วันอังคาร, กรกฎาคม 15, 2568

ON THIS DAY PEOPLE 14 กรกฎาคม 2440 วันเกิดจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ตรงกับวันปฏิวัติฝรั่งเศส Bastille Day) และรู้ไหมว่า จอมพล ป. ใช้ภาษาอะไรสนทนากับกลุ่มคณะราษฎรก่อนการยึดอำนาจ?


Matichon Information Center 
July 13, 2021
·
ON THIS DAY
PEOPLE
14 กรกฎาคม 2440
วันเกิดจอมพล ป. พิบูลสงคราม
และรู้ไหมว่า จอมพล ป. ใช้ภาษาอะไรสนทนากับกลุ่มคณะราษฎรก่อนการยึดอำนาจ?
.
วันนี้เมื่อ 124 ปีที่แล้ว (14 กรกฎาคม 2440) เป็นวันเกิดของ จอมพล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม
หรือ หลวงพิบูลสงคราม นายทหารและนักการเมืองอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2481 ถึง 2487 และ 2491 ถึง 2500 รวมระยะเวลา 14 ปี 11 เดือน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดของไทย)
.
จอมพล ป.พิบูลสงคราม เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2440 บิดาชื่อ นายขีด และมารดา ชื่อ นางสำอางค์ ในสกุล ขีตตะสังคะ บ้านเกิดเป็นเรือนแพขนาดใหญ่ 2 ชั้น ที่ปากคลองบางเขนเก่า ​จังหวัดนนทบุรี อาชีพครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม สวนทุเรียนและสวนผลไม้ มีชื่อเดิมว่า "แปลก ขีตตะสังคะ" ชื่อจริงคำว่า "แปลก" เนื่องจากเมื่อแรกเกิดบิดามารดาเห็นว่าหูทั้งสองข้างอยู่ต่ำกว่าตา ผิดไปจากบุคคลธรรมดา จึงให้ชื่อว่า “แปลก”
.
หลังจากที่จอมพล ป. สำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสและเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อปี 2470 ได้พาครอบครัวมาพักที่บ้านในสวนย่านเมืองนนท์ จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม (ลูกสาวจอมพล ป.พิบูลสงคราม) บันทึกถึงเรือนแพหลังที่พักอาศัยว่า “ในเรือนแพมีเครื่องสังคโลกสวยๆ ของคุณปู่ตั้งโชว์อยู่ตรงทางชึ้นบันไดชั้นสอง เพราะท่านเป็นช่างทองฝีมือดีมีฐานะ ส่วนคุณย่าเป็นทั้งชาวสวนและแม่บ้าน ทั้งเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ทำสวนทุเรียนเองด้วย ตอนเช้าก็เข้าไปในสวน กลับมาจากสวนก็ลงไปวิดน้ำออกจากเรือนแพ แพจะได้ไม่ล่ม คุณย่าแข็งแรงมาก อายุ 60 กว่าแล้วยังขึ้นต้นไม้ได้อยู่เลย
.
“เวลาจอมพลป. จะไปทำงาน ก็ต้องนั่งเรือจ้างจากบ้านที่เมืองนนท์ไปขึ้นที่ท่าเขียวไข่กา แล้วต่อรถรางไปที่กระทรวงกลาโหม ต่อมาครอบครัวพิบูลสงครามย้ายบ้านไปอยู่บ้านแถวถนนพิษณุโลก แล้วต่อมาถึงย้ายไปเช่าบ้านไม้สองชั้นย่านแพร่งสรรพศาสตร์
.
“ที่บ้านแพร่งสรรพศาสตร์หลังนี้เอง เป็นศูนย์กลางของพวกคณะราษฎร เพราะช่วงประมาณไม่ถึงปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มมีแขกมาบ้านหลังนี้ ว่าจะเป็น ประยูร ภมรมนตรี และแขกที่มาประจำคือ หลวงอดุลเดชจรัส และสมาชิกคณะราษฎรบางท่าน จนถึงใกล้เวลาเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมาชิกคณะราษฎรระดับแกนนำก็มาที่บ้านหลังนี้”
.
ในหนังสือ “อยากลืมกลับจำ” สารคดีชีวประวัติลูกสาว จอมพล ป.เล่าถึงบรรยากาศในช่วงนั้นว่า
“พอวันลงมือยึดอำนาจเข้ามาใกล้ สมาชิกคณะราษฎรพากันแวะเวียนมาที่บ้านแพร่งสรรพศาสตร์ มีทั้ง พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) รวมถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) สองคนหลังคือหัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือและสายพลเรือนตามลำดับ
.
โดยผู้ก่อการหลายคนเป็นนักเรียนฝรั่งเศสเหมือน จอมพล ป. จึงมักสื่อสารกันด้วยภาษาฝรั่งเศส เพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าคุยกันเรื่องอะไรจน อนันต์ ประสงค์ และป้าจีร์แกล้งเลียนเสียง ทำเป็นคุยกันด้วยภาษา ‘แปลกหู’ ด้วยความสนุกสนาน”
.
แล้วคืนวันที่ 23 มิถุนายน 2475 จอมพล ป. กลับบ้านดึกมาก จนท่านผู้หญิงละเอียดไม่สบายใจจึงชวนจอมพล ป. ฟังเพลง แต่จอมพล ป.ส่งรอยยิ้มน้อยๆ ตอบกลับ
.
แล้วคืนนั้นเอง จอมพล ป. กับ หลวงอดุลฯ แต่งเครื่องแบบทหารเต็มยศออกจากย้าน ก่อนออกจากบ้าน จอมพล ป. ลูบหลังท่านผู้หญิงแล้วบอกว่า
.
“พรุ่งนี้เป็นวันที่เขาจะทำการเชิญรัฐธรรมนูญมาให้พี่น้องชาวไทย”
.
ข้อมูลจาก “อยากลืมกลับจำ” เขียนโดย ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ ณัฐพล ใจจริง / นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ บรรณาธิการ. สำนักพิมพ์มติชน, 2561
อ่านรายละเอียดข่าว และทุกข่าวอื่น ๆ ย้อนหลัง เพื่อเข้าใจทุกประเด็นสำคัญ สืบค้นเรื่องราวผ่านข้อมูลตลอด 40 กว่าปีของหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ในเครือ และสมัครสมาชิกได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลมติชน www.matichonelibrary.com

https://www.facebook.com/photo/?fbid=4076131242474729&set=a.590225254398696