‘คืนสิทธิประกันตัว’ คือ ของขวัญปีใหม่ที่ดีที่สุด ย้อนดูชีวิต-ความฝัน หลังกรงขัง ของ 20 ผู้ถูกคุมขังคดีการเมือง
31/12/2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ในคืนข้ามปี ขณะที่หลายคนอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวหรือคนรัก เตรียมนับถอยหลังฉลองรับปีใหม่ แต่พวกเขาทั้ง 20 คนข้างหลังกรงขังนี้ ไม่อาจได้ดื่มด่ำกับเทศกาลแห่งความสุขเฉกเช่นคนอื่นๆ และขณะที่พลุระเบิดแสงสวยอยู่เหนือฟ้าในเวลาเที่ยงคืนตรง ผู้คนโอบกอดและกล่าวประโยค “สวัสดีปีใหม่” ซึ่งกันและกัน มันก็คงเป็นอีกคืนที่เงียบเหงาและแสนธรรมดาไม่ต่างจากทุกคืนในห้องขังของพวกเขา
ขณะกำลังจะก้าวย่างเข้าสู่ ปี 2565 เราชวนย้อนมองกลับไปสักหน่อยว่าตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ผู้ที่ยังคงถูกคุมขังในคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้มีอยู่อย่างน้อย 20 คน พวกเขาจำใจต้องสลัดทิ้งความฝัน ชีวิต และอิสรภาพในเรื่องใด ไปมากน้อยเพียงใดบ้าง ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในห้องกรงสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า “คุก” แม้ว่าจะยังไม่เคยมีศาลใดตัดสินว่าพวกเขากระทำผิดและกำหนดโทษแล้วก็ตามแต่
อานนท์ นำภา
อานนท์ นำภา อายุ 37 ปี นักกิจกรรมและทนายความ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับเนติบัณฑิตรุ่นที่ 62 และประกอบอาชีพทนายความสายสิทธิมนุษยชนมานานกว่า 13 ปี
ปี 64 ชีวิตกว่า 70% ถูกขังอยู่ในเรือนจำ
ในปี 2654 นี้ อานนท์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยครั้งแรกเขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 64 หลังถูกขังนาน 113 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 เขาต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งเป็นหนที่ 2 ของปี จนถึงวันนี้ 31 ธ.ค. 64 เขายังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 143 วันแล้ว ทำให้ตลอดปี 2564 ซึ่งมีทั้งหมด 365 วัน เท่ากับอานนท์ถูกพรากอิสรภาพไปรวมกัน 256 วัน หรือคิดเป็นกว่า 70% ของเวลาตลอดทั้งปี
ติดโควิดในคุก พ่วงลองโควิด ทำหอบ-เหนื่อยง่ายตลอดชีวิต
ในการถูกคุมขังครั้งแรกของปี ยังทำให้อานนท์ติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังจากหายเป็นปกติอานนท์ยังคงมีอาการ Long COVID (อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19) ทำให้เหนื่อยและหอบง่ายกว่าปกติ เนื่องจากเนื้อเยื่อปอดบางส่วนถูกทำลายจากเชื้อไวรัส ทว่าจนถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดเลยแม้แต่เข็มเดียว และนั่นทำให้เขามีความเสี่ยงต่อการกลับมาติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำได้ทุกเมื่อ
ว่าความไม่ได้ ต้องเลื่อน-ถอนตัวอย่างน้อย 10 คดี สูญเสียรายได้
อานนท์ประกอบอาชีพทนายความมานานกว่า 13 ปี เป็นทนายความให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองนับไม่ถ้วน คดีที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาได้กลายเป็นที่รู้จักนั่นก็คือ การว่าความให้กับ อำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ ในคดี ม.112
ภายหลังที่อานนท์ต้องถูกคุมขัง ทำให้คดีที่เขาว่าความให้ต้องเลื่อนออกไปก่อน รวมถึงส่วนใหญ่ต้องถอนตัวจากการเป็นทนายในคดีนั้นๆ เนื่องจากไม่สามารถออกมาว่าความได้ อย่างน้อย 10 คดี แต่ในปีนี้ เขายังมีโอกาสได้ว่าความในคดีคนอยากเลือกตั้ง คือการสืบพยานในคดีแกนนำ UN62 ซึ่งอานนท์เป็นจำเลยอยู่ด้วย และเขาใส่ครุยทนายความทับชุดผู้ต้องขัง ขึ้นร่วมถามความในห้องพิจารณาด้วย
อานนท์ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าเขาสนุกกับการว่าความ และรักอาชีพทนายความ ทำให้การถูกคุมขังเป็นเวลาเกือบ 3 ใน 4 ของปีนี้ นับได้ว่าเขาถูกพรากจากการได้กระทำสิ่งที่รักไป
“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์
“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ อายุ 23 ปี นักกิจกรรมและนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปี 64 ชีวิตกว่า 64% ถูกขังในเรือนจำ-อดอาหารประท้วง 57 วัน 171 มื้อจนถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ
ปี 2564 นี้ พริษฐ์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 2 ครั้งแล้ว โดยครั้งแรกเขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 64 หลังถูกขังนาน 92 วัน พริษฐ์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64
การถูกคุมขังครั้งแรกในรอบปีนี้เองที่พริษฐ์ได้ประกาศก้องว่าจะประท้วงด้วยการ “อดอาหาร” เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว รวมระยะเวลา 57 วัน หรือคิดเป็น 171 มื้อ ตลอดช่วงเวลานานเกือบ 2 เดือนนั้นเขาประทังชีวิตให้รอดไปได้ในแต่ละวันด้วยน้ำเปล่าและเครื่องดื่มเท่านั้น จนท้ายที่สุดพริษฐ์มีอาการอ่อนเพลียมาก รวมทั้งถ่ายมีเลือดและชิ้นเนื้อปนอยู่ด้วย กรมราชทัณฑ์จึงส่งตัวไปรักษาที่ รพ.รามาธิบดี
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 พริษฐ์ถูกศาลอาญาเพิกถอนประกันในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีกครั้ง ทำให้เขาต้องหวนกลับเข้าเรือนจำเป็นหนที่ 2 ของปี จนถึงวันนี้ 31 ธ.ค. 64 เขายังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 145 วันแล้ว
ในปี 2564 ซึ่งมีทั้งหมด 365 วัน พริษฐ์ถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 237 วัน หรือคิดเป็น ราว 65% ของเวลาตลอดทั้งปี
ถูกขังอุปสรรคทำเรียนล่าช้า-เรือนจำไม่เอื้อให้เรียนรู้
พริษฐ์เคยเล่าให้ทนายความฟังเมื่อครั้งเข้าเยี่ยมในเรือนจำ ว่าการถูกคุมขังนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเรียนอย่างมาก เพราะไม่สามารถเข้าฟังคำบรรยายวิชาใดๆ ได้ การส่งหนังสือหรือเอกสารการเรียนเข้ามาในเรือนจำ ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ล่าช้า และมักมีอุปสรรคแปลกๆ มาขัดขวางไว้อยู่เสมอ บางครั้งเจ้าหน้าที่ใช้เวลาตรวจสอบหนังสือเหล่านั้นนานหลายสัปดาห์หรือนานเป็นเดือน
การขอสอบจากในคุกก็เป็นเรื่องยากมาก รายวิชาไหนที่อาจารย์ไม่เข้าใจหรือไม่สะดวก ก็ต้องจำใจถอนวิชานั้นไป ต่อให้อาจารย์อนุญาตให้สอบจากในเรือนจำได้แล้วก็ยังต้องลุ้นว่าทางเรือนจำจะให้ส่งข้อสอบเข้ามาหรือไม่ หรือเมื่อสอบเสร็จแล้ว เรือนจำจะยอมให้ส่งกระดาษคำตอบนั้นกลับไปหรือไม่
หอบหืดกำเริบ-ป่วยบ่อยครั้ง เหตุห้องขังชื้น-ฝุ่นตลบ ชี้โควิดในคุกหนักกว่าอดอาหารประท้วง
ด้านสุขภาพ พริษฐ์เล่าว่า เรือนจำมีสภาพแออัด อบอ้าว ชื้น และสกปรก ไม่ถูกสุขลักษณะอนามัยเท่าที่ควร ทำให้พริษฐ์และเพื่อนผู้ถูกคุมขังหลายคนเจ็บป่วยอยู่เป็นระยะ เช่น อาการผื่นคัน จากสภาพอากาศร้อนและน้ำที่อาจสกปรก อาการไอจากฝุ่นละอองที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ ไปจนถึง “หอบหืด” ซึ่งพริษฐ์เล่าว่าช่วงหลังนั้นอาการได้กำเริบขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่เขาติดโควิดในคุกด้วย ทำให้สุขภาพปอดที่ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้วอ่อนแอลงไปอีก
“โควิดที่ติดในคุกนี้น่าจะทำลายสุขภาพยิ่งกว่าการอดอาหารเสียอีก แม้เป็นโควิดแล้วแต่บางครั้งก็ไม่มีแรง เวียนหัว กินข้าวไม่ลง เดินนิดๆ หน่อยๆ ก็เหนื่อยหอบ พูดยาวสักนิดยังต้องหยุดหายใจ บางครั้งก็ไอเหมือนลูกกระเดือกจะหลุดออกมา”
“ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก
ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก อายุ 25 ปี นักกิจกรรมจากจังหวัดระยองและนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปี 64 กลับเข้าเรือนจำ 3 ครั้ง ใช้ชีวิตกว่าครึ่งปีในเรือนจำ
ภาณุพงศ์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ โดยครั้งแรกเขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และศาลไม่ให้ประกันมาตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 หลังถูกขังนาน 86 วัน ภาณุพงศ์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64
ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 ศาลจังหวัดธัญบุรีไม่ให้ภาณุพงศ์กับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ประกันตัวในคดีชุมนุม #ม็อบ2สิงหา64 หลังถูกคุมขัง 38 วัน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้อนุญาตให้ประกันตัวเขาอีกครั้ง
แต่หลังมีอิสรภาพอยู่ได้เพียง 8 วัน เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 64 เขาต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งเป็นหนที่ 3 หลังอัยการยื่นฟ้องคดี ม.112 ต่อศาลอาญา จากกรณีการโพสต์ “ราษฎรสาส์น” ถึงกษัตริย์ และศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีก
จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 เขายังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นับเป็นเวลา 100 วันแล้ว ทำให้ในช่วงปี 2564 ภาณุพงศ์ถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว 3 ครั้ง รวมกัน 224 วัน หรือคิดเป็น 61% ของเวลาตลอดทั้งปี
ติดโควิดในเรือนจำถึง 2 ครั้ง เสี่ยงครั้งที่ 3 อีก เหตุยังไม่เคยได้รับวัคซีนสักเข็ม
จากการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีทั้ง 3 ครั้งนี้ ทำให้ไมค์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำมาแล้วถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 64 กรมราชทัณฑ์ตรวจพบว่าเขาติดเชื้อโควิด-19 จึงส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 เรือนจำอำเภอธัญบุรีออกมายืนยันว่า ภาณุพงศ์ซึ่งถูกคุมตัวอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับชาติชาย แกดำ และณัฐชนน ไพโรจน์ ก่อนถูกตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
น้ำตาแรกให้กับความสิ้นหวังในตุลาการ
ในการถูกคุมขังครั้งแรกในรอบปี ครั้งหนึ่งทนายความได้เดินทางไปเยี่ยมภาณุพงศ์ และถามเขาถึงการร้องไห้ในระหว่างพิจารณาคดีนัดหนึ่ง ไมค์เล่าว่า
“วันนั้นที่ศาล (29 มีนาคม 2564) ร้องไห้เพราะรู้สึกว่าทำไมเราต้องเป็นเหมือนขอทาน อ้อนวอนกับสิ่งที่ควรจะได้ เรารู้สึกว่าทุกคนต้องนั่งอ้อนวอนเพื่อขออิสรภาพกับผู้ที่เรียกตัวเองว่าผู้ผดุงความยุติธรรม
“ผมไม่เคยร้องไห้เลย ทุกครั้งที่ผมเห็นเพื่อนร้องไห้ ผมจะให้กำลังใจเขาเสมอ แล้วจะบอกว่า ความยุติธรรมที่เราตะโกนเรียกร้อง เป็นเพราะว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง ทุกคนที่สู้อยู่ขณะนี้พร้อมแสดงความบริสุทธิ์ใจในการต่อสู้คดี ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกักขังเราในเรือนจำ
“ผมขอให้กระบวนการยุติธรรมจงรักษาไว้ซึ่งหลักการมากกว่าคำสั่งของบุคคลใด เมื่อไรก็ตามที่ตุลาการทำหลักการหล่นหาย ก็เท่ากับว่ากฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว แบบนี้สังคมไทยจะอยู่ได้อย่างไร …”
“จะมีอีก 100 คน 1000 คน 10,000 คน 100,000 คน ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่ใช่เพราะเขาทำผิดกฏหมาย แต่เพราะเป็นความเสื่อมของกฎหมาย”
“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อายุ 30 ปี บัณฑิตนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตนักกิจกรรมจากกลุ่ม ‘ดาวดิน’ สู่แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า ที่ถูกคุมขังมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
ปี 64 ชีวิตกว่าครึ่งปีถูกขังอยู่ในเรือนจำ
ปีนี้ จตุภัทร์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 2 ครั้ง ครั้งแรกเขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และศาลไม่ให้ประกันมาตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 หลังถูกขังนาน 47 วัน ไผ่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 64
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 เขาต้องกลับเข้าเรือนจำเป็นหนที่ 2 ของปี หลังเข้ามอบตัวตามหมายจับในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง และคดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย และศาลไม่ให้ประกันตัว จนถึงวันนี้ 31 ธ.ค. 64 เขายังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 145 วันแล้ว
นั่นทำให้ตลอดปี 2564 จตุภัทร์ถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 192 วัน หรือคิดเป็น 52% ของเวลาตลอดทั้งปี
ติดโควิดในเรือนจำ ถึงตอนนี้ยังไร้วี่แวววัคซีน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 64 ระหว่างที่จตุภัทร์ถูกคุมขังเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจพบว่าเขาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จนหายเป็นปกติในเวลาต่อมา และจนถึงตอนนี้เขายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้แต่เข็มเดียว
ชวดสอบตั๋วทนาย หลังไม่ได้ประกันครั้งล่าสุด
หลังจตุภัทร์เรียนจบนิติศาสตร์มาไม่กี่ปี เขายังไม่มีโอกาสเข้าสอบตั๋วทนายเพื่อเลื่อนขั้นเป็นทนายความเต็มตัวสักที เนื่องจากมีสารพัดสิ่งให้คิดและทำในทุกวัน ไม่ว่าจะขบวนการเคลื่อนไหว การต่อสู้คดี หรือกระทั่งการถูกคุมขังในเรือนจำนี้เองก็ตาม
ในบันทึกเยี่ยมครั้งหนึ่ง ไผ่บอกเล่ากับทนายความว่าอยากให้ส่งหนังสือเข้ามาให้อ่าน โดยเฉพาะหนังสือสอบใบอนุญาตว่าความ แม้จะยังไม่รู้วันสอบแต่คิดว่าควรเตรียมตัวไว้ หลังเขาเตรียมตัวสอบครั้งล่าสุดมาหลายเดือน จนแล้วจนรอดเมื่อถึงกำหนดวันสอบจริงๆ ในวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา เขาก็ไม่ได้มีโอกาสออกมาสอบตั๋วทนายรุ่น 57 แต่อย่างใด เพราะศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม
เบนจา อะปัญ
เบนจา อะปัญ อายุ 22 ปี นักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ (นานาชาติ) ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT)
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 64 เบนจาถูกคุมขังเป็นครั้งแรกในชีวิต จากการถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 กรณีการอ่านแถลงการณ์หน้าซิโน-ไทย ใน #คาร์ม็อบ10สิงหา64 จนถึงวันนี้ 31 ธ.ค. เธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลานานกว่า 85 วันแล้ว หรือคิดเป็น 23% ของเวลาตลอดทั้งปี
กรงขังทำให้ไกลห่างความฝันมากยิ่งขึ้น
เบนจา จบมัธยมศึกษาตอนปลายมาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เธอฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่ยังเด็ก จนตอนนี้เธอยังสนใจการศึกษาอวกาศและอุตสาหกรรมอวกาศ ถึงกับได้เปลี่ยนชื่อจาก ‘เบญจมาพร’ เป็น ‘เบนจา’ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกชื่อเวลาได้ไปทำงานในระดับนานาชาติ
ดีกรีการศึกษาที่โดดเด่นและเส้นทางชีวิตต้องสะดุดลง เมื่อเธอยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเล่าเรียนของเธออย่างมาก จนต้องจำใจพักการศึกษาไปก่อนในภาคการศึกษาที่กำลังจะผ่านไป และหากการลงทะเบียนเรียนภาคการศึกษาต่อไป ศาลยังคงไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว เบนจาก็อาจจะต้องพักการศึกษาเพิ่มอีก 1 ภาคการศึกษา
เบนจาได้ฝากคำบอกเล่าเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเรียน ผ่านหน้าเฟซบุ๊กของเธอว่า “การต้องอยู่ในเรือนจำกับการเรียนสายวิศวกรรมที่ต้องมีการคำนวณนั้นยากลำบาก แค่ผลกระทบจากการต้องเรียน online ก็ไม่สะดวกมากอยู่แล้ว ถ้าต้องเรียนในเรือนจำ ถ้าเราคำนวณไม่ได้จะถามใคร จะค้นหาคำตอบอย่างไร
“เราจึงตัดสินใจดรอปการเรียนในเทอมนี้เนื่องจากติดอยู่ในเรือนจำ เพราะเราคาดหวังผลการเรียนที่ดี เพื่อใช้ในการเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก
“ถึง ณ ตอนนี้ เราไม่มีเหตุจำเป็นแบบเพื่อนที่ต้องออกไปสอบปลายภาค แต่เราก็ยังเป็นนักศึกษา และต้องการออกไปเรียน เราเรียนวิศวกรรมเครื่องกลเพื่อเป็น foundation เพื่อไปต่อปริญญาโท Aerospace Engineering เราอยากทำงานด้านอวกาศ
“แต่เราวางแผนว่าจะเรียนให้จบปริญญาเอก เพราะไม่ได้หวังว่าจะเป็นวิศวกรไปตลอด บั้นปลายชีวิตอยากเป็นอาจารย์ เลยอยากเรียนเฉพาะทางเพื่อเอามาพัฒนาประเทศในสาขาที่ประเทศไทยก็ยังขาดความรู้ด้านนี้ เพราะการเป็นอาจารย์และนักวิจัยก็สามารถทำคู่กันไปได้
“ตอนนี้เราเกรดเฉลี่ยประมาณ 3.3 เราอยากเรียนเมื่อเราพร้อม เราจึงดรอปไว้ก่อนเพราะไม่อยากให้การติดคุกมีผลต่อเกรดและอนาคต ถึงเราดรอปและไม่มีกำหนดสอบในเทอมนี้ แต่ปล่อยเราเถอะ เรายังต้องเรียน เรามีประโยชน์มากกว่าที่จะกักขังเราไว้ในเรือนจำเฉยๆ แค่นี้ยังทำลายอนาคตเราไม่พออีกหรือ …”
“ในขณะที่หนูกำลังเขียนอยู่ขณะนี้หนูอยู่ในกรงขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางแห่งประเทศไทย กรงขังทำให้หนูไกลห่างความฝันออกไปมากยิ่งขึ้น
ปี 64 ถูกขัง 4 ครั้ง ติดโควิดในเรือนจำถึง 2 ครั้ง
แซมถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 แล้วในรอบปีนี้ โดยครั้งแรกแซมถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 64 ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำท่ายืนปัสสาวะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 หลังถูกคุมอยู่นาน 102 วัน เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 ในการคุมขังครั้งนี้ แซมยังติดเชื้อโควิดในเรือนจำเป็นครั้งแรกด้วย
ครั้งที่ 2 แซมถูกจับกุมระหว่างการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา ที่สามเหลี่ยมดินแดง ในคดีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1 หลังถูกคุมขังอยู่นาน 20 วัน วันที่ 27 ส.ค. 64 เขาได้รับการประกันตัว โดยขณะนั้นเขาติดโควิด-19 เป็นครั้งที่ 2 จึงถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลภายนอกจนหายเป็นปกติ
ครั้งที่ 3 แซมถูกจับกุมหลังถูกกล่าวหาว่าราดน้ำมันศาลพระภูมิใน #ม็อบ29ตุลา เพื่อไว้อาลัย “วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต หลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนครบระยะเวลาฝากขัง 48 วัน และอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องในคดีดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 16 ธ.ค. 64 แซมได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำไป
ทว่า ในวันที่เขาถูกปล่อยตัว แซมกลับถูกตำรวจควบคุมตัวต่อตามหมายจับ ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เท้าถีบรถคุมขังนักโทษจนเสียหายและเข้าเมืองผิดกฏหมาย ทำให้แซมต้องกลับเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลากว่า 63 วันแล้ว
ทำให้ในปี 2564 นี้ แซมถูกคุมขังไปรวมกัน 185 วัน หรือคิดเป็น 50% ของเวลาตลอดทั้งปี แม้ว่าแซมจะติดโควิดในเรือนจำมาถึง 2 ครั้ง แต่จนถึงปัจจุบันเขายังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิดเลยแม้แต่เข็มเดียว เนื่องจากแซมเป็นผู้มีไม่มีสัญชาติ นั่นทำให้เขาเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดในเรือนจำเป็นครั้งที่ 3 ได้ทุกเมื่อ
สภาพจิตใจ-ร่างกายบอบช้ำ จนเคยคิดฆ่าตัวตายในห้องขัง
การที่แซมถูกจับกุมและถูกคุมขังกว่า 4 ครั้งนี้ สร้างบาดแผลให้กับสภาพจิตใจและร่างกายของเขาจนเคยกินยาเกินขนาดในเรือนจำมาแล้ว ทั้งในการถูกจับกุมครั้งที่ 3 ในรอบปี แซมได้ถูกตำรวจใช้กำลังประทุษร้ายและกระทืบหน้าอกจนได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้เกิดอาการผวาและเครียด มีอาการผมร่วงผิดปกติ นอกจากนี้แซมยังเล่าว่าเขาถูกผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ รวมถึงเจ้าหน้าทั้ตำรวจและราชทัณฑ์พูดจาเหยาะเย้ย ดูถูกเกี่ยวกับเพศสภาพของตนเองอีกด้วย
“อาทิตย์” ทวี เที่ยงวิเศษ
“อาทิตย์” ทวี เที่ยงวิเศษ อายุ 35 ปี อดีตช่างเชื่อมจากอุบลราชธานีผู้ตบเท้าเข้ามาเป็นหนึ่งในนักกิจกรรม ‘ทะลุฟ้า’ เพราะพิษเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ทวีถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ 15 ก.ย. 64 ซึ่งเป็นเวลา 108 วันแล้ว หรือคิดเป็น 30% ของเวลาตลอดทั้งปี การถูกคุมขังครั้งแรกในชีวิตของทวีนี้ สืบเนื่องถูกจับกุมตามหมายจับในคดี #ม็อบ3กันยา #ราษฎรไม่ไว้วางใจมึง ที่แยกราชประสงค์
จากการถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นี้ ทำให้ทวีติดโควิดในเรือนจำ ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาจนหายปกติในเวลาต่อมา และจนถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว
‘อ้ายอาทิตย์อยู่ไส..’ ประโยคติดปากทะลุฟ้า ชายผู้เป็นพี่พึ่งและพี่ชายของทุกคน
จากคำบอกเล่าของสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ทวีเป็นเหมือน ‘พี่ชาย’ ผู้เป็นแรงสนับสนุนน้องๆ ได้ในทุก เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น งานเชื่อมเหล็ก ทำเวทีปราศรัย งานปีนที่สูง จนทำให้เกิดประโยคติดปากทุกคนว่า ‘อ้ายอาทิตย์อยู่ไส’ เพราะเขาเป็นคนที่สามารถทำได้แทบจะทุกอย่างด้วยความเต็มใจและมีรอยยิ้มให้ทุกคนเสมอ
ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาทิตย์ทำงานหนักมาก แต่ก็ไม่เคยปริปากบ่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว เป็น ‘นักลงมือทำ’ ไม่มีเคยมีคำว่าไม่ได้ มีแต่คำว่า ‘ได้เสมอ’ จึงไม่แปลกที่แวดวงนักกิจกรรม โดยเฉพาะกลุ่มทะลุฟ้าจะรักและนับถืออาทิตย์
แม้กระทั่งตอนที่เขาถูกคุมขังอยู่นี้ เขามักรับฝากจดหมายจากเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆ เพื่อส่งผ่านทนายความไปยังญาติและคนใกล้ชิดทุกครั้งที่ทนายเข้าเยี่ยม แต่กลับกันตัวเขาเองกลับไม่เคยอยากส่งข้อความหาครอบครัวตัวเองเลย โดยให้เหตุผลว่า ‘เกรงใจและไม่อยากรบกวน’ เพราะพ่อแม่ของเขาเสียไปหลายปีแล้ว ญาติพี่น้องที่มีก็ต่างมีภาระและครอบครัวที่ต้องดูแลกันทั้งหมด
เหมือนกับคำว่า ไผ่ จตุภัทร์บอกกับทนายว่า ‘เป็นห่วงอาทิตย์ เพราะเขาเป็นคนชอบเกรงใจคนอื่น เป็นห่วงคนอื่นมากกว่าตัวเองเสมอ’
พรพจน์ แจ้งกระจ่าง
พรพจน์ แจ้งกระจ่าง อายุ 49 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมยิงพลุและปาประทัด ใน #ม็อบ18ตุลา64 บริเวณดินแดง และถูกขังระหว่างสอบสวนอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 64 ซึ่งเป็นเวลานานถึง 74 วัน หรือคิดเป็น 20% ของเวลาทั้งปี
พรพจน์นั้นถือได้ว่าเป็นเสาหลักของครอบครัว มีภาระหน้าที่ในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว นอกจากนี้ยังต้องดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมอีกด้วย
นัท (นามสมมติ)
นัท (นามสมมติ) เด็กหนุ่มวัย 16 ปี เขาถูกจับกุมในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ‘เผาตู้สัญญาณไฟจราจร-ป้อมตำรวจ’ จำนวน 8 จุดในกรุงเทพฯ และถูกกล่าวหาแยกเป็น 8 คดีด้วยกัน ต่อมาศาลเยาวชนฯ ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองเดินทางมารับรอง เขาจึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตา ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 64 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 99 วันแล้ว คิดเป็น 27% ของเวลาทั้งปี
นัท เติบโตภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ปกครองซึ่งเป็นครอบครัวบุญธรรม เขาต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคันตอนเรียนอยู่เพียงชั้น ม.2 และเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองด้วยวัยเพียง 14 ปีเท่านั้น
แม้ทนายความจะเดินทางตามหาผู้ให้กำเนิดนัทจนพบ แต่พวกเขาก็มีเหตุผลส่วนตัวที่ยังไม่อาจมาประกันตัวและรับนัทไปดูแลระหว่างการดำเนินคดีได้ในตอนนี้ เมื่อไม่มีใครอ้างตัวเป็นผู้ปกครองเพื่อรับผิดชอบและรับรองการให้ประกันตัวนัท เขาจึงต้องถูกคุมขังที่บ้านเมตตาต่อไป
เมื่อนัทรู้ว่าในตอนนี้ยังไม่มีสามารถมาประกันตัวเขาได้ ทนายความได้เอ่ยถามว่า “ถึงตรงนี้รู้สึกยังไง บอกพี่ได้นะ” นัทนิ่งเงียบไปและบอกว่า “ไม่เป็นไร แต่อยากให้อาม่ามาเยี่ยม” และฝากให้ตามหาคนอีกคนที่นัทรักและเรียกว่า “แม่” ที่อยู่พระประแดง นัทว่า “หาให้หน่อย” ทนายรับว่าจะตามหาให้ แต่ก็จำเป็นต้องพูดกับนัทไปตรงๆ ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา
ครั้งล่าสุดที่ทนายได้ไปเยี่ยมนัท ทนายยังได้แจ้งข่าวดีกับนัทว่า มีองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเด็กรู้ว่านัทไม่ได้ประกันตัว เพราะไม่มีผู้ปกครองรับไปดูแล พวกเขาจึงอยากเจอเพื่อพูดคุยทำความรู้จักกันก่อนที่จะมาแถลงเป็นผู้ดูแลในคดี
ทนายได้ยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ขอให้องค์กรด้านสิทธิเด็กได้เข้าเยี่ยมพร้อมกับทนายเพื่อเตรียมตัวก่อนไปแถลงต่อศาล ส่วนผลจะเป็นยังไงจะมาบอกให้นัทรู้ในครั้งต่อไปในเร็วๆ นี้
ด.ญ.ฐา (นามสมมติ)
ด.ญ. ฐา (นามสมมติ) อายุ 13 ปี เธอถูกจับกุมในคดี #ม็อบ6ตุลา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64 จากการถูกปิดล้อมจับกุมบริเวณใต้แฟลตดินแดง หลังเธอถูกคุมขังอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานีนาน 6 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 64
ต่อมาญาติของเธอได้ไปขอถอนประกันต่อศาลเยาวชนฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 64 เธอจึงต้องคุมขังเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 42 วันแล้ว ทำให้ในปี 2564 เธอถูกคุมขังรวม 48 วัน
นฤเบศร์ พิชัย และจิตรกร
นฤเบศร์ หนุ่มวัย 26 ปี และพิชัย หนุ่มวัย 30 ปี ทั้งสองถูกจับกุมในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าขว้างวัตถุคล้ายระเบิดใส่รถยนต์สายตรวจ สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 64 จนถึงเป็นปัจจุบันเป็นเวลา 88 วันแล้ว หรือคิดเป็น 24% ของเวลาทั้งปี
ด้านจิตรกร หนุ่มวัย 22 ปี ถูกจับกุมในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุคล้ายระเบิด เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 64 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 86 วันแล้ว หรือคิดเป็น 23% ของเวลาทั้งปี ทั้งนี้ขณะที่เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จิตรกรได้ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดและต้องเข้ารักการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว
นฤเบศร์ คือ เด็กช่างกลจากบุรีรัมย์ ผู้ขับมอเตอร์ไซต์มาร่วมทะลุแก๊ซ เมื่อครัั้งที่ทนายเข้าเยี่ยม เขาเล่าให้ฟังว่า “ผมมีความฝันว่าอยากเรียนหนังสือต่อครับ ให้มีวุฒิการศึกษามากกว่านี้ ผมอยากเป็นช่างกลครับ”
ด้านพิชัยจบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาช่างยนต์ในกรุงเทพฯ ในวันที่เขาถูกจับ พิชัยเล่าว่า หลังจากรถมอเตอร์ไซด์ของเขากับเพื่อนอีกสองคนล้มลง ตำรวจสายตรวจจำนวน 7-8 นาย ก็เข้าถึงตัวเขา จับคอและกระชากคอเสื้อเขาให้นั่งลง จนใบหน้าของพิชัยกระแทกกับพื้น มีรอยถลอก เลือดออก จนมีชายที่เป็นวินมอเตอร์ไซด์ เข้ามาช่วยห้ามเลือดให้เขา ทั้งที่ใบหน้าและขา เขายังพบต่อมาอีกว่าตัวเองโดนยิงด้วยกระสุนยางตรงด้านหลังอีกด้วย
ขณะที่จิตรกรเล่าว่าตัวเองเป็นเหมือน ‘คนไร้บ้าน’ ที่ทำมาแล้วหลากหลายอาชีพ ทั้งตกปลาเพื่อยังชีพ ทำงานรับจ้างเป็นช่างทาสีบ้าง ทำความสะอาดบ้าง แม้กระทั่งงานอาสากู้ภัยก็เคยทำ “รายได้ที่ผมได้ ต่ำสุดสองพันบาท มากสุดที่เคยได้ก็เป็นหมื่นนะ แต่บางเดือนไม่ได้เลยก็มี”
และเขายังเล่าอีกว่า “ผมมีความฝันอยู่นะ ผมอยากเปิดร้านอาหาร ทำแบบแฮมเบอร์เกอร์ แบบ food street และอยากลองทำช่อง YouTube แบบเดินทางไปเรื่อยด้วย ผมทำอาหารเป็น แฮมเบอร์เกอร์เนี่ย พ่อบุญธรรมทำให้กินตั้งแต่ตอนเด็ก อาหารอิตาเลี่ยนกินมาเยอะ และผมก็ชอบทำแกงกะหรี่ ขนมจีนน้ำยาด้วย”
ขจรศักดิ์ และ คเชนทร์
“มาร์ค” ขจรศักดิ์ อายุ 18 ปี และ คเชนทร์ อายุ 19 ปี ทั้งสองถูกจับกุมตามหมายจับเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 64 ในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกันปาระเบิดเพลิงใส่ป้อมจราจรพญาไท #ม็อบ30กันยา64 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานาน 85 วันแล้ว หรือคิดเป็น 23% ของเวลาทั้งปี
ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ คเชนทร์ได้ติดเชื้อโควิด 1 ครั้ง และได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว โดยทั้งขจรศักดิ์และคเชนทร์ต่างก็ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดเลยแม้แต่เข็มเดียว
เรียนไม่จบ ม.2 แต่ฝันอยากเรียน กศน. ต่อให้จบ
ด้านขจรศักดิ์ เล่าว่าต้องลาออกกลางคันขณะเรียนอยู่ชั้น ม.2 และต้องเข้ากรุงเทพฯ เริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองเป็นเด็กเสิร์ฟตั้งแต่ตอนนั้น ก่อนได้เป็น ‘รปภ.’ และหันหน้าสู่การรับจ้างขังรถส่งของ นอกจากตัวเองแล้วเขายังต้องดูแลแฟนสาวและลูกน้อยวัย 8 เดือนอีกด้วย
“อยากเรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) พร้อมทำงานไปด้วย และเมื่ออายุครบ 20 ปี จะต้องเกณฑ์ทหาร เมื่อเกณฑ์ทหารแล้วอยากกลับไปอยู่ชัยภูมิกับยาย น่าจะทำงานขนส่งไปรษณีย์”
ครอบครัวถูกตำรวจกว่า 8 คันรถคุกคามหน้าบ้านกลางดึก รวม 4 ครั้ง
หลังขจรศักดิ์ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในเรือนจำ ครอบครัวของเขาได้เผชิญการคุกคามจากตำรวจมาแล้วถึง 4 ครั้ง ด้วยการขับรถกระบะประมาณ 5-8 คันมาจอดบริเวณถนนหน้าบ้านและประกาศประจานเสียงดังกลางดึกในทำนองสร้างความเกลียดชังว่า “บ้านหลังนี้มีผู้ต้องหาทำระเบิด ชื่อ ขจรศักดิ์ ตำรวจจะจับตาเป็นพิเศษ” ซึ่งสร้างความหวาดกลัวและรู้สึกเป็นทุกข์กับสมาชิกในครอบครัวขจรศักดิ์เป็นอย่างมาก
แม่ขจรศักดิ์ได้เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่ถูกตำรวจคุกคามส่วนหนึ่งไว้ว่า “ตำรวจเขาต้องช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่ทำแบบนี้ แล้วอย่างนี้เราจะไปพึ่งใครได้ เราเจอเหตุการณ์คุกคามแบบนี้ สิ่งแรกที่เรานึกถึงคือ เราต้องไปแจ้งความกับตำรวจ ให้เขามาช่วยดูแลเรา แต่ปรากฏว่าตำรวจทำเองอย่างนี้ แล้วเราจะไปแจ้งใครล่ะ”
ถูกขัง 24 ชม. เพราะเสี่ยงโควิดต้องกักตัวซ้ำๆ
นอกจากนี้ ขณะที่เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นั้น เขาไม่เคยออกไปทำกิจกรรมนอกห้องขังเลยแม้แต่วันเดียว เช่น ออกกำลังกาย ขจรศักดิ์ต้องถูกขังอยู่ในห้องขังตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากสัมผัสกับผู้มีความเสี่ยงในเรือนจำอยู่เสมอๆ จึงต้องกักตัวตามมาตรการนาน 28 วันเรื่อยมา โดยขจรศักดิ์เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดในเรือนจำและต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อมาแล้วด้วยกันถึง 7 ครั้ง
ไพทูรย์ และ สุขสันต์
ไพทูรย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี และ สุขสันต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี สองสมาชิกจากกลุ่ม ‘ก็มาดิแก๊ซ’ ผู้ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน โดยการขว้างวัตถุคล้ายระเบิดใส่ คฝ. ที่ดินแดง ใน #ม็อบ11กันยา64 และถูกขังระหว่างสอบสวน มาตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 64 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 91 วันแล้ว คิดเป็น 25% ของเวลาทั้งปี
ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั้งสองตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก่อนได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้วในตอนนี้ ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลว่าทั้งสองได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้วหรือไม่
ธีรภัทร ปฐวีกานต์ และสหรัฐ
ธีรภัทร อายุ 21 ปี และปฐวีกานต์ อายุ 25 ปี ทั้งสองถูกจับกุมในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนปาระเบิดใส่รถตำรวจ แยกโรงกรองน้ำดินแดง หลัง #ม็อบ31ตุลา และถูกคุมขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 64 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 38 วันแล้ว
สหรัฐ รถสพงษ์ อายุ 24 ปี ถูกจับกุมในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าไปปาพลุ-ประทัด-ระเบิดบริเวณถนนพระรามเก้า หลังชุมนุม #ม็อบสมรสเท่าเทียม และถูกขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 64 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 33 วันแล้ว