แจ้ง ‘112’ ผู้ป่วยจิตเวชอุบลฯ ทำลายรูป ร.10 แม้เจ้าตัวยืนยัน มีเสียงสั่งการจากเบื้องบนให้ทำลงไป
13/01/2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
2 เดือน หลังจากแต้ม (นามสมมติ) ชายวัย 31 ปี ผู้ป่วยจิตเวช ทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี รวม 3 แห่ง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 และตำรวจได้เข้าจับกุมในบ่ายวันเดียวกัน ตั้งข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” ซึ่งแต้มให้การรับสารภาพ ระบุว่ามีอาการหูแว่ว ได้ยินเสียงสั่งการจากเบื้องบน โดยในครั้งนั้น ผกก.สภ.ตระการพืชผล ยืนยันไม่แจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เนื่องจากไม่เห็นว่าแต้มมีเจตนา แต่เมื่อสำนวนคดีไปถึงตำรวจภูธรภาค 3 กลับมีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
เช้าวันที่ 12 มกราคม 2565 แต้มพร้อมกับสุ่น มารดาที่เป็นผู้ดูแล และวัฒนา จันทศิลป์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ตระการพืชผล ตามหมายเรียกผู้ต้องหา ที่ระบุว่าเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม แต่เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ พนักงานสอบสวนได้แจ้งเบื้องต้นว่า ตำรวจภูธรภาค 3 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนกลับและมีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม
ทนายวัฒนาได้อ่านทวนข้อกล่าวหาในครั้งก่อนให้แต้มฟังอีกครั้ง พร้อมทั้งคำให้การที่แต้มให้การรับสารภาพว่า มีอาการหูแว่ว ได้ยินเสียงสั่งการจากเบื้องบน จึงลงมือทุบทำลายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ดังกล่าว โดยไม่รู้สึกตัวว่าเป็นป้ายอะไร
ภาพแต้มและทนายความที่ สภ.ตระการพืชผล
จากนั้น พ.ต.ท.สมชัย ผาสุขนิตย์ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.ตระการพืชผล ในฐานะพนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาซึ่งมีเนื้อหาเช่นเดียวกับครั้งก่อนว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 09.00-10.00 น. แต้มได้ทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลตำบลตระการพืชผล ได้รับความเสียหายจำนวน 3 ป้าย ก่อนระบุเพิ่มเติมว่า เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง เป็นการละเมิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ
และแจ้งข้อกล่าวหาว่า พฤติการณ์ของแต้มเป็นความผิดฐาน ทำให้เสียทรัพย์ และหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
แต้มให้การรับสารภาพข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และปฏิเสธข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเพิ่มเติม ความว่ารู้ได้อย่างไรว่ามีพระบรมฉายาลักษณ์ ตั้งอยู่ ณ 3 จุดเกิดเหตุ?
แต้มบอกว่า ไม่รู้ ตอนนั้นอารมณ์อยากจะมาดูถนนที่ตนเคยสร้าง และตอนลงมือก่อเหตุก็ไม่รู้ว่าเป็นป้ายอะไร มีเสียงสั่งในหู รู้สึกคล้ายหูแว่วว่ามีคนสั่งให้ทำลายป้ายนั้น ขณะเดียวกันป้ายที่เห็นนั้นก็เป็นสีดำ ไม่มีรูปใดๆ เลย ภายในใจแล้วหากรู้ว่าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จะไม่ลงมือเลย เพราะตอนอยู่ที่บ้าน ตนก็กราบไหว้ทั้งเช้า-เย็น และปัจจุบันก็จุดธูปขอขมาด้วยความสำนึกผิดทุกวัน
จากบ้านมาที่เกิดเหตุ ห่างกันกี่กิโลเมตร? ประมาณ 15-16 กิโลเมตร แต้มตอบไป
มีอะไรจะให้การเพิ่มเติมหรือไม่? แต้มย้ำว่า ตนไม่รู้ว่าป้ายที่มีเสียงสั่งจากเบื้องบนให้ทำลายนั้นเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มันเห็นเป็นสีดำๆ หากรู้จะไม่ทำเด็ดขาด
ระหว่างบันทึกคำให้การ พนักงานสอบสวนได้กล่าวเชิงปลอบและให้กำลังใจแต้มว่า ไม่ต้องคิดมาก พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนทางกฎหมายด้วยรอยยิ้ม ก่อนปิดท้ายด้วยคำถามว่าขณะก่อเหตุมีสาเหตุโกรธเคืองใครมาหรือไม่? ไม่ครับ แต้มตอบ
หลังเสร็จสิ้นการสอบปากคำ พ.ต.ท.สมชัย นัดหมายแต้มให้เข้ามารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 24 มกราคม 2565 และยืนยันว่าจะไม่มีการจับกุมหรือฝากขัง สำหรับแต้มเองคิดว่าเขาก็ไม่ได้มีท่าทีจะหลบหนีแต่อย่างใด และยืนยันว่าจะมาตามกำหนดนัดของพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ ระหว่างเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา แต้มบ่นง่วงตลอดเวลา อาจเพราะฤทธิ์ยาระงับประสาท และยังบอกอีกว่าหากได้ทานจะง่วง แต่จิตใจจะนิ่งปกติ
ระหว่างรอตำรวจลงบันทึกประจำวัน แม่สุ่น แม่ของแต้ม เล่าว่าตนมีลูกชาย 3 คน แต้มเป็นลูกคนเล็ก ตั้งแต่กลับมาจากการรับราชการทหาร ก็มีอาการทางจิต เพราะได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะด้านซ้าย แต้มเป็นคนที่ใสซื่อ หากอยู่กับแม่จะเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา ก่อนหน้านั้นทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร กับพี่ชาย และเพื่อน
แม่เล่าอีกว่า วันหนึ่งเพื่อนมีอาการเหนื่อยล้า แต้มได้แนะนำให้ทานยาจิตเวชที่เขาทานอยู่เป็นประจำ แต่เหตุไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อพี่ชายและเพื่อนของเขาติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เพื่อนต้องกลับบ้านและบังเอิญนำยาที่เขาทานเป็นประจำนั้นกลับไปด้วย แต้มจึงไม่ได้ทานยาตามกำหนดในช่วงนั้น และได้กลับมาที่บ้านก่อนจะเกิดเหตุในคดีนี้ แม่บอกว่า ถ้าแต้มทานยาเป็นประจำ เขาจะเป็นคนสุภาพ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ทำงานในไร่ได้ แต่ถ้าไม่ได้ทานยา แต้มจะมีอาการหงุดหงิด ใครพูดอะไรก็ไม่ฟังเท่าไหร่นัก
แต้มและแม่กลับบ้านโดยเดินเท้าตามกันออกจาก สภ.ตระการพืชผล ซึ่งไม่รู้ว่าทั้งสองจะเดินต่อไปไกลแค่ไหน กว่าที่จะมีรถประจำทางผ่านมาและรับพวกเขาไปส่งถึงบ้าน
ทั้งนี้ หลังพนักงานสอบสวนปล่อยตัวแต้มโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เนื่องจากได้ควบคุมตัวครบ 48 ชั่วโมง ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ พนักงานสอบสวนได้นัดหมายแต้มมารายงานตัวที่ สภ.ตระการพืชผล รวม 4 ครั้งแล้ว แต่ละครั้งพนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวัน ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า ได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีหลักประกัน“โดยให้สาบานตนว่าจะมาพบพนักงานสอบสวนตามนัดหมาย” ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การสาบานตนใช้เครื่องมือควบคุมผู้ต้องหาได้ดีกว่ากฎหมายหรือไม่
นอกจากนี้ ในการรายงานตัว 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนได้นำตัวแต้มไปตรวจอาการทางจิตเวชที่โรงพยาบาลตระการพืชผล และโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและลงความเห็น ประกอบการพิจารณาสั่งคดี อย่างไรตาม ตำรวจยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติมอีก โดยทนายความและแต้มยังไม่ทราบว่า แพทย์ลงความเห็นต่ออาการป่วยของแต้มอย่างไร อีกทั้งหากตีความและบังคับใช้มาตรา 112 โดยเคร่งครัด การทุบทำลายรูปก็ไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว
ปัจจุบันแต้มอาศัยอยู่กับพ่ออายุ 62 ปี และแม่อายุ 59 ปี ประกอบอาชีพเป็นชาวนา ทุกปีแต้มจะช่วยพ่อและแม่ปลูกข้าวบนที่ดิน 2 ไร่ หากเว้นว่างจากนั้นก็จะไปรับจ้างก่อสร้างหรือตัดต้นไม้บ้างตามแต่จะมีผู้ว่าจ้าง โดยวันเกิดเหตุวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต้มบอกแม่ว่าจะไปพบนักการเมืองคนหนึ่งในอำเภอเพื่อขอสมัครงานก่อสร้าง แต่สุดท้ายเขาบอกแม่ว่ามีเสียงจากสวรรค์บอกให้เขาทำสิ่งที่เป็นต้นเหตุของคดีความนี้
หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 167 คน ใน 172 คดี