วันศุกร์, ตุลาคม 07, 2565

ใครเป็นใครในปฎิบัติการ "ขวาพิฆาตซ้าย" 6 ตุลาคม 2519

https://www.facebook.com/waymagazine/photos/a.374982256455/10158607709426456/
way magazine
11h

การชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศของสามเณร ถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำเผด็จการ ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องในปลายเดือนกันยายน 2519 ได้เปลี่ยนสภาพเป็นการล้อมปราบและการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์อย่างโหดเหี้ยม ในวันที่ 6 ตุลาคม จนมีผู้เสียชีวิต 45 คน และบาดเจ็บอีก 167 คน (ข้อมูลที่เป็นทางการ)

ปฏิบัติการ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ เริ่มขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดฉากระดมยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธหนัก-เบา ตั้งแต่ปืนเล็กยาว M16 ปืนกล ปืนไร้แรงสะท้อน ปืนพก และเครื่องยิงลูกระเบิด M79 แม้รอดพ้นจากห่ากระสุนและระเบิดลูกแล้วลูกเล่า ขบวนการนักศึกษาประชาชนก็ยังต้องเผชิญหน้ากับการ ‘ประชาทัณฑ์’ อย่างรุนแรง ทั้งการเตะ ต่อย ตีด้วยอาวุธสารพัดชนิด และแม้จะเหลือเพียงร่างกายที่ไร้วิญญาณไปแล้ว ก็ยังถูกลากไปตอกอกด้วยลิ่มไม้ เผาไฟโดยมียางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิง และจับแขวนคอกับต้นไม้บริเวณสนามหลวง

แต่หลังเหตุการณ์นองเลือดใจกลางพระนครครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมนักศึกษาประชาชนที่รอดพ้นจากการถูกสังหารได้ 3,094 คน แต่กลับไม่มีผู้ก่อความรุนแรงหรือฆาตกรรายใดถูกจับกุมหรือตั้งข้อหาเลย

บทความ ‘ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา’ ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (2544) ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พยายามจำแนกกองกำลังที่บุกโจมตีผู้ชุมนุมในวันนั้นออกเป็น ‘พวกมีเครื่องแบบ’ (เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยต่างๆ) กับ ‘พวกไม่มีเครื่องแบบ’ (ขบวนการฝ่ายขวาอย่างกระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้าน และอื่นๆ)

“ทารุณกรรมต่างๆ ที่นิยาม 6 ตุลาในความทรงจำของคนทั่วไป เป็นฝีมือของพวกไม่มีเครื่องแบบนี้มากกว่าพวกมีเครื่องแบบ อย่างไรก็ตาม ลำพังพวกไม่มีเครื่องแบบที่มีอาวุธไม่มาก ไม่สามารถจะสลายการชุมนุมในวันนั้นได้ พวกมีเครื่องแบบเป็นผู้โจมตีสังหารหมู่ด้วยอาวุธหนักเบาครบเครื่องก่อน เปิดทางให้พวกไม่มีเครื่องแบบทำทารุณกรรม”

การสังหารหมู่ 6 ตุลาคม โหดร้ายและรุนแรงผิดมนุษย์มนาเสียจนมักได้รับการบรรยายว่าเกิดขึ้นจากน้ำมือของ ‘ปิศาจ’ จากมวลชนฝ่ายขวาที่บ้าคลั่ง ขณะที่อีกหลายคนขนานนามให้เป็น ‘อาชญากรรมโดยรัฐ’ จากการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ผสานกับมวลชนที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ แต่การจัดประเภทเหล่านี้ในความเป็นจริงอาจพร่าเลือน เพราะกระทั่งนักปรัชญาผู้มักถูกกล่าวหาว่าสติฟั่นเฟือนเป็นช่วงๆ อย่าง ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) ก็ยังมองออกว่า “รัฐคือชื่อปิศาจที่เลือดเย็นที่สุดในปิศาจทั้งปวง”

แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือปิศาจตนใดก็ไม่อาจยื่นมือมาก่อความรุนแรงและพรากชีวิตมนุษย์ได้โดยตรง การสังหารโหดและทารุณกรรมในเหตุการณ์นี้จึงปรากฏผ่าน ‘มือ’ ของมนุษย์เป็นๆ ที่มีเลือดเนื้อและความรู้สึกไม่ต่างจากเหยื่อที่ถูกกระทำ

WAY ชวนสำรวจโฉมหน้าฝ่ายขวาไทยใน 6 ตุลาคม 2519

--
อ่านฉบับเต็ม:
https://waymagazine.org/rightists-in-6-october-1976.../

text: ปิยนันท์ จินา
.....

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1673672156242622&set=a.1385633111713196
Suchart Sawadsri
October 6, 2015

มิตรสหายคนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อมาถึง "6 ตุลา" คราใด ใจก็ให้คิดไปถึงคู่กรรมที่ชื่อ "ทมยันตี" เสียทุกที เวลา 39 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก แต่ใจก็ยังอดคิดถึงวิทยากรนักประพันธ์ ผู้อบรม "นวพล" และ "ลูกเสือชาวบ้าน" เสียมิได้ อยากลืม แต่ก็กลับจำ
ว่าไปแล้ว ในแวดวงคนเขียนหนังสือที่มีบทบาทไปทางเดียวกันยังมีอีก ที่สำคัญที่เป็นเหมือนหัวขบวนก็เช่น "กระจกฝ้า" ( นามปากกาของ พท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้การ ดี.เจ.แห่งวิทยุยานเกราะ ) ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ "นายหนหวย" ( นามจริงอย่างไรก็ลืมไปแล้ว ) ประหยัด ศ.นาคะนาท คุณหญิงอะไรอีกคนหนึ่งก็ลืมชื่อไปแล้วเหมือนกัน ( ช่วยนึกชื่อด้วย ) และที่สำคัญในขบวน"ขวาพิฆาตซ้าย" ก็คือหัวหอกอย่างเช่น นสพ."ดาวสยาม" รายวัน
บุคคลและกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีส่วนในการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ขวา-ซ้าย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ว่าไปแล้วก็ไม่ผิดแผกไปจาก "การเมืองสีเสื้อ" ในเวลาอีก 20 ปีต่อมาเท่าใดนัก เป้าหมายสำคัญ ก็คือ คำว่า "ลัทธิคอมมิวนิสต์" โดยมี พคท. ( พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ) โซเวียตรุสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ( "เจ๊กแดง" ) และ เวียตนามเหนือ เป็นหัวโจก ส่วนอีกข้างหนึ่งก็มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวโจกของฝ่าย "เสรีประชาธิปไตย" ในยุคสมัย"สงครามเย็น" ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา จนจบสิ้นลงในช่วงต้นทศวรรษ 1980