“อ้าองค์สุริย์ศรีมีธรรมส่อง ปกครองอย่างทรงพระเมตตา”
Somsak Jeamteerasakul
คำชี้แจง: ข้างล่างนี้ เป็นคำแปลภาษาไทยฉบับเต็ม บันทึกของทูตอังกฤษ เซอร์เดวิด โคล ที่พานายมัลคอล์ม แม็คโดนัลด์ อดีตข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าเฝ้าในหลวง เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2519 หรือเพียง 3 วันหลังกรณีนองเลือด 6 ตุลา ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์นองเลือดและการรัฐประหารครั้งนั้น ตัวบทแปลนี้จะตีพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของบทความใหม่ที่จะรวมอยู่ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ฉบับพิมพ์ครั้งใหมในเร็วๆนี้ แต่ข้อความที่เขียนประกอบตัวบทแปลข้างล่างนี้ เป็นข้อความเขียนเฉพาะสำหรับเผยแพร่ทางเฟซบุ๊คนี้เท่านั้น ไม่ได้จะรวมพิมพ์ในเล่มนั้นด้วย
สิ่งที่ควรสะดุดใจผู้อ่านบันทึกนี้คือ เหตุการณ์ฆ่าหมู่สยดสยองที่ช็อคชาวโลกเพิ่งผ่านไปสดๆร้อนๆ แต่ในหลวงมิได้ทรงแสดงพระอาการสลดพระทัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น อันที่จริงทรงมีท่าทีในลักษณะพยายามแก้ต่างให้กับเหตุการณ์นั้น ด้วยการโทษขบวนนักศึกษา (ความเชื่อของพระองค์เรื่องผู้นำนักศึกษามีเงินซื้อรถ ฯลฯ ก็เหมือนกับการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อฝ่ายขวาในขณะนั้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย)
ความจริงคือสิ่งที่พระองค์กังวลพระทัยมากกว่าในขณะนั้นคือเรื่องที่จะพยายาม "พีอาร์" แก้ภาพลักษณ์ที่เสียหายไปต่อชาวโลกอันเนื่องมาจากการนองเลือดและการรัฐประหารนั้น ทั้งในระหว่างมีพระราชดำรัสกับเซอร์โคล์และนายแม็คโดนัลด์ และในเวลาใกล้ๆกัน เช่นสิบวันต่อมา เมื่อทรงขอคำแนะนำจากทูตสหรัฐว่าจะแก้ภาพลักษณ์ประเทศไทยอย่างไร (ดูโพสต์นี้ ของผมตั้งแต่ก่อนรัฐประหารครั้งหลัง หรือดูตัวบทภาษาอังกฤษโทรเลขทูตสหรัฐ ที่นี่ - ขอให้สังเกตว่ายังทรงยืนยันต่อทูตผ่านราชเลขานุการในพระองค์ว่า นักศึกษาเป็นฝ่าย "ยั่วยุ" ให้เกิดการนองเลือดและรัฐประหาร ทูตสหรัฐตอบว่าคงไม่มีทางแก้ผลสะเทือนจากภาพถ่ายและรายงานทางทีวีเกี่ยวกับการนองเลือดครั้งนั้นได้)
ไม่เพียงแต่มิได้ทรงแสดงพระอาการสลดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในวันที่ 6 ตุลานั้นเอง - ดังที่ผมได้แสดงให้เห็นตั้งแต่หลายปีก่อน - ทรงส่งพระบรมฯไปที่ชุมนุมลูกเสือชาวบ้านที่ลานพระรูป แสดงความห่วงใยต่อลูกเสือชาวบ้าน (ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์-สนามหลวงที่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร) หลังจากนั้นไม่กี่วัน พระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ก็เสด็จเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บและเสด็จงานศพของลูกเสือชาวบ้านผู้หนึ่งที่เสียชีวิตจากการบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ ซึ่งเจ้าฟ้าสิรินธรทรงยกย่องว่าการกระทำของเขา "สมควรแก่การเชิดชูเพื่อเป็นตัวอย่าง" (ดูบทความของผม "เราสู้ หลัง 6 ตุลา" ซึ่งจะตีพิมพ์ใน "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" ฉบับใหม่ ที่นี่ )
ยิ่งกว่านั้น เห็นได้ชัดจากที่ทรงมีพระราชดำรัสต่อเซอร์โคลและนายแม็คโดนัลด์ว่า ทรงเห็นชอบกับการรัฐประหารของคณะทหารที่อาศัยการสังหารหมู่นักศึกษาเป็นบันไดในครั้งนั้น (เซอร์โคลมีโทรเลขถึงลอนดอนในอีกสี่วันต่อมา เล่าถึงการเข้าเฝ้าวันที่ 9 ว่า "ตลอดเวลาการเข้าเฝ้า ในหลวงอยู่ในอารมณ์ทั้งหมดที่เห็นชอบกับคณะทหารอย่างแน่นอนมากๆ" [the whole mood of the King at the Audience was so definitely one of approval of the military] - ดูตัวบทโทรเลขนั้นทั้งหมด ที่นี่ ) ในอีก 2 เดือนต่อมา ก็ทรงมีพระราชดำรัสต่อสาธารณะในลักษณะเดียวกับที่ทรงมีต่อเซอร์โคล-นายแม็คโดนัลด์ ทรง "เชียร์" ระบอบเผด็จการทหารขณะนั้น ดูโพสต์นี้ ของผม)
และท้ายที่สุด ในพระราชดำรัสปีใหม่ 2520 ทรงกล่าวว่า "ในรอบปีที่แล้ว ประชาชนคนไทยมีการแสดงออกชัดเจนขึ้นว่าต้องการอะไร เมื่อแสดงออกมาเช่นนี้ ก็ทำให้รู้ใจกัน" เป็นไปไม่ได้ว่าจะหมายถึงเรื่องอื่นหรือทรงมีเรื่องอื่นในพระทัย นอกจากการลุกขึ้นกำจัดนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาของพลังฝ่ายขวา (การ "แสดงออก" ของ "ประชาชนคนไทย" ในคำของพระองค์ ซึ่งทำให้ "รู้ใจกัน" - ดูโพสต์ของผมเกี่ยวกับพระราชดำรัสปีใหม่นั้น ที่นี่ )
ประเด็นว่าในหลวงทรง "สั่ง" ให้พลังฝ่ายขวาเข้ากวาดล้างนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลา จนเกิดการนองเลือดอย่างสยดสยองเช่นนั้นหรือไม่ คงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้โดยเด็ดขาดอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ กำลังที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าหมู่ครั้งนั้น ไม่ว่าจะลูกเสือชาวบ้าน หน่วยพลร่มตระเวนชายแดน หรือกำลังตำรวจภายใต้การนำของตำรวจอย่างชุมพล โลหะชาละ ล้วนแต่เป็นกำลังที่อยู่ในความอุปถัมภ์หรือใกล้ชิดแวดล้อมราชสำนักโดยตรง (ดูบทความ "เราสู้เราสู้" ของผม ที่นี่ โดยส่วนตัว ผมคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บรรดาคนที่ควบคุมกำลังเหล่านี้โดยตรง ซึ่งล้วนเป็นคนที่ใกล้ชิดวัง สั่งระดมกำลังเหล่านี้มา โดยมีจุดมุ่งหมายชัดเจนที่จะเข้าจัดการกับนักศึกษาในธรรมศาสตร์ โดยที่ในหลวงและราชสำนักรับรู้การระดมกำลังเหล่านี้) ในแง่นี้ - ดังที่ผมได้โพสต์เมื่อไม่กี่วันก่อน - ความรับผิดชอบทางการเมืองและทางคุณธรรม (political and moral responsibility) ต่อการนองเลือดครั้งนั้น อยู่กับสถาบันกษัตริย์อย่างแน่นอน
ข้อนี้ ความจริงก็ไม่ใช่อะไรที่ควรแปลกใจด้วยซ้ำ ถ้าเราใช้สติและดูข้อเท็จจริง ไม่ใช่หลงอยู่กับภาพลักษณ์ที่ถูกปลูกฝังโดยไม่ยอมให้ตรวจสอบ (ประเภท "อ้าองค์สุริย์ศรีมีธรรมส่อง ปกครองอย่างทรงพระเมตตา") ความเป็นจริงคือ ไม่ต่างจากผู้มีอำนาจจำนวนมากในอดีต ในหลวงและสถาบันกษัตริย์ พร้อมที่จะยอมรับ-แก้ตัว (condone) หรือกระทั่งใช้วิธีอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะผิดมนุษยธรรมอย่างไร เพื่อรักษาสถานะอำนาจไว้ และนี่จึงอธิบายท่าทีที่ทรงมีต่อการฆ่าหมู่สยดสยองที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียง 2-3 วัน ดังบันทึกพระราชดำรัสข้างล่างนี้ (หรือการที่ทรงสามารถพูดถึงการ "แสดงออก" ในเหตุการณ์นั้นของพลังขวาจัด ว่าเป็นอะไรที่ทำให้ "รู้ใจกัน")
........................
บันทึก เซอร์เดวิด โคล เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำไทย 9 ตุลาคม 2519
1. ด้วยความโชคดี ผมสามารถนำมัลคอล์ม แม็คโดนัลด์ เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวในวันนี้. เห็นได้ชัดว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงยินดีที่ได้พบมัลคอล์ม และทรงแสดงออกว่าพระองค์ต้องการให้ภาพของเหตุการณ์ที่นี่ในแบบที่พระองค์นำเสนอ ได้รับการถ่ายทอด ด้วยควาามระมัดระวังอย่างเหมาะสม ให้เป็นที่เข้าใจในหมู่บุคคลสำคัญๆในต่างประเทศ. แม้จะทรงมีภารกิจอื่นๆอีก การเข้าเฝ้าของเราครั้งนี้ก็กินเวลานานถึงหนึ่งชั่วโมง. พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนตลอดการสนทนา ว่าทรงเห็นชอบโดยทั่วไปกับการยึดอำนาจของทหารในครั้งนี้.
2. พระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงทัศนะในประเด็นกว้างๆ ต่อไปนี้
A. ในขณะที่พระองค์ยอมรับในลักษณะอุดมคติของนักศึกษาและสิทธิของพวกเขาในการพัฒนา "กิจกรรม" หลายๆชนิด (รวมทั้งการที่พวกเขาสนใจการเมือง) นอกเหนือไปจากการเรียนของพวกเขา, แต่นักศึกษาบางคนได้หมกมุ่นตัวเองมากขึ้นๆกับการเมืองอย่างเต็มเวลา จนละเลยการเรียนของพวกตน: และเหนืออื่นใด ได้พยายามแสวงหาอำนาจเพียงเพื่ออำนาจนั้นเอง [POWER FOR ITS OWN SAKE] พวกเขาได้ใช้เวลาของตนคอยหาประเด็นต่างๆที่ใช้โค่นรัฐบาลและโครงสร้างอำนาจเดิม [THE ESTABLISHMENT].
B. ในการกระทำดังกล่าว นักศึกษาเหล่านั้นได้รับการยุยงให้ท้ายจากภายนอก. ไม่เช่นนั้น บรรดาผู้นำของพวกเขาจะสามารถเอาเงินจากไหนมาซื้อรถ ฯลฯ
C. นักศึกษาเหล่านั้นได้สร้างความสัมพันธ์กับองค์กรอื่นๆ เช่น สหภาพแรงงาน ไม่ใช่เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ แต่เพียงเพื่อเพิ่มอำนาจขององค์กรเหล่านั้น
D. ถ้าให้ทรงเลือกระหว่างรัฐบาลทหารกับอำนาจของนักศึกษา พระองค์แม้จะไม่ใช่ผู้นิยมเผด็จการ ก็จะทรงเลือกทหารมากกว่า. นักศึกษาอาจจะมีอุดมคติบ้าง แต่พวกเขาไม่มีประสบการณ์หรือความรับผิดชอบ และพวกเขาได้รับอิทธิพลจากภายนอกอย่างแย่ๆ. ในทางกลับกัน ทหารมีสำนึกทางวินัยและความรับผิดชอบ ห่วงใยการทำให้ประเทศดีขึ้น และมีประสบการณ์ในการปกครอง
E. ถ้าประชาชนไทยต้องการลัทธิคอมมิวนิสม์จริงๆ ก็แล้วไป แต่ไม่มีหลักฐานว่าพวกเขาต้องการ การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากที่พระองค์ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่นั่นหลังจากคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองลาว แสดงให้เห็นว่า คนไทยไม่ชอบสิ่งที่พวกเขาได้ยินมาเกี่ยวกับระบอบ "ประชาธิปไตยประชาชน" [ในลาว]
3. ในประเด็นที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น พระเจ้าอยู่ทรงมีพระราชดำรัสว่า
A. สักระยะหนึ่งแล้ว ที่พระองค์จำต้องทรงลงความเห็นว่า การเข้ายึดอำนาจโดยทหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลชั่วคราวสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ แต่ได้ใช้เวลาอย่างเชื่องช้าเนิ่นนาน ในการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดมากเกินไป (และ ทรงกล่าวเป็นนัยว่า มีลักษณะเสรีนิยมเกินไป) หลังจากนั้น ก็มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่นำมาซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยชุดแรกที่อ่อนแอและไม่มีเสถียรภาพ หลังจากนั้น ก็มีเลือกตั้งทั่วไปอีก ตามมาด้วยรัฐบาลที่ยิ่งอ่อนแอลงไปอีก และเป็นรัฐบาลที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถทำอะไรได้เลย
B. ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ทั่วไปเช่นนี้ การเข้ายึดอำนาจจึงไม่ทำให้พระองค์ทรงแปลกใจ
C. มีข่าวลือแพร่ออกไปว่า พระองค์ทรงยุยงให้ท้ายการยึดอำนาจครั้งนี้ล่วงหน้า ซึ่งไม่เป็นความจริง บรรดาหัวหน้าของคณะยึดอำนาจครั้งนี้ได้เคยบอกพระองค์ว่าพวกเขากำลังจะทำอะไร แต่พระองค์ไม่ได้ทรงแสดงความเห็นอะไร เป็นที่ชัดเจนว่า ต่อให้พระองค์คัดค้าน (ที่ทรงพูดเช่นนี้โดยนัยยะคือพระองค์ไม่ได้ทรงคัดค้านแน่นอน) พระองค์ก็จะไม่สามารถทำให้เหตุการณ์ต่างไปจากนี้ และการแสดงความเห็นอะไรไปของพระองค์ก็อาจจะทำให้เรื่องยุ่งเหยิงมากขึ้นอีก
D. เหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์นั้น มีพลังต่างๆสารพัดประเภทเข้าเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งอิทธิพลภายนอกและอิทธิพลคอมมิวนิสต์ แต่ถ้าจะพูดถึงหลักฐานจริงๆก็มีน้อยมากในเรื่อง เช่น การเข้าเกี่ยวข้องของเวียดนาม
E. สภาปฏิรูปเป็นคนดี อนุรักษ์นิยม แต่ภักดีต่อประเทศชาติ. รัฐบาลใหม่ที่เป็นพลเรือนจะมีการตั้งขึ้นในสองสัปดาห์. หลังจากนั้น การกลับไปสู่ประชาธิปไตยควรเป็นไปอย่างช้าๆ, ทีละขั้นทีละขั้น, ประเทศไทยต้องเดินไปข้างหน้าตามแนวทางของตนเอง พระองค์ทรงอยากให้รัฐธรรมนูญใหม่คราวนี้เป็นแบบของอังกฤษที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ให้มีข้อกำหนดหลักๆเพียงไม่มาก ที่เหลือปล่อยเป็นช่องว่างให้มีการเพิ่มเติมในภายหน้าตามประสบการณ์ที่จะเกิด
4. หลังจากนี้ การสนทนาเปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่น เช่น การพัฒนาเกษตรกรรม ซึ่งสามารถแยกรายงานต่างหากจากนี้ได้.
โคล.
ที่มา https://m.facebook.com/nt/screen/?params=%7B%22note_id%22%3A359664548580087%7D&path=%2Fnotes%2Fnote%2F&refsrc=deprecated