ภาพจาก FB ภาพพ่อ
(คัดมาบางส่วน)
ฉันทามติของเครือข่ายชนชั้นนำไทยเป็นอย่างไร ?
เครือข่ายของชนชั้นนำไทยนั้นใหญ่กว่าเครือข่ายในหลวง แสดงว่าเครือข่ายของชนชั้นนำไทยจะประกอบขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนทางอำนาจกัน มันก็ต้องมีฉันทามติอะไรร่วมๆ กันหลายอย่าง ฉันทามติของชนชั้นนำไทยที่คิดและเห็นร่วมกันก็มีในช่วงสงครามเย็น เช่น คุณต้องไม่เป็นฝ่ายซ้าย ไม่ว่ายังไงก็ตามคุณจะต้องไม่เห็นดีเห็นงามกับลัทธิแบบฝ่ายซ้าย คุณเดินตามโลกเสรี คุณเป็นพันธมิตรกับอเมริกา หรือว่ารับการพัฒนาแบบเวิลด์แบงค์ นี่คือสิ่งที่พวกเขาเห็นชอบร่วมกัน แต่บางช่วงเราก็จะเห็นว่าสุดท้ายแล้วมันก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเช่น ช่วงหนึ่งชนชั้นนำไทยรู้สึกว่า 3 ประเทศในอินโดจีนเป็นคอมมิวนิสต์หมด เราสวิงไปหาจีนในช่วงสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ อันนี้ก็แสดงว่าฉันทามติว่าด้วยการจะต้องอยู่กับข้างโลกเสรีอย่างเดียวก็เปลี่ยนแปลงได้ พอทศวรรษ 2520 เราจะเห็นว่าเราก็เข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และชัดเจนมากในปัจจุบัน
แต่ฉันทามติฐานรากสำคัญ ก็คือ ฉันทามติว่าด้วยการไม่ควบรวมอำนาจ เหมือนกับว่า ถ้าคุณมีอำนาจ มันก็จะมีหลายกลุ่มทางการเมืองใช่ไหม แต่มันจะไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สามารถที่จะขยายอำนาจไปกินแดนของกลุ่มต่างๆ ภาษาของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ใช้คำว่า ‘แบ่งกันกินแบ่งกันใช้’ ผมยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่า ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งมันเป็นที่รับรู้กันว่าคนอย่างจอมพลประภาส จารุเสถียร แกคุมแดนในกระทรวงมหาดไทย และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมาเป็นสิบๆ ปี ในขณะที่จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ก็ดูแลกรมตำรวจมา เพราะฉะนั้นทุกคนมี circle หรืออำนาจของตัวเอง แต่มันจะไม่มีใครมาควบรวมอำนาจ แต่ใช้ดุลยภาพนี้อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน
ถ้าเกิดภาวะที่มีการขยายอำนาจของตัวเองมากินอำนาจของคนอื่น ชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ ก็จะรู้สึกว่าคุณจะต้องเอาผู้ปกครองแบบนี้ลงจากอำนาจ ความจริงแล้วผมคิดว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา มันคือกลุ่ม ถนอม ประภาส และณรงค์ กำลังไปควบรวมอำนาจกลุ่มอื่นๆ เช่นกำลังไปล้ำแดนฝ่ายตำรวจของคุณประเสริฐ รุจิรวงศ์ ความพยายามที่จะต่ออายุราชการตัวเองของจอมพลประภาส มันทำให้คนอย่างพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ซึ่งจ่อคิวจะมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่ รู้สึกว่ามันทำให้เขาไม่อาจโต ความขัดแย้งที่เป็นมูลเหตุเบื้อหลังของชนชั้นนำไทยมันทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ด้วย นอกจากเรื่องที่มีประชาชนเรียกร้องเป็นเงื่อนไขหลักอยู่แล้ว
หรือในกรณีของคุณธานินทร์ที่ขวาจัดมากเกินไป ขวาจนประเภทว่าปฏิเสธไม่ให้กลุ่มขวาต่างๆ ในสังคมไทยขึ้นมามีบทบาทได้เลย ต้องทำตามสิ่งที่เขาคิดอย่างเดียว ที่เรียกว่า ‘โปรเจ็กต์ประชาธิปไตย 12 ปี’ โปรเจ็กต์นี้ทำให้แม้แต่นักการเมืองฝ่ายขวาเองก็ตายไปด้วย เลยเหมือนกับไปควบรวมอำนาจของคนอื่นมากเกินไป หรือแม้แต่กลุ่มลูกเสือชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสมัยรัฐบาลคุณธานินทร์ สุดท้ายแล้วคุณธานินทร์ที่แม้ว่าจะเป็นตัวแทนจากในวัง ก็ถูกชนชั้นนำไทยเอาลงจากอำนาจง่ายๆ เพราะว่าคุณไม่ฟังเสียงคนอื่น
กรณีของคุณทักษิณ ถูกนับว่าเป็นการละเมิดกฎการควบรวมอำนาจไหม ?
ก็อาจจะพูดอย่างนั้นก็ได้ถ้าใช้กรอบคิดในการมองว่าคุณทักษิณเองกำลังขยายอำนาจสร้างเครือข่ายใหม่ ที่คุณไปละเมิด Bhumibol consensus คือคุณทักษิณเองอาจจะควบรวมอำนาจทางด้านตำรวจแต่งตั้งนายทหารในยุคนั้นมันก็มีผล หรือไม่ก็ไปบายพาสกลุ่ม NGO แสดงให้เห็นว่ามันมีคนไม่พอใจคุณ แต่สุดท้ายแล้วชนชั้นนำไทยหลากหลายกลุ่มเอาคุณทักษิณลง
รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 มีลักษณะพิเศษอย่างไรบ้าง ?
ผมลองตั้งไว้ประมาณ 2 ประเด็น คือ ในยุครัชสมัยของในหลวงรัชการที่ 9 ไม่ว่าจะอย่างไร เราพอจะเห็นความพยายามที่จะไม่ให้ผิดพลาดในหลักการบางอย่าง ถ้ารู้สึกผิดไปหรือพลาดไปเราจะเห็นความพยายามที่จะชี้แจงโดยตัวของในหลวงรัชกาลที่ 9 เอง เพราะตลอดรัชสมัยอันยาวนานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านอยู่ในกรอบที่เรียกว่า ‘ฉันทามติเรื่องการไม่ควบรวมอำนาจของชนชั้นนำไทย’ ท่านเคยอยู่ในกรอบเงื่อนไขนี้มาก่อน เลยทำให้การทำอะไรหลายๆ อย่างของพระองค์ พูดง่ายๆ ว่า มีความระมัดระวังตัวอยู่พอสมควร ยกตัวอย่างเช่นตอนหลัง 14 ตุลา ตอนนั้นนอกจากกระแสประชาชนจะมีพลังมากแล้ว กระแสอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ก็ขึ้นสูงมากด้วย ตอนนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ออกมาและ สนช. ก็เขียนว่าให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองการแต่งตั้งวุฒิสภา พระเจ้าอยู่หัวท่านเห็นว่า อย่างนี้มันเหมือนกับเอาไฟมาลนท่าน เพราะในหลวงเองเป็นคนแต่งตั้งองคมนตรี เพราะฉะนั้นท่านของให้เปลี่ยน เป็นต้น
ผมเคยอ่านเจอในพระราชดำรัส 4 ธันวาคม รู้สึกจะเป็นปี 2524 หลังเหตุการณ์เมษาฮาวาย ตอนนั้นอาจารย์ประภาศน์ อวยชัย เป็นผู้กล่าวถวายพระพรประมาณว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถทั้งในด้านการบริหาร ทั้งในด้านนิติบัญญัติ ทั้งในด้านตุลาการ เราจะพบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านรีบท้วงทันทีว่า ประมาณว่าพูดแบบนี้ทำให้ท่านหนักใจเพราะมันจะทำให้เข้าใจว่าทรงเข้าไปก้าวก่ายเรื่องพวกนี้ หรือว่าคุณอาจจะเคยได้ยินหรือรับรู้พระราชดำรัสของคนที่สนใจการเมืองในช่วงหลัง 14 ตุลา ที่ในหลวงท่านเคยพูดกับหม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา สถาบันกษัตริย์จำเป็นที่จะต้องลงไปเพื่อช่วยจัดการภาวะสุญญกาศทางอำนาจ การเกิดขึ้นของนายกรัฐมนตรีพระราชทาน สัญญา ธรรมศักดิ์ หรือการเกิดขึ้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่เมื่อจัดการภาวะสุญญากาศทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรีบขึ้นไปอยู่เหนือการเมืองเหมือนเดิม'
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ระมัดระวังอยู่พอสมควร ถ้าเกิดสถานการณ์ที่อาจจะเป็นที่ครหาได้ว่าเข้าไปควบรวมอำนาจหรือก้าวก่าย เราจะเห็นได้ว่าท่านก็วิ่งกลับไปที่หลักการ Constitutional monarchy และสิ่งนี้ค่อนข้างชัดในยุคที่ยังไม่ทรงมีอำนาจนำ แต่ถ้าเราดูในรัชสมัยปัจจุบัน ผมคิดว่ามุมมองหลักการแบบนี้มันเลือนไป
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ พระราชอำนาจนำ เป็นสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะมากๆ ของรัชกาลที่แล้ว (ร.9) ผมใช้คำว่ามันเป็น ‘ปรากฎการณ์มหัศจรรย์ทางสังคมการเมืองไทย’ ที่เห็นภาพตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2530-2540
เครือข่ายชนชั้นนำไทยยังมีพลังตกทอดมาถึงรัชสมัยปัจจุบันไหม ?
เครือข่ายของชนชั้นนำไทยที่มีส่วนเสริมอำนาจนำของในหลวงรัชการที่ 9 จำนวนหนึ่งเขาก็ล้มหายตายจากไป คุณอาจจะเคยได้ยินข้อมูลในวิกิลีกส์ช่วงหนึ่งที่บอกว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขณะที่เป็นประธานองคมนตรี พลอากาศเอกสิทธิ์ เศวตศิลา ตอนนั้นเป็นองคมนตรี และคุณอานันท์ ปันยารชุน เหมือนกับไปคุยกับเอกอัครราชทูตของอเมริกา คนเหล่านี้มีความกังวลในช่วงระยะเวลาของสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านรัชกาล คนเหล่านี้คือกลุ่มเครือข่ายอำนาจเดิมของรัชกาลที่แล้ว แต่พวกเขาค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไป หรืออย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน ที่เป็นชนชั้นนำไทยที่เหมือนมีกรอบคิดแบบเสรีนิยมใหม่ แต่ทัศนะแบบคุณอานันท์ไม่ได้เข้ามาอยู่ในวงจรของกลุ่มอีลีทในปัจจุบัน อีลีทแบบประยุทธ์ จันทร์โอชา
เพราะฉะนั้นกลุ่มเดิมอาจไม่ได้มีบทบาทในการสนับสนุนอะไรมากนัก แต่เราก็จะเห็นกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ อันนี้มีงานของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ กับอาจารย์วีระยุทธ กาญจนชูฉัตร ที่ศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ มันแสดงให้เห็นว่าระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นมา มันจะแทนที่ Bhumibol consensus ได้หรือเปล่า แต่คำถามที่ว่ามีส่วนเสริมพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ยังไม่จบ สถานการณ์ยังเป็นเรื่องปัจจุบัน
อ่านบทความเต็มที่ลิงค์ข้างล่าง
https://www.voicetv.co.th/read/YPeBtlnwD