วันเสาร์, ตุลาคม 22, 2565
คดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 มักจะเห็น 3 หน้าตัวแสบนี้
The Momentum
7h
อานนท์ - เจษฎ์ - ไชยันต์
ทนายระบุ ตร. มักใช้ ‘พยานผู้เชี่ยวชาญ’
ในคดี 112 ซ้ำๆ และบางคนไม่เชี่ยวชาญ
.
วันนี้ (21 ตุลาคม 2565) นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา ‘112 ความรุนแรง ผันแปรเป็นกลั่นแกล้งทางกฎหมาย’ ณ KINJAI CONTEMPORARY ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับแจ้งความในคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้น มักเรียกใช้ ‘พยานผู้เชี่ยวชาญ’ กลุ่มเดิมซ้ำๆ และบางคนก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ทั้งนี้ พยานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นพยานมักเป็นกลุ่มคนชุดเดิม ไม่ว่าคดีจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม ทั้งที่กรุงเทพฯ ขอนแก่น นราธิวาส และที่อื่นๆ โดยพยานผู้เชี่ยวชาญในมาตรา 112 มักมีอยู่ 3 คน
.
ทั้งนี้ คดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 มักจะเป็นคดีเชิงนโยบายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นปฏิบัติงานต้องประชุมกับผู้บังคับบัญชาในระดับสูง หรือประชุมกับส่วนกลางตลอด ดังนั้นอาจมีการพูดคุยว่าควรใช้พยานผู้เชี่ยวชาญปากใด ในพื้นที่สถานีตำรวจภูธร (สภ.) ใดด้วย
.
“ผมเจอหน้าทั้งสามคนจนเบื่อ หนึ่งคือ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ (อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ซึ่งเขาบอกกับผมว่าเป็นพยานให้ตำรวจเกี่ยวกับมาตรา 112 ประมาณร้อยคดี สอง คุณเจษฎ์ โทณวณิก (นักวิชาการทางกฎหมาย) และสาม คุณไชยันต์ ไชยพร (อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)”
.
นรเศรษฐ์อธิบายว่า ตามหลักการแล้ว พยานผู้เชี่ยวชาญจะต้องเข้าไปให้ความเห็นเกี่ยวกับคดี ซึ่งผู้พิพากษาจะนำไปร่วมพิจารณาเพื่อตัดสินให้เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อโจทก์ จำเป็นต้องไม่มีอคติ เป็นกลาง และน่าเชื่อถือ ทว่าในความเป็นจริงหลายฝ่ายอาจยังมีข้อสงสัยในพยานทั้งสามอยู่
.
“ถ้าพยานผู้เชี่ยวชาญปากนั้นมีอคติ ศาลไม่ควรฟังความคิดเห็น เช่น คนที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คนที่ออกมากล่าวว่าเห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 หรือคนที่ออกมาประณามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร
.
“ขณะเดียวกันก็ไปเป็นพยานของฝ่ายโจทก์ว่า อีกฝ่ายหนึ่งทำผิดกฎหมายมาตรา 112 ผมมองว่า ตามหลักกฎหมายแล้ว ข้อมูลจากพยานปากนั้นน่าจะถือว่ามีน้ำหนักรับฟังได้น้อย หรือไม่ควรที่จะรับฟังเลย ซึ่งในสามคนนั้นก็มีคนที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อในประเด็นที่กล่าวมาด้วย”
.
นรเศรษฐ์ยังกล่าวด้วยว่า พยานผู้เชี่ยวชาญบางท่านยังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขั้นที่สามารถเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญได้
.
“คุณอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ถูกอ้างให้เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในชั้นศาลในคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้จบการศึกษาในสาขาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคยทำงานวิจัยหรือบทความวิชาการใดๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคยทำหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์รวมทั้งยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้วย พอไม่เคย ไม่เคย ไม่เคย แล้วทำไมตำรวจถึงอ้างว่าเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ผมก็ไม่ทราบ”
.
ในประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงของเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่ม ‘นักร้อง’ ในคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นรเศรษฐ์ระบุว่า บางครั้ง คนกลุ่มนี้สามารถหาข้อมูลได้แม้กระทั่งเลขบัตรประชาชนและที่อยู่อาศัย จากเพียงแค่ชื่อจริงเท่านั้น
.
“ผมไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ เนื่องจากการจะได้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์มา อาจต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่จะทราบข้อมูลเหล่านี้”
.
ด้าน ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน กล่าวว่า ในช่วงปี 2563 กลุ่มอนุรักษนิยมไทยพยายามใช้วิธีรวมพลผู้สนับสนุนสถาบันฯ เพื่อชุมนุมในสถานที่ต่างๆ แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น พวกเขาจึงเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการใช้กฎหมายปราบปรามผู้เห็นต่างแทน
.
“พยานผู้เชี่ยวชาญทั้งสามคนที่ทนายนรเศรษฐ์เล่ามา ล้วนเล่นละครทั้งสิ้น พวกเขามีธงในใจแล้วคือจับเข้าคุก แล้วบทบาทผู้พิพากษาทำอะไร เรามักบอกว่าต้องจ่ายเงินเดือนจำนวนมากให้ผู้พิพากษาเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง
.
“ปัญหาคือคุณเอาคู่กรณีมากล่าวหา แล้วผู้พิพากษายังรับฟังนำความคิดเห็นของทั้งสามมาเป็นข้อมูลร่วมตัดสิน แค่นี้ก็มองได้แล้วว่ามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมาย”
.
ภาพ: อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์, The Momentum
.
#TheMomentum #StayCuriousBeOpen #InternalAffairs #มาตรา112 #สถาบันพระมหากษัตริย์ #ม112 #ไทย #การเมืองไทย