ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
15h
วันที่ 4 ต.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดลำปาง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ ทิวากร วิถีตน เกษตรกรจากจังหวัดขอนแก่นวัย 46 ปี ผู้สวมใส่เสื้อ #เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว ที่ถูกฟ้องในข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
.
คดีนี้ทิวากร ถูกนายทวี อินทะ เครือข่ายเฝ้าระวังปกป้องและพิทักษ์สถาบันฯ ในจังหวัดลำปาง แจ้งความกล่าวหาเหตุเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้ามาลงชื่อในเว็บไซต์ Change.org ล่ารายชื่อคนที่ต้องการทำประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ พร้อมมีข้อความบนลายพื้นในหน้าแคมเปญว่า “เราฝันถึงระบอบสาธารณรัฐ/สหพันธรัฐที่ไม่ต้องมีกษัตริย์”
.
ทิวากรได้เดินทางด้วยรถทัวร์จากจังหวัดขอนแก่นในคืนก่อนวันอ่านคำพิพากษา โดยลงจากรถทัวร์บริเวณหน้าศาลจังหวัดลำปาง พบกับทนายความและนักกิจกรรมกลุ่ม “พิราบขาวเพื่อมวลชน” ที่เดินทางมาร่วมให้กำลังใจที่ศาล
.
ต่อมา ศาลจังหวัดลำปางได้อ่านคำพิพากษาในคดีของทิวากรอย่างรวดเร็ว มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ข้อเท็จจริงจากการนำสืบพยานโจทก์และจำเลย รับฟังได้ว่าจำเลยยอมรับว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริง และมีพยานโจทก์เบิกความให้ความเห็นว่าข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการชักชวนให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ
.
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 1, 2 และ 3 กำหนดให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ และมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในหมวดที่ 3 มาตรา 32 เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มาตรา 34 เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะถูกลิดรอนมิได้ เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกทั้งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 4 มาตรา 50 ยังได้กำหนดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควบคู่กับการใช้สิทธิเสรีภาพด้วย
.
เมื่อฟังได้ว่าจำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง อันเป็นข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 1 อีกทั้งพยานโจทก์มีอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังให้ความเห็นว่าข้อความสื่อถึงระบอบสาธารณรัฐ ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน กระทบกระเทือนต่อจิตใจของประชาชนที่รักสถาบันพระมหากษัตริย์
.
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เป็นการเผยแพร่ข้อความที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเกิดการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
.
ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อข้อความเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยเป็นการทำผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 116 จำคุก 3 ปี แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี
.
.
หลังฟังคำพิพากษา ทิวากรเปิดเผยความเห็นว่า รู้สึกว่าคำพิพากษามีความย้อนแย้งในตัวเอง แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองอย่างชัดเจนเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่กลายเป็นว่าพอเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มันกลับไปงดเว้นเรื่องนี้ เหมือนกับสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญหรือระบอบการปกครองนี้มันไม่มีอยู่จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราคิด เราพูดแบบนี้ แล้วเราจะไปเปลี่ยนแปลงจริงๆ มันกลายเป็นการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออกขั้นพื้นฐานของประชาชน
.
ทิวากรสรุปว่าคำตัดสินนี้ จะส่งผลเสียหายต่อระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง แม้จะเป็นการรอลงอาญาก็ตาม โดยตนและทนายความจะยื่นอุทธรณ์ และต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดต่อไป
.
ทนายความในคดียังตั้งข้อสังเกตว่า คำพิพากษาของศาลไม่ได้นำประเด็นข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลย และการนำสืบประเด็นของฝ่ายจำเลยมาพิจารณาร่วมด้วยเลย ในส่วนพยานความเห็นของโจทก์ ได้แก่ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้น แม้จะเบิกความเห็นว่าโพสต์ของจำเลยไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการแสดงออกชี้ไปในทางต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หากก็เบิกความว่าการกระทำนี้ยังไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 แต่อย่างใด แต่ศาลกลับหยิบยกเฉพาะความคิดเห็นในส่วนแรกเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาพิจารณา และไม่ได้นำประเด็นของพยานคนเดียวกันในเรื่ององค์ประกอบตามมาตรา 116 มาวินิจฉัยประกอบแต่อย่างใด
.
ทั้งนี้ ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่การโพสต์ล่ารายชื่อเสนอให้มีการทำประชามติ เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ยังอยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นเสรีภาพสิทธิพลเมืองที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยในทางที่ดีขึ้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นการยุยงให้เกิดความรุนแรง หรือการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ทั้งไม่มีเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังการโพสต์ของจำเลย จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 แต่อย่างใด
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/49191
.
อ่านบันทึกการสืบพยานในคดีนี้ https://tlhr2014.com/archives/49146
.
อ่านบทสัมภาษณ์ทิวากรว่าด้วยผลกระทบการถูกดำเนินคดีข้ามภูมิภาค และมุมมองของเขาต่อคดีนี้ https://tlhr2014.com/archives/49098