วันอังคาร, ตุลาคม 11, 2565

โพลชี้ คนรุ่นใหม่ 63% ต้องการการเปลี่ยนแปลง อยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แทนการแต่งตั้ง



โพลชี้ คนรุ่นใหม่ 63% อยากให้ยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากมหาดไทย

9 ตุลาคม 2565
มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยข้อมูลจากการเก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 18-25 ปี ทั้งประเทศมี 6.86 ล้านคน) ที่ศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและทุกภาคของประเทศ จำนวน 707 คน โดยมีข้อคำถามว่า “ท่านคิดว่า ต้องมี หรือ ต้องยกเลิก ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย”

​ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

​1.คน Gen Z ส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง จำนวน 444 คน คิดเป็น 63% ต้องมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง จำนวน 139 คน คิดเป็น 19% ไม่แสดงความเห็น 127 คน คิดเป็น 18%
2.สอดคล้องทัศนคติของนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก ที่เป็นพระและฆราวาส ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรต้องมีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดทุกจังหวัด จำนวน 34 คน คิดเป็น 75.6% ยังไม่ควรมีเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดทุกจังหวัด จำนวน 2 คน คิดเป็น 4.4% ไม่แสดงความเห็น 9 คน คิดเป็น 20.0% (สำรวจเมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ในเวทีการอภิปรายทางวิชาการ ที่ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วังน้อย จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 45 คน ส่วนใหญ่เป็นพระกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี)
3.จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก พบว่า คำอธิบายเบื้องต้นที่คน Gen Z ส่วนใหญ่เห็นว่าต้องยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งในปัจจุบันนี้ ไม่เห็นประโยชน์ที่จะมีอีกต่อไป, ไม่รู้จัก, เป็นผู้ว่าคอยเกษียณ, ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งจะกระตือรือร้นทำงานมากกว่า, เลือกตั้งผู้ว่าชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. ทำให้อยากได้ผู้ว่าฯเลือกตั้งทุกจังหวัด เป็นต้น
4.สอดคล้องกับทัศนคติต่อนายกรัฐมนตรีที่คน Gen Z ปรารถนา ซึ่งทั้งหมดคือนักการเมืองที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยคน Gen Z ปฏิเสธผู้นำทหาร คสช. ที่เป็นนายกรัฐมนตรีโดยการรัฐประหารและการแต่งตั้งทุกแบบ

​ข้อมูลพื้นฐาน
​งานวิจัยทัศนคติของคน Gen Z ต่อ 5 ประเด็นคำถามนี้ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-16 กันยายน 2565 โดยเก็บจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ภาคกลางที่ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี อยุธยา ภาคเหนือที่พิษณุโลก เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี รวม 16 จังหวัด
​เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 422 คน (59.7%) ชาย 200 คน (28.3%) เพศหลากหลาย 85 คน (12.0%)
​โรงเรียนที่ท่านจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากเขตภูมิภาคใด : กรุงเทพฯ 173 คน (24.5%) ภาคกลาง 272 คน (38.5%) ภาคเหนือ 62 คน (8.7%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75 คน (10.6%) ภาคใต้ 125 คน (17.7%)
​มีผู้ไม่ตอบคำถามในข้อนี้รวม 2 คน ผู้ตอบคำถามข้อนี้ 705 คน