วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2567

ความต่างของสองคดี ‘ตากใบ’ อัยการไม่ฟ้องข้าราชการทหาร ตำรวจ ที่รับผิดชอบการสลายชุมนุม

ความต่างของสองคดี ตากใบอยู่ที่ คดีซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ๔๘ ราย เป็นโจทก์นั้น ฟ้องเอาผิดอดีตแม่ทัพภาค ๔ กับข้าราชการระดับสูง ทหาร ตำรวจ ๔ คน และพลเรือน ๒ คน ซึ่งเกี่ยวข้อง และ/หรือรับผิดชอบกับเหตุการณ์

แต่คดีที่อัยการสูงสุดเพิ่งฟ้อง ๘ คน นอกจาก พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แล้วนอกนั้นเป็นทหารชั้นผู้น้อย ๖ คนกับพลเรือนอีก ๑ คน ซึ่งทำหน้าที่ขับรถบรรทุก ๗ คันในจำนวน ๒๕ คัน ที่เกิดเหตุผู้ชุมนุถูกจับยัดใส่ ทับซ้อนกันบนรถ เสียชีวิต ๗๘ คน

พล.อ.เฉลิมชัย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาเอกและเป็นข่าวมาก เนื่องจากปัจจุบันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ระหว่างสมัยประชุม แต่ลาป่วยเพื่อไปรักษาตัวที่ประเทศอังกฤษพอดี เขาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดในพื้นที่ขณะนั้น ภายใต้กฏอัยการศึก

แม้นว่า พล.อ.พิศาลจะมอบหมายให้ พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.๕ และพล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาค ๔ ปฏิบัติการสลายชุมนุม อันมีผู้ชุมนุมนับพันคน คำฟ้องระบุว่า มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า พล.อ.เฉลิมชัย “รับผิดชอบในการควบคุมตัวผู้ชุมนุม การลำเลียงผู้ชุมนุมขึ้นรถบรรทุกไปยังเรือนจำทหารบก ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี” แต่ไม่ได้อยู่ควบคุมปฏิบัติการให้ลุล่วง

เพราะ “ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรี (นายทักษิณ ชินวัตร ) ที่อ.เมือง จ.นราธิวาส เวลา ๑๙.๓๐ น.โดยไม่มีเหตุผล และความจำเป็น” จึงถือว่ามีความผิดเช่นกัน แต่ พล.อ.เฉลิมชัย ก็ไม่ติดโผคำฟ้องของอัยการสูงสุด

เช่นกันกับ “พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค ๙ ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส” แต่มีคนขับรถบรรทุกที่เกิดเหตุ ๘ คนมาแทนดังกล่าวข้างต้น

นายหะยีดิง มัยเซ็ง ผู้บาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ให้สัมภาษณ์ว่าผิดหวัง ที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ๘ คน “แต่ส่วนใหญ่เป็นพลขับ และผู้ควบคุมรถบรรทุกกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่คลอบคลุมถึงผู้สั่งการ” ส่วนเฉพาะกรณี พล.อ.พิศาล

นายวันมูหะมัดนอร์​ มะทา ประธานสภาผู้แทนแจ้งว่า “ถูกศาลนราธิวาสมีหนังสือด่วนที่สุดเพื่อขอตัวไปดำเนินคดี” อนุญาตจับกุมในระหว่างสมัยประชุม ซึ่งสามารถทำได้ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๕ เพิ่มเติมวรรค ๔

(https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/wGRiRsyZk, https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/ME1hkk77caBS และ https://www.thaipbs.or.th/news/content/344342)