วันพุธ, ตุลาคม 05, 2565

● ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป : การสร้างความชอบธรรมของวาทกรรมเปื้อนเลือด


45 ปี 6 ตุลา
6h ·

● ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป:การสร้างความชอบธรรมของวาทกรรมเปื้อนเลือด
ภายหลังจากความสำเร็จของพลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่เปรียบเสมือนหมุดหมายการตื่นตัวทางความคิดของสังคมไทย มีนักวิชาการบางส่วนกล่าวว่าวันที่ 14 ตุลาเป็น “ วันมหาปีติ ” ที่นำพาเสรีภาพทางความคิด และอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายมาสู่สังคมไทย ก่อให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่เริ่มต้น แลปูทางให้ชาติสามารถก่อร่างระบบประชาธิปไตยขึ้นมาได้ตามความคาดหวังของกลุ่มนักศึกษา และปัญญาชน แต่แล้วความหวังที่เกิดขึ้นมานั้นก็ถูกทำลายลงอย่างเหลือเชื่อ ในห้วงระยะเวลาเพียงไม่ถึง 3 ปี ก่อนที่ท้ายสุดแล้ว เสรีภาพนั้นถูกฝังกลบไปจากความทรงจำของสังคมไทยต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ตามความต้องการของชนชั้นนำในสังคม(ชาญวิทย์)
บรรยากาศทางการเมืองช่วงยุคฟ้าสีทองผ่องอำไพ 2516-2519 ก่อนหน้า 6 ตุลา
ในช่วงเวลาระหว่างปี 2516-2519 นั้นเป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดความ “ แปลกใหม่ ” สำหรับการเมือง เกิดการเคลื่อนไหว และแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มขบวนการต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่คงมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ไปจนถึงกรรมกร ชาวนา และขบวนการประชาชนต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงปัญหาที่สั่งสมไว้ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ ผ่านการช่วยเหลือและสนับสนุนโดยกลุ่มนักศึกษา(สุรชาติ) ตลอดจนแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายหลั่งไหลเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา ความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ สร้างความกังวลต่อผู้เคยสนับสนุนการโค่นล้มเผด็จการในเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยเฉพาะชนชั้นนำและกระฎุมพี ที่มองย้อนถึงช่วงเวลาที่ตนเองรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจในประเทศ กลับกันในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความกังวลจากการกดดันของแรงงาน หรือสถานการณ์ในภูมิภาคอินโดจีนที่ถูกกองกำลังคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองทั้งใน เวียงจันทน์ พนมเปญ และไซ่ง่อน ที่สร้างความตื่นตระหนกในหมู่กระฎุมพีและชนชั้นนำ ภายใต้ความวิตกกังวลเหล่านั้นเอง พวกเขาได้ถือเอาสถาบันกษัตริย์เป็นทั้งหลักชัยและเกราะคุ้มกันด้านจิตใจ(เบเนดิก) ที่ก่อร่างขึ้นมาในช่วงทศวรรษ2500 ในสมัยเผด็จการของจอมพลสฤษฎิ์ และถูกนำมาใช้โดยฝ่ายอนุรักษนิยมเพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในหลากหลายรูปแบบแต่สิ่งที่ถูกนำมาใช้โดยฝ่ายขวามากที่สุดคือการใช้สื่อมวลชน
สร้างความกลัวและปลุกเร้ากระแสฝ่ายขวา
นับตั้งแต่นั้น ฝ่ายขวาเริ่มเคลื่อนไหวด้วยทรัพยากรที่ตนเองถือครองอยู่ในมือ เช่น หน่วยงานของรัฐบาล ตลอดจนสื่อมวลชนโดยเฉพาะวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ก่อให้เกิดการจัดตั้งขบวนการต่าง ๆ ที่เป็นการรวบรวมผู้คนซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันที่14 ตุลา ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มกระทิงแดงที่เป็นการรวบรวมอดีตทหารพราน ทหารรับจ้าง รวมถึงคนทั่วไปในสังคมที่หวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งพระกิตติวุฑโฒเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีบทบาทในขบวนการฝ่ายขวา ในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อหรือเผยแพร่ความชอบธรรมในการปราบปราม “ ผู้ที่ต้องการล้มล้างสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ” ผ่านกลุ่มเครือข่ายของตนเองในนิตยสาร “ ช่อฟ้า ” วารสารพุทธศาสนารายเดือนที่เริ่มเผยแพร่ในปี 2509 โดยให้ความสำคัญกับการเผยแพร่หลักธรรมและคำสอนทางพุทธศาสนา และมีการเผยแพร่ผ่านทางสถานีวิทยุยานเกราะ 790 ด้วย และมีจุดยืน “ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ” แต่ในช่วงปี 2516-2519 กลับพบว่า มีการแสดงทรรศนะทางการเมืองผ่านบทความของเขาในการต่อต้านภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ เพื่อความมั่นคงของศาสนาและสถาบันกษัตริย์ ในเวลาต่อมากิตติวุฑโฒตอบคำถามจากการสัมภาษณ์โดยนิตยสาร จัตุรัส ต่อการฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์บาปหรือไม่ ว่า “ อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ชื่อว่าถือเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคนแต่ฆ่ามารซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ” นอกจากนี้แล้วเขายังขยายความบทสัมภาณ์ของตัวเองลงในนิตยสารช่อฟ้า ที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายและน่าหวาดกลัวที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศเพื่อนบ้านภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์อีกด้วย(วิศรุต) และด้วยพลังของสื่อเหล่านี้เองที่กลายเป็นการปลุกเร้าความหวาดกลัวให้กับเหล่ากระฎุมพีและชนชั้นนำมากยิ่งกว่าเดิม
อิทธิพลของสื่อกับการเสนอบทสัมภาษณ์กิตติวุตโฒ
บทสัมภาษณ์ของพระกิตติวุฑโฒที่ลงนิตยสารจัตุรัสเมื่อ 29 มิถุนายน 2519 ได้ถูกสื่อมวลชนฝ่ายขวานำไปหยิบยืมเพื่อสร้างวาทกรรมอีกชุดหนึ่งขึ้น คือ เรื่อง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” โดยทุกพื้นที่ในสังคมการเมืองมีการใช้อำนาจทั้งสิ้นและพลังแห่งอำนาจจะแสดงผ่านวาทกรรมทางการเมืองนี้ โดยแต่ละวาทกรรมมีความสามารถในกำหนดความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติของมนุษย์ กล่าวคือ วาทกรรมทางการเมืองเป็นกิจกรรมทางการเมืองทั้งทางความคิดและการปฏิบัติไปพร้อมกัน (ธนชาติ) โดยสังเกตว่าจากในบทสัมภาษณ์ที่ถามว่า “ การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือคอมมิวนิสต์บาปไหม ” คำตอบของกิตติวุฑโฒที่ได้ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนความรุนแรงในนามของการปกป้องอุดมการณ์ “ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ” (สุรพศ) ซึ่งคำพูดของกิตติวุฑโฒนี้เข้ากันได้ดีกับบริบทของการเมืองไทยในเวลานั้นเป็นอย่างมากด้วยสถานการณ์ที่เข้มข้นและรุนแรงขึ้น ฝ่ายขวาของไทยก็มีความพยายามที่จะกีดกันไม่ให้ประชาชนไปเข้าร่วมด้วยการใช้สื่อมวลชน เช่น สถานีวิทยุยานเกราะ หรือหนังสือพิมพ์ดาวสยามในการดำเนินการโจมตีใส่ร้ายศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แม้ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะมีข้อจำกัดในการรับข่าวสาร แต่การกระทำอันรุนแรงในวันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเลือกรับสารของประชาชนเอง นอกจากจะเป็นความรุนแรงทางกายที่เห็นกันที่ธรรมศาสตร์แล้ว วาทกรรมเรื่องฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปและกระบวนการเปลี่ยน “ คน ” ไปสู่ “ ไม่ใช่คน ” ยังทำร้ายไปถึงจิตใจของญาติผู้เสียชีวิตทั้งหลาย ซึ่งจากบทสัมภาษณ์ของคุณเล็ก วิทยาภรณ์ แม่ของคุณมนู วิทยาภรณ์ นักศึกษาปีสุดท้าย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้พูดถึงการนำศพของคุณมนูกลับมาทำพิธีในบ้านเกิดว่า “ แล้วเอากลับมาบ้านไม่ได้ เค้าก็ด่าคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ในถิ่นนี้มีลูกฉันตายคนเดียว ต้องไปไว้ที่วัดสุนทร เราก็เสียใจ คิดถึงลูก ” จากนี้เองเห็นได้ชัดถึงสภาพสังคมในสมัยนั้นว่าคนมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ร้ายแรงและพิษภัยร้ายในสังคมจนทำให้เกิดเหตุร้ายแรงอย่างวัน 6 ตุลาขึ้น
การอ้างความชอบธรรมในการฆ่าคนนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนจาก “ คน ” ไปสู่ “ ไม่ใช่คน ”
การก่อเหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว (สุธาชัย) ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงสภาวะยกเว้นขององค์อธิปัตย์หรืออำนาจของรัฐ (Sovereign power) ที่สั่งหรือประกาศให้คนเหล่านั้นเป็นบุคคลซึ่งถูกตัดขาดออกจากสังคมไป และนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนจาก “ คน ” ไปสู่ “ ไม่ใช่คน ” โดยตามแนวความคิดของจิออจิโอ อกัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลีที่ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “ ชีวิตที่เปลือยเปล่า ” (naked life, bare life, homo sacer) เพื่ออธิบายถึงสภาวะของชีวิตมนุษย์ในสภาวะสมัยใหม่ที่ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองและอํานาจขององค์อธิปัตย์ได้ “ ชีวิตที่เปลือยเปล่า ” ก็เป็นตัวแบบอันหนึ่งที่เขานํามาใช้อธิบาย โดยชีวิตที่เปลือยเปล่านั้นเป็นชีวิตที่ถูกทะลุทะลวงจากอํานาจอธิปัตย์อย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะการไม่สามารถตัดสินความเป็นความตายให้กับตัวของมันเองได้ โดยอกัมเบนได้ยกตัวอย่างกฎหมายโรมันที่กล่าวถึงชีวิตที่เปลือยเปล่า (homo sacer) เอาไว้ว่าเป็นบุคคลที่มีความผิด และไม่มีความจําเป็นต้องเคารพบุคคลนั้นในฐานะมนุษย์ การฆ่าบุคคลดังกล่าวก็ส่งผลให้ผู้ฆ่าไม่มีความผิดไปด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่าจึงเป็นชีวิตที่ได้รับการยกเว้นออกจากสังคมการเมือง ถูกกีดกันออกไปแต่ก็ยังถูกดึงเข้ามาเพื่อโดนกระทำจากอำนาจ ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ธรรมศาสตร์จึงได้ถูกเบียดขับจากปริมณฑลของการเมืองไปสู่ปริมณฑลของสภาวะฉุกเฉิน/ยกเว้น (เก่งกิจ) และชีวิตของนักศึกษาได้ถูกแปรสภาพจนไม่หลงเหลือสถานะของชีวิตพลเมืองอีกต่อไป โดยเปลี่ยนไปสู่ “ ชีวิตที่เปลือยเปล่า ” ที่ชีวิตได้ถูกดึงเข้ามาสู่อำนาจอย่างเต็มที่โดยการที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้คนสามารถฆ่าได้โดยไม่มีความผิดหรือไม่สามารถเอาผิดกับคนที่ฆ่าคนเหล่านี้ได้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากอาชญากรรมโดยรัฐอื่นๆ เช่น พฤษภาเลือดปี 53 เหตุการณ์ตากใบและกรือเซะ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีเลยแม้แต่น้อย
“ ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ” หนึ่งวาทกรรมที่สื่อนำไปปลุกเร้าปลุกกระแสจน นำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนจาก “ คน ” ไปสู่ “ ไม่ใช่คน ” สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นปัจจัยที่ประกอบสร้างให้เกิดเหตุการณ์อย่างการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาอย่างไม่คาดคิด เหตุการณ์ 6 ตุลาสำหรับสื่อมวลชนแล้วกลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะโหดร้ายและน่าเศร้าสลดเพียงใด แต่ที่น่าตั้งคำถามก็คือเหตุการณ์ในลักษณะนี้กลับไม่ได้เป็นเหตุการณ์สุดท้ายที่เกิดขึ้น ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ยังคงมีเหตุการณ์อื่นๆที่สื่อปลุกเร้าปลุกกระแสให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นมาอีกอย่างพฤษภาทมิฬปี 35 หรือพฤษภาเลือดปี 53 อิทธิพลจากสื่อมวลชนได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวแสดงที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองท่ามกลางสถานะทางการเมืองไทยอันไม่แน่นอน จนทำให้เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่วนเวียนอย่างไม่รู้จบ
บทความโดย วารสารเม็ดเลือดแดง
อ้างอิงจาก
News foreign magazines 1997 https://doct6.com/archives/13780
บทสัมภาษณ์กิตติวุฑโฒ https://prachatai.com/journal/2021/10/95583
อาชญากรรมทางศาสนาในรูปแบบการเมือง https://so04.tci-thaijo.org/.../JSSMBU/article/view/248790
ศาสนา การเมือง และเกมความเชื่อ https://www.the101.world/komkrit-interview-2021/
ศาสนากับการเมืองฯ (3) นิธิ เอียวศรีวงศ์: ศาสนากับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย https://prachatai.com/journal/2015/02/58086
ตุลา-ตุลา: สังคม-รัฐไทย กับความรุนแรงทางการเมือง (รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ช่วงเดือนตุลาคม)
กิตติวุฑฺโฒภิกขุบนเส้นทางสู่ 6 ตุลาฯ | ประชาไท https://prachatai.com/journal/2018/10/79079
ศ.สุรชาติ บำรุงสุข เล่าเรื่อง 6 ตุลา 2519
https://youtu.be/1TlnQ2WFoX4
ผลไม้ประหลาดในวันที่ 6 ตุลา https://themomentum.co/strange-fruit-6-oct-19/
6 ตุลา “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” https://prachatai.com/journal/2013/10/49085
วาทกรรมการเมือง https://prachatai.com/journal/2010/12/32341
Peam Pooyongyut.(2563). คนไม่มีสิทธิ์: ว่าด้วยชีวิตอันเปลือยเปล่าของเราทุกคน
https://www.dindeng.com/nakedlife-and-refugees/.
Agamben, Giorgio. (1998). Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life. Stanford: Stanford University Press.
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ.(2564). เริ่มต้นใหม่จากจุดเริ่มต้น ทฤษฎีสังคมมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช.(2560). 3 คอนเซ็ปต์ กับบุคคลที่มิพึงไปข้องเกี่ยวด้วย
https://thematter.co/.../3-concept-of-people-are.../22290
#6ตุลา
#46ปี6ตุลา
.....