วันเสาร์, มกราคม 22, 2565

นี่เป็นมุมมองที่ดีและสำคัญมาก อยากให้นักกิจกรรมทุกคนอ่านดู

สะสมความสำเร็จเล็กๆเพื่อเป็นพลังให้ทำงานใหญ่ได้สำเร็จ
...
ภัควดี วีระภาสพงษ์
5h ·
นี่เป็นมุมมองที่ดีและสำคัญมาก อยากให้นักกิจกรรมทุกคนอ่านดู

Yingcheep Atchanont
6h ·
การ "ทำงานเล็ก" คิดให้เล็กแล้วทำให้ได้ มีความสำคัญ เพื่อทำงานใหญ่ให้สำเร็จ
.
จากประสบการณ์ในการทำงานรณรงค์ทางสังคมมานานสิบกว่าปี สังเกตเห็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในแวดวงของพวกเรา นั่นคืออาการ คิดเล็กไม่เป็น คิดเป็นแต่ใหญ่ๆ
เช่น ถ้าอยากคัดค้านนโยบายของรัฐที่ไม่ชอบธรรม ในวงประชุมครั้งแรกก็จะตั้งโจทย์ใหญ่ว่าจะหยุดสิ่งนั้นได้ยังไง หรือ ถ้าอยากแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ในการประชุมครั้งแรกก็จะตั้งโจทย์ว่าจะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้
ซึ่งหลายครั้งเป็นโจทย์ที่รู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้หรอก
การตั้งโจทย์ใหญ่ และคิดใหญ่เกินตัว เบื้องต้นเลยจะทำให้การประชุมไม่มีประสิทธิภาพ คิดไม่ออก และเสียเวลา ต่อมาจะทำให้เราคาดหวังกับตัวเองสูงกว่าที่ศักยภาพตัวเองมี และก็จะเครียด เมื่อลงมือทำก็มีโอกาสสูงที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย แล้วก็หดหู่ หมดพลัง ต่อมาเราเองก็จะคาดหวังกับคนอื่นสูง แล้วเราก็ผิดหวัง โกรธเกลียด โทษกันไปมา ขัดแย้งกันเองอยู่แบบนี้ ... หลายสิบปีก็ยังคงพายเรืออยู่ในอ่างเดิม
การตั้งโจทย์ใหญ่อาจจะมาจากธรรมชาติของเราที่เห็นปัญหาแล้วอยากให้มันหายไป แต่การตั้งโจทย์ใหญ่ขึ้นต้นควรอนุญาตให้เป็นนิสัยของเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มทำงานชิ้นแรกๆ เท่านั้น สำหรับคนที่มีประสบการณ์ระดับหนึ่ง ควรจะตั้งโจทย์ใหญ่ให้ตัวเองในวันที่พร้อมมีทรัพยากรทุกอย่างอยู่ในมือและจังหวะกระแสลมมาถึงเท่านั้น ถ้ายังไม่พร้อม ก็จำเป็นต้องอดทนอยู่กับมันไปก่อน ตั้งโจทย์ให้เล็กลงแล้วค่อยๆ สู้ไป ถ้ายังสู้อยู่ยังไงก็ยังไม่แพ้
เมื่อเราเปลี่ยนวิธีคิด เป็น "คิดการเล็ก" กับทุกปัญหาที่มองเห็น คิดหาสิ่งที่ตัวเองและคนรอบข้างพอจะทำได้ แล้วก็ชวนกันลงมือทำมันไปเท่านั้น ทำให้ดีที่สุดเท่าที่หมดแรง ทำให้ดีที่สุดเท่าที่หมดทรัพยากร แล้วคาดหวังผลเท่านั้น ให้มันเกิดผลด้วยมือของเราเองแล้วภูมิใจกับมันให้ได้ ถ้าสุดท้ายหยุดสิ่งเลวร้ายที่อยากเห็นไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เพราะต่อให้คิดแต่โจทย์ใหญ่ มันก็ไม่ใช่จะได้มาเหมือนกัน
นอกจากฝึกการ "คิดเล็ก" ให้ได้แล้ว ก็ยังต้องฝึกการลงมือ "ทำงานเล็ก" ให้เป็นด้วย การลงมือทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายแต่ละครั้งไม่ใช่ฟันฉับดาบเดียวแล้วคู่ต่อสู้ขาดกระจาย ไม่มีใครเทพเหมือนในหนังจีนโบราณ
การโทรศัพท์ทุกสายเพื่อติดต่อประสานงาน ถ้าใส่ใจทุกคำพูดและจังหวะหายใจ ทั้งหมดมีความหมายที่จะทำให้คนปลายสายอยากลงแรงช่วยกันทำงานมากหรือน้อย การจดบันทึกการประชุมที่ดีมีความหมายต่อคุณภาพของการทำงานหลังจากนั้น การเขียนบทความแต่ละชิ้น การตรวจงานอย่างละเอียดให้สะกดไม่ผิด การทำป้ายข้อความให้สวยและตั้งใจ การเลือกจุดที่จะยืนตอนพูด การเลือกเสื้อที่จะใส่ การออกแบบคำพูดแต่ละประโยค ทุกรายละเอียดล้วนมีผลต่อการรับรู้ของสาธารณะ และมีผลต่อคนอื่นที่จะตัดสินใจว่าการรณรงค์ไหนเข้าร่วมหรือไม่ การขับรถเพื่อขนของไปถึงจุดหมาย การปีนบันไดไปแขวนป้ายสูงๆ การซื้อน้ำเย็นๆ มาให้ทีมงานกินระหว่างเหนื่อยๆ การเก็บใบเสร็จและจดบันทึกรายรับรายจ่าย ทุกอย่างล้วนเป็นงานที่สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่จะออกมา
ถ้าเราเริ่ม "คิดเล็ก" ได้ เราก็จะเลือกทำงานเท่าที่ความสามารถทำไหว และมีแรงใส่ใจออกแบบรายละเอียดของ "งานเล็ก" ให้ไม่มีข้อผิดพลาดและตรงไปหาโจทย์ที่ต้องการได้ในสุด
.
ตัวอย่างที่ 1
ถ้าเราอยากยกเลิกมาตรา112 การคิดใหญ่อาจมุ่งไปที่ทำอย่างไรพรรคการเมืองมากกว่าครึ่งจะยอมยกมือผ่านกฎหมาย ทำอย่างไรฝ่ายสนับสนุนกษัตริย์จะยอมประนีประนอม คิดกันให้หัวแตก ประชุมกับอัจริยะสามวัน ก็ไม่มีคำตอบที่จะออกมา ถ้าอยากเห็นภาพนั้นก็ต้องชุมนุมให้ได้สัก 2 ล้านคน แล้วก็ไปคิดอีกว่าทำยังไงคนจะออกมาชุมนุม 2 ล้านคน ก็คิดไม่ออก สุดท้ายงานก็ไม่เกิด ก็ใช้เวลานั่งคิดไปโดยไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง
ถ้าเราหัด "คิดเล็ก" เป็น มองเห็นความสำคัญของการ "ทำงานเล็ก" การเล่าเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในการดำเนินคดีแต่ละคดี ซึ่งตอนนี้มีเกือบสองร้อย ก็เป็นงานที่สำคัญที่จะทำให้คนจากสองแสน เพิ่มเป็นสองแสนกับหนึ่ง หรือการตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อตามสถานที่ต่างๆ ก็ทำให้จำนวนรายชื่อเพิ่มขึ้นได้ แม้ได้วันละ 20-30 รายชื่อ แต่ก็มีประโยชน์มากเช่นกัน ซึ่งล้วนเป็นงานที่ทำเท่าไรก็ไม่เสร็จ ทำเท่าไรก็ไม่หมด ถ้ามีคนคิดจะทำงานเล็กสัก 200 คน งานเล็ก 200 ชิ้นก็รวมเป็นงานใหญ่ที่อาจเห็นผลได้เหมือนกัน
ตัวอย่างที่ 2
ถ้าเราอยาก ไล่ประยุทธ์ การคิดใหญ่ก็มุ่งไปที่ทำอย่างไรจะให้ประยุทธ์ออกจากตำแหน่งได้ ก็คงคิดได้แต่ว่าต้องจัดชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ที่คนออกมาเต็มถนนปักหลักต่อเนื่องยาวนาน แต่คิดแล้วก็ทำไม่ได้ ก็จะไปคาดหวังจากคนอื่น ทำไมคนดังไม่ช่วยกันพูด? ทำไมคนมีเงินไม่ช่วยกันจ่าย? ทำไมคนมีอำนาจไม่กล้าสู้บ้าง? ฯลฯ ... คิดแล้วก็เครียด ก็ต้องคิดไปถึงการปฏิรูปสถาบันฯ ให้ได้ก่อน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงถึงปฏิรูปสถาบันฯ ได้ ก็วนเวียนอยู่ในอ่าง โทษกันไปมาจนมีแต่สร้างศัตรูเพิ่ม
ถ้าเราหัด "คิดเล็ก" เป็น มองเห็นความสำคัญของการ "ทำงานเล็ก" เราอาจเริ่มจากคุยกับคนใกล้ตัวที่เคยเลือกหรืออาจจะเลือกพรรคร่วมรัฐบาล ค่อยๆอดทนอธิบายและหว่านล้อมเขาไปจนเสียงสนับสนุนรัฐบาลนี้ลดลง ถ้าทำแล้วแต่ไม่สำเร็จก็กลับมาเรียนรู้วิธีคิดของคนอื่น หาความรู้เพิ่มเติม หาข้อมูลประกอบ แล้วลองใหม่วันหลัง เราอาจจะช่วยกันดูว่า ส.ส. พรรครัฐบาลคนไหนไม่ค่อยเข้าประชุม ส.ว. คนไหนโหวตตามมติตลอดไม่เคยแตก นโยบายแบบไหนของประยุทธ์ที่ผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่อใคร อย่างไรบ้าง แล้วช่วยกันเล่าต่อสิ่งเหล่านั้น ทีละเรื่อง ทีละเรื่อง ไปจนกระทั่งช่วยกันตรวจสอบการทุจริตในรัฐบาล การโกงเลือกตั้ง การนั่งคำนวนคะแนนเลือกตั้งที่ผิดพลาดทีละเรื่อง ทุกอย่างนี้ล้วนเป็นงาน
การ "ทำงานเล็ก" ไปเรื่อยๆ ค่อยๆสะสมไปทุกวันให้เกิดองค์ความรู้ที่เพียบพร้อม จะช่วยขยายแนวร่วมให้กว้างขวางขึ้น หรืออย่างน้อยก็ลดแรงต้าน และเมื่อวันหนึ่งที่จังหวะของการทำงานใหญ่มาถึง เราก็จะทำงานใหญ่ได้อย่างมีความพร้อมและมีคุณภาพ โอกาสที่จะทำงานใหญ่ได้สำเร็จจึงจะมี
การทำงานเล็กในทุกๆวัน เห็นผลเล็กๆ จากงานทำงานเล็กๆ มีความสุขจะตาย สู้กับอะไรยังไม่ชนะ ก็ไม่เครียด ไม่สิ้นหวังกับตัวเองและคนรอบข้าง ได้เรียนรู้ด้วย ได้พัฒนาตัวเองด้วย ดีกว่านั่งคิดเสียเวลาไปเป็นวันๆ ว่าทำยังไงงานใหญ่จะสำเร็จ