วันจันทร์, มกราคม 17, 2565

“ครูสมัยก่อนมักปลาบปลื้มกับ ‘วันครู’ และ ‘วันไหว้ครู’ ต่างจากครูรุ่นใหม่หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณค่านั้น การเชิดชูยิ่งทำให้เขาอึดอัดด้วยซ้ำ พวกเขามองว่าครูก็คืออาชีพหนึ่ง หน้าที่คือการสอนนักเรียน


มนุษย์กรุงเทพฯ
19h ·

“ครูสมัยก่อนมักปลาบปลื้มกับ ‘วันครู’ และ ‘วันไหว้ครู’ พวกเขามองว่าเป็นวันที่เชิดชูอาชีพของตัวเอง ต่างจากครูรุ่นใหม่หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณค่านั้น การเชิดชูยิ่งทำให้เขาอึดอัดด้วยซ้ำ พวกเขามองว่าครูก็คืออาชีพหนึ่ง หน้าที่คือการสอนนักเรียน ถ้าย้อนไปในอดีต พระเป็นคนสอนหนังสือ หลังจากนั้นก็ส่งต่อมาที่ครู ทำให้ครูต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้นักเรียน ประพฤติอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม เสียสละ ห้ามพูดเรื่องเงินทอง แต่ในความรู้สึกของผม ครูก็คือมนุษย์คนหนึ่ง
“อาชีพครูในประเทศไทยได้เงินเดือนน้อยมาก บางคนก็หลงไปกับคุณค่าโดยละเลยคุณภาพชีวิตของตัวเอง คำถามคือ เราจะปล่อยให้อาชีพที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมได้รับผลตอบแทนแบบนี้เหรอ ปัญหานี้ทำให้ครูหลายคนพยายามดิ้นรนสอบเป็นครูในระบบราชการให้ได้ เพื่อให้ตัวเองและพ่อแม่ได้รับสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิต สิ่งที่ตามมาคือ เมื่อเกิดปัญหาในโรงเรียน พวกเขาเลือกที่จะไม่เรียกร้องอะไร เพราะกังวลว่าชีวิตจะเกิดปัญหาและสวัสดิการของตัวเองจะหลุดไป
“จริงๆ สิ่งที่ครูรุ่นใหม่ต้องการก็ง่ายมาก ขอแค่ได้ทำงานสอนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเจองานนอกเหนือจากงานสอนมากนัก และได้รับเงินเดือนและสวัสดิการที่เหมาะสม แค่นี้พวกเขาก็แฮปปี้กับการเป็นครูแล้ว แต่ความเป็นจริงคือ ครูยังต้องเจอภาระงานนอกเหนืองานสอนที่มากมาย การประเมินที่ซับซ้อน ค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณงานที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อครูจะเรียกร้องไปหาส่วนบนหรือผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง เสียงของครูเหล่านั้นก็จางหายไป ยิ่งพูดยิ่งไม่สนใจ หรือใช้วิธีการแก้ไขปัญหาผิดจุดเพื่อบอกว่าได้สั่งการลงมาแล้ว
“การโดนเพิกเฉยต่อปัญหาทำให้ครูหลายคนรู้สึกหมดอำนาจและไม่อยากพูดต่อ ตกอยู่ในสภาวะ ‘พูดไปก็เท่านั้น’ เขาไม่ฟังอะไรพวกเราอยู่แล้ว ผมคิดเสมอว่าการเป็นครูไม่ใช่กีฬาประเภทเดี่ยว แต่เป็นกีฬาประเภททีม เพราะฉะนั้นเราอาจต้องปรับวิธีการในการเรียกร้อง เปลี่ยนจากการตะโกนอย่างโดดเดี่ยว กลายเป็นการเกาะกลุ่มกันมากขึ้น ร่วมกันส่งเสียงให้ดังยิ่งขึ้น ผู้มีอำนาจมีจำนวนเพียงหยิบมือเดียว แต่ครูทั้งประเทศมีหลายแสนคน เราสามารถสู้ได้ด้วยจำนวนคนที่มีมากกว่า”