วันอาทิตย์, พฤษภาคม 01, 2559

ทำเพจ 'เรารักพล.อ.ประยุทธ์' เสียดสี ล้อเลียน ผิดต่อคนหรือผิดต่อรัฐ?





ที่มา ILAW

ทำเพจ 'เรารักพล.อ.ประยุทธ์' สะเทือนถึงความมั่นคง ?

29 เมษายน 2559

ประเด็นร้อนสองสามวันที่ผ่านมาคงจะหนีไม่พ้นเรื่องทหาร-ตำรวจนำกำลังไปจับคนเก้าคนจากสถานที่ต่างๆในช่วงรุ่งสางของวันที่ 27 เมษายน ก่อนจะนำตัวมาไว้ที่ค่ายทหาร มทบ.11 หลังมีการตั้งคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงชะตากรรมและสาเหตุการควบคุมตัวอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ ทาง คสช.โดย พ.อ.วินธัย สุวารี ได้ออกมาเปิดเผยว่าบุคคลทั้งเก้าถูกควบคุมตัวเพราะทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (http://www.prachatai.com/journal/2016/04/65480)

ตั้งแต่การจับกุมทุกอย่างดูจะคลุมเครือทั้งสถานที่ควบคุมตัวและสาเหตุของการจับกุม จะมีข่าวดีอยู่บ้างก็คือ หนึ่งในเก้าผู้ถูกคุมตัวได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำวันเดียวกัน (27 เมษายน 2559) และความคลุมเครือถึงสาเหตุการจับกุมมากระจ่างในช่วงเย็นวันที่ 28 เมษายน 2559 ทางตำรวจจัดแถลงข่าวการจับกุม ระบุว่าผู้ต้องหาแปดคนและอีกหนึ่งคนที่อยู่ต่างประเทศ (ไม่ได้ถูกจับุกม) เกี่ยวพันกับเฟซบุ๊กเพจ 'เรารักพล.อ.ประยุทธ์' มีเนื้อหาเสียดสีทั้งตัว พล.อ.ประยุทธ์, รัฐบาล ไปจนถึง คสช. มีความเป็นไปได้ว่าเนื้อหาในเพจดังกล่าวจะเสียดสี พล.อ.ประยุทธ์อย่างรุนแรง แต่วิธีจับกุมรวมทั้งการตั้งข้อหาความมั่นคงดังที่เกิดขึ้นก็ควรจะต้องถูกตั้งคำถามว่าเป็นเรื่องที่ควรแก่เหตุแล้วหรือไม่ และการเสียดสีหรือกระทั่งการด่าทอรัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลกับความมั่นคงในอธิปไตยแห่งรัฐเป็นสิ่งเดียวกันหรือคนละสิ่ง

เสียดสี ล้อเลียน ผิดต่อคนหรือผิดต่อรัฐ

การวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัฐบาลหรือบุคคลสาธารณะอื่นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปรวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น วาดภาพการ์ตูนล้อเลียน ปราศรัยโจมตีในเวทีชุมนุมต่างๆ และโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ โดยทั่วไปเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผู้นำรัฐบาล นักการเมือง หรือบุคคลสาธารณะอาจจะเลือกตอบโต้ได้หลายวิธี ทั้งการอยู่เฉยๆ ไม่ให้ความสนใจ ออกมาชี้แจงต่อสาธารณะ หรือหากมองว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ก่อให้เกิดความเสียหายเกินกว่าเหตุก็จะอาจจะเลือกใช้วิธีฟ้องหมิ่นประมาท

เท่าที่มีข้อมูลในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยมีกรณีชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง (http://freedom.ilaw.or.th/th/case/475) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิจารณ์ยิ่งลักษณ์กล่าวตำหนิการรัฐประหาร 2549 ระหว่างการประชุมที่ประเทศมองโกเลีย ชัย ราชวัตรพูดถึงยิ่งลักษณ์อย่างรุนแรงในทำนองว่าเป็นคนชั่วและพูดถึงผู้หญิงค้าบริการ เบื้องต้นยิ่งลักษณ์ให้ทีมกฎหมายเข้าแจ้งความชัยราชวัตรในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ซึ่งต่อมาไม่ปรากฎว่าคดีไปถึงชั้นศาลหรือไม่

นอกจากนี้ก็มีกรณีที่ยิ่งลักษณ์เป็นโจทก์ร่วมฟ้องดำเนินคดี ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กับพวกรวม 3 คน กรณีกล่าวหายิ่งลักษณ์ในรายการสายล่อฟ้าทำนองว่า ยิ่งลักษณ์ไม่เข้าร่วมภารกิจประชุมของรัฐสภา และน่าจะเดินทางไปกระทำภารกิจ ว.5 ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ซึ่งคดีนี้ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ให้จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 5 หมื่นบาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้สองปี (http://www.naewna.com/politic/176011)

เหตุแห่งคดีตัวอย่างทั้งสองเกิดขึ้นในสมัยที่ยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่การฟ้องคดีก็เป็นการฟ้องหมิ่นประมาท ไม่ใช่การฟ้องคดีความมั่นคง เพราะถึงแม้ทั้งสองกรณีจะเป็นการวิจารณ์ยิ่งลักษณ์จากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นความเสียหายที่เกิดกับยิ่งลักษณ์ในฐานะปัจเจก ไม่ใช่ความเสียหายต่อรัฐ

กรณีเฟซบุ๊ก 'เรารัก พล.อ.ประยุทธ์' ภาพสะท้อนแนวคิด 'ข้าคือรัฏฐาธิปัตย์'

จากเช้าวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่ทหารตำรวจกระจายกำลังกันจับกุมบุคคลต่างๆ รวมเก้าคน มาที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง ญาติของผู้ถูกจับคนหนึ่งเล่าว่า มีคนแต่งกายคล้ายทหารประมาณสิบนายงัดประตูบ้านเข้ามาถามหาหลานชายโดยไม่มีหมายค้นหรือหมายจับ (https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/993965397319981)

ขณะที่ญาติของผู้ถูกจับอีกคนหนึ่งก็เล่าว่า เจ้าหน้าที่กดกริ่งติดต่อกันหลายครั้ง เมื่อเปิดประตูช้า เพราะมัวหากุญแจก็มีเจ้าหน้าที่บางส่วนปีนเข้ามาพร้อมต่อว่าทำนองว่า ทำไมเปิดช้า ทำลายเอกสารอยู่หรือ จากคำบอกเล่าของญาติทั้งสอง เบื้องต้นหลายคนคงจินตนาการว่านี่คือฉากการจับกุมอาชญากรในฉากภาพยนตร์ แต่ในภายหลังกลับกลายเป็นว่าทั้งสองและพวกอีกหกคนถูกจับกุมเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กเพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์หรือเสียดสี

ในคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนซึ่งยื่นต่อศาลในวันที่ 29 เมษายน 2559 ระบุทำนองว่า ผู้ต้องหาทั้งหกมีลักษณะเป็นขบวนการเปิดเว็บเพจตัดต่อภาพและลงเนื้อหาโจมตี พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล รวมทั้งเชิญชวนคนไปทำกิจกรรมเช่น ร่วมกันลอยกระทงยักษ์ขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล ซึ่งเชิญชวนประชาชนให้ออกมาร่วมขับไล่รัฐบาล นำไปสู่การตั้งข้อหา "กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดืองในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2)

ซึ่งหากดูลักษณะการกระทำตามที่พนักงานสอบสวนระบุไว้ในคำร้องฝากขัง หรือพิจารณาจากภาพในเพจ 'เรารักพล.อ.ประยุทธ์' ก็อาจเห็นได้ว่าแม้คำพูดจะมีลักษณะรุนแรง ประชดประชัน หรืออาจจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกว่าเป็นความเสียหายเกินกว่าเหตุและสมควรดำเนินคดี แต่ข้อความตามที่พนักงานสอบสวนระบุหรือภาพรวมของเพจก็ไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ "เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร" และแม้พนักงานสอบสวนจะระบุว่าเพจนี้จะมีผู้ติดตามประมาณ 700,000 คน แต่ในบรรดาคน 700,000 คนที่เข้ามาติดตามก็ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทั้งหมดติดตามเพราะเห็นด้วยกับเพจหรือติดตามแต่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ก็ไม่เคยปรากฎว่าเพจนี้มีการรวบรวมคนมาถึงขนาดที่จะ "ก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร" ได้ดังที่ถูกกล่าวหา การตั้งข้อหาที่รุนแรงและการใช้วิธีการจับกุมราวกับจับกุมอาชญากรตัวฉกาจก็สะท้อนว่า ในยุคสมัยนี้ผู้นำรัฐบาลและรัฐเป็นสิ่งเดียวกัน การเสียดสีผู้นำจึงกลายเป็นอาชญากรรมต่อรัฐ

แนวคำสั่งคดี 'แจ่ม'และ รินดา ของอัยการ-ศาลทหาร ความหวังริบหรี่ของผู้ต้องหาทั้ง 8

ช่วยบ่ายวันนี้ ( 29 เมษายน 2559) ผู้ต้องหาทั้งแปดถูกคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงโดยศาลทหารมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเพราะพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและทำเป็นขบวนการ เป็นอันว่าทั้งแปดจะถูกจองจำในเรือนจำอย่างน้อยสิบสองวันก่อนจะมีการต่ออายุการฝากขังอีกครั้งอย่างน้อยสามผัด (รวม 48 วัน)

ก่อนหน้านี้เคยมีคดีคล้ายๆกับคดีเพจ 'เรารักพล.อ.ประยุทธ์' คือคดีของรินดา (http://freedom.ilaw.or.th/th/case/682) ผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 116 จากการโพสต์ข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธโอนเงินไปต่างประเทศ ถูกฝากขังหนึ่งพลัดแล้วได้ประกันออกมา ในภายหลังศาลทหารมีความเห็นว่าคดีของรินดาไม่ใช่คดีตามมาตรา 116 แต่น่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาบุคคลพลเรือนที่ถูกกล่าวหาในฐานความผิดนี้ จึงทำความเห็นส่งไปที่ศาลอาญาซึ่งยังไม่ได้ทำความเห็นกลับมา

นอกจากนี้ก็มีคดีของ 'แจ่ม' (http://freedom.ilaw.or.th/th/case/707) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเรื่องปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์พร้อมพาดพิงว่ามีบุคคลสำคัญส่วนหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วย สำหรับคดีของ'แจ่ม' พนักงานอัยการเห็นว่าน่าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร จึงให้พนักงานสอบสวนเอาสำนวนกลับไปทำใหม่เพื่อฟ้องศาลพลเรือนต่อไป จึงต้องติดตามต่อไปว่าคดีนี้ อัยการและศาลทหารจะมีแนวคำสั่งเกี่ยวกับข้อกฎหมายออกมาเช่นไร หากยึดแนวเดิมเพราะเห็นว่าลักษณะการกระทำตามข้อกล่าวหามีเจตนามุ่งเสียดสีสร้างความเสียหายกับบุคคลมากกว่าจะมุ่งปลุกระดมคน ผู้ต้องหาทั้งแปดก็จะถูกย้ายไปดำเนินคดีในศาลพลเรือนและมีโอกาสได้รับการประกันตัวสูง

สถิติคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ในยุครัฐบาล คสช. นับถึงวันที่ 27 เมษายน 2559 มีคนถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 แล้วอย่างน้อย 47 คน แบ่งเป็นการดำเนินคดี 19 คดี ซึ่งเป็นคดีที่ศาลพลเรือนคดีเดียว อีก 18 คดีขึ้นต่อศาลทหาร

ในจำนวนคดีทั้งหมด 19 คดี 11 คดียังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล 5 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และ 3 คดีมีคำพิพากษาๆไปแล้ว โดยแบ่งเป็นพิพากษายกฟ้อง 1 คดี คือคดีของชัชวาลย์ พิพากษาลงโทษจำคุก 2 คดี โดยคดีของชญาภาศาลทหารพิพาาษาให้จำคุกตามมาตรา 116 เป็นเวลา 3 ปี 18 เดือน ส่วนศาลพลเรือนพิพากษาให้รอลงอาญา 1 คดี คือ คดีของออด

ในจำนวนผู้ค้องหาทั้ง 47 คน 19 คนยื่นขอประกันตัวและศาลให้ประกันตัวทันที 27 คนยื่นขอประกันตัวต่อศาลทหาร แต่ตอนแรกศาลทหารสั่งไม่ให้ประกันตัวทำให้ต้องถูกคุมขังในเรือนจำก่อนาลทหารตะอนุญาตให้ประกันตัวหรือปล่อยตัวด้วยเหตุอื่นในภายหลัง

มีจำเลยคนเดียวที่ไม่เคยได้ประกันตัวเลย และยังถูกคุมขังอยู่ตั้งแต่ถูกจับกุมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ประกอบกันด้วย คือ ชญาภา

ดูรายละเอียดสถิติเพิ่มเติมที่ http://freedom.ilaw.or.th/politically-charged

ไอลอว์ขอขอบคุณภาพประกอบจากเพจ: BRNTATCH PHOTO

ooo



https://www.facebook.com/300084093490011/videos/585536894944728/