วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 15, 2564

นักการเมืองสังกัด ปชป. และ ภท. วิจารณ์ตรงกันว่าการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้บริหารในรูปของรัฐบาลผสม แต่กำหนดและบริหารจัดการโดย “กลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล” อ้าววว แล้วทำไมไม่ถอนตัว ?? BBC ไทย วิเคราะห์เรื่องนี้


รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเผชิญกับวิกฤตศรัทธาอย่างรุนแรง หลังบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตด้วยไวรัสร้ายทุบสถิติรายวัน สวนทางกับยอดผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรากฏ 2 ความเคลื่อนไหวสำคัญทางการเมือง นั่นคือ การล่ารายชื่อประชาชนเพื่อฟ้องดำเนินคดีอาญากับรัฐบาล ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกระแสกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากรัฐบาลผสม 19 พรรค โดยมีการเคลื่อนขบวน "คาร์ม็อบ" ไป 4 ที่ทำการพรรคร่วมฯ

นักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลยอมรับว่า รัฐบาลเดินมาถึงจุดต่ำสุด ความรู้สึกเกลียด-โกรธของประชาชนเดือดดาลยิ่งกว่าช่วงวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และช่วงที่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม "ฉบับเหมาเข่ง" เมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล ก่อนจบลงด้วยรัฐประหารในอีก 1 ปีต่อมา

แต่ถึงกระนั้น พวกเขายืนยันว่าจะร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ต่อไป และยังไม่มี "สัญญาณใหม่" ว่าด้วยการเปลี่ยนม้ากลางศึก


แนวร่วมกลุ่ม "ราษฎร" เดินขบวนจากแยกอุรุพงษ์ไปทำเนียบฯ เมื่อ 2 ก.ค. เพื่อขับไล่รัฐบาล

"กลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล"

ในขณะที่ผู้คนบางส่วนในสังคมตั้งคำถามว่า "ได้ยินเสียงร้องไห้ของประชาชนบ้างไหม"

บทสนทนาที่ดังวนในหมู่ผู้แทนราษฎรสังกัดพรรครัฐบาลคือ "จะไหวหรือเปล่า" ก่อนลงเอยว่า "ก็ลากกันไปแบบนี้"

รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ในภาวะตั้งรับกับโรคระบาดมากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว นับจากพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในไทยเมื่อ 12 ม.ค. 2563 เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายถึงขีดสุดด้วยยอดผู้ติดเชื้อหน้าใหม่เฉียดหมื่น และยอดผู้เสียชีวิตใกล้แตะหลักร้อยในแต่ละวัน สารพัดปัจจัยรุมเร้ารัฐบาลจึงถูกนำมากองบนโต๊ะของนักการเมืองมากประสบการณ์ เพื่อวิเคราะห์ทางเลือก-ทางรอดของ พล.อ. ประยุทธ์กับพวก

ปัจจัยแรก การบริหารวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล นักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) วิจารณ์ตรงกันว่าไม่ได้บริหารในรูปของรัฐบาลผสม แต่กำหนดและบริหารจัดการโดย "กลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล" แล้วแยกพรรคร่วมรัฐบาลออกไปเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง

คำว่า "กลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล" ถูกขยายความว่าหมายถึงนายพลที่มีบทบาทเป็นคลังความคิด หรือฝ่ายเสนาธิการ (ฝ่าย เสธ.) ของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ยุคหลังรัฐประหาร 2557 จนถึงยุคหลังเลือกตั้ง

"นายกฯ ฟังและเชื่อมาก จนเหมือนมีอีกโลกหนึ่งซึ่ง old school (สำนักคิดเก่า/ล้าสมัย) มาก ๆ ในขณะที่สังคมโลกสังคมภายนอกเป็นอีกแบบหนึ่ง" คนการเมืองสังกัด ภท. ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ กล่าวกับบีบีซีไทย


ศ. คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร (ซ้ายมือ) เป็นบุคคลที่นายกฯ เรียกว่า "พี่หมอ" และไว้วางใจในการประเมินสถานการณ์ด้านสาธารณสุขมากที่สุด

สอดคล้องกับข้อมูลของนักการเมืองค่าย ปชป. ที่ว่า แกนนำพรรคร่วมฯ ต่างรู้ดีว่ามีกลุ่มอำนาจเบื้องหลัง คสช. เดิมอยู่ แต่ไม่มีใครพูดกัน เป็นกลุ่มที่มีเอกภาพสูงมาก และมีทัศนคติไม่ดีกับฝ่ายการเมืองเป็นทุนเดิม ฝ่ายทหารคิดว่าทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาฝ่ายการเมือง

ต่อมาเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. โดยมีสถานบันเทิงย่านทองหล่อเป็นศูนย์การแพร่ระบาดครั้งใหม่ ทำให้ ภท. ถูกโจมตีอย่างหนักเมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการ ภท. กลายเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ติดเชื้อโควิด "จากคณะทำงาน" ที่ไปรับเชื้อมาจากเลาจน์หรูย่านทองหล่อ

เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ขุนทหารพลิกมาแสดงบทบาทนำ-เหนือกว่าฝ่ายการเมืองในการตัดสินใจแก้ปัญหาโควิด-19 จากวันนั้นจนถึงวันนี้


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ (ขวา) เลขาธิการ ภท. ร่วมงานวันเกิดพรรคเมื่อวันที่ 6 เม.ย. เพียงหนึ่งวันก่อนที่ผลการตรวจจะยืนยันว่าเขาติดโควิด-19

หลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันเรื่องนี้ หนีไม่พ้นการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง จัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อ 5 พ.ค. พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด โดยมีนายกฯ นั่งเป็น ผอ.ศูนย์เอง และยังปรากฏชื่อ พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ขณะที่ 2 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้ง รมว. และ รมช. มีเพียงเก้าอี้ที่ปรึกษารองก้น

นักการเมืองสังกัด ภท. และ ปชป. ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงหมอ ยืนยันตรงกันว่า สธ. เสนอให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ก่อนสงกรานต์ แต่ฝ่ายความมั่นคงไม่สนองตอบ เพราะประเมินว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เช่นเดียวกับการระบาด 2 ระลอกแรก จึงปล่อยคนกลับภูมิลำเนา ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามบานปลาย เกิดคลัสเตอร์แคมป์คนงาน เกิดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ เกิดกรณีวัคซีนไม่มาตามนัด ซึ่งท้ายที่สุดรัฐบาลก็ต้องตัดสินใจล็อกดาวน์ 14 วัน ตั้งแต่ 12 ก.ค.

เมื่อ "เทคโนแครตแข็งข้อ"

ปัจจัยที่สอง การบริหารวิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาล ในภาวะที่เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2 ฉบับ ทำให้หนี้สาธารณะชนเพดาน

คำถามที่เกิดขึ้นคือ เมื่อใช้เงินจนหมดหน้าตักแล้ว และจะขอกู้เพิ่มก็ไม่ได้ รัฐบาลจะหาเงินจากแหล่งใดมาดูแลประชาชน ท่ามกลางสภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่กว่าปีก่อน

ปัจจัยที่สาม วิกฤตศรัทธาจากมุมมองของผู้ใต้บังคัญชา ซึ่งนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลจับสัญญาณว่าการชิงแถลงข่าวของข้าราชการ สธ. ในวาระสำคัญ เช่น เสนอล็อกดาวน์รอบใหม่ ก่อนที่คณะกรรมการระดับชาติจะมีมติ สะท้อนภาวะ "ไม่ปกติ" หรืออาจไปถึงขั้น "เทคโนแครตแข็งข้อ" ต่อบรรดานายพลที่นั่งบัญชาการรบกับไวรัสโควิดอยู่ในปัจจุบัน


ปลัด สธ. นำทีมแถลง 5 มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เมื่อ 8 ก.ค. โดยให้ ศบค.จำกัดการเดินทาง-ปิดสถานที่เสี่ยง

"การยื่น (ข้อเสนอ) ไม่ปกติ เพราะมีการชิงแถลงก่อน เป็นไปได้หรือไม่ว่าเกิดการไม้ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์จากเทคโนแครตว่าคุณไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่เห็นชัดเจนว่านายกฯ มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไรนะ แต่การตัดสินใจล็อกดาวน์ ก็คือเป็นการโอนอ่อนผ่อนตาม" นักการเมืองสังกัด ปชป. ตั้งข้อสังเกต

"เราตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณกับสังคมว่าหมอใน สธ. คิดแบบนี้ แต่ผู้ตัดสินใจจะเอาหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง ซึ่งวิธีการแบบนี้ บางครั้งหัวหน้า (นายอนุทิน) ก็ควรทำบ้าง ออกมาบอกเลย สังคมจะได้รู้ว่าเราเสนอไปแล้ว แต่เป็นเขาที่ไม่เอา" ลูกพรรคของนายอนุทินกล่าว

ไม่มี "สัญญาณใหม่" ให้เปลี่ยนม้ากลางศึก

แม้ปัจจัยรุมเร้าจะทำให้สถานภาพของผู้นำรัฐบาลสุ่มเสี่ยงต่อการอยู่ในอำนาจต่อไป แต่พรรคร่วมรัฐบาลชี้ให้เห็น "ปัจจัยหน่วง" ไม่ให้นายกฯ คนที่ 29 พบจุดจบทางการเมืองในเร็ววัน ภายใต้ 3 ฉากทัศน์ทางการเมือง

นายกฯ ลาออก : ประเมินว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่มี "สัญญาณใหม่"

ภายใต้การรับรู้ของคนการเมืองพรรครัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ยังไม่เคยแสดงทีท่าว่าถอดใจ อีกทั้งยังไม่มี "สัญญาณใหม่" ที่บ่งชี้ว่าจะให้มีการเปลี่ยนม้ากลางศึก

นักการเมืองสังกัดพรรคที่มีเสียงเป็นอันดับ 2 ของรัฐบาลไม่เชื่อว่าการลาออกจากตำแหน่งนายกฯ คนที่ 29 จะเกิดขึ้นแบบในคราวที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ แสดงสปิริตประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ คนที่ 22 เมื่อ 6 พ.ย. 2540 หลังบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จนนำไปสู่วิกฤต "ต้มยำกุ้ง" เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่อยู่ในฐานะที่มีอิสระในการตัดสินใจทางการเมืองได้เอง

ประชาชนผู้ร่วมขบวนการ "คาร์ม็อบ" เมื่อ 10 ก.ค. ชูป้ายเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ดีหากมีเหตุให้ พล.อ. ประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่งจริง ก็จะส่งผลให้ ครม. พ้นจากอำนาจยกคณะ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยใช้บัญชีรายชื่อเดิมที่พรรคการเมืองยื่นไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อปี 2562

ขณะนี้มีแคนดิเดตเหลือเพียง 6 คน ในบัญชีของ 3 พรรค ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย

ยุบสภาแล้วไม่มีการเลือกตั้ง?

ยุบสภา : กังวลว่าการเลือกตั้งอาจไม่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

รัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน หากนายกฯ ยุบสภา ทว่าสิ่งนี้อาจไม่เกิดขึ้นในความเห็นของนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล เพราะแม้แต่การเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เคยวางปฏิทินกันไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ก็ยังไม่มีการกำหนดวัน-เวลาที่แน่ชัดออกมา จากสถานการณ์โรคโควิด-19

"มีใครมั่นใจหรือไม่ว่าหลังยุบสภา จะมีการเลือกตั้ง มันไม่มีอะไรการันตีเลยในสถานการณ์แบบนี้ เวลาเลือกตั้งมันยืดออกไปได้เรื่อย ๆ แม้ขัดรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าต่อให้มีการยุบสภา พล.อ. ประยุทธ์ก็ยังไม่ไปไหน ยังรักษาการไปเรื่อย ๆ" ส.ส. ภท. ระบุ


ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 5 มิ.ย. มีมติเห็นชอบให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 500 ต่อ 244

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่ 23 ของไทย เพิ่งออกมาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในเวทีของกลุ่ม CARE ผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ เมื่อค่ำ 13 ก.ค. นี้ โดยคาดการณ์ว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 และการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2565

"เดาแบบการเมือง ไม่ได้เดาแบบรู้ใจ" นายทักษิณกล่าว

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้า พปชร. มือกฎหมายของพรรค ออกมาให้สัมภาษณ์แทนผู้มีอำนาจยุบสภาว่า "พล.อ. ประยุทธ์ยืนยันว่าไม่ยุบ" และขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่จะไปถึงจุดนั้น

"จะไปเปลี่ยนรัฐบาลได้อย่างไร ตอนนี้เราเหมือนอยู่ในภาวะสงครามครั้งใหญ่ ต้องให้ผู้แก้ปัญหามีอำนาจเต็มที่ ต้องสู้กันต่อไป เมื่อสู้จนจบสงครามแล้ว ค่อยมาประเมินเขาผ่านการเลือกตั้ง" รองหัวหน้า พปชร. กล่าว

"จุดเลวร้ายที่สุดของภูมิใจไทย"

พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว : ประสานเสียงปฏิเสธการถอนตัวในเวลานี้

ท่ามกลางแรงกระแทกทางการเมือง แกนนำ พปชร. ไม่เชื่อว่าเพื่อนร่วมรัฐบาลจะทิ้ง พล.อ. ประยุทธ์

"ผมก็เห็นว่ามีกระแสกดดันตั้งแต่วันแรกว่าไม่ให้เขามาร่วมรัฐบาลไม่ใช่หรือ เขาก็ยังมาร่วม ตอนแรกยากกว่าตอนนี้อีก ยังหยุดพรรคร่วมฯ ไม่ได้เลย แต่เมื่อมาร่วมแล้ว มันถอนยากกว่า เปรียบเหมือนแต่งงานกันแล้ว จู่ ๆ จะมาหย่าขาด มันไม่ง่าย" นายไพบูลย์กล่าว


นายกฯ กล่าวมอบนโยบายและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานที่สถานีกลางบางซื่อ ระหว่างคิกออฟฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติเมื่อ 7 มิ.ย. โดยมี รมว. และ รมช.สธ. ร่วมด้วย

ด้านนักการเมืองสังกัด ภท. และ ปชป. วิเคราะห์ตรงกันว่า เงื่อนไขกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว มีเป้าหมายไปสู่การเลือกตั้งในสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังเสียเปรียบอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะนายกฯ และ สธ. ขณะที่ฝ่ายค้านกำลังได้เปรียบที่สุด

ลูกพรรคของนายอนุทินยอมรับว่าสถานการณ์ในขณะนี้เป็น "จุดเลวร้ายที่สุดของภูมิใจไทย เราแทบไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย ไม่ได้ตัดสินใจอะไรเลย เพราะ ศบค. เอาไปดูเองหมด แต่เราต้องถูกสังคมเข้าใจผิด ถูกด่าไปด้วย เพราะคนเข้าใจว่า สธ. คุมทุกอย่าง"

ข้อเสนอทางการเมืองของเขาคือ หัวหน้า ภท. จำเป็นต้องต่อรองเพื่อเอาอำนาจกลับมาบริหารเองบางส่วน อย่างน้อยในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่บนสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดแล้วเหมือนสถานการณ์ของ ภท. หากสามารถแก้ไขให้กลับมาฟื้นได้ หยุดการระบาดใหญ่ได้ ก็จะหยุดวงจรได้ทั้งประเทศ และหัวหน้าก็ได้กู้หน้าตัวเองด้วย


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้จัด "คาร์ม็อบ" นำทีมแรลลี่ไปยื่น จม. เปิดผนึกที่ทำการพรรคภูมิใจไทย เมื่อ 10 ก.ค. เรียกร้องให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล

นักการเมืองของสองพรรคร่วมฯ ระบุตรงกันว่า หากมีบางพรรคร่วมฯ ถอนตัว ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะล้มลงทันที เพราะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อาจไปเจรจาดูด-ดึง ส.ส. ฝ่ายค้านบางส่วนเข้ามาเติมเต็มเสียงรัฐบาลได้ ซึ่งก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าในการลงมติสำคัญ ๆ ใครพลิกมาโหวตให้รัฐบาลบ้าง แต่ถ้าหาฝ่ายค้านมาเสียบแทนไม่ได้ รัฐบาลก็จะอยู่ในสภาพรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งยังลากต่อไปได้อีกระยะ จนกว่าจะมีการลงมติสำคัญ ๆ ในสภา เช่น การผ่านร่างกฎหมายการเงิน หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

แม้คำภาษิตบอกว่า "การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร" แต่นักการเมืองร่วมรัฐบาลยังไม่คิดจะทิ้ง พล.อ. ประยุทธ์

"หากวิธีการทำการเมืองเป็นแบบทิ้งเพื่อน คราวหน้าใครจะคบคุณ ใครจะเอาคุณเป็นเพื่อน โดยมารยาททางการเมืองไม่มีใครทำแบบนั้น (ถอนตัวจากรัฐบาล) อย่างตอนน้ำท่วมปี 2554 หรือนิรโทษกรรม ก็มีแรงกดดันให้พรรคร่วมฯ ถอนตัว แต่ไม่มีใครถอน" นักการเมืองค่ายภูมิใจไทยบอก

รัฐบาลผสม 19 พรรค มีเสียงในสภารวมกัน 271 เสียง ในจำนวนนี้เป็นเสียงของ ภท. 61 เสียง และ ปชป. 48 เสียง

จุดตัดสินใจของ ปชป.

นอกจากสไตล์การเมือง ยังมีรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นปัจจัยหน่วงที่ทำให้บางพรรคร่วมฯ ไม่คิดถอนตัวตามแรงยุของคนนอกรัฐบาล จนกว่าการรื้อระบบเลือกตั้งจะสำเร็จ โดยเปลี่ยนจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยก ส.ส. เขต กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แบบรัฐธรรมนูญปี 2540

"จุดนั้นจะเป็นจุดแตกหักในการตัดสินใจทางการเมือง ตอนนี้ทุกพรรคก็เตรียมพร้อมเลือกตั้งแล้ว เพราะรู้ว่าอย่างไรเสียจุดจบของรัฐบาลต้องมาถึงจากการแก้ไขวิกฤตโควิดไม่ได้" อดีตรัฐมนตรีสังกัด ปชป. วิเคราะห์


ผู้ประท้วงขับไล่รัฐบาลแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการแขวนผ้าขาวห่อศพ (จำลอง) หน้าที่ทำการ ปชป. เมื่อ 10 ก.ค.

ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และหัวหน้า ปชป. ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระ 1 ขั้นรับหลักการแล้ว คาดว่าจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา วาระ 2 กลางเดือน ส.ค. และพิจารณาวาระ 3 ต้นเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้อาจถูกยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจากไม่ได้เสนอแก้ไขมาตราต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวในการฟ้องดำเนินคดีกับรัฐบาลซึ่งจุดประเด็นโดยนักวิชาการด้านกฎหมาย ก่อนที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านจะรับลูกเปิดแคมเปญล่ารายชื่อประชาชนได้นับแสนคน 3 นักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง พปชร., ภท. และ ปชป. ไม่วิตกกังวล และมองว่าเป็นเกมการเมืองเพื่อสร้างกระแสกดดันรัฐบาล และสร้างคะแนนนิยมให้พรรคที่เปิดประเด็นในช่วงที่รัฐบาลอ่อนกำลังลง โดยเห็นว่า ในทางกฎหมาย "ไม่มีน้ำหนักพอ" เพราะเมื่อเป็นคดีอาญาต้องพิสูจน์เจตนาของผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งรัฐบาลมีทางแก้ได้เยอะ โดยเฉพาะการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเกราะคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานอยู่

ที่มา บีบีซีไทย
โควิด-19 : ปชป.-ภท. เปิดเงื่อนไขไม่ทิ้งประยุทธ์ ท่ามกลางแรงกดดันให้ยุบสภา-ลาออก-ถอนตัว