรการโควิดไล่จับผู้แสดงออกทางการเมืองทำคดีด้านสิทธิเสรีภาพปี 64 พุ่งเกือบพันคดี

ประเทศไทยอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มานานกว่า 2 ปี ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 แม้รัฐบาลอ้างมาประกาศดังกล่าวมาใช้เพื่อควบคุมโรคระบาด แต่ในทางกลับกันประชาชนกลับได้รับผลกระทบมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเฉพาะประชาชนที่ออกมาขับเคลื่อนประชาธิปไตย เนื่องจากข้อกำหนดต่างๆ มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในหลายๆ ด้าน และยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้อย่างกว้างขวาง มิได้เป็นไปตามหลักความสมควรแก่เหตุเท่าใดนัก

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุการชุมนุมทางการเมืองไปไม่น้อยกว่า 1,415 ราย ใน 603 คดี โดยผู้ถูกแจ้งข้อหาจำนวนมากยังเป็นเพียงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาจากการบริหารงานล้มเหลว

อิสรภาพที่ถูกพรากไป และความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังทางการเมืองต้องแบกรับหลังกรงเหล็ก

นอกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองแล้วนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับผลกระทบมากพอสมควร คือ “สิทธิการประกันตัว” ในกระบวนการยุติธรรม หลังโควิดแพร่ระบาดสู่เรือนจำ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวกับการเมืองอยู่หลายครั้ง โดยมีใจความหลักคือ การลดความแออัดและลดความเสี่ยงติดเชื้อในเรือนจำ อย่างไรก็ตามศาลได้ยกคำร้องอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมืองทุกรายในเดือนมิถุนายน

ต่อมาในเดือนสิงหาคม หลังผู้ต้องขังทางการเมืองถูกจับกุมคุมขังเข้าเรือนจำอีกครั้ง ตลอดห้าเดือนทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพวกเขาอีกครั้ง มีจำนวน 15 รายที่ได้รับประกันตัวไป ส่วนแกนนำและประชาชนที่เหลือ ศาลยังคงยกคำร้อง

จนกระทั่ง 27 ธ.ค. 64 สี่แกนนำราษฎรที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ ประกอบด้วย อานนท์, พริษฐ์, ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์ ได้แจ้งผ่านทนายความว่า จะไม่ยื่นขอประกันคดีในศาลอาญาอีก พวกเขามองว่า การไม่ให้ประกันของศาลอาญา ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย หลักยุติธรรม และไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันรับรองไว้ และเชื่อว่าการไม่อนุญาตให้ประกันตัวไปสู้คดีอย่างเต็มที่นั้น เป็นการปิดโอกาสที่เขาจะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขา และเป็นการพิพากษาล่วงหน้าแล้วว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำความผิด

“คนที่ช่วยชีวิตผมได้มีแค่ศาล ญาติหรือทนายก็ช่วยผมไม่ได้ ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านกำลังนั่งอยู่ตรงหน้าคนที่กำลังจะตาย” – อานนท์ นำภา แถลงต่อศาล

นอกจากความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังทางการเมืองจะติดเชื้อโควิดแล้วนั้น ยังมีอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงกลางเดือนมีนาคม 2564 เมื่ออานนท์เขียนคำร้องถึงศาลอาญาระหว่างทำหน้าที่เป็นทนายสืบพยานในคดีคนอยากเลือกตั้ง ARMY57 โดยระบุว่า ในค่ำคืนวันที่ 15 มี.ค. 64 เกิดเหตุการณ์ผู้คุมพยายามนำตัวผู้ต้องขังทางการเมือง 7 ราย ออกไปควบคุมนอกแดนถึง 4 ครั้ง ในช่วงกลางดึก โดยอ้างว่าจะนำตัวไปตรวจโควิด ซึ่งผิดปกติวิสัยของเรือนจำที่จะไม่นำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน ทำให้เกรงกันว่าทั้งหมดจะถูกนำตัวไปทำร้ายถึงชีวิต

ด้านศาลมีคำสั่งต่อเรื่องดังกล่าว ระบุเชื่อว่าการอํานวยการปฏิบัติงานของรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นไปเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด และต้องการแยกตัวภาณุพงศ์ จตุภัทร์ และปิยรัฐ ไปคุมขังในสถานที่อื่น โดยไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะข่มขู่ คุกคาม หรือทําอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของอานนท์กับพวก

อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า การกระทําของเจ้าพนักงานเรือนจํา แม้จะไม่ถึงขนาดเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการกระทําโดยไม่คํานึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชนที่นานาอารยประเทศให้การรับรองและคุ้มครอง และเห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจําที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทําหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อให้อานนท์กับพวกได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่กฎหมายรับรอง

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

บันทึกเยี่ยมไมค์ บอย และนัท: ความเสี่ยงภัยโควิดและความคับแค้นของสามนักกิจกรรม

‘โควิด-19’ กับสิทธิที่หายไป: สำรวจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประเด็นการละเมิดสิทธิ และหนทางออกจากวิกฤตโรคระบาด

รายงาน COVID19 กับการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน

‘คืนสิทธิประกันตัว’ คือ ของขวัญปีใหม่ที่ดีที่สุด ย้อนดูชีวิต-ความฝัน หลังกรงขัง ของ 20 ผู้ถูกคุมขังคดีการเมือง