The Cloud
December 31, 2021 at 5:55 AM ·
ก่อนเกษียณไม่กี่เดือน นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ มาจับเข่าคุยเรื่องชีวิต จากเด็กชนบทสู่ศัลยแพทย์ จากหมอศัลย์ รพ. ชุมชนเล็ก ๆ ในหนองคาย สู่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ด้วยการต่อสู้เพื่องบ 889 ล้าน มาพัฒนาโรงพยาบาลอำเภอให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าเอกชนได้สำเร็จ เลื่องลือถึงชุมชนใกล้เคียงรวมถึงชาวประเทศเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลอย่างไม่ขาดสาย ส่งเสริมรายได้และความภูมิใจของชุมชนขึ้นไปอีก
โมเดลการพัฒนาสาธารณสุขท้องถิ่นโดยหมอชนบทคือตัวอย่างการต่อสู้เพื่อพัฒนาระบบเก่า และเบื้องหลังเสื้อกาวน์ หมอวัฒนายังเปี่ยมไปด้วยความเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่เข้าใจมนุษย์ และคุยสนุกสุด ๆ
อ่านที่ : https://readthecloud.co/wattana-pareesri/
ตอนเป็นผู้บริหาร
คุณหมอว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ปัญหาของโรงพยาบาทสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ คืออะไร
สมัยก่อนยังเป็นแบบข้าราชการ เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมี Service Mind เวลาเจ้าหน้าที่ไปเดินตลาดก็พยายามหลบ กลัวชาวบ้านนินทา แล้วชุมชนที่อยู่รอบข้างโรงพยาบาล ตอนเขาเจ็บป่วยก็ไม่มีใครเข้าโรงพยาบาลท่าบ่อนะ แต่จะไปรักษาที่โรงพยาบาลหนองคายแทน ซึ่งต้องขับรถไปอีกสี่สิบกิโล ภาพลักษณ์สมัยเก่าของเราเป็นแบบนั้น
แล้วเราเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก เป็นโรงพยาบาลอำเภอที่ต้องแข่งกับโรงพยาบาลจังหวัด เรารู้แล้วว่าความสะดวกสบายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้อง การบริการเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้อง แต่ภาครัฐไม่ค่อยสนใจ มันไม่ใช่ โรงพยาบาลรัฐมีอาชีพบริการเหมือนโรงพยาบาลเอกชน เราต้องบริการให้ลูกค้า (คนไข้) พึงพอใจ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ
มีเรื่องไหนอีกบ้างที่ภาครัฐไม่ให้ความสนใจ
ต้องใช้คำว่ารัฐบาลไม่ได้ดูแลเลย ปล่อยให้เราหากินด้วยลำแข้ง ทั้งทำผ้าป่า ทำหนังสือบริจาคถึงหน่วยงานเอกชน จริงๆ มันเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องจัดสรรให้เพียงพอ ไม่ใช่กระมิดกระเมี้ยนในการทำงาน
อุปกรณ์การรักษาที่ควรมีก็ไม่มี หยูกยาก็ไม่เพียงพอ ทั้งที่ควรจะมีทุกอย่างที่เป็นมาตรฐานในสากลโลก ภาครัฐต้องซัพพอร์ต ไม่ใช่ให้เราขวนขวายหาเอง ฉะนั้น งบประมาณต้องเพียงพอในการพัฒนา ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลมีสีกระดำกระด่างก็ต้องปล่อย เพราะเขาไม่มีตังค์ทาสี ภาครัฐไม่ได้ดูแลตรงนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องของภาพลักษณ์นะ ต้องทำให้สะอาดสะอ้าน สง่างาม ถ้าปล่อยซอมซ่อแล้วชาวบ้านเขาจะเชื่อมั่นได้ยังไง
ผมเลยต้องทำโรงพยาบาลให้เหมือนเอกชน มันผิดตรงไหนล่ะ
แล้ว 20 ปีให้หลัง โรงพยาบาทสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เปลี่ยนไปยังไงบ้าง
คนในเขตอำเภอเมืองย้อนกลับมารักษาที่โรงพยาบาลท่าบ่อ คนจากเวียงจันทน์ก็มานะ ถ้าเขาข้ามสะพานมา เลี้ยวซ้ายไปหนองคาย แค่สองกิโลก็ถึงโรงพยาบาลหนองคาย แต่เลี้ยวขวามาท่าบ่อประมาณยี่สิบหกกิโล คนเวียงจันทน์ยังยินดีเลี้ยวขวามาโรงพยาบาลท่าบ่อ แบบนี้เราถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว มันก็ภาคภูมิใจนะ แต่ไม่รู้จะนับยังไง ความภาคภูมิใจวัดเป็นสเกลตัวเลขไม่ได้ แต่มันค่อยๆ สะสม จนทำให้เรามีเรี่ยวมีแรงในการทำงาน
ส่วนชาวบ้านในตลาด ถ้ามีคนด่าเราหนึ่งคน จะมีอีกสามสี่คนคอยช่วยแก้ข่าวให้ เจ้าหน้าที่เดินตลาดอย่างเชิดหน้าชูตา ไปไหนก็อยากให้คนรู้ว่าทำงานที่โรงพยาบาลนี้ เวลาผมไปประชุม พรรคพวกเพื่อนฝูงก็กล่าวถึง ชื่นชมเรา หน้ามันบานอะ เจ้าหน้าที่มีความสุขและภูมิใจในองค์กร ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและพัฒนาต่อได้ง่ายขึ้น
และอีกประเด็นหนึ่ง จากการพัฒนาของโรงพยาบาลท่าบ่อทำให้ GDP (Gross Domestic Product) ของเมืองท่าบ่อเพิ่มขึ้น เพราะคนที่มาใช้บริการจากนอกพื้นที่มีมากถึงเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ คุณคิดดูว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์เขาต้องเอาเงินมาใช้จ่ายที่ท่าบ่ออีกเท่าไหร่ คนไข้หนึ่งคน ญาติอีกสองสามคน เขาต้องกิน ต้องอยู่ ชาวบ้าน ร้านค้าก็ทำมาหากินได้ มีรายได้ กระแสเงินก็หมุน
คุณหมอทำสำเร็จได้ยังไง
ผมเริ่มเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) เจ้าหน้าที่ก่อน เราถือว่าทุกคนเป็นนักบริหาร ต้องมีองค์ความรู้เรื่องการบริหารเท่าๆ กัน เพื่อที่เวลาผมพูดหรือสื่อสาร ผู้ปฏิบัติจะได้เข้าใจว่าผู้บริหารคิดยังไง แต่ถ้าเขามีความรู้ไม่เหมือนเรา เราคิดดีทำดี แต่ผู้ปฏิบัติตามไม่ทันก็เกิดการต่อต้าน ผมจ้างอาจารย์จาก NIDA มาเลย เพราะผมรู้ว่าอาจารย์คนนี้ความสามารถมาก ชั่วโมงละเจ็ดพัน ทุกคนร้องโอ้โห ทำไมแพงขนาดนั้น แต่สุดท้ายมันคุ้มค่า
จากตอนแรกเขาจะทำงานไปเรื่อยๆ แบบข้าราชการ มันไม่ใช่แล้วนะ ต้องยึดลูกค้าเป็นหลัก เป้าหมายคือลูกค้าพึงพอใจ ทำยังไงถึงจะมีรายได้ ทำยังไงถึงจะบริหารจัดการเรื่องการเงินและการบัญชีให้คุ้มค่า ทำยังไงให้องค์กรอยู่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องทำยังไงถึงจะมีความสุขในการทำงาน
ผมว่ามันคือการพัฒนาบนความยั่งยืน สมัยก่อนเคยคิดที่ไหนล่ะ เป็นข้าราชการก็ทำงานไปเรื่อยๆ ทำงานไปวันๆ ไม่ต้องมาพูดเรื่องทำยังไงให้ลูกค้าพอใจเลย เพราะเราไม่ใช่เอกชน แล้วยุคนั้นห้องพิเศษไม่มีแอร์นะ ติดพัดลม ผมก็เสนอให้ติดแอร์ มีกรรมการคนหนึ่งคัดค้าน จะทำทำไมอีก เปลืองเงิน แสดงว่าเขาไม่เข้าใจเรื่องความพึงพอใจของผู้รับบริการ และความสุขในการเข้ามาใช้บริการ ซึ่งชาวบ้านคือลูกค้า เราต้องทำให้เขาพึงพอใจและได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
ชอบที่คุณหมอเริ่มให้ความสำคัญจาก ‘คน’ ก่อน
คนต้องมาก่อน คนต้องมีความสุข คนต้องมีคุณภาพ ถ้าเขาทำงานแล้วมีแต่ความทุกข์ เขาก็ทำงานไม่ได้ ทีนี้จะไปบริการลูกค้าต่อได้ยังไง ให้เขาจ๋าจ๊ะ จ๊ะจ๋ากับชาวบ้านคงเป็นไปไม่ได้หรอก เราต้องดูแลสวัสดิการและที่ทำงานเขาด้วย
สถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ต้องให้มันสะดวกสบาย เราตกแต่งให้ห้องทำงานเขาสวยงาม เฮลท์ตี้ เวิร์กเพลส น่าอยู่ น่าทำงาน อย่างสมัยก่อนจะติดแอร์ก็ต้องมีระเบียบราชการนะ ถ้าสำนักงานไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ห้ามติดแอร์ คนมีค่าน้อยกว่าคอมพิวเตอร์อีก บ้าแล้วราชการไทย ผมบอกว่าผมไม่สนหรอก ตรงไหนมีคนติดให้หมด ประเทศเราเป็นประเทศร้อน เขาต้องทำงานอย่างสะดวกสบาย ที่ติดไม่ได้คือคนสวนเท่านั้นแหละ ต้องให้เขาอยู่สบายก่อน ถึงจะมีใจเอื้อเฟื้อไปเผื่อคนอื่น ผมว่าเจ้าหน้าที่สัมผัสได้ว่าเราดูแลเขา
พอเปลี่ยนความคิดคนแล้ว คุณหมอเดินหน้าพัฒนาด้านไหนต่อ
ขั้นต้นเราทำให้คนมาใช้บริการมีความสุขในการรับบริการได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องพัฒนาบริการของโรงพยาบาล หมายถึง การบริการด้านการรักษาหรือการบริการอื่นๆ เช่น การผ่าตัด หาหมอเฉพาะทางให้ครบทุกแผนกที่ลูกค้าต้องการ
เป้าหมายของผมคือ ผมไม่อยากให้คนชนบทต้องถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ให้เขารักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านดีกว่า โรงพยาบาลของเราเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก เข้าถึงการบริการง่าย ไม่ซับซ้อน มาถึงก็เจอหมอเลย พอมีแพทย์เฉพาะทางแล้ว ก็ต้องมีเครื่องมือแพทย์ให้เขาใช้ ต้องครบและทันสมัยด้วยนะ เราก็พยายามเสาะแสวงหาเครื่องไม้เครื่องมือมาให้ได้ เพราะพวกนี้คืออาวุธของเขา นักรบถ้าไม่มีอาวุธ เขาก็รบไม่ได้ ผู้บริหารมีหน้าที่จัดสรรและหาอุปกรณ์พวกนี้มา จะอ้างว่าไม่มีงบประมาณไม่ได้
บางทีผมต้องกู้ สมัยก่อนมีที่ไหนไปกู้มาลงทุน ต้องหากู้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ล้านสองล้านเพื่อมาลงทุนขยายห้องผ่าตัด เพราะเคสมันเยอะ แล้วก็ผ่อนโรงพยาบาลด้วยกัน ซึ่งการพัฒนามันต้องลงทุน อยู่ดีๆ จะทำอะไรแล้วไม่ลงทุนก็ไม่ได้
สุดท้ายเป็นเรื่องการบริการ อย่างความสะดวกสบายในห้องพิเศษ ต้องดูดีเหมือนโรงแรม บุคลิกภาพของเจ้าหน้าที่ ผมไม่ให้ใส่ชุดสีกากีเลย เรามีหน้าที่และอาชีพบริการ ต้องสวยงาม ทันสมัย ถ้าเป็นชุดสีกากี มีบั้ง มียศ มันเป็นภาพของเจ้าคนนายคน บริการชาวบ้านไม่ค่อยดี ชาวบ้านเกรงใจ
ส่วนอาคารสถานที่ก็พัฒนาเรื่อยๆ อยู่แล้ว ไม่ให้โทรม ตอนนี้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ กลายเป็นศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องที่ดีที่สุดในเขตนั้นเลย รับคนไข้จากโรงพยาบาลจังหวัดด้วย ตอนนี้ผมมีความรู้สึกลึกๆ ว่าเรามาถูกทาง เรตติ้งดีขึ้น
ทำไมอาคาร 10 ชั้น งบประมาณ 800 ล้านบาท ถึงเกิดขึ้นจริงที่โรงพยาบาลอำเภอเล็กๆ
ปกติโรงพยาบาลอำเภอเล็กๆ แบบนี้ไม่มีทางได้ ในประวัติศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขไม่มีทางเลย ตอนนั้นผมก็ลองดูสักตั้ง ปรึกษาใครเขาก็บอกเป็นไปไม่ได้ อะไรที่คนบอกว่าไม่ได้ จะเกิดความท้าทายขึ้นในใจผมเสมอ ผมจะฮึดสู้ ทำไมมันจะไม่ได้ ถ้าผมมีเหตุมีผลที่ผมคิดว่าถูกต้อง ผมเสนอขึ้นไปปีแรกก็ไม่ได้ จริงตามเขาว่า โดนตีตกเลย หน้าตาทำไมเหมือนเอกชนจัง ผู้หลักผู้ใหญ่ยังมีความคิดแบบนี้อยู่
ปีที่สองผมก็เสนออีก กะว่าจะเสนอจนกว่าผมจะเกษียณ ไม่ยอมเลิก สู้ตาย พอปีที่สอง ผมเรียนรู้ว่าต้องเข้าถึงศูนย์อำนาจ ผมก็เชิญผู้ใหญ่ระดับรองปลัดกระทรวงมาดู ภาพจำโรงพยาบาลอำเภอในสมองเขา คือโรงพยาบาลเล็กๆ หลังเขา ทำอะไรก็ไม่ได้ ผ่าตัดไม่ได้ รักษาโรคยากๆ ก็ไม่ได้
แต่กรณีของท่าบ่อไม่ใช่อย่างนั้น ผมพาเขามาดูว่าทำไมถึงกล้าขอตึกสิบชั้น ให้เขามาเห็นศักยภาพของโรงพยาบาล ว่าพวกผมกำลังทำอะไรอยู่ ทำไมถึงกล้าขอ สุดท้ายผมไม่โดนตัดงบสักบาท แปดร้อยแปดสิบเก้าล้าน ทุกคนงงเลยว่ามาได้ยังไง ผมก็งงเลย กูทำได้ได้ยังไง มันเป็นเหตุผลว่า ถ้าเราสู้ เราจะมองหาลู่ทาง มองหาสรรพกำลัง มองหาพรรคพวก อะไรก็แล้วแต่ที่สามารถช่วยเราได้ เราต้องทำ
แล้วทำไมโรงพยาบาลรัฐ ต้องลุกขึ้นมาทำแบรนดิ้ง
ผมอยากให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ กล่าวขวัญถึงเราในทางที่ดี มันเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจเรานะ เมื่อมีคนชมเรา ชื่นชอบการบริการเรา ทำให้มีเรี่ยวแรงทำงานมากขึ้น และเนื่องจากเราเป็นแบรนด์ไซส์เล็ก คุณตัน โออิชิ เคยพูดไว้ว่า คนรวยทำหนึ่งได้สี่ คนจนทำสี่ได้หนึ่ง ถ้าเปรียบเทียบ เราคือคนจน ถ้าอยากจะมีผลงานหรือความนิยมเทียบเท่ากับโรงพยาบาลจังหวัด เราก็ต้องทำสี่เท่าของโรงพยาบาลจังหวัด
ไม่ต้องทำสี่หรอก ทำสี่ได้หนึ่ง ถ้าจะเท่ากับเขาเราต้องทำสิบหกเท่า เรื่องแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญ Servisce Mind ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพัฒนา ผมบอกเลยว่าผมทำแข่งกับโรงพยาบาลจังหวัด แข่งกันทำความดีไม่น่าเสียหายอะไร ผมไม่ได้ทำอะไรที่สกัดแข้งสกัดขาเขา เอาชนะกันด้วยความดี
ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งเสียทีเดียว คนละกลุ่มลูกค้าก็ว่าได้ ผมเพียงแต่เอาโมเดลเขามาใช้ ผมเชื่อว่าเอกชนทำการบริการดีมาก คนถึงยอมจ่ายเงินเพื่อรักษาตัวเอง ฉะนั้น เรื่องการบริการต้องเอาเขาเป็น Role Model ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนในแถบนี้ถือว่าเป็นพาร์ตเนอร์กัน
สิ่งที่คุณหมอเล่ามาทั้งหมด เป็นความท้าทายในชีวิตของศัลยแพทย์คนหนึ่งหรือเปล่า
มันก็มีอุปสรรคนะ เช่น การพัฒนาต้องใช้ทุน เราก็มีภาระหนี้สินพอควร อย่างเครื่องไม้เครื่องมือก็ขอสนับสนุน ซึ่งปีแรกเป็นปีที่มีปัญหามาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงองค์กร เปลี่ยนแปลงคน ยากมาก การต่อต้านก็มีอยู่ ผมยอมรับว่าตอนนั้นก็ถอดใจ กำลังจะเลิกแล้ว ต้องไปนั่งคุยกับที่ปรึกษาด้านบริหาร เขาบอกว่า ‘คุณหมอครับ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ไม่ได้เห็นผลลัพธ์วันนี้หรือพรุ่งนี้ มันเป็นปี สองปี สามปี’ เราก็ได้สติขึ้นมา เดินหน้าต่อ ทำต่อ
ถ้าถามว่าผมแก้ปัญหาความท้อพวกนั้นอย่างไร ผมเองเป็นคนไม่ซีเรียสกับเรื่องพวกนี้ ถ้าผมทำเต็มที่แล้ว สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ผมเป็นคนที่อยู่ที่ไหน ผมจะทำที่นั่นให้ดีที่สุด คติของผมคือต้องทำในสิ่งที่เรารักหรือปรารถนาจะทำ ทำแล้วไม่เดือดร้อนคนอื่น แล้วสิ่งที่เราทำมันควรจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย
ในความเห็นของคนเป็นหมอ ทำไมโรงพยาบาลรัฐถึงไม่ค่อยพัฒนา ยังมีภาพจำแบบเดิม
มันคงฝังรากลึกจากกรอบวิธีคิด หนึ่ง กรอบผู้บริหารกระทรวงและผู้บริหารสถานบริการ โรงพยาบาลรัฐเปิดตัวแบบภาคราชการแบบนี้มาเป็นร้อยปี โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงมันยาก สอง ระเบียบกฎหมายเยอะเกินไป เยอะจนกระดุกกระดิกไม่ได้ ผู้บริหารหลายคนก็ไม่อยากเสี่ยง แต่ผมมีคอนเซปต์ในใจว่า ผมยอมเสี่ยง ถ้าผมไม่ได้ทำชั่วและไม่ได้โกงใคร
ถ้ามันผิดระเบียบ ผมยอมรับโทษ แต่สิ่งที่ผมทำไม่ได้ผิดระเบียบ เพราะระเบียบไม่ได้เอื้อเรา มันเป็นระเบียบสี่สิบ ห้าสิบปีที่แล้ว ประเทศนี้มันบ้ามากเลย กฎหมายไม่เคยอัปเดต เชื่อมั้ยว่าปัจจุบันนี้กฎหมายเวลาประกาศเสียงตามสาย ยังห้ามพูดภาษาอังกฤษกันอยู่นะ ไม่เคยสังคายนากฎหมาย กฎหมายสามหมื่นกว่าฉบับ ใครจะไปรู้ ผมเลยเป็นผู้บริหารที่ไม่สนใจกฎหมาย ถ้าจะทำอะไรทำเลย ผิดก็ผิด ช่างมัน ถ้าจะเอาติดคุก กูก็จะหนีข้ามประเทศ หนีไปเวียงจันทน์ เตรียมแพ็กกระเป๋าอยู่ตลอดเวลา (หัวเราะ)
ฉะนั้น เราต้องดูที่เป้าหมายเป็นหลัก มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ ต้องหาทางไปให้ได้ ถ้าทางหนึ่งไปไม่ได้ก็ต้องหาทางที่สอง ถ้าทางที่สองไปไม่ได้ก็ต้องหาทางที่สาม หาทางที่สี่ คือทุกปัญหาต้องมีทางออก เวลามุ่งสู่เป้าหมายผมจะทำแบบนี้
หลายที่ไม่รู้จะเสี่ยงทำไม เดี๋ยวถูกสอบ ถูกทำโทษ แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ขั้นก็ขึ้นทุกปี เงินเดือนก็ขึ้นทุกปี ทำงานไม่ทำงานก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ถ้าทำมากก็ปัญหามาก ปัญหามากก็เสี่ยงมาก หลายคนยังมีวิธีคิดแบบนั้น และหลายคนยังเข้าใจว่า ข้าราชการที่ดีคือข้าราชการที่ไม่ทำผิดระเบียบ บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ไม่มีผลลัพธ์ที่ประชาชนพึงพอใจ นี่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
แต่คุณหมอกล้าเผชิญความเสี่ยง
ใช่ (ตอบทันที) พอมีผลลัพธ์ในทางที่ดี ผู้ใหญ่เขาก็รู้สึกว่า อย่าไปยุ่งกับมันเลย เขาจะไม่เอาช่องว่างของระเบียบมาเล่นงาน ผมพยายามไม่มีศัตรู ไม่อย่างนั้นเขาจะหาช่องว่างบอกว่าเราผิดระเบียบนั้น ผิดระเบียบนี้ ซึ่งมันเป็นตัวบั่นทอนกำลังใจทำให้เราสะดุด แทนที่เราจะเดินหน้าอย่างสะดวก แต่กลับเจอก้อนหินที่ทำให้เราถึงเป้าหมายช้า
แล้วเพื่อนวงการหมอ มีคนที่คิดอยากเปลี่ยนแปลง แต่ยังสะดุดก้อนหินอยู่บ้างหรือเปล่า
มี ส่วนคนที่มาขอดูงานก็เยอะ เพราะเขาอยากกลับไปพัฒนาโรงพยาบาลเขา โรงพยาบาลใหญ่ๆ ระดับจังหวัดก็มี ผมดีใจมากทุกครั้งที่มีคนมาขอดูงาน ผมไม่มีแทงกั๊กอะไรสักอย่าง ผมบอกหมด ถ้าเขากลับไปทำได้นะ สุดยอด
เคยมีโรงพยาบาลหนึ่งมา ผอ. สั่งลูกน้องเลยว่า ต้องทำให้ดีกว่าที่นี่ให้ได้ ผมดีใจเลยนะ ด้วยเขาเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ถ้าขยับจะขยับได้เร็วมาก แต่ถ้าไม่ขยับก็จะอุ้ยอ้ายมาก กับอีกประเภทหนึ่ง ผอ. ไม่ยอมมา ส่งทีมงานมาดูงานแทน พอผมบรรยายให้ฟัง เขาก็กระเหี้ยนกระหือรืออยากจะพัฒนาให้ได้แบบนี้ พอกลับไปเสนอผู้บริหาร ผู้บริหารไม่อิน ไปไม่เป็น มันน่าเสียดาย ถ้ามาดูงานแล้วเบอร์หนึ่งไม่มา ไม่มีประโยชน์ ผมเห็นหลายรายแล้ว
ผมยกตัวอย่างโรงพยาบาลปากช่องนานา ถ้าคุณดูเว็บไซต์ ดูเฟซบุ๊ก ผอ. นะ เขาพัฒนาไม่หยุดหย่อนเลย เขาเคยเชิญผมไปบรรยายแล้วประทับใจมาก พอเป็น ผอ. โรงพยาบาลปากช่องนานา เขาพัฒนาเลย ตอนนี้จากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งหลายโรงพยาบาลก็เริ่มเอากรอบวิธีคิดของผมไปทำแล้ว โดยมุ่งเน้นลูกค้าเป็นสำคัญ
ในอนาคต คุณหมออยากเห็นภาพโรงพยาบาลรัฐเป็นแบบไหน
ผมอยากให้เป็นองค์การมหาชนทุกโรงพยาบาลเลย ซึ่งองค์การมหาชนก็ยังเป็นราชการอยู่นะ เป็น Autonomous Hospital การบริหารงานมีความคล่องตัวกว่า ออกระเบียบได้เอง เป็นราชการรูปแบบใหม่ ไม่ใช่ Authorization ทุกอย่างมุ่งมาจากกระทรวง แบบนั้นไม่ได้ มันต้องมีบอร์ดบริหารมาจากท้องถิ่น มาจากชุมชนที่เราอยู่ นั่นถึงจะเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่แท้จริงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่มาใช้บริการจะมีความพึงพอใจมากขึ้น
คุณหมอว่าเราจะเห็นภาพนี้เกิดขึ้นในอีกกี่ปีข้างหน้า
โฮ้ย (ไม่เชิงถอนหายใจ แต่ฟังดูหมดหวัง) รัฐบาลชุดนี้อยู่ไม่มีทางเห็นหรอก เขาคิดไม่เป็น เอาใจแต่อำมาตย์ เขายังจะย้อนกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชาวบ้านเขาไม่เคยเห็นหัวเลย เป็นไปไม่ได้ ถ้าในยุคของรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบมีสิทธิ์เป็นไปได้ สมัยหนึ่งรัฐบาลของคุณทักษิณ ชินวัตร, หมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) เป็นรัฐมนตรีช่วยฯ เขาเคยคิดจะปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลรัฐอย่างที่ผมว่าให้เป็นองค์การมหาชน ซึ่งเขาทำแล้วที่บ้านแพ้ว ทำได้ทีเดียว แล้วก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล จบเลย
แสดงว่าเราจะได้เห็นโรงพยาบาลรัฐรูปแบบองค์การมหาชนในวันที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย
ต้องประชาธิปไตยเต็มใบ
อ่านบทสัมภาษณ์ทั้งหมดที่ https://readthecloud.co/wattana-pareesri/