วันอาทิตย์, พฤษภาคม 01, 2559

การจับกุมที่ใช้กระบวนการพิลึกกึกกือ





เป็นอันว่า พรบ. ประชามตินี่ตีความได้กว้างกว่ามหาสมุทรที่ ‘มหาชนก’ ระหกระเหินว่ายยาวไปให้ถึงสุวรรณภูมิ อีกเนอะ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ไขข้อข้องใจไว้เมื่อวันก่อนว่า การโพสต์ข้อความแนวประชดประชัน การใช้ประโยคสัญลักษณ์แทนการสื่อสารทางตรง หรือการติดแฮชแท็ก ‘ทวีตอย่างไรไม่ให้โดนจับ’ เหล่านั้น

“หากเข้าข่ายหมิ่นเหม่ ส่อเจตนาหมิ่นเหม่ก็ไม่สมควรทำ”

“และหากยึดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา๖๑ ที่ว่าด้วยเรื่องการแสดงความเห็น การเคลื่อนไหว สร้างความวุ่นวาย ก็ตีความกว้างมาก”





ครั้นเมื่อถามถึงกรณีที่มีการแสดงออกด้วยการยืนเฉยๆ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า “การไปยืนเฉยๆ กระทบการใช้ชีวิตปกติของผู้อื่นหรือไม่ หวังผลอย่างไร...

ต้องดูด้วยว่าการไปยืนเฉยๆ บางครั้งก็ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น ตรงนี้ต้องดูองค์ประกอบและเจตนา”

(http://www.matichon.co.th/news/121423)


aaa


ก็อปเขามาตั้งยาว เพียงตั้งใจจะบอกนี้ดเดียวตรงนี้ ว่า ไอ้ที่ดูเจตนาน่ะ กระทั่งศาลทั่นยังใช้ ‘ทางใน’ ดูเจตนา ‘เบื้องลึก’ ของผู้ถูกกล่าวหาว่าผิดจริงมาแล้วได้เลย

นับประสาอะไรกับ คสช. และลิ่วล้อ ที่ถืออาญาสิทธิ์วิเศษกว่าอำนาจใดๆ ในสุวรรณภูมิ จะไม่ล่วงรู้ล้ำลึกในความผิดของพวกเห็นต่าง โดยเฉพาะพวกไม่เอาร่างฯ ‘มีชัย’

เมินเสียเถอะ ที่ Watana Muangsook บอกว่า “เอาอย่างนี้กันเลยเหรอ” ทั้งประเด็นเจตนาพิเศษแห่งกฎหมาย และภาษิตโรมัน รวมทั้งปฏิญญาสากล UDHR หรือว่า ICCPR ก็ตามแต่

ไม่เชื่อลองมาดูกันดิ วัฒนาเขียนว่าอย่างไร กรณีจับกุม ดำเนินคดีในมาตรา ๑๑๖ มือโพสต์ล้อเลียน ‘ประยุทธ์เป็นตัวตลก’ ๘ คนแล้วไม่ยอมให้ประกัน

(ที่ลึกๆ ว่ากันว่าเป็นการ ‘แก้เผ็ด’ ทักษิณที่หมู่นี้ออกมาโต้แรง ด้วยการตีวัว ‘โอ๊ค’ กระทบคราดให้แรงกว่า)

“ความผิดตามมาตรา ๑๑๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา จะต้องมีเจตนาพิเศษคือ ‘เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร’

แต่เจตนาที่แท้จริงของมือโพสต์ทั้งแปด ปรากฏตามคำขอฝากขังของพนักงานสอบสวนคือ คนเหล่านี้ต้องการทำให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเป็นตัวตลก...จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดต่อความมั่นคงของรัฐตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา”

และ “ภาษิตกฎหมายโรมันที่ว่า Inter arma silent leges แปลเป็นไทยคือ ‘ท่ามกลางอาวุธ กฎหมายย่อมไม่มีเสียง’...

โดยเฉพาะในสภาวะที่ประเทศไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนย่อมไม่มีหลักประกันแห่งเสรีภาพ การล้อเลียนผู้นำที่ทำกันมาทุกสมัยและไม่เคยถือเป็นความผิดมาก่อน แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันยังเคยกล่าวในทำนองล้อเลียนอดีตนายกรัฐมนตรีว่า ‘ก้มหน้าอ่านโพย’ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีดูเป็นตัวตลกและไร้ความสามารถเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นความผิด

แต่พอตัวเองถูกล้อเลียนบ้างกลับถือเป็นความผิดขนาดเป็นภัยต่อความมั่นคง”

นอกเหนือจากนั้น “การที่ประชาคมโลกสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราได้แปลว่าไทยเรากำลังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน คนที่ทำละเมิดต่างหากคือคนที่เปิดประตูและสมควรถูกประณาม...

เอาพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร ซึ่งขัดกับข้อ ๑๐ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และ ข้อ ๑๔ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อันเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่เราลงนามผูกพันไว้และต้องปฏิบัติตาม

อย่าลืมโกรธคนที่ตั้งข้อกล่าวหาด้วย เพราะนั่นคือคนที่เปิดประตูให้ประชาคมโลกเข้ามา”

(https://www.facebook.com/WatanaMuangsook/posts/745245198944345)





ในความเห็นของอาจารย์ทางนิติศาสตร์อย่าง สาวตรี สุขศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา ชี้ว่าการใช้มาตรา ๑๑๖ ดำเนินคดีกับแปดผู้โพสต์เฟชบุ๊ค ‘เรารัก พล.อ.ประยุทธ์’ นั้น

“เป็นสิ่งที่ผิดฝาผิดตัว เพราะการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย...

แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ ใช้กฎหมายเหล่านี้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง”

(http://news.voicetv.co.th/thailand/359115.html)

แล้วยังมีความ ‘มั่วซั่ว’ ของเจ้าพนักงานในการฟ้องข้อหา มาตรา ๑๑๒ ต่อ ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ และหฤษฎ์ มหาทน ที่ตั้งข้อหาจากข้อความในกล่องสนทนาหลังไมค์ของคนทั้งสอง ซึ่ง “ทนายอานนท์บอกว่ารัฐเจาะข้อมูลหลังไมค์ได้”

(ดูคลิป จอม เพชรประดับ สัมภาษณ์ ทนายอานนท์ นำภา https://www.facebook.com/Resistantcitizen/videos/1070749972968145/)

ทั้งๆ ที่ “ณัฏฐิกาโต้ว่า ‘ข้องใจ’ รู้จักหฤษฎ์ผ่านเฟซบุ๊ก ไม่ได้สนิทสนมมาก่อน ในการติดต่อกันก็ไม่ได้พูดจาก้าวล่วงเบื้องสูง เหตุใดจึงถูกดำเนินคดี”

As per Atukkit Sawangsuk :

“ปัญหาของคดี ๑๑๒ คือห้ามสาธารณชนรับรู้ ข้อความนั้นผิดจริงหรือไม่ อย่างไร อยู่ที่ตำรวจทหารตีความ พอแจ้งข้อหาก็ไม่ให้ประกัน พอขึ้นศาลก็เป็นศาลทหาร แล้วตอนหลังๆ ก็มีการตีความอย่างกว้าง เช่นกรณีของฐนกร ศิริไพบูลย์

ฉะนั้นที่เตือนกันว่าอย่าส่งข้อความหมิ่น ก็คงไม่พอ ที่จริงยุคนี้สมัยนี้คงไม่มีใครส่งข้อความหมิ่นแล้วละ ในเมื่อเห็นมีหลายคดีที่คนถูกจับแล้วถูกเอารหัสไปตรวจข้อความ ปัญหามันกลายเป็นว่าแค่ส่งข้อความที่ไม่คิดว่าหมิ่น ก็อาจถูก ‘ตีความ’ ได้”

นี่ไง จะหาเรื่อง จะจับ จะแกล้ง จะทำร้าย ตีความให้เป็นผิดได้ทั้งนั้น คือการปกครองของ คสช.

อีกทั้งคดีของบุรินทร์ อินติน หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมยืนเฉยๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัว ๘ มือโพสต์ล้อเลียนประยุทธ์ กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่โดนข้อหาควบซ้อนสอง ม. ๑๑๒ บวก พรบ. คอมพิวเตอร์

ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่า “โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Burin Intin ในลักษณะต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลและคสช. รวมทั้งมีการแชตพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยมีข้อความลักษณะหมิ่นเบื้องสูง”

(http://www.prachatai.com/journal/2016/04/65527)

แต่ในทางข้อเท็จจริงฝ่ายผู้เสียหายเล่าขานกันหลายสายรวมความได้ว่า บุรินทร์โพสต์ข้อความก่อนไปร่วมกิจกรรมเพราะมีคนยั่วยุ ตัวเองไม่คิดว่าสิ่งที่โพสต์เป็นการหมิ่นสถาบัน อีกทั้งได้ลบข้อความที่ตอบโต้นั้น ก่อนไปอนุสาวรีย์ชัยฯ แล้ว

“แต่ยังโดน นี่แสดงว่ามีคนมอนิเตอร์หน้าเพจเขาอยู่ตลอด” แสดงว่า “เจ้าหน้าที่ก็สามารถรู้ข้อความหลังไมค์ของเขามาก่อนแล้ว โดยที่เขาไม่เคยให้รหัส”

จึงเป็นที่ถกเถียงกันลั่นโลกออนไลน์ ทั้ง สศจ. และใครต่อใคร แบบว่าให้ไปท้วงทวงถามเฟชบุ๊คกันหน่อยได้ไหม ก็พอดีมีนัก ‘ลบ’ (ร่องรอย) บนไซเบอร์ท่านหนึ่งติงไว้ให้ต้องคิด

ใครก็ไม่รู้ละ ใช้ชื่อ Akedemo Terminus เขียนว่า “กรณียัดเพิ่มข้อหา ม. ๑๑๒ ให้คนที่โดนจับด้วย ม. ๑๑๖ รอบนี้ ผมไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ ‘เจาะ’ หรือ ‘แฮ็ค’ รหัส facebook หรือร้องขอให้ facebook ส่งข้อมูลข้อความ massenger อะไรหรอก...

เรื่องมันง่ายๆ แค่ว่าตำรวจได้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน จากนั้นก็เปิดดูแค่นั้นแหละ คนส่วนใหญ่ให้เบราเซอร์ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวจำรหัสผ่านไว้อยู่แล้ว สมาร์ทโฟนยิ่งไม่ต้องพูดถึง พิมพ์รหัสผ่านยากกว่าคอมพิวเตอร์อีก ใครจะมานั่งใส่รหัสผ่านทุกรอบ แถมส่วนใหญ่ก็ใช้เป็น facebook app มากกว่าใช้ผ่านเบราเซอร์

ดังนั้นกรณีนี้คือเรื่องของการได้ physical access ไม่ใช่การแฮ็คหรือการร่วมมือของ facebook แต่อย่างใด

เรื่องมันแย่และน่าวิตกกังวลในตัวของมันอยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มบรรยากาศความกลัวอีกเลย

ถ้าเจ้าหน้าที่แฮ็คข้อมูลไปได้ตั้งแต่แรก ก็ออกหมายจับ ‘ก่อน’ จับกุมไปแล้วสิ แต่ความเป็นจริงคือจับก่อนแล้วค่อยตั้งข้อหา แล้วค่อยหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อหา

การจับกุมที่ผิดมาตรฐานสากลตรงนี้ต่างหากที่น่ากลัวและน่ากังวล มีที่ไหนใช้กระบวนการพิลึกกึกกืออย่างนี้บ้าง นี่มันย้อนศรทุกขั้นตอนเลย”