วันจันทร์, กรกฎาคม 26, 2564

เว็บไซต์ 112 เท่าที่เล่าได้ เปิดตัวเมื่อไม่นานนี้ ชวนอ่าน เรื่องราวของ จตุพร แซ่อึง หรือ นิว ผู้ตกเป็นผู้ต้องหา 112 เพราะแต่งชุดไทยร่วมงานแฟชั่นโชว์


เว็บไซต์ The Isaan Record ผลิตเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายตอน ภายใต้ซีรีส์ชุด อีสานกับมาตรา 112 คงไม่ใช่การท้าทายอำนาจผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นเพราะเกิดปรากฏการณ์การใช้กฎหมายมาตรานี้ทำร้ายทำลายผู้คน ผู้เห็นต่างทางการเมืองและเกิดการฟ้องร้องอย่างนับไม่ถ้วน

บ่ายวันหนึ่ง The Isaan Record ก็ได้รับโทรศัพท์จากหนึ่งในทีมงานผู้ผลิตเนื้อหาบนเว็บ https://112story.com บอกว่า จะเปิดตัวเว็บไซต์นี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 พร้อมกับส่งอีเมลมาแนะนำตัว

เราสนใจเนื้อหาจึงรีบกดเข้าไปดู ซึ่งก็เห็นว่า เนื้อหาถูกย่อยให้อ่านง่ายและสะดุดตา ดังนั้นเว็บไซต์นี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่ต้องการหาข้อมูลของผู้ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายมาตรานี้ โดยเฉพาะการเติบโตและการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ในจำนวนนี้ไม่น้อยเลยเป็นคนมาจากดินแดนที่ราบสูง

นี่เป็นส่วนหนึ่งของข่าวแจก หรือ press released ที่มีความแปลกใหม่ แหลมคมจากทีมงานผู้ผลิตเนื้อหาเว็บไซต์ https://112story.com

….

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่แต่ในคำว่า “112” มีความกลัว ตั้งแง่และเส้นหนาหนักระหว่างคนสองฝั่งซ่อนอยู่ คำถาม คือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

#112เท่าที่เล่าได้ (https://112story.com) คือ เว็บไซต์ที่จะมาสร้างบทสนทนาถึงกฎหมายมาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) ภายใต้บรรยากาศใหม่ ไม่เริ่มต้นด้วยการตั้งแง่จ้องโยน “หลักการ” เข้า ทุ่มเถียง หรือ ปิดงดไม่พูดถึงเพราะความกลัว เว็บไซต์#112เท่าที่เล่าได้จะชวนคุยด้วยคำถามตั้งต้นว่า “เรา” กับ “เขา” – ผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 – มีอะไรที่ “เหมือน” กันบ้าง

อาหารที่ชอบ เพลงที่หลงใหล ความฝันที่อยากพาตัวเองไปให้ถึง ความรักที่หล่อเลี้ยงหัวใจและตัวตน และ “ความธรรมดาสามัญ” อื่น ๆ ที่หากลองนั่งพูดคุยกันแล้ว “เรา” กับ “เขา” อาจมีบางมุมที่ไม่ต่างกัน

#112เท่าที่เล่าได้เกิดขึ้นจากความต้องการสร้าง “ความปกติ” ให้การพูดคุยประเด็น “112” ความเชื่อที่ แตกต่าง ความรักความศรัทธาจากมุมที่ต่างกัน ทำให้หลายครั้งผลลัพธ์การพูดคุยจบลงที่ความรุนแรง จุดหมายปลายทางของ #112เท่าที่เล่าได้ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนความคิดคนเห็นต่างด้วยข้อมูลทางวิชาการ (เพราะมี งานวิชาการที่นำเสนอข้อมูลอย่างเป็นจริงและรอบด้านอยู่มาก และโปรเจกต์นี้ก็ใช้ข้อมูลเหล่านั้นเป็นหลังพิง) แต่ อยากชวนมองผู้ถูกดำเนินคดี 112 ในฐานะมนุษย์ลดภาพจำ ลดอคติต่อผู้ถูกดำเนินคดีลง เหลือเพียงแต่ความเป็น มนุษย์ที่เปราะบาง เข้มแข็ง อ่อนแอ มุ่งมั่น ฯลฯ

เว็บไซต์#112เท่าที่เล่าได้ คือ ผลผลิตจากทีมงานกว่า 30 ชีวิต หลากหลายวงการทั้งกลุ่มเคลื่อนไหว นักกฎหมาย นักสื่อสาร และนักออกแบบ โดยเริ่มจากการประมวลข้อมูลผู้ต้องหาทั้งหมดจากเอกสารราชการ ข่าว บทความ และบทสัมภาษณ์มากมาย และเลือกสรร 30 รายแรกมาค้นคว้าเพิ่มเติม และเล่าเรื่องของพวกเขาผ่าน Data Visualization ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นควิซ โฟโต้บุ๊ก แผนภูมิ ฯลฯ อย่างไรก็ดี 30 รายแรกเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ทีมงานตั้งใจที่จะค้นคว้าและประมวลข้อมูลของผู้โดนคดีให้ครบทุกคนต่อไปในอนาคตเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เว็บไซต์เป็นที่รู้จักในวงกว้างจนบรรลุจุดประสงค์
….
The Isaan Record จะขอยกตัวอย่างเรื่องราวของ จตุพร แซ่อึง หรือ นิว ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 112 เพราะแต่งชุดไทยร่วมงานแฟชั่นโชว์

จตุพร แซ่อึง ชาว จ.บุรีรัมย์ ที่ฝันอยากจะเป็นเซฟ

จตุพร แซ่อึง

ทั้งคุณและนิวต่างมองว่า การทำงานเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตมากกว่าการเรียนในระบบ ความมุ่งมั่นในการทำงานหาเงินและโอกาสในการฝึกทักษะต่าง ๆ เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวคุณมาเสมอ และบางทีความมุ่งมั่นนี้อาจถูกถ่ายทอดให้รับรู้ได้ผ่านความพิถีพิถันในอาหารจานเด็ดหรือผลงานที่คุณทำ ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานทำให้คุณเป็นคุณในทุกวันนี้ และนิวเองก็คงได้เติบโตขึ้นในทุก ๆ วันเหมือนกับคุณ ถ้าวันหนึ่งนิวไม่ได้ถูกเรียกว่า ‘นักโทษ 112’

รู้จักเขาให้มากขึ้น

หนูเป็นคนบุรีรัมย์ เป็นเด็กบ้านนอกปกติทั่วไป ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะ ตอนเด็กๆ หนูจำได้ว่าหนูแทบไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เลยเพราะพอแม่คลอดหนูได้ 20 วันแม่ก็ไปทำงานที่สงขลา

พ่อกับแม่หนูทำงานสร้างถนนก็จะเดินสายไปทั่ว หลายจังหวัด หนูจึงโตมากับยาย ตา และน้าสาว ด้วยความที่นานๆ ทีจะเจอพ่อแม่ เวลาได้นอนกับเขาหนูก็จะไม่ยอมนอน ชอบสังเกตแสง (ของท้องฟ้า) ด้านนอกว่าใกล้เช้าหรือยัง ไม่อยากนอน เพราะกลัวตื่นมาตอนเช้าแล้วเขาจะหายไป

หนูเป็นเด็กแก่นๆ ที่ค่อนข้างดื้อและเกเร ไม่ค่อยเรียนหนังสือ ชอบเตะบอล และรู้ตัวว่าเป็นเพศหลากหลายตั้งแต่ ป.4 เพราะเราอยู่ในกลุ่มผู้ชายแล้วไม่ได้ชอบใครในกลุ่มนั้นเลย แต่กลับชอบเพื่อนผู้หญิง

หนูเป็นคนชอบหาเงินมาตั้งแต่เด็ก สมัย ป.6 หนูอยากได้ลำโพงบลูทูธที่แพงมาก แม่ไม่ให้เงิน ก็ไปหาเงินด้วยการไปกรอกปุ๋ยขี้ไก่ กระป๋องละ 1 บาทเพื่อมาซื้อสิ่งที่ตัวเองอยากได้ เพราะครอบครัวไม่ได้มีเงินเลย

หนูเป็นคนชอบทำอาหารและงานฝีมือ ฝันอยากเป็นเชฟตั้งแต่เด็ก ออกมาทำงานเป็นบาริสต้าและผู้ช่วยในครัวของร้านอาหารตั้งแต่ ม.ต้น แต่ก็เรียนกศน.ไปด้วยจนจบ ม.3

หลังๆ หนูขยับขยายมาทำในโรงแรมเป็นผู้ช่วยเชฟอยู่ 2-3 ปี จนกระทั่งมีโควิดรอบแรก ตอนนั้นพ่อแม่เริ่มมีฐานะ เริ่มมีกินมีใช้ขึ้นมาหน่อย แล้วโรงแรมมีการคัดคนออก เราสงสารเพื่อนๆ บางคนยังตั้งท้องอยู่เลย เลยตัดสินใจลาออกดีกว่า ให้เพื่อนได้อยู่ต่อ

ก่อนหน้านี้หนูไม่สนใจการเมืองเลยเพราะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา แต่หลัง ๆ มาก็เริ่มเห็นหลาย ๆ เรื่องและตั้งคำถาม เช่น เรื่องการเลือกตั้งที่มีบัตรเขย่ง เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ เรื่องรายได้ของเกษตรกร ไหนจะเบี้ยคนชราแค่ 600 บาทที่ไม่พอใช้ มันมาจากการบริหารของรัฐทั้งนั้น

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หนูเริ่มออกมาเรียกร้องทางการเมืองร่วมกับกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ก่อนจะขึ้นกรุงเทพฯ มาร่วมม็อบกับกลุ่ม We Volunteer ที่รักษาความปลอดภัย

10 ธันวาคม 2563 หมายเรียกคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่งไปถึงบ้านนิวที่จังหวัดบุรีรัมย์​ โดยแอดมินเพจ ‘เชียร์ลุง’ แจ้งความฟ้องนิวจากกรณีใส่ชุดไทยเดินแฟชั่นบน People’s Runwayในงานศิลปะราษฎร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2564) คดีอยู่ในชั้นอัยการ

น้าที่อยู่บ้านถ่ายรูป (หมายศาล) ส่งมาให้ หนูโทรหาแม่ ตอนแรกแม่ก็ไม่เข้าใจจนหนูอธิบายให้ฟังว่ากฎหมายข้อนี้มันมีปัญหา แม่รู้ไหมว่าคนที่มาแจ้งหนู หนูไม่ได้รู้จักเขา เราไม่เคยเกลียดไม่เคยชังกันมาก่อนเลย ก็พยายามอธิบายกับแม่ไปจนเขาเข้าใจ

ก่อนหน้านี้ที่หนูออกมาเรียกร้อง พ่อแม่หนูไม่เห็นด้วยเลย ถามว่าเราทำไปทำไม ไม่ได้เดือดร้อน แต่พอเจออย่างนี้แม่ก็บอกให้สู้ต่อ เอาเลยลูก โดนอย่างนี้เราถอยไม่ได้แล้ว เราก้าวขาเข้าไปข้างหนึ่งแล้ว

วันที่หนูไปรับทราบข้อกล่าวหาคือวันที่ 17 ธันวาคม 2563 เขาบอกว่า นางสาวจตุพร แซ่อึง แต่งตัวด้วยชุดไทยสีชมพู ถือกระดาษสีทองมาเดินพรมแดง มีการตะโกนว่าทรงพระเจริญ มีคนเข้าไปกราบ เป็นการดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองครัชทายาท และเขาบอกว่าหนูมีการเตรียมตัวมาแล้วให้คนตะโกน ซึ่งหนูไม่ได้รู้จักใครที่ตะโกนวันนั้นเลย

หนูก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอไม่ให้การใด ๆ ทั้งสิ้น และจะส่งคำให้การเป็นสำนวนภายใน 30 วัน โดยได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนทำสำนวนให้

หลังจากส่งคำให้การหนูก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ ถามว่ากลัวไหม เพราะคนที่โดนคดี 112 เข้าคุกและไม่ให้ประกันตัวทั้งนั้นเลย บอกตรง ๆ ว่าหนูไม่กลัว เพราะหนูออกมาตรงนี้ […] มันมีราคาที่เราต้องจ่ายอยู่แล้ว

หนูก็ทำใจไว้แล้วในระดับหนึ่งก่อนจะก้าวมาถึงจุดนี้ หนูไม่เคยเสียดายหรือเสียใจเลย ถ้าย้อนกลับไปได้ก็น่าจะทำเหมือนเดิม และจะทำหนักกว่านี้ด้วย ถ้าโดนจับเข้าคุกจริง ๆ ออกมาหนูก็คงต่อสู้เหมือนเดิม

เป้าหมายที่หนูวางไว้ในใจ ที่จะทำให้หนูเลิกต่อสู้ได้ คือเราควรได้ระบบประชาธิปไตยเต็มใบ การมีประชาธิปไตยส่งผลต่อเรื่องยิบย่อยเช่นเรื่องสวัสดิการและคุณภาพชีวิต

หนูอยากให้คนไทยมีสวัสดิการดี ๆ คุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ที่ค่าแรงขั้นต่ำบางคนยังไม่ได้รับ หรือที่เห็นชัดที่สุดคือ การเยียวยาช่วงโรคระบาดก็ไม่ได้ทุกคน

เราเสียภาษีไปก็อยากเห็นอะไรที่พัฒนา และอยากให้คนบริหารประเทศเห็นหัวประชาชนบ้าง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เปลี่ยนชีวิตใครหลายคนไปตลอดกาล

จากคนธรรมดาที่มีความเชื่อ ความฝัน เป็นคนสำคัญของครอบครัวและเพื่อนพ้อง คนธรรมดาที่ชีวิตมีทั้งรอยยิ้มและรอยน้ำตา คนธรรมดาที่ตกเป็นจำเลยทางความคิดของสังคมไทย

…..

รู้จักกฎหมายมาตรานี้และอ่านเรื่องราวของพวกเขาอีกทั้ง 29 คน ได้ทางเว็บไซต์ https://112story.com/