วันอาทิตย์, พฤษภาคม 01, 2559

'สมศักดิ์ เจียม' เรียกร้องกลุ่มองค์กรที่ทำเรื่องเกี่ยวกับออนไลน์ เช่น Thai Netizen และอื่น ๆ ทำเรื่องสอบถามไปยังบริษัทเฟซบุ๊คอย่างเป็นทางการ เพื่อทราบนโยบายการให้ข้อมูลส่วนบุคคลต่อรัฐ กรณีอานนท์ นำภา บอกว่า เจ้าหน้ารัฐสามารถรู้ข้อความหลังไมค์ของผู้ต้องหา






ากกรณีล่าสุด สัมภาษณ์คุณ อานนท์ นำภา ที่ว่า เจ้าหน้าที่สามารถรู้ข้อความหลังไมค์ของผู้ต้องหา โดยที่ผู้ต้องหาไม่ได้เปิดหรือถูกบังคับมอบรหัสให้ (ดูกระทู้ก่อนหน้านี้) โดยที่อานนท์สันนิษฐานว่า ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่แฮ็คเอง ทางบริษัทเฟซบุ๊ค ก็เป็นคนให้ข้อมูล

ผมคิดว่า - ขอเสนอและเรียกร้องว่า - ทางกลุ่มองค์กรที่ทำเรื่องเกี่ยวกับออนไลน์ เช่น Thai Netizen Network (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) หรือผู้ก่อตั้ง เช่นคุณ Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล และท่านอื่นๆ

ควรทำเรื่องสอบถามไปยังบริษัทเฟซบุ๊คอย่างเป็นทางการ เพื่อทราบนโยบายว่า ตกลงเฟซบุ๊ค มีนโยบาย หรือเคยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ในการเข้าถึงข้อมูลหรือแอ๊คเค้านท์ของผู้ใช้หรือไม่ จะได้ยืนยันหรือตัด ความเป็นไปได้เรื่องนี้ให้ชัดเจน

ผมว่าเรื่องนี้ซีเรียสอยู่

Somsak Jeamteerasakul


ความเห็นเพิ่มเติมจากข่าว...


อันนี้ต้องขยายต่อจริงๆครับ น่ากลัวมาก ถ้าเฟสบุ๊คให้มันก็ขัดกับนโยบายความเป็นส่วนตัว ยื่นฟ้องเฟสบุ๊คหนักๆได้เลย
ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐแฮค เจ้าหน้าที่รัฐก็ทำผิดพรบ.คอมเสียเอง
.....




ooo


คำแนะนำเบื้องต้นกรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย






ที่มา Thai Lawyers for Human Rights
24 ธค. 2015

เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?

การโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้นหากจะถูกจับกุมควรปฏิบัติดังนี้

1) สอบถามว่ามีหมายจับหรือไม่

2) ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ ว่าชื่ออะไร สังกัดอะไร

3) เราจะถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร

4) เราจะถูกพาตัวไปที่ไหน

5) แจ้งให้ญาติหรือคนที่ใกล้ชิดทราบโดยด่วน
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะทำการค้นบ้านหรือที่ทำงานควรปฏิบัติดังนี้

1) สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่

2) ยืนยันว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าเราผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยาน

3) ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน

4) ขอบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน
พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำหรือสั่งให้เราทำสิ่งต่อไปนี้ได้ก็ต่อเมื่อมี “หมายศาล” อนุญาตให้ทำได้ หากไม่มีหมายศาล พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจและเราก็มีสิทธิที่จะไม่ทำตาม

1) คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของเรา

2) สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟรชไดร์,แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่

3) ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา

4) ถอดรหัสผ่าน (password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้าpassword หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในกากระทำการดังกล่าว

5) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น





กรณีเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ควบคุมตัวและค้น

1) บุคคลซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้เป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หรือ“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หากไม่ได้รับการแต่งตั้งย่อมไม่มีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558

2) ผู้ถูกควบคุมตัวต้องขอดูบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อพิสูจน์ว่ามีอำนาจดังกล่าวจริง
เมื่อถูกควบคุมตัวเราควรมีปฏิบัติดังต่อไปนี้ โดยพึงระลึกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับเรา

1) ไม่ควรสนทนากับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม หากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใดๆ รวมทั้ง Username (ชื่อผู้ใช้) และ Password (รหัสผ่าน) และไม่ควรใช้อารมณ์โต้เถียงประเด็นต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกควบคุมตัว เช่น นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี

2) อย่าวิตกกังวลไปกับการข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ พยายามควบคุมสติให้ได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์กดดัน

3) ข้อเสนอแลกเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ที่ต่อรองว่าหากรับสารภาพจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าปกติ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เราไม่ควรตกลงเนื่องจากจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง เพราะข้อเสนอล้วนไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและไม่สามารถกระทำได้จริง

4) หากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสาร ควรสงบสติอารมณ์ให้นิ่งและอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ โดยต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมตัวคิดหรือคาดเดาไปเองหากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซ็นได้

5) โปรดระวังเอกสารและข้อมูลทุกชนิดที่เราให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะถูกนำมาใช้ในชั้นศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้

6) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวเราได้สูงสุดเพียง 7 วันเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ขู่ให้บอกข้อเท็จจริงหรือเซ็นเอกสารต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เราควรตั้งสติและตระหนักเสมอว่าคำขู่ต่างๆ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้จริง เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
เราควรปฏิบัติตัวเช่นไรและควรให้การอย่างไรกับพนักงานสอบสวนเมื่อถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ

1) ไม่ควรให้การใดๆกับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้น

2) หากไม่มีทนายความของตนเอง เราควรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา หรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การใดๆ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น

3) ข้อพึงระวัง 1. เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้ และ 2. การให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู่คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านในชั้นศาล

สำหรับผู้ที่สนใจคำแนะนำของศูนย์ทนายความฯฉบับเผยแพร่สามารถ Download เป็นเอกสารได้ที่ 2015-12-17_Guideline on arrested from using social media