วันพุธ, มกราคม 05, 2565

เล่นทวิตเตอร์ ต้องมีมารยาทด้วยเหรอ ??


Tomorn Sookprecha
22h ·

ทุกวันนี้เห็นคนพูดถึงคำว่า ‘ไม่มีมารยาท’ กันค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์ ที่มักจะชอบบอกคนอื่นๆ ว่า - ช่วยมีมารยาทกันหน่อย, อะไรทำนองนี้
.
เลยทำให้นึกถึงเรื่องที่เคยอ่านเจอ ว่าด้วย ‘มารยาท’ นี่แหละครับ
.
เขาบอกว่า คำว่า Etiquette หรือ Manners นั้น ในสมัยก่อนโน้น เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดหรือ ‘แผ่’ ออกมาจากศูนย์กลางสองแห่ง คือ ‘วัด’ กับ ‘วัง’ หรือจากผู้ปกครองศาสนจักรหรืออาณาจักร ประมาณว่าพระที่เป็นใหญ่ (เช่น โป๊ปหรือพระสังฆราช หรือศาสดา) หรือกษัตริย์ หรือราชา (หรือหัวหน้าเผ่า) มีอัธยาศัยอย่างไร ก็กำหนดให้คนในสังคมที่ตัวเองปกครอง ต้องมีอัธยาศัยประมาณเดียวกันไปด้วย ก็เลยเกิดดอกออกผลมาเป็น ‘มารยาท’ ซึ่งอิงอยู่กับ ‘ความเป็นผู้ดี’ (ที่ถูกกำหนดโดย ‘อำนาจ’) สูงมาก
.
ดังนั้น เวลาได้ยินคนบอกคนอื่นให้ ‘มีมารยาท’ ก็เลยมักรู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่ตะหงิดๆ จนกระทั่งมาอ่านเจอเรื่องราวว่าด้วย ‘มารยาท’ อีกแบบหนึ่ง
.
มารยาทอีกแบบ แปลมาจากคำว่า Civility ซึ่งในหนังสือเรื่อง Metropolis โดย Ben Wilson เล่าถึงลอนดอนยุค 1660s เอาไว้ว่า ตอนนั้นน่าจะเป็น ‘คลื่นลูกแรก’ ของการ ‘เห่อร้านกาแฟ’ กัน
.
อย่างที่เรารู้อยู่ว่า อังกฤษเป็นสังคมชนชั้น มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคนต่างชนชั้นเอาไว้ชัดเจน แต่กำเนิดของร้านกาแฟ ที่มาพร้อมกับการ ‘บูม’ ของการค้า กลับทำให้คนต่างชนชั้นสามารถมา mingle กันได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
.
คนจน คนรวย ขุนนาง พ่อค้า คนชั้นล่างชั้นสูงอะไรก็เข้าร้านกาแฟได้ และที่สำคัญก็คือ ‘ต้องเข้า’ เสียด้วย เพราะในยุคนั้น ร้านกาแฟก็คือ ‘โซเชียลมีเดีย’ นี่แหละครับ ถ้าไม่เข้าก็อาจจะ ‘ตกข่าว’ ได้ เพราะร้านกาแฟคือที่ชุมนุมของข้อมูลข่าวสารในวงการทั้งหลายแหล่
.
โดยคนต่างวงการกันก็จะเข้าร้านต่างกัน กวี นักเขียน เข้าร้านนึง พ่อค้าทางทะเลเข้าอีกร้านนึง นักเขียนบทละครกับนักแสดงเข้าอีกร้านนึง เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร้านกาแฟของลอนดอนในศตวรรษที่สิบเจ็ด จึงคือการเข้าไป ‘ปะทะสังสันทน์’ กันแบบเต็มๆ
.
หลายคนกังวลว่า พอเป็นแบบนี้แล้ว คนต้องทะเลาะกันแน่ๆ เพราะคงถกเถียงเรื่องโน้นเรื่องนี้กันเต็มไปหมด
.
แต่ก็ได้สิ่งที่เรียกว่า Civility นี่แหละครับ มาเป็นเหมือนน้ำหล่อลื่นไม่ให้การเสียดสีปะทะกันนั้นมันครูดกันจนบาดเจ็บ
.
ถ้าเราดูชาวชนบท พวกเขาอาจจะพูดจากันกระโชกโฮกฮาก ด่ากัน หรือไม่ต้อง ‘มากมารยาท’ อะไร นั่นก็เพราะคนชนบทอยู่ในโลกที่รู้จักกันเกือบหมด รู้ว่าใครมาด่าฉัน เป็นลูกเต้าเหล่าใคร จะตามตัวเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ในโลกของ ‘เมือง’ ที่เพิ่งเกิดใหม่ ผู้คนแออัดยัดเยียด เกิดภาวะ ‘นิรนาม’ ขึ้นมา ถ้าถูกด่า ถูกปล้น ถูกแทง ก็ไม่รู้หรอกว่าใครทำ
.
ดังนั้น เมื่อเข้ามาอยู่ในที่แออัดคับแคบแต่ร้อนแรงไปด้วยบรรยากาศและการโต้เถียงอย่างร้านกาแฟ (เราอาจนึกภาพ ‘สภากาแฟ’ ก็ได้) คนเมืองก็เลยต้องการ ‘กิริยามารยาท’ เพื่อใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก และสิ่งนี้นี่เอง ที่เบน วิลสัน เรียกว่า Civility
.
เขาอธิบายว่า Civility ไม่เหมือน Etiquette หรือ Manners ที่เกิดจากการกำหนดของราชสำนักหรือศาสนจักร แล้วแผ่ซ่านออกมาในหมู่ ‘ผู้ดี’ ทว่า Civility คือกิริยามารยาทที่ ‘เกิดขึ้นเอง’ จากคนชั้นกลางที่เริ่มถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือความสุภาพธรรมดาๆ ที่เกิดจากการ ‘เคารพ’ กันและกันนั่นเอง
.
ด้วยเหตุนี้ Civility จึงคือ ‘มารยาท’ ที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ และมีความ ‘เท่ากัน’ ในเชิงอำนาจค่อนข้างสูง และกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ลอนดอนเติบโตขึ้นมาเป็นมหานคร และในศตวรรษที่สิบแปดกับสิบเก้า ก็กลายมาเป็นมหาอำนาจของโลก
.
ไม่รู้เหมือนกันว่า เวลาพูดว่า - ช่วยมีมารยาทหน่อย, ในโลกโซเชียลมีเดีย คำว่า ‘มารยาท’ ของเรา หมายถึงความหมายแบบไหน แบบที่ถูกกำหนดโดยอำนาจที่ใหญ่กว่าแบบคนที่ชอบอ้างตัวว่าเป็น ‘ผู้ดี’ มักใช้เพื่อเหยียดคนอื่น หรืออำนาจแบบ Civility ที่เกิดจาก ‘คนเท่ากัน’ ช่วยกันกำหนดมันขึ้นมาทีละเล็กละน้อย