iLaw
12h ·
ย้อนอ่านที่มาที่ไปของแคมเปญ #ไม่รับปริญญา ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว เท่าที่สามารถติดตามได้ครั้งแรกๆที่มีการกล่าวถึงแคมเปญนี้คือ วันที่ 8 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุม #ไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส ของคณะประชาชนปลดแอก ที่สกายวอล์คปทุมวัน อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ ว่าที่บัณฑิตจุฬาฯในขณะนั้นปราศรัยกล่าวเชิญชวนให้บัณฑิตทุกคนไม่เข้ารับปริญญา ให้เหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายและการเรียนจบคือ ความสำเร็จของผู้เรียนและครอบครัว ไม่จำเป็นต้องร่วมพิธี พร้อมทั้งขอให้ติดแฮชแท็ก #ไม่รับปริญญา
ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุม #เสาหลักจะหักเผด็จการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้อมทิพย์ขึ้นปราศรัยอธิบายรายละเอียดแคมเปญอีกครั้ง ระบุว่า
.
.
"ที่ผ่านมาเราถูกสังคมกดดันให้ต้องเข้ารับปริญญา เราถูกบอกเช้าบอกเย็นว่า พิธีรับปริญญาเป็นสิ่งสำคัญ จริงๆแล้วเราเลือกได้ว่า เราจะเข้าหรือไม่เข้า แต่ว่าถ้าเราไม่เข้าพิธี เราก็จะถูกมองด้วยสายตาประหลาด ถ้าไม่เชื่อก็ลองถามคนรอบตัวดูสิ ถามญาติผู้ใหญ่ ถามใครก็ได้ว่า ถ้าเราไม่เข้ารับปริญญาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร...เราสามารถบอกได้หรือไม่ว่า นิสิต นักศึกษาที่เข้ารับปริญญา จริงๆแล้วศรัทธาและเชื่อในพิธีจริงหรือว่า เอาใจใครคะ?
ถึงว่าที่บัณฑิตทุกท่านที่มาในวันนี้ จะมารณรงค์ไม่เข้าหอประชุมในวันรับปริญญา ครั้งก่อนไปพูดที่สกายวอล์คเลยทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ทำไมต้องปฏิเสธการเข้ารับปริญญา บางคนก็บอกว่า เป็นเรื่องส่วนตัวจะถามทำไม บางคนก็อาจจะเข้าใจด้วยเหตุผลต่างๆนานา วันนี้จะมาขอชี้แจงแคมเปญไม่รับปริญญาดังต่อไปนี้
ข้อที่หนึ่ง การรณรงค์ครั้งนี้เราไม่มองว่า การเข้าพิธีรับปริญญาคือการรับปริญญาแบบที่ผ่านๆมา แต่มันคือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของบัณฑิตว่า เราไม่ยอมรับอำนาจ...การปฏิเสธเข้าหอประชุมถือเป็นการทำอารยะขัดขืนที่ว่า บัณฑิตสามารถทำได้และไม่ผิดกฎหมาย ใครจะห้ามเราไม่ให้ไม่เข้าพิธีรับปริญญาคะ มีกฎหมายข้อไหน รัฐธรรมนูญข้อไหน หรือกฎหมายอาญาข้อไหนห้ามไม่ให้เราไม่เข้ารับปริญญา
ข้อที่สอง สิ่งที่เรากำลังรณรงค์อยู่คือ การไม่เข้ารับปริญญากับใครมากกว่า ซึ่งการเข้ารับกับใครมันสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของตัวพิธีกรรมมากกว่าการสำเร็จการศึกษาของตัวบัณฑิตเอง เรายินดีที่จะรับปริญญากับอาจารย์ที่สอนเรามา ถามตัวเองเถอะว่า คุณค่าของการรับปริญญาอยู่ตรงไหน อยู่ที่การจบการศึกษาของพวกเรา หรือการยอมรับการมอบปริญญา นอกจากนี้การสร้างพิธีรับปริญญาอันศักดิ์สิทธิ์ที่เปรียบเหมือนปริญญาบัตรเป็นของสูงนั้นยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในประเทศด้วย พิธีการทำให้เกิดการแบ่งแยกว่า คนนี้ผ่านพิธีแล้วคนนี้สูงกว่า คนนี้ไม่ได้ผ่าน คนนี้ต่ำกว่าแล้วคุณค่าของการศึกษาตลอดครึ่งชีวิตที่ผ่านมาอยู่ตรงไหน
สุดท้ายนี้แคมเปญไม่เข้ารับปริญญาเป็นที่เข้าใจว่า อาจจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ทุกคนไม่เป็นไร แต่ถ้าใครทำได้มาขอกันตรงนี้ อีกหนึ่งทางเลือกในการแสดงจุดยืน ไม่เข้าหอประชุม ปล่อยให้หอประชุมโล่ง แต่มาถ่ายรูปกับเพื่อน ถ่ายรูปกับครอบครัว ใครอยากแต่งชุดครุยแต่งมา ชุดไปรเวทแต่งมา ชุดนักรบ ชุดอะไรก็แต่งมา งานรับปริญญาคืองานของบัณฑิตไม่ใช่งานใครที่ไหน"