
บทความพิเศษ | ธงชัย วินิจจะกูล
‘เสียดินแดน’
เป็นประวัติศาสตร์มโน
14.07.2025
มติชนออนไลน์
ทุกวันนี้เราเชื่อกันว่าไทยเสียดินแดนมาแล้วทั้งหมด 14-15 ครั้ง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าเป็นความรู้ที่มาจากหลักฐานอะไร
ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตีความ รู้แต่ว่าแพร่หลายบน YouTube ที่คนเข้าถึงได้ง่าย
กระทั่งนักวิชาการจำนวนไม่น้อยก็รับความรู้ผิดๆ เช่นนี้อย่างไม่ตั้งคำถาม
แต่หากเราย้อนกลับไป เราจะพบว่าความรู้ที่เผยแพร่มาหลายปีหลายทศวรรษก่อนหน้านั้นที่ต่างออกไป ไม่แต่เพียงเสียดินแดนน้อยครั้งกว่า แต่สำคัญกว่านั้นคือเสียดินแดนตรงไหนบ้างก็แตกต่างกันอย่างมาก
น่าสงสัยว่าความรู้เรื่อง “ไทยเสียดินแดน” นั้นน่าเชื่อถือหรือไม่

แผนที่แสดงประวัติอาณาเขตไทยส่วนต่างๆ ที่เสียไป ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.2483
ในปี 2483 “แผนที่ประวัติอาณาเขตไทย” ถูกแจกจ่ายไปตามโรงเรียนและสถานที่ราชการทั่วประเทศ ต่อมาถูกใช้เป็นหลักฐานในการ “เรียกร้องดินแดนคืน” จากฝรั่งเศสในช่วงสงครามอินโดจีน มีดินแดนที่เสียไปกำกับด้วยตัวเลข ๑ ถึง ๘ (ดูรูป 1) ดังนี้
1. เกาะปีนังกับเวลสลีย์ถูกยกให้อังกฤษระหว่าง พ.ศ.2329-2343
2. เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรีตกเป็นของพม่าเมื่อ พ.ศ.2336
3. กัมพูชาเกือบทั้งหมด (ยกเว้นภาคตะวันตก) ตกเป็นของฝรั่งเศสใน พ.ศ.2410
4. แคว้นสิบสองจุไทถูกยึดครองโดยฝรั่งเศสใน พ.ศ.2431
5. ลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตกเป็นของฝรั่งเศสใน พ.ศ.2436
6. ลาวทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามหลวงพระบางและจำปาศักดิ์ ตกเป็นของฝรั่งเศสใน พ.ศ.2447
7. ฝั่งตะวันตกของกัมพูชา (พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ) ตกเป็นของฝรั่งเศสใน พ.ศ.2450
8. ไทรบุรี ปะลิศ กลันตัน และตรังกานูตกเป็นของอังกฤษใน พ.ศ.2452
แต่แผนที่นี้ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2478 กลับมีการเสียดินแดนอยู่แค่ 7 ครั้งเท่านั้น
หลังจากนั้น มีการเสนอว่าสยามเสียดินแดนในงานเขียนอีกหลายชิ้น แต่จำนวนครั้งแตกต่างกัน ดินแดนที่ “เสีย” ไปก็ต่างกัน
งานเขียนและแผนที่หลายชิ้นไม่นับ 2 ครั้งแรกเพราะเห็นว่าทั้งสองเป็นการได้และเสียเมืองขึ้น มาๆ ไปๆ ในบริบทก่อนลัทธิล่าอาณานิคมของฝรั่ง
หลายชิ้นไม่นับครั้งที่ 3 เพราะไม่ถือว่ากัมพูชาเกือบทั้งหมดเคยเป็นของสยาม ทั้งรู้กันอยู่ว่ากัมพูชาเป็นประเทศราชของเวียดนามด้วยตั้งแต่สิ้นสงคราม “อานามสยามยุทธ” ในสมัยรัชกาลที่ 3
บางชิ้นไม่เอ่ยถึงครั้งที่ 4 เพราะเห็นว่าสิบสองจุไทไม่เคยเป็นของสยาม แต่กลับนับว่าเสียหัวพันห้าทั้งหก บางชิ้นไม่นับทั้งสองแห่ง ในขณะที่แผนที่เสียดินแดนบน YouTube นับหมดทั้งสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหก
แต่มีงานชิ้นหนึ่งนับสิงคโปร์ มะละกา และยะโฮร์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่สยามเสียไปด้วยเพราะถือว่าเคยเป็นของสยามสมัยสุโขทัยโน่น
บางชิ้นเพิ่มรัฐฉานและสิบสองปันนาเข้าไปว่าสยามเสียไปให้อังกฤษ แต่ส่วนใหญ่ไม่นับ
นอกจากนี้ งานเขียนและแผนที่เสียดินแดนส่วนใหญ่ไม่นับการที่เชียงใหม่ยอมยกดินแดนให้อังกฤษเป็นของกำนัลในปี 2377 และกรุงเทพฯ ยกให้อังกฤษในปี 2435 เพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่าง แต่กลับนับครั้งที่ 8 ข้างบนนี้ทั้งๆ ที่ก็เป็นการยกให้อังกฤษแลกกับผลประโยชน์เช่นเดียวกัน
แต่แผนที่เสียดินแดนที่พบบน YouTube ซึ่งทำขึ้น พ.ศ.2553 หรือ 2554 เพื่อรับใช้กรณีพิพาทเขาพระวิหาร นับทุกๆ กรณีที่เคยถูกนับมาก่อน แล้วแถมให้อีกหลายกรณีจนทำให้การเสียดินแดนมากถึง 14 ครั้ง (ดูรูป 2) ล่าสุดเพิ่มเป็น 15 ครั้งแล้ว (ดูรูป 3)
ความแตกต่างขึ้นอยู่กับอะไร
เปล่า … ไม่ได้ขึ้นกับหลักฐานที่ต่างกันแต่อย่างใด แต่ขึ้นกับการตีความตามอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมว่าจะนับครั้งไหนบ้างหรือใช้เกณฑ์อะไรในการนับว่าเสียหรือไม่
ที่สำคัญมากกว่าคือขึ้นอยู่กับจะถือว่าอาณาเขตของสยามก่อนการเสียดินแดนอยู่ตรงไหน ซึ่งก็เป็นการตีความประวัติศาสตร์ตามอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมเช่นกัน

แผนที่เสียดินแดน 14 ครั้งที่เผยแพร่บน YouTube ทำขึ้นประมาณ พ.ศ.2553 หรือ 2554 ระหว่างกรณีพิพาทไทย-กัมพูชาเรื่องเขาพระวิหาร ซึ่งเริ่ม พ.ศ.2551
นักประวัติศาสตร์รู้มานานแล้วว่าสยามสมัยก่อนไม่มีเส้นเขตแดนชัดเจนรอบประเทศอย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน
นักวิชาการเคยเข้าใจกันผิดๆ ว่าเส้นเขตแดนไม่ชัดเจนเพราะขาดความรู้ขาดเทคโนโลยี ไม่เคยสงสัยว่าสยามใหญ่โตขนาดไหน เพียงแค่เส้นเขตแดนไม่ชัดเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้นักวิชาการเข้าใจกันแล้วว่าไม่ใช่ แต่เป็นเพราะแผนที่สมัยใหม่และภูมิศาสตร์การเมืองแบบรัฐชาติเพิ่งเกิดขึ้นในโลกหลังคริสต์ศตวรรษที่ 16 และเพิ่งกลายเป็นระเบียบของภูมิศาสตร์การเมืองของทั้งโลกในปลายศตวรรษที่ 19 นี้เอง
ในอุษาคเนย์สมัยก่อนหน้านั้น ความรู้ภูมิศาสตร์แตกต่างไปอย่างสำคัญ แผนที่ก็ต่างกันอย่างสำคัญ ไม่มีความคิดหรือการปกป้องเส้นเขตแดนแบบสมัยใหม่ ไม่มี “ชาติ” อย่างที่หลายคนคลั่งไคล้หลงใหลอย่างทุกวันนี้
แต่ก่อนไม่มีรัฐใดหวงแหนดินแดนทุกตารางนิ้ว กษัตริย์แต่ก่อนยกดินแดนให้ผู้อื่นเป็นของกำนัลก็มี และยังกระทำเป็นเรื่องปกติมาจนถึงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19
ยิ่งไปกว่านั้น ชนชั้นนำสยามในก่อนสมัยใหม่ล้วนตระหนักดีว่าดินแดนประเทศราชส่วนใหญ่เป็นเมืองขึ้นขององค์ราชาธิราชในภูมิภาคหลายพระองค์ในเวลาเดียวกัน หากถือตามภูมิศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ จะนับว่าประเทศราชเหล่านั้นเป็นของใครย่อมไม่ชัดเจน
จะนับว่ามีอิสระเป็นตัวของตัวเองก็ยังได้ จะนับว่าเป็นพื้นที่อธิปไตยทับซ้อนก็ไม่ผิด

แผนที่เสียดินแดนล่าสุดที่พบบน YouTube นับผลการตัดสินของศาลโลกเมื่อ พ.ศ.2556 เป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 15
แน่นอนว่าชนชั้นนำสยามย่อมมองเข้าข้างตัวเองว่า สยามมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะผนวกประเทศราชเหล่านั้นเป็นของสยามแต่ผู้เดียวตามหลักอธิปไตยเหนือดินแดนสมัยใหม่
แต่พวกเขาตระหนักดีเช่นกันว่าประเทศราชกลายเป็นพื้นที่อธิปไตยซ้อนทับกัน เส้นเขตแดนและแผนที่สมัยใหม่เท่านั้นที่เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้การอ้างสิทธิดังกล่าวเป็นความจริง
สยามจึงเร่งสำรวจ ตีเส้น ทำแผนที่สมัยใหม่อย่างเร่งด่วนในช่วง 10 ปีก่อนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.112
ความขัดแย้งสยามกับฝรั่งเศสคือการแข่งขันแย่งชิงดินแดนประเทศราชเดิมเหล่านั้นนั่นเอง เพื่อพยายามผนวกพื้นที่อธิปไตยทับซ้อนตามหลักอธิปไตยเหนือดินแดนแบบสมัยใหม่ให้กลายเป็นของตนแต่ผู้เดียว
วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 คือยกสุดท้ายของการแย่งชิงดินแดนประเทศราชเดิมมาเป็นของตน ผลก็คือฝรั่งเศสชนะ สยามแพ้ แต่สยามกลับมิใช่เหยื่อที่ไม่มีทางสู้อย่างที่เข้าใจกันตลอดมา
ยิ่งไปกว่านั้นผู้แพ้ที่แท้จริงกลับไม่ใช่สยาม แต่คือเจ้าประเทศราชที่สูญเสียอำนาจอิสระเหนือพลเมืองและดินแดนของตน
แต่ผลของความขัดแย้งที่สำคัญยิ่งคือทำให้ชาติสยามหรือไทยแบบใหม่กำเนิดขึ้นมา
เป็นชาติสมัยใหม่ที่ถือดินแดนของประเทศเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ที่รัฐสนใจจัดการชายแดนทุกแห่งเพราะอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเป็นเอกภาพตลอดทั้งแผ่น แถมยังเป็นเจ้าของเด็ดขาดแต่ผู้เดียว ไม่มีทางซ้ำซ้อนแบ่งปันกับใคร และมากับระเบียบปฏิบัติการของรัฐและสังคมเพื่อควบคุมดูแลดินแดนแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน รวมทั้งความคิดใหม่อย่างลัทธิชาตินิยมประเภทต่างๆ ด้วย
และทำให้ดินแดนมีความสำคัญถึงขนาดถวายชีวิตตนได้ ฆ่าคนอื่นก็ได้ เพื่อรักษาดินแดนทุกตารางนิ้ว
แต่ดังที่เราได้เห็นแล้วว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะระบุให้ชัดแจ้งลงไปว่าสยามก่อนการเสียดินแดนนั้นใหญ่โตแค่ไหนกันแน่ เพราะชายขอบหลายแห่งไม่เคยมีใครสนใจขีดเส้นให้ชัด และเพราะประเทศราชเป็นพื้นที่ซ้อนทับซึ่งจักรวรรดิหลายฝ่ายเคลม
ดินแดนหล่านั้นไม่ใช่ของสยามแน่ชัดแต่ผู้เดียวตลอดมา ยกเว้นแต่จะหลับหูหลับตาเข้าข้างตัวเอง
ในเมื่อดินแดนตั้งต้นก่อนการ “เสีย” ไม่ชัดเจน จะบอกว่ามีการเสียดินแดนตรงไหนแค่ไหนบนแผนที่ได้อย่างไรกัน
นักประวัติศาสตร์ใช้วิธีการอะไรมาบอกว่า อาณาเขตอันชอบธรรมของสยามก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ 25 มีอยู่แค่ไหน เพื่อใช้ระบุว่าส่วนไหนที่สูญเสียหรือไม่สูญเสีย? ไม่มีงานชิ้นไหนเลยอธิบายว่าทำไมตนจึงเสนอว่าอาณาเขตตั้งต้นของสยามนั้น นับจากอะไร? นับจากสมัยรัชกาลที่ 1 หรือ? ถ้าเช่นนั้นทำไม่ไม่นับจากการเสียกรุงครั้งที่สอง?
และนี่เป็นเหตุผลที่หลายประเทศสมัยใหม่ล้วนเขียนประวัติศาสตร์เข้าข้างตัวเองว่าตนเสียดินแดนทั้งนั้น ส่วนการ “ได้” ผนวกดินแดนมาเป็นของตนกลับเรียกว่าการ “รักษาเอกราช” หรือการ “ปฏิรูปการปกครอง”
พื้นที่ทับซ้อนขนาดมหาศาลตลอดทุกพรมแดนของรัฐสมัยก่อนเป็นเรื่องปกติ แถมยังช่วยให้เกิดสันติภาพระหว่างรัฐ เพิ่งร้อยปีหลังมานี้เองที่กลับกลายเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงและสงครามนับครั้งไม่ถ้วน
แต่ถ้าหากว่าดินแดนทั้งหมดก่อนการสูญเสียเป็นเพียงแค่การคาดเดา การ “เสียดินแดน” ก็เป็นแค่การส่งต่อความรู้สึกเสียหน้าเสียเกียรติยศของชนชั้นนำสยามให้กับประชาชน (จะอธิบายประเด็นนี้ในโอกาสต่อไป)
สรุป การ “เสียดินแดน” จึงเป็นเพียงประวัติศาสตร์ “มโน” เข้าข้างตัวเอง เพราะ…
1) แต่ก่อนไทยเคยมีดินแดนแค่ไหนก็ล้วนมโนเข้าข้างตัวเอง 2) เสียไปกี่ครั้งตรงไหนบ้าง ก็ล้วนมโนเข้าข้างตัวเอง
จำเป็นด้วยหรือที่เกิดเป็นคนไทยจะต้องหลับหูหลับตาเชื่อประวัติศาสตร์ที่มโนเข้าข้างตัวเองอย่างบ้าคลั่ง
https://www.matichon.co.th/weekly/column/article_849939