วันอังคาร, กรกฎาคม 15, 2568

ปัญหาของความเป็นไทยแท้ ถูกใช้ในการดูถูกดูแคลนคน ทั้งคนในประเทศเพื่อนบ้านหรือแม้กระทั่งในประเทศตัวเอง "ไทยแท้" มีจริงหรือไม่ ถอดรหัสดีเอ็นเอคนไทยปัจจุบันมีที่มาจากไหน ?



"ไทยแท้" มีจริงหรือไม่ ถอดรหัสดีเอ็นเอคนไทยปัจจุบันมีที่มาจากไหน ?

นงนภัส พัฒน์แช่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
14 กรกฎาคม 2025

เคยสงสัยกันไหมคะว่า รากเหง้าต้นตอบรรพบุรุษของพวกเราที่เรียกตัวเองกันว่า 'คนไทย' เป็นใครมาจากไหน และอะไรที่ทำให้เราแตกต่างจากคนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมา กัมพูชา หรือมาเลเซีย ?


การศึกษาทางพันธุศาสตร์มานุษยวิทยาบ่งชี้ว่า ผู้ที่เรียกตัวเองว่า 'คนไทย' และอาศัยอยู่ในพรมแดนของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น มีรหัสทางพันธุกรรม หรือ "ดีเอ็นเอ" ที่หลากหลาย และมีการผสมผสานกับชาติพันธุ์ต่าง ๆ และประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศใกล้เคียง ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

บีบีซีไทยได้พูดคุยกับนักวิชาการด้านชีววิทยาที่ศึกษาดีเอ็นเอคนไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี และนักประวัติศาสตร์โบราณคดีเพื่อไขปริศนาที่ว่า คนไทยคือใคร ? และไทยแท้มีจริงหรือไม่ ?

คนไทยดั้งเดิมที่สุด คือกลุ่มชาติพันธุ์ใด

รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ทุ่มเทเวลากว่าสองทศวรรษศึกษาดีเอ็นเอผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วยผู้คนที่อาศัยในภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ตั้งแต่กลุ่มที่อาศัยในเขตเมืองไปจนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า จากหลักฐานทางพันธุกรรมที่เขาค้นพบ กลุ่มที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษ "เก่าที่สุด" ที่อพยพเข้ามายังประเทศไทย คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า "มานิ" ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ อาทิ พัทลุง ตรัง และสตูล


รศ.ดร.วิภู ขณะเก็บดีเอ็นเอชาวมานิ ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าเทือกเขาบรรทัด บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย

สาเหตุที่ทำให้ทราบว่าพวกเขาคือกลุ่มคนดั้งเดิมที่สุด เพราะมีดีเอ็นเอที่ใกล้ชิดที่สุดกับประชากรดั้งเดิมที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ปัจจุบันที่เรียกว่า "โฮโมเซเปียนส์" (Homo Sapiens) ซึ่งอพยพจากแอฟริกาเข้าสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อประมาณ 60,000 – 70,000 ปีก่อน

"ถามว่าแล้วเรารู้ได้ยังไงว่าเจ้ากลุ่มประชากรกลุ่มปัจจุบันกลุ่มไหนที่สืบเชื้อสายมาจากคนโบราณเมื่อ 60,000 ปีที่ผ่านมา มันก็จะมีวิธีการศึกษาโดยเปรียบเทียบดีเอ็นเอโบราณนะครับ ซึ่งโบราณมากที่สุด ณ ตอนนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราได้ ก็จะเป็นตัวอย่างจากประเทศลาวซึ่งมีตัวอย่างประมาณ 8,000 ปี" รศ.ดร.วิภู อธิบายและว่า

"ดีเอ็นเอโบราณ 8,000 ปีนี่นะครับ มันมีความเชื่อมโยงแล้วก็สอดคล้องกับกลุ่มประชากร หรือว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า 'มานิ'"

เขาเสริมอีกว่า เมื่อนำดีเอ็นเอของชาวมานิมาใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการประมาณการณ์อายุว่า สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่มีอายุกี่ปีมาแล้ว ยังพบอีกว่าชาวชาติพันธุ์กลุ่มนี้มีเชื้อสายดีเอ็นเอที่อายุกว่า 40,000 ปี

"ดังนั้น นี่ก็จะเป็นกลุ่มแรก ก็คือกลุ่มที่เก่าที่สุด"

ผู้อพยพจากจีนตอนใต้

หลังจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า "มานิ" นักชีววิทยาผู้นี้เล่าว่า โครงสร้างทางพันธุกรรมของคนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาศัยในไทยก็คงที่เรื่อยมา จนกระทั่งราว 4,000 ปีที่ผ่านมา ที่พบการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ จากการเทียบเคียงดีเอ็นเอโบราณเข้ากับคนปัจจุบันที่อาศัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"เจ้าตัวโครงสร้างพันธุกรรมของคนในประเทศไทย รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันเปลี่ยนไปจากมานิมาเป็นกลุ่ม 4,000 ปี ก็คือกลุ่มออสโตรเอเชียติก ซึ่งเขาก็คาดว่ากลุ่มนี้ตามหลักฐานทางโบราณคดีเป็นกลุ่มที่เริ่มทำเกษตรกรรมแล้ว ในขณะที่กลุ่มคนดั้งเดิมยังทำเกษตรกรรมไม่เป็น" รศ.ดร.วิภู ระบุ

'ออสโตรเอเชียติก' คือกลุ่มตระกูลภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการเชื่อมโยงการกระจายของภาษาออสโตรเอเชียติกกับวัฒนธรรมการปลูกข้าวจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีในประเทศจีนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รศ.ดร.วิภู อธิบายโดยอ้างอิงถึงการศึกษาอื่นไว้ในหนังสือ 'ดีเอ็นเอไม่ไทย บรรพชนไทยไม่แท้' ที่เขาเขียน โดยเขาอธิบายเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ว่ากลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลนี้ เช่น ชาวมอญ เขมร ส่วย รวมถึงละว้า

หลังจากยุคนั้น ก็พบการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเออีกครั้งในช่วงราว 2,000 – 1,500 ปีที่ผ่านมา ที่พบว่าดีเอ็นเอ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูล 'ไท-กะได' ซึ่งเป็นต้นตอของ 'ภาษาไทย' ในปัจจุบัน

"ในช่วงที่คนไท [กะได] อพยพมา [จากจีนตอนใต้] ประมาณ 2,000 - 1,500 ปี ดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบันมีมานิอาศัยอยู่ มีออสโตเอเชียติกอาศัยอยู่นะครับ ไท-กะไดก็อพยพลงมา บางส่วนก็มีการผสมกับออสโตรเอเชียติกดั้งเดิม" รศ.ดร.วิภู อธิบาย


การศึกษาดีเอ็นเอจากโครงกระดูกโบราณ ช่วยบ่งบอกความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมระหว่างคนไทยในปัจจุบันและในอดีต

ในหนังสือ "ดีเอ็นเอไม่ไทย บรรพชนไทยไม่แท้" ของนักวิชาการผู้นี้ที่ตีพิมพ์ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เขาสรุปข้อค้นพบทางดีเอ็นเอของคนไทยในแต่ละภาคที่เขาค้นพบจากการศึกษากว่าสองทศวรรษ

บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญจากหนังสือเล่มนี้ได้ว่า ดีเอ็นเอของคนไทยในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่าง และในภูมิภาคเดียวกันเองก็พบความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังพบความเชื่อมโยงของกลุ่มคนที่ใช้ตระกูลภาษาเดียวกัน รวมถึงพบการผสมผสานทางพันธุกรรมระหว่างกลุ่มประชากรที่อยู่ใกล้เคียงด้วย ยกตัวอย่างเช่น
  • ภาคเหนือ พบคนเมืองมีพันธุกรรมคล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตระกูลไท-กะได (ไทลื้อ ไทยอง และไทเขิน) แต่ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ที่พันธุกรรมที่ต่างออกไป โดยมีดีเอ็นเอบางส่วนคล้ายกับชาว "ละว้า" หรือ "กะเหรี่ยง"
  • ภาคอีสาน ชาว "ลาวอีสาน" ซึ่งเป็นประชากรหลักในพื้นที่ ผลการศึกษาดีเอ็นเอในหลายจังหวัดพบว่ามีการผสมผสานทางพันธุกรรมกับชาวเขมร และใกล้ชิดกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยใกล้เคียง รวมถึงชาวลาว นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีชาว "มอญ" ซึ่งมีดีเอ็นเอของประชากรอื่น ๆ ผสมผสาน และมีชาว "ไทโคราช" ที่มีดีเอ็นเอเหมือนกับชาวมอญ เขมร และลาวอีสาน
  • ภาคกลาง (ไม่รวมชาวไทยเชื้อสายจีนหรือคนที่อพยพมาจากภาคอื่น ๆ) ส่วนหนึ่งพบดีเอ็นเอที่คล้ายชาวมอญ เชื่อมโยงกับชาวอินเดีย และมีบางส่วนที่คล้ายกลุ่มประชากรในภาคเหนือ
  • ภาคใต้ พบดีเอ็นเอเชื่อมโยงกับชาวมาเลย์ โดยดีเอ็นเอชาว "ไทยมุสลิม" ใกล้กับชาว "มาเลย์" มากกว่า ขณะที่ดีเอ็นเอของชาว "ไทยพุทธ" เชื่อมโยงกับไทยกลางและอีสานมากกว่า
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการสรุปโดยย่อ โดยดึงเพียงบางส่วนจากการศึกษาของ รศ.ดร.วิภู เท่านั้น เพราะเนื้อหาในหนังสือมีความละเอียดและมีข้อมูลเฉพาะเจาะจงในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจไม่สามารถอธิบายได้ครบถ้วนในบทความชิ้นเดียว

รศ.ดร.วิภู อธิบายว่า ความหลากหลายที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ตั้งแต่ราว 800 ปีที่ผ่านมา ที่มีสงครามในภูมิภาค เช่น อยุธยารบกับพม่า ทำให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายประชากร

"ความหลากหลายของคนในประเทศไทยนอกจาก 3 กลุ่มหลักที่ผมพูดไป ตั้งแต่ก่อน 4,000 ปี 4,000 ปี แล้วก็ 2,000 ปีแล้ว ในช่วง 800 ปีที่ผ่านมามันมันเกิดความหลากหลายมากนะครับ แต่ถามว่ามันลบโครงสร้างพันธุกรรมเดิมที่เกิด 3 ครั้งแรกไปแล้วหรือยัง คำตอบคือยัง เพราะเรายังสามารถตรวจสอบได้จากผลการศึกษาดีเอ็นเอ" รศ.ดร.วิภู ระบุ

ผลดีเอ็นเอของชาวไทยภาคกลาง ส่วนหนึ่งพบดีเอ็นเอที่คล้ายชาวมอญ ชาวอินเดีย ไปจนถึงส่วนที่คล้ายกลุ่มประชากรในภาคเหนือ

คำอธิบายทางประวัติศาสตร์

คลื่นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางพันธุกรรมในสมัยราว 2,000 ปีที่ผ่านมา มีคำอธิบายทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมจาก ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าเป็นช่วงเวลาที่ชาว "ไป่เยว่" ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายชนเผ่าที่อาศัยร่วมกันในจีนตอนใต้ เริ่มอพยพลงมา หลังจากมี "เส้นทางสายไหมทางทะเล"

"การอพยพเคลื่อนย้ายลงมาทางทางใต้ มันอาจจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วมันใช้เวลายาวนานมากอะไรอย่างนี้ มันก็ทำให้คนที่อพยพมา ปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มอื่น ๆ เพราะฉะนั้น พองานของอาจารย์วิภูศึกษามา มันก็เลยจะเห็นว่า บางกลุ่มของกลุ่มคนไทยก็ไปมีเชื้อสายที่เกี่ยวข้องกับมอญ-เขมร" ผศ.ดร.พิพัฒน์ อธิบาย

เขามองว่าผลการศึกษาดีเอ็นเอที่พบคนไทยในหลายพื้นที่มีดีเอ็นเอของคนในประเทศข้างเคียง "ไม่ค่อยน่าแปลกใจ" เมื่อดูจากประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นฐานของคนไทย

นักประวัติศาสตร์โบราณคดีผู้นี้อธิบายเพิ่มเติมว่า จากความหลากหลายที่มีอยู่แล้วในชาวไป่เยว่ก่อนอพยพลงมา ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเมื่ออพยพมาแล้ว พวกเขาอาจเลือกพื้นที่ในการตั้งรกรากที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เมื่อเข้ามาตั้งรกรากในไทยแล้วก็อาจมีการผสมผสานแต่งงานกับคนที่อยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนแล้วตั้งแต่ดั้งเดิม ทำให้ยิ่งมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นไปอีก

ตัดความเป็นชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนสืบเชื้อสายจากผู้อพยพ


รศ.ดร.วิภู ระบุว่าก่อนที่จะมีเส้นเขตแดน กลุ่มผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถอพยพโยกย้ายอิสระ

"คำว่ารัฐไทยมันเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อสักไม่กี่ร้อยปีเอง อย่างคำว่าประเทศ ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศพม่า อะไรพวกนี้ เส้นเขตแดนต่าง ๆ เหล่านี้มันเพิ่งถูกขีดขึ้นมาเองครับ ในสมัยก่อนนะเส้นเขตแดนมันไม่มี ดังนั้นกลุ่มผู้คนสามารถอพยพโยกย้ายได้อิสระ" รศ.ดร.วิภู ให้ความเห็น

"จริง ๆ แล้ว ก่อนหน้าที่จะเกิดคำว่าประเทศไทย ในดินแดนแห่งมันมีความหลากหลายของผู้คนเยอะมากรวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย" เขาระบุ พร้อมบอกว่าความหลากหลายที่เขาค้นพบในดีเอ็นเอของคนไทย เมื่อเทียบเคียงกับข้อค้นพบในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ เท่าที่มีการศึกษา ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก

"ในพม่ายังไม่มีคนศึกษา ในลาวก็ยังไม่มีคนศึกษานะครับ แต่ว่าในประเทศที่มีศึกษาเยอะ ๆ ในจีนนี่ศึกษาเยอะมากนะครับ เพราะว่ามีนักวิทยาศาสตร์จีนหลากหลายกลุ่มที่สนใจกันทางด้านนี้ ในเวียดนามนี่มีบ้างนะครับ แล้วก็ในมาเลเซียนี่มีบ้างนะครับ คือข้อค้นพบหลัก ๆ จะคล้าย ๆ กันเพราะว่าเพราะว่าเป็นกลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน" รศ.ดร.วิภู ระบุ

เขาอธิบายเพิ่มเติมถึงการศึกษาดีเอ็นเอในประเทศเวียดนามที่พบว่ามีกลุ่ม "โหบิเนียน" ซึ่งมีบรรพบุรุษเดียวกับชาวมานิในไทย อาศัยอยู่ดั้งเดิมเป็นกลุ่มแรก และจากนั้นก็พบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมครั้งใหญ่ในช่วง 4,000 ปีก่อน และ 2,000 ก่อน เช่นเดียวกับไทย

อย่างไรก็ตาม ประชากรหลักของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ซึ่งนักมานุษยวิทยาเรียกว่าชาว "ขิ่น" นั้น พบว่ามีดีเอ็นเอสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มที่อพยพเข้ามาเมื่อ 2,000 ปีก่อน แตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่พบความหลากหลายมากกว่า คือมีทั้งที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มที่อพยพมาเมื่อ 4,000 ก่อน และที่สืบเชื้อสายจากอพยพเมื่อ 2,000 ปีก่อน และมีการผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า อย่างไรก็ตาม ต้นทางของการอพยพมาจากจีนตอนใต้เช่นเดียวกัน

"คือเราต้องยอมรับว่า เพราะว่าด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยด้วย เพราะว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในใจกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้... อะไรก็ตามที่ตั้งอยู่ตรงกลาง มันเป็นเหมือนกับจุดเชื่อม จากเหนือก็คือจากจีนลงไปมาเลย์ จากพม่าไปเวียดนามอย่างนี้ มันต้องผ่านไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าในรูปแบบของการอพยพเคลื่อนย้ายในรูปแบบบน-ล่าง หรือว่าซ้าย-ขวา ยังไงก็ต้องผ่านไทย ดังนั้นไทยจะเป็นจุดตรงกลาง ทำให้เกิดความหลากหลายมาก" รศ.ดร.วิภู ระบุ


กราฟเปรียบเทียบดีเอ็นเอของประชากรชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย โดยสีที่แตกต่างกัน แสดงถึงการผสมผสานของดีเอ็นเอที่แตกต่างหลากหลายในแต่ละกลุ่มประชากรและกลุ่มตระกูลของภาษาที่ใช้

แล้วอะไรคือ 'ไทยแท้' ?

บีบีซีไทย ตั้งคำถามนักวิชาการทั้งสองคนว่า จากความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ค้นพบ เช่นนั้นแล้ว 'ไทยแท้' มีอยู่จริงหรือไม่?

"ถ้าถามผมนะ ผมว่าไม่มี" รศ.ดร.วิภู ตอบทันที "คำว่าไทยแท้คืออะไร หมายถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทยหรือ เราก็อพยพมาจากจีนตอนใต้นะ สมมุติถ้าเกิดเราใช้คำนิยามคำว่าไทยแท้คือคนที่พูดภาษาไทย ภาษาไทยนี่มาจากจีนตอนใต้ นั่นแปลว่าเราเองเราก็เป็นผู้อพยพนะครับ"

"หรือกลุ่มออสโตรเอเชียติกที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยก่อนที่กลุ่มคนไทยจะมา เขาก็มาจากจีนตอนใต้เมื่อ 4,000 ปีที่ผ่านมา เขาก็เป็นผู้อพยพ"

"มานิเองก็เป็นผู้อพยพ มาจากแอฟริกาเมื่อ 60,000 ปี ที่ผ่านมาแบบนี้ คือมันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ระยะเวลาตัวไหนในการบอกว่าอันนี้คือใคร" นักชีววิทยาผู้นี้ให้ความเห็น ก่อนจะกล่าวแย้งต่อไปว่า "แต่ผมว่าไทยแท้ไม่มี คือใครก็ไม่รู้"

ขณะที่ ผศ.ดร.พิพัฒน์ มองต่างออกไปเล็กน้อย เขามองว่าความเป็นไทยแท้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนกลุ่มไหนจะนิยามตัวเองอย่างไร

"เดิมทีคนไทยสยามในภาคกลางนี่ ไม่เคยนับรวมคนทางภาคเหนือว่าคือไทย แต่ถือว่าเป็นลาวนะครับ คนในอีสาน ไทยสยามก็ไม่เคยถือว่าคนลาวเป็นคนไทย จนกระทั่งการเข้ามาของอาณานิคมตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือประมาณสัก 150 ปีก่อนนะครับ มันทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของดินแดน" เขาเปิดเผย

นักประวัติศาสตร์โบราณคดีผู้นี้ย้อนเล่าถึง 'สำนึกความเป็นไทย' ว่าเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงยุคของการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก ซึ่งการรวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ 'คนไทย' นั้น ก็เพื่อนำไปใช้พูดคุยกับชาติตะวันตกไม่ให้มาอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน

"คือไทยแท้มันอยู่ที่สำนึกครับ ว่าเราคิดว่าตัวเองเป็นไทยแท้ไหม" ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าว "ถ้ารู้สึกว่าคุณเป็นไทยแท้แล้วคุณ happy (มีความสุข) กับมัน คุณก็สามารถที่จะนิยามตัวเองแบบนั้นได้ ตราบใดที่ความเป็นไทยแท้ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น หรือไปดูถูกคนอื่นว่าไม่ใช่ไทยแท้"

บีบีซีไทยถามต่อไปว่า เช่นนั้นแล้ว 'ไทยแท้' เป็นเพียงมายาคติที่สุดท้ายแล้วอยู่ที่แต่ละคนจะคิด แต่ไม่ได้มีวิทยาศาสตร์รับรองหรือไม่ ?

"ใช่ ๆ" เขาตอบ "คือถ้าเอาข้อมูลวิทยาศาสตร์ ข้อมูลวิชาการมายัน มันไม่มีความเป็นไทยแท้หรอก ในเชิงของดีเอ็นเอหรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่มีใครบริสุทธิ์"

"แต่ว่าถ้าเราพูดกันถึงในลักษณะของเชิงรัฐศาสตร์ หรือเชิงสำนึกของความเป็นชาติอะไรแบบนี้ คุณก็อาจจะนิยามอย่างนั้นได้ แต่มันเป็นการนิยามในเชิงอุดมคตินะ หรือมันมาจากจิตสำนึกบางอย่าง แต่มันไม่ได้มาจากข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์" ผศ.ดร.พิพัฒน์ ระบุ


ตำราเรียนของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้พื้นที่กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศแตกต่างกัน ซึ่ง ผศ.ดร.พิพัฒน์ มองว่ามีส่วนสำคัญต่อแนวคิดชาตินิยมของประเทศนั้น ๆ

เขายังให้ความเห็นอีกว่า สิ่งที่ระบุอยู่ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ มีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนแนวคิดชาตินิยมในแต่ละประเทศ ว่าจะบอกเล่าเรื่องราวอย่างไร ให้น้ำหนักกับกลุ่มไหนหรือชาติพันธุ์ใดบ้าง

"หนังสือแบบเรียนแกนเรื่องหลัก ๆ มันว่าด้วยเรื่องของคนไทย มันไม่ได้พูดถึงคนกลุ่มอื่น ๆ นะ ถ้าพูดถึงคนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีน้อยมาก ก็จะบอกแค่ว่าในประเทศไทยมีกลุ่มคนอะไรอยู่บ้าง แค่นั้นก็จบ แต่มันไม่ได้บอกเล่าประวัติความเป็นมา หรือว่าบอกว่าผู้นำของคนแต่ละกลุ่ม ๆ คือใคร... ตัวตำราเรียนนี่ แกนหลักคือคนไทย กษัตริย์ไทย" ผศ.ดร.พิพัฒน์ อธิบาย

"กัมพูชาเองก็แบบเดียวกัน เขาก็มีแกนเรื่องอยู่ 2-3 อย่าง หนึ่งก็คือว่ากัมพูชาเป็นอาณาจักรโบราณที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนในอดีต โดยที่มีประจักษ์พยานคือปราสาท แต่ความรุ่งเรืองดังกล่าวถูกทำลายด้วยไทยอยุธยา มันก็เลยทำให้ทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้น"

"ประวัติศาสตร์เวียดนามเองก็มีแกนหลักอยู่ที่เรื่องของชาวเวียด เพราะฉะนั้นเรื่องราวของชาวจามซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งก็เลยไม่มีพื้นที่ แต่ความโชคดีบางอย่างของพัฒนาการหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเวียดนาม คือตอนที่ต้องการจะปลดปล่อยตัวเองออกจากการเป็นอาณานิคม มีคนกลุ่มหลาย ๆ กลุ่มชาติพันธุ์มาช่วยกันรบ เพราะฉะนั้นในแบบเรียนเขาก็ให้พื้นที่พอสมควรกับคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งม้ง ทั้งกลุ่มคนที่อยู่บนพื้นที่สูง ทั้งชาวจาม" เขาระบุ

"ปัญหาของความเป็นไทยแท้ ณ ตอนนี้ ก็คือว่าเราใช้ความเป็นไทยแท้ หรือแม้กระทั่งไม่แท้ด้วยนะ ในการดูถูกดูแคลนทั้งคนในประเทศเพื่อนบ้านหรือแม้กระทั่งในประเทศตัวเองใช่ไหม ว่านั่นไม่ใช่คนไทยนะ อพยพเข้ามาใหม่ เป็นชาวปกาเกาะญอหรือชาวอะไร" นักวิชาการผู้นี้ให้ความเห็น "ปัญหาของวิธีคิดแบบนี้เป็นเพราะว่าเราขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์ เราเลยไม่เข้าใจเรื่องการเคลื่อนย้ายหรือประวัติความเป็นมาของกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม"

"ที่เราไม่เข้าใจนี่ เป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งเราถูกแบบเรียนล่ะมั้ง ถูกสังคมหล่อหลอมให้เรารู้สึกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นศัตรูหรือว่าเป็นคู่ขัดแย้งอะไรกันบางอย่าง" ผศ.ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อ "เพราะฉะนั้นก็อาจจะต้องพยายามเปิดใจกับชุดความรู้ใหม่ ๆ หาความรู้ให้มากขึ้น ซึ่งการลดความเป็นไทยแท้ลง มันก็จะเพิ่มความเป็นคนมากขึ้นครับ" เขากล่าวทิ้งท้าย

https://www.bbc.com/thai/articles/c0l4619wd97o