วันศุกร์, ตุลาคม 21, 2565

มติ ๓ ต่อ ๒ สมยอมอนุมัติดีล #ควบรวมทรูดีแทค ประธาน “ใช้สิทธิซ้ำสอง” แทนผู้งดออกเสียง

“กสทช.ไม่ได้อนุมัติดีล #ควบรวมทรูดีแทค โดยตรง แต่อ้างว่าประกาศ กสทช.ไม่ได้ให้อำนาจยับยั้งการควบรวมไว้” เป็นการสมยอมให้ควบรวม “โดยไม่ต้องบอกว่าอนุมัติ” แม้นว่าเป็นการตัดสินด้วยเสียงข้างมาก ๓ ต่อ ๒

แต่เสียงข้างมากนั้นไม่ใช่เสียงข้างมากแท้จริง ในเมื่อ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานซึ่งชี้ขาดในที่สุดว่า กสทช.ไม่มีอำนาจยับยั้งการควบรวม ได้แต่เพียง รับทราบ เท่านั้น ได้ใช้สิทธิซ้ำสอง เป็นทั้งหนึ่งในสองเสียงฝ่ายไม่ขอยุ่ง และผู้ชี้ขาด

ประธานจะไปใช้สิทธิ์ชี้ขาดแทนเสียงที่ ๕ ซึ่ง “งดออกเสียง” ไม่ได้ ประธานก้าวก่ายสิทธิของผู้งดออกเสียงนั้น นี่ไม่นับว่ากรรมการ กสทช.ทั้ง ๕ มาจากการแต่งตั้งของวุฒิสภา ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งได้อำนาจมาด้วยการ ยึด

อย่างไรก็ดี แม้จะมีกรรมการสองคนไม่เห็นด้วยกับการควบรวม คือ ศุภัช ศุภชลาศัย และ พิรงรอง รามสูต ก็ไม่ทำให้สถานะของ กสทช.ต้องตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ ilaw.or.th ค้นพบว่า

“การดูกฎหมายโดยละเอียดจะพบว่า กสทช.มีอำนาจอย่างเต็มที่” ก็ตาม ถึงหากว่าเสียงข้างมากกลับเป็นยับยั้งการควบรวม ในฐานะที่ กสทช.เป็นองค์กรเดียวสำหรับกำกับควบคุมกิจการโทรคมนาคม ก็ต้องดูว่าตัดสินด้วยเหตุผลอันเหมาะสมหรือไม่

พิรงรอง กสทช.เสียงข้างน้อยได้โพสต์ข้อความชี้แจงการตัดสินของตน “สงวนความเห็นที่จะรับทราบการรวมธุรกิจ และยืนยันที่จะไม่อนุญาต” ไว้น่าชม หนึ่งก็คือแย้งข้ออ้างของประธานในคำตัดสินรวมที่ว่า ทรูกับดีแทคไม่ใช่กิจการอย่างเดียวกัน

ทั้งสรณและ ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมตาบอด (กรรมการด้านการส่งเสริมเสรีภาพ) บ้องตื้นเสียจน ไม่เห็น ว่าทรูกับดีแทคต่างเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เหมือนกัน พิรงรองชี้ว่าสองบริษัทนี้รวมกันแล้ว จะได้ครอบครองตลาด มือถือ ถึง ๔๙.๔๐%

เธอยังอ้างการวิเคราะห์ของ ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศว่า “การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาตด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศ ที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่”

อีกข้อซึ่ง น่ากลัวอย่างยิ่งต่อตลาดการค้าเสรีในประเทศไทย ก็คือ “หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate) รายใหญ่...จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม”

ไม่เห็นกันหรือไร ว่าเดี๋ยวนี้จะซื้อขาย ใช้บริการ และติดต่องานธุรกรรม ไปกระจุกอยู่ที่ เซเว่นเยอะแยะแล้ว บางทีความสะดวกแบบไปที่เดียวทำได้ทุกอย่าง อาจไม่ใช่ผลดีต่อผู้บริโภคได้ ถ้าไม่มีผู้ดำเนินการรายอื่นให้เลือกเลย และไม่สามารถต่อรองราคาได้

(https://www.facebook.com/search/top?q=pirongrong%20ramasoota, https://twitter.com/iLawclub/status/1583104609811595264 และ https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/posts/pfbid035PPD)