วันอังคาร, กรกฎาคม 15, 2568

หลักคิด ‘นิรโทษกรรม’ โดย ปราปต์ บุนปาน ชวนกลับไปอ่านความคิดเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรี “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” ถึงหลักคิดในการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ พ.ศ.2521


สถานีคิดเลขที่ 12 : หลักคิด ‘นิรโทษกรรม’ โดย ปราปต์ บุนปาน

14 กรกฎาคม 2568
มติชนออนไลน์

นิรโทษกรรม – สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม/สร้างเสริมสังคมสันติสุขหลายฉบับ โดยมีแนวโน้มที่เสียงส่วนใหญ่จะมีความเห็นว่า ควรยกเว้น ไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ซึ่งส่วนใหญ่ คือแกนนำ “ม็อบเยาวชน” ช่วงปี 2563)

ในวาระท้าทายเช่นนี้ อยากเชิญชวนผู้แทนราษฎรทุกท่านและสังคมไทย ย้อนกลับไปอ่านความคิดเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรี “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” ถึงหลักคิดในการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ พ.ศ.2521

อันเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมความผิดทุกมาตรา จากกรณี “เหตุการณ์ 6 ตุลา”

ดังเนื้อหาที่มีปรากฏอยู่ในวีดิทัศน์หัวข้อ [นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา] เผยแพร่ผ่านทางช่องยูทูบหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ต่อไปนื้

“ผมไม่ได้ช่วยคุณ (นักศึกษาที่ได้รับการนิรโทษกรรมในคดี 6 ตุลา) และผมไม่ต้องการหาเสียงในการกระทำของผมตรงข้าม ผมก็รู้สึกว่า ที่ผม ‘เสี่ยง’ ทำไปครั้งนี้นั้น ผมเสี่ยงทำในสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นธรรมต่อสังคมและชอบธรรม แล้วค่อยไปตัดสินใจ

“ผมเสี่ยงต่อความรู้สึกที่ขัดแย้งกันว่า พวกคุณได้ ‘กระทำมิดีมิร้ายต่อแผ่นดิน’ บางคนคิดอย่างนั้น บางคนก็ไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมก็เสี่ยงต่อบุคคลที่คิดอย่างนั้น

“จริงอยู่ คุณอาจจะมีส่วนเข้าไปในพื้นที่นั้นด้วย เรื่องจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผมก็ขอให้ท่านทั้งหลายลืมไปทุกสิ่ง เหมือน ‘ฝันร้าย’ ไป อันความไม่เข้าใจกันนี้มันเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น บัดนี้เรามาเข้าใจกันแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ก็ลืม ตั้งต้นคิดใหม่ คุณกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา จะต้องศึกษาต่อไป

“พระราชบัญญัตินี้ก็ได้ให้บุคคลอื่นที่เป็นนักเรียนเหมือนกัน ที่ไม่ได้อยู่ใน 19 คนที่ผมพบวันนี้ ก็ได้อานิสงส์อันนี้ไปด้วย นอกจากนั้น ก็เจ้าหน้าที่ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ประชาชนอะไรต่างๆ ที่ไม่มีความเข้าใจกันในวันนั้น ให้กลับเข้าใจกัน ให้มีความเลิกแล้วต่อกัน

“เพราะเห็นว่าคุณได้รับโทษมาสมควรแล้ว บางคนก็ยังเป็นเด็กอยู่ ยังมีอนาคตในการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปอีกมาก

“จำไว้ว่า ผมไม่ได้ช่วยคุณ ผมไม่ได้หาเสียง ผมไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจากใครทั้งนั้น ถ้าผมจะเล่นการเมืองหรือไม่เล่นการเมือง ผมไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร จำไว้เท่านี้ ผมทำไปตามที่เห็นว่าถูก ที่ชอบธรรม แล้วก็เพื่อประสานรอยร้าวของสังคม ซึ่งในระยะนั้น ความคิดมันแตกต่างกัน

“เราอย่าเสียจังหวะ ถ้าเราเสียจังหวะไประยะนี้แล้วบ้านเมืองเราจะล้าหลังเขา ถ้าบ้านเมืองเราล้าหลังเขาในทางเศรษฐกิจก็ดี ทางสังคมก็ดี ทางการป้องกันประเทศก็ดี อาณาจักรใหญ่ๆ มันยังสลายได้ เพราะฉะนั้น ความสามัคคีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมต้องการเน้นให้คุณทราบ”

หลายคนย่อมทราบกันดีว่า หลายครั้ง “ประวัติศาสตร์” มักเดินทางเป็น “วงกลม”

มนุษย์สามารถ “ทำผิด” แบบเดิมๆ หรือคล้ายๆ เดิม ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอดพัฒนาการอันระหกระเหินในประวัติศาสตร์

แต่เราก็มีศักยภาพและความสามารถที่จะลงมือทำใน “สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม” ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งอดีตเช่นเดียวกัน

ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์อย่างเราๆ จะมีมโนธรรมและความกล้าหาญเพียงพอหรือไม่?

ปราปต์ บุนปาน

https://www.matichon.co.th/politics/thinkstation-12/news_5273279