วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 06, 2565

"เขียนจดหมายเข้ามาได้นะ ป้าอ่านแล้วยิ้ม” “มีแต่คนให้กำลังใจป้าให้สู้ ป้าก็สู้จนกว่าจะได้รับอิสรภาพ” อัญชัญว่า คุณเองก็สามารถส่งต่อรอยยิ้มให้อัญชัญได้


Amnesty International Thailand
11h

อัญชัญในวัย 67 ปี นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะในห้องสมุดของทัณฑสถานหญิงกลาง รอยยิ้มวาดขึ้นบนใบหน้าของเธอ ขณะยกมือขึ้นทักทายเราด้วยท่าทางดีใจ อัญชัญกล่าวว่า เธอดีใจที่ทุกคนเข้ามาเยี่ยมหา “ดีใจจริง ๆ” เธอว่า
.
เราถามอัญชัญว่าเธอกินข้าวหรือยังหลังจากที่แนะนำตัวกัน คำตอบของอัญชัญคือ ยัง เธออยากรอเจอคณะที่เข้าไปเยี่ยมเธอในวันนี้ก่อน
.
“แค่ได้เจอก็อิ่มแล้ว” อัญชัญกล่าว
.
เราถามเธอว่าสภาพจิตใจในทุกวันนี้เป็นอย่างไร เธอในวัย 67 ปีบอกเราว่า “อยู่ด้วยความเคยชินไปแล้ว”
.
อัญชัญ ปรีเลิศ คือหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 วันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษอัญชัญ สูงถึง 43 ปี 6 เดือน ทำให้อัญชัญต้องถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยอัญชัญยื่นประกันต่อศาลในวันเดียวกัน เเต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ต่อมาอัญชัญซึ่งไม่ได้รับการประกัน จึงตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์อีก
.
ปัจจุบัน อัญชัญ เป็นผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม ได้รับการอภัยโทษ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 64 และวันที่ 4 ธ.ค. 64 ก่อนหน้านี้อัญชัญได้รับโทษในทัณฑสถานไปแล้ว 5 ปี 8 เดือน ตั้งแต่มีการฝากขังเมื่อปี 2558 ปัจจุบันยังคงเหลือโทษอีกประมาณ 10 ปี โดยมีกำหนดที่จะพ้นโทษ ประมาณปี 2574
.
กรณีของอัญชัญ ปรีเลิศนั้น ถูกยกขึ้นมาในการพูดถึงขององค์กรระหว่างประเทศ เดือนมกราคม 2565 อดีล ราห์เมน คาน เลขาธิการใหญ่แห่ง FIDH ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีของอัญชัญว่า “ความเห็นของสหประชาชาติเกี่ยวกับกรณีของอัญชัญตอกย้ำถึงความอยุติธรรมสูงสุดที่เธอได้รับและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรา 112 ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะทําลายวงจรการจับกุม การดําเนินคดี และการคุมขัง พร้อมรับฟังเสียงเรียกร้องจากทั้งในประเทศและนานาชาติให้มีการปฏิรูปมาตรา 112”
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในความเห็นของ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention; WGAD) พบว่า การลิดรอนเสรีภาพของอัญชัญด้วยมาตรา 112 นั้นเป็นการคุมขัง “โดยพลการ” และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย “ปล่อยตัวเธอทันที” เนื่องจากขัดต่อข้อ 3 (สิทธิในการมีชีวิต) 8 (สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย) 9 (ไม่ถูกคุมขังโดยพลการ) 10 (ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม) และ 19 (เสรีภาพในการแสดงออก) ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)
.
และมาตรา 2 9 14 และ 19 ของพันธสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี บทบัญญัติอ้างอิงของ UDHR และ ICCPR รับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในเสรีภาพ สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก
.
แต่วันนี้ ฝันในการอยากใช้ชีวิตอิสระยังคงเป็นเพียงฝันของอัญชัญ เธอยังคงอยู่ในเรือนจำ แต่ถึงอย่างนั้น อัญชัญกล่าวว่า จดหมายคือสิ่งที่ทำให้เธอยิ้มได้
.
"เขียนจดหมายเข้ามาได้นะ ป้าอ่านแล้วยิ้ม” อัญชัญว่า “มีแต่คนให้กำลังใจป้าให้สู้ ป้าก็สู้จนกว่าจะได้รับอิสรภาพ”
.
เธอยังฝากข้อความมาถึงทุกคนว่า “ขอบคุณน้องๆ ที่ให้กำลังใจป้า แม้ป้าจะได้รับจดหมายไม่มากนัก แต่ก็ขอบคุณทุกคนที่ยังไม่ลืมป้า ยังสนใจป้า อยากให้เขียนเข้ามากันเยอะๆ เขียนมาเถอะ ป้าชอบอ่าน เพราะป้าก็อายุเยอะแล้ว พอรู้ว่ายังมีคนสนใจเรา ก็ขอบคุณมากๆ เขียนจดหมายเข้ามาได้นะ ป้าอ่านแล้วยิ้ม มีแต่คนให้กำลังใจป้าให้สู้ ป้าก็สู้จนกว่าจะได้รับอิสรภาพ”
.
คุณเองก็สามารถส่งต่อรอยยิ้มให้อัญชัญได้ ผ่านจดหมาย ที่ : https://forms.office.com/r/kejdkzRzF4
.
จนกว่าวันที่เธอได้รับอิสรภาพ
.
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://tlhr2014.com/archives/39634
อ่านข้อมูลปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน: https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/
ข้อมูล ICCPR: https://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/iccprt.pdf