วันอังคาร, พฤษภาคม 10, 2559

โลกเตรียมรุมซักไทย ปมละเมิดสิทธิมนุษยชน กลางเวทียูเอ็น ปลัดยธ.นำคณะแจง





ที่มา มติชนออนไลน์
10 พ.ค. 59

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีในวันที่ 11 พฤษภาคม คณะผู้แทนไทยนำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จะนำเสนอรายงานการทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (ยูพีอาร์) รอบที่ 2 ในการประชุมคณะทำงานยูพีอาร์ สมัยที่ 25 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสว่า เรื่องดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 พฤษภาคม เพื่อขออนุมัติหลักการท่าทีที่จะนำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงาน ภายหลังประเทศไทยส่งรายงานตามกลไก ยูพีอาร์ รอบที่ 2 ให้แก่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การรายงานครั้งนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นการรายงานของทุกประเทศที่เป็นสมาชิก

“ที่ประชุม ครม.วันที่ 10 พฤษภาคม จะพูดคุยกันว่าเราจะชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไร ผมคิดว่าสิ่งที่เรารายงานในที่ประชุมยูพีอาร์ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจริงๆ หากดูตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ จะเห็นว่าเรื่องบางเรื่องต่างประเทศยังคงเข้าใจเราผิด โดยเฉพาะหลักการทางสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เราก็คงจะถือโอกาสนี้อธิบายความข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” พล.ต.สรรเสริญกล่าว

ทั้งนี้ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นำคณะประมาณ 30 คน จากไทย เพื่อรายงานและชี้แจง ในการประชุมทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (ยูพีอาร์) รอบที่ 2 ในการประชุมคณะทำงานยูพีอาร์ แห่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 25 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้

สมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 14 ประเทศ ได้ยื่นคำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในไทย ล่วงหน้า บางประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ได้เสนอคำถามเกี่ยวกับม.112

ต่อไปนี้คือบางส่วนจากคำถามที่ได้ยื่นล่วงหน้า

เบลเยียม

รัฐบาลไทยจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับที่ได้ลงนามไปเมื่อปี 2012 เมื่อใด? รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาที่จะให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่?

รัฐบาลไทยพิจารณาที่จะยกเลิกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และจะรับรองว่าพลเรือนทุกคนจะถูกพิจารณาคดีในศาลพลเรือนและจะได้รับการเคารพสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) หรือไม่?

รัฐบาลไทยพิจารณาที่จะตอบรับคำร้องขอในการเยือนจากคณะผู้เขียนรายงานพิเศษหรือไม่?

เบลเยียมยินดีที่กระทรวงยุติธรรมของไทยเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่น่าห่วงกังวลในการคุ้มครองนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยสามารถอธิบายถึงมาตรการคุ้มครองพิเศษดังกล่าวที่จะส่งผลและนำไปบังคับใช้อย่างไร?

สาธารณรัฐเช็ก

ไทยกำหนดกรอบเวลาที่จะให้การรับรอง อนุญาสัญญาป้องกันการทรมานและจัดตั้งกลไกระดับชาติเพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าวหรือไม่

ไทยได้มีการดำเนินการที่จะยุติการข่มเหง สอดส่อง และการกระทำในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นการข่มขู่คุกคามนักเคลื่อนไหวต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่มุ่งป้องกันการเกิดความรุนแรงและการก่ออาชญากรรมต่อบุคคลเหล่านั้นหรือไม่?

รัฐบาลไทยจะทบทวนกฎหมายเพื่อรับประกันการเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้ไอซีซีพีอาร์หรือไม่?

ภายใต้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คสช.ได้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดต่อสถาบัน การก่อจลาจล ปลุกระดมฝูงชน สนับสนุนการแบ่งแยกและละเมิดคำสั่ง คสช.ในศาลทหารแทนศาลพลเรือน ในประเด็นนี้ไทยจะทบทวนแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันว่าพลเรือนทุกคนจะถูกพิจารณาคดีในศาลพลเรือนและได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการประกันตัวภายใต้พันธกรณีของไทยที่มีต่อไอซีซีพีอาร์หรือไม่?

ขอให้รัฐบาลไทยช่วยให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ค่ายปรับทัศนคติ และหลักสูตรปรับทัศนคติ และการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย

ลิกเตนสไตน์

จากที่ไทยกลับมาพิจารณาจะเข้าร่วมในศาลอาญาระหว่างประเทศ หากเป็นเช่นนั้น ไทยจะมีขั้นตอนดำเนินการอะไรบ้างในการรับรองธรรมนูญกรุงโรมฉบับปี ค.ศ.2010

เนเธอร์แลนด์

กรณีการพิจารณาในศาลทหาร

มีพลเรือนกี่รายแล้วที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557 เป็นต้นมามีพลเรือนกี่รายที่ถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหารหรือถูกเจ้าหน้าที่ทหารไปตรวจสอบยังบ้านพักนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557

กรณีเสรีภาพในการแสดงออก

รัฐบาลจะให้การรับรองอย่างไรว่าทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่อสาธารณะได้โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกตอบโต้ด้วยกำลังทหารหรือถูกลงโทษ เพื่อเป็นหลัก ประกันว่าจะสามารถอภิปรายโต้แย้งได้อย่างเปิดเผยและอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมีการจัดลงประชามติว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ

เหตุใดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงถูกนำมาใช้แทนที่จะเป็นกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา และ คณะตุลาการมีขอบเขตแค่ไหนในการใช้ดุลพินิจในคดีหมิ่นประมาท

แผนการใดที่รัฐบาลจะนำมาใช้เพื่อยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารและการกักตัวในที่คุมขังของกองทัพ และในการโอนย้ายคดีทั้งหมดของพลเรือนที่เผชิญการพิจารณาคดีต่อศาลทหารมายังศาลพลเรือน และเพื่อปรับแก้กฎอัยการศึกและพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร เพื่อป้องกันการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

ไทยมีมาตรการอย่างไรในการสอบสวนและป้องกันการข่มเหงหรือทารุณกรรมต่อผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการประมงในอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานอพยพ

แผนการใดที่ไทยจะนำมาใช้ในการในการสอบสวนกรณีการทารุณกรรมทางภาคใต้ที่มีการ กล่าวหาว่ากระทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และหากข้อกล่าวหานั้นยังคงมีอยู่ จะมีมาตรการในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างไร

สหรัฐอเมริกา

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อห้ามที่เกินกว่าเหตุในการแสดงออกถึงสิทธิพลเมืองและรับประกันถึงกระบวนการทางการเมืองที่เปิดกว้างและครอบคลุม ซึ่งยินยอมให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทยมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ขอถามว่าไทยมีขั้นตอนอย่างไรในการรับรองว่าเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบจะได้รับการเคารพในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมนี้ และมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไรที่รัฐบาลจะดำเนินการให้ประชาชนทั่วไปสามารถอภิปรายหารือถึงคุณสมบัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ขอแสดงความกังวลต่อคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 13/2559 ในเรื่องการขยายขอบเขตอำนาจการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในของกองทัพ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิกถอนคำสั่งและจำกัดการใช้อำนาจการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเหล่านี้ไว้กับหน่วยงานของพลเรือนที่เหมาะสม ขอถามว่ามาตรการใดที่ไทยนำมาใช้เพื่อป้องกันการใช้อำนาจที่มีการขยายขอบเขตเหล่านี้โดยมิชอบ และรับรองว่าไทยจะเคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เรายังเป็นกังวลเกี่ยวกับข้อห้ามที่เกินกว่าเหตุในการรวมกลุ่มอย่างเสรี ซึ่งรวมถึงสิทธิในการประท้วง เช่นเดียวกับรายงานเรื่องการใช้แรงงานบังคับที่ยังคงมีอยู่ รวมถึงบนเรือประมงและอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเล ขอถามว่าไทยมีความคืบหน้าในการสอบสวน ดำเนินคดี และพิพากษาผู้กระทำความผิดรายบุคคลในเรื่องการใช้แรงงานบังคับมากน้อยแค่ไหน

เยอรมนี

เยอรมนียินดีที่ไทยให้ที่พำนักแก่ผู้อพยพ แต่ดูเหมือนมีความจำเป็นที่จะต้องให้สถานะทางกฎหมายแก่คนเหล่านี้ด้วย ดังนั้นแล้ว เราขอถามว่า ไทยมีความตั้งใจที่จะลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 และออกกฎหมายกลางระดับประเทศที่ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายที่เพียงพอต่อผู้อพยพ

สวีเดน

รัฐบาลไทยมีแผนการที่จะจัดการกับข้อกังวลต่อกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

ไทยยอมรับคำแนะนำในการพิจารณาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยครั้งแรกที่จะเชิญคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ คำร้องขอดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อใดจึงจะมีการยื่นคำเชิญนี้มาอย่างเป็นทางการ

ไทยมีมาตรการอะไรบ้างที่มีแผนจะดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้เขียนรายงานพิเศษด้านสถานการณ์การค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ รวมถึงการขจัดสื่อลามกอนาจารเด็กและการค้ามนุษย์ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

นอร์เวย์

เรารับทราบว่าไทยได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ โดยมีคำร้องขอให้มีการเยือนของผู้เขียนรายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่รอการตอบรับอยู่ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะกำหนดวันที่ชัดเจนในการให้ผู้เขียนรายงานพิเศษเยือนไทยได้เมื่อใด

รัฐบาลไทยจะมีมาตรการอย่างไรในการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ขัดแย้งทางภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการรายงานเรื่องการทารุณกรรม การจำกัดเสรีภาพในการพูดและไร้ซึ่งการสอบสวนการหายตัวโดยถูกบังคับ

-รัฐบาลไทยจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไรในการนำพิธีสารปาเลร์โมไปปฏิบัติใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้ติดตามและดำเนินคดีกับบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์

สวิตเซอร์แลนด์

หลักปฏิบัติในการควบคุมตัวเพื่อปรับทัศนคติที่รัฐบาลไทยใช้คืออะไร รัฐบาลแน่ใจได้อย่างไรว่าหลักปฏิบัติในการปรับทัศนคติสอดคล้องกับพันธกรณีที่มีภายใต้ไอซีซีพีอาร์

รัฐบาลไทยจะรับประกันในหลักการที่จะไม่ส่งผู้อพยพและผู้ลี้ภัยกลับไปถูกดำเนินคดีในกรณีอย่างไร

สเปน

ภายใต้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 13/2559 การป้องกันและปราบปรามเจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลโดยปราศจากคำสั่งศาลและเจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการถูกดำเนินคดีหากปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ รัฐบาลไทยจะป้องกันและมีบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจอย่างไร

การใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต รัฐบาลไทยจะส่งเสริมบทบาทของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในการส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างไร ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยมีกลไกอะไรที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีการเยียวยาเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดดังกล่าวนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะมีบทลงโทษบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ กระทำผิดอย่างไร
.....

ที่มา FB 

Pimsiri Mook Petchnamrob


ตอนนี้มี 105 ประเทศที่ลงชื่อร่วมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการวิจารณ์เสมอไป หลายประเทศอาจกล่าวสนับสนุน)

Cuba
Czech Republic
Denmark
Djibouti
Ecuador
Egypt
Fiji
Finland
France
Georgia
Germany
Ghana
Greece
Guatemala
Haiti
Honduras
Iceland
India
Indonesia
Iran (Islamic Republic of)
Iraq
Italy
Japan
Kazakhstan
Kuwait
Kyrgyzstan
Lao Peoples’ Democratic Republic
Latvia
Lebanon
Libya
Lithuania
Luxembourg
Madagascar
Malawi
Malaysia
Maldives
Mexico
Montenegro
Morocco
Mozambique
Myanmar
Namibia
Nepal
Netherlands
New Zealand
Nigeria
Norway
Pakistan
Panama
Paraguay
Philippines
Poland
Portugal
Qatar
Republic of Korea
Romania
Senegal
Sierra Leone
Singapore
Slovakia
Slovenia
South Africa
Spain
Sri Lanka
State of Palestine
Sudan
Swaziland
Sweden
Switzerland
Timor-Leste
Togo
Tunisia
Turkey
Uganda
United Arab Emirates
United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland
United States of America
Uruguay
Venezuela (Bolivarian Republic of)
Viet Nam
Yemen
Albania
Algeria
Argentina
Armenia
Australia
Austria
Azerbaijan
Bahrain
Bangladesh
Belgium
Bhutan
Bolivia (Plurinational State of)
Botswana
Brazil
Brunei Darussalam
Cambodia
Canada
Chad
Chile
China
Colombia
Congo
Costa Rica
Côte d’Ivoire