วันศุกร์, ตุลาคม 14, 2565

ไทยงดออกเสียงลงมติยูเอ็นประณามรัสเซียผนวกดินแดง - น่าอับอาย ไร้ความรับผิดชอบ และตั้งอยู่บนความขลาดเขลา


ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns
6h

น่าอับอาย ไร้ความรับผิดชอบ และตั้งอยู่บนความขลาดเขลา
-
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้จัดลงมติประณามรัสเซียต่อกรณีการผนวก 4 ดินแดนยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยปรากฎมี 143 ประเทศ จาก 193 ชาติสมาชิกที่ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว ขณะที่ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่งดออกเสียง 35 ประเทศ
จึงมีคำถามตามมาถึงท่าทีดังกล่าวของทางการไทยโดยเฉพาะทางกระทรวงการต่างประเทศ ถึงความเหมาะสม
-
เรามาดูคำอธิบายที่ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้ให้ไว้กัน :
1.ในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีอำนาจธิปไตย ประเทศไทยยึดถือกฎบัตรบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสำคัญเสมือนแนวป้องกันสุดท้าย ไทยยังยึดถือโดยชัดแจ้งต่อหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆ ตามหลักของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ
ประเทศไทยยึดถือนโยบายมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องว่าจะคัดค้านการข่มขู่คุกคามหรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่งและการใช้กำลังผนวกดินแดนของรัฐอื่นโดยไม่ได้ถูกยั่วยุ
2.อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเลือกที่จะงดออกเสียงลงคะแนนต่อข้อมติซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและมีสถานการณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการด้อยค่าต่อโอกาสที่การทูตจะยังผลให้เกิดการเจรจาข้อมติที่สันติและปฏิบัติได้จริงเพื่อแก้ไขความขัดแย้งซึ่งอาจผลักให้โลกไปสู่ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์และการพังทลายของเศรษฐกิจโลก
3.ประเทศไทยมีความห่วงกังวลอย่างแท้จริงต่อการแบ่งแยกขั้วทางการเมืองที่สูงขึ้นในหลักการระหว่างประเทศซึ่งทำให้เกิดผลในทางลบต่อวิธีการและแนวทางการยุติสงคราม การประณามนั้นยั่วยุให้เกิดความขัดขืนและลดทอนโอกาสของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง
-
ก็ต้องขอบอกว่า ประการแรก ข้อสองของคำอธิบายนี้มันอ่านไม่รู้เรื่อง มันไม่ได้มีตรรกะเหตุผลอะไรที่พอเป็นที่เข้าใจได้ และเมื่อรวมกับข้อสาม สิ่งที่พูดไว้ในข้อที่หนึ่งมันก็หมดซึ่งความหมายอย่างสิ้นเชิงไปโดยปริยาย โดยมันแปลได้ว่า บัดนี้ไทยเราไม่ได้เชื่อถือ ยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการเคารพหลักอธิปไตยและบรรณภาพแห่งดินแดนแล้ว
เพราะสิ่งที่พูดมามันขัดกันเองไปหมดจนไม่เหลือน้ำหนักความน่าเชื่อถือใดๆ
-
ปกติการลงมติเช่นนี้จะต้องดูว่าผลประโยชน์แห่งชาติเราอยู่ที่ไหน และเราจะปกป้องหรือส่งเสริมมันอย่างไร
เราจึงลงมติตามนั้น
ถามว่าในเรื่องนี้ ผลประโยชน์แห่งชาติเราอยู่ที่ใดแน่?
-
เป็นหลักการที่ไทยยึดถือมาโดยตลอด ในฐานะที่เราเป็นประเทศเล็ก ในการยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเฉพาะการคัดค้านการใช้กำลังเข้ารุกรานและยึดครองดินแดนประเทศอื่น ซึ่งเรื่องนี้เมื่อกว่าสี่สิบมาแล้ว ไทยก็เคยใช้หลักการเดียวกันนี้ร่วมกับอาเซียน ในการรณรงค์ให้โลกประนามและคว่ำบาตรเวียดนามจากการรุกรานกัมพูชา ซึ่งกลายมาเป็นภัยคุกคามโดยตรงของไทยจากกองกำลังนับแสนของเวียดนามในกัมพูชาที่มาประชิดชายแดนไทย
-
จากการรณรงค์ทางการทางการทูตของไทยและอาเซียนโดยอาศัยหลักการนี้ ทำให้เราได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากโลก และทำให้เวียดนามต้องยอมถอนทหารออกจากกัมพูชาในที่สุด
การงดออกเสียงครั้งนี้ของไทย จึงไม่ต่างอะไรกับการกลืนน้ำลายตนเองอย่างไร้ศักดิ์ศรี และในอีกแง่ก็เหมือนกับการเนรคุณประชาคมโลกอย่างหนึ่ง ที่พอตัวเองมีภัยคุกคามก็ไปขอให้โลกช่วยเหลือ แต่ครั้นพอคนอื่นถูกรุกราน เรากลับเพิกเฉย
มันทั้งน่าอายและขลาดเขลา ไร้ซึ่งความรับผิดชอบของไทยบนเวทีระหว่างประเทศ
-
นอกจากนี้เรามาดูว่าการลงคะแนนในแบบทำตัวเป็นกลาง (แบบโง่ๆ) นี้ ในแง่ผลประโยชน์อื่นไทยได้เสียอะไรบ้าง?
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด จากการลงคะแนนครั้งนี้ของไทย คือมันจะกลายเป็นหลักฐานบันทึกถึงการยอมรับโดยปริยายของไทยว่าการผนวกดินแดนโดยประเทศอื่นเป็นสิ่งที่ทำได้ ซึ่งมันหมายถึงว่า วันใดวันหนึ่งในอนาคต สมมุติว่ามีประเทศติดกับเราเขามาผนวกจังหวัดดินแดนของไทย ที่เขาอ้างว่าอยากแยกตัวออกจากไทย
เราจะว่าอย่างไร หรือจะขอให้ใครมาช่วยสนับสนุนเรา เพราะเราเองก็เคยยอมรับว่าสิ่งเช่นนี้ทำได้?
ถามว่านี่ถือเป็นความผิดพลาดที่นำความเสี่ยงมาให้ประเทศชาติหรือไม่?
-
แล้วผลประโยชน์อื่นๆที่ไทยจะได้จากการนี้ล่ะมีอะไรอีกไหม?
คือถ้าจะเอาใจรัสเซียในฐานะความเป็นมหาอำนาจ ก็ต้องบอกว่ากระทรวงการต่างประเทศทุกวันนี้ดูเหมือนไม่ทันเกม อ่านแนวโน้มโลกไม่ออก เพราะในแง่เศรษฐกิจนั้น รัสเซียแทบไม่สามารถให้ผลประโยชน์ใดๆกับไทยได้มากนัก โดยขนาดของเศรษฐกิจของรัสเซียเองนั้น เล็กกว่าเกาหลีใต้ด้วยซ้ำ และจากการถูกคว่ำบาตรก็ยิ่งมีแนวโน้มจะหดลงไปอีกจนแทบกลายเป็นแค่ประเทศกำลังพัฒนา
ซึ่งมันเทียบไม่ได้เลยกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่ไทยมีกับกลุ่มโลกเสรีประชาธิปไตย
ส่วนในแง่ความมั่นคง ถึงตอนนี้ลำพังการรบในยูเครน รัสเซียยังเอาตัวแทบไม่รอด โดยสถานะความเป็นมหาอำนาจทางทหารของรัสเซียนั้น กล่าวได้ว่าแทบหมดลงแล้ว
ในแง่ความมั่นคง ถึงตอนนี้ แม้กลุ่มประเทศเอเชียกลาง อย่างคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน ฯลฯ ที่เคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิด ต่างล้วนตีตัวออกห่างด้วยกันทั้งสิ้น
-
แล้วสรุปเราไปลงคะแนนแบบนี้เพื่ออะไร?
ที่ไม่สนองผลประโยชน์แห่งชาติสักอย่าง มองไปทางใดเห็นแต่ผลเสีย? ทำไมต้องเอาใจรัสเซียอีก?
-
ดูไปดูมา ก็ต้องขอเดาว่าคงจะต้องการเอาใจรัสเซียเพียงเพื่ออยากง้อให้ ปธน.ปูตินมาร่วมประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯในเดือนหน้า ซึ่งถ้าเป็นเหตุผลนี้จริงก็ยิ่งน่าอเนจอนาถใจหนักขึ้นไปอีก ที่เอาผลประโยชน์ของชาติมาแลกกับเพียงเพื่อให้รัฐบาลได้หน้าแบบกลวงๆ
-
และอย่างที่บอกว่ารัสเซียนั้นในความเป็นจริงแทบจะหมดสถานะความเป็นมหาอำนาจโลกไปแล้ว จะเหลือก็แค่ในแง่ psychology ความฝังใจเดิมๆที่ไม่ได้อยู่บนข้อเท็จจริง และตัวรัสเซียที่มีพฤติกรรมไม่ยอมรับกฎกติกาโลก นั้น จะสามารถเกื้อกูลอะไรภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ รวมทั้งเอเปคได้?
-
ผมคิดว่าการลงคะแนนครั้งนี้ของไทย เป็นเรื่องที่น่าเสียดายและสร้างความน่าอับอายให้ประเทศชาติยิ่ง โดยไม่ได้ตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติเลยแม้แต่น้อย
-
สำหรับคนระดับกำหนดนโยบายต่างประเทศ ผมรู้มานานแล้วว่าเขาไม่ได้มีสำนึกยางอายใดๆในหน้าที่ของตน
แต่ก็หวังว่าเหล่าข้าราชการที่มีส่วนในการนี้ ไม่ว่าจะที่กรมองค์การระหว่างประเทศหรือจะที่ประจำที่นิวยอร์ก จะพอรู้ตัวว่าได้สร้างความน่าอับอายให้สถาบันนี้ รวมทั้งได้มีส่วนร่วมย่ำยีผลประโยชน์ของประเทศชาติ บ้างสักนิดนะครับ